เมฆก้อนนั้นที่ฉันเฝ้ามอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 16.3K views



     โลกของเรามีน้ำปกคลุมอยู่ถึง 3 ใน 4 ส่วน มันจะเปลี่ยนสถานะตลอดเวลา น้ำในแม่น้ำ ทะเลสาบ มหาสมุทร หรือแม้แต่หยดน้ำบนใบไม้ เมื่อได้รับความร้อน เช่นจากดวงอาทิตย์ น้ำในทะเล แม่น้ำ ทะเลสาบ ก็จะร้อนขึ้น บางส่วนของน้ำจะระเหยกลายเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นหลายล้านหยด มันเบามากจนสามารถลอยขึ้นไปในอากาศและถูกพัดขึ้นไปรวมกับโมเลกุลธาตุอื่น ๆ เมื่อหยดน้ำเล็ก ๆ เหล่านี้ลอยขึ้นไปถึงจุดที่อากาศเย็นกว่า มันก็จะรวมตัวกันกลายเป็นหยดน้ำที่ใหญ่ขึ้นจนเราสามารถมองเห็นได้ชัดเนื่องจากโมเลกุลของมันใหญ่ขึ้น อีกทั้งหักเหและสะท้อนบางส่วนของแสง เราเรียกสิ่งนั้นว่า เมฆ



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


     ในระหว่างวัน เมฆเป็นเหมือนร่มขนาดใหญ่ ปกป้องผู้คนจากแสงแดด ในตอนกลางคืนมันจะห่อหุ้มโลกเอาไว้ และกันไม่ให้ความร้อนจากโลกสะท้อนคืนไปยังท้องฟ้าในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากมันเป็นเพียงกลุ่มของโมเลกุลน้ำและธาตุอื่น ๆ ที่มีน้ำหนักเบา ลมจึงทำให้มันลอยหรือพัดไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงทำให้มันมีรูปร่างต่าง ๆ ได้ การตั้งชื่อก้อนเมฆรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดและเปลี่ยนแปลงไปบนท้องฟ้าเริ่มต้นขึ้นในปี 1802 โดยชายหนุ่มชื่อ ลุค ฮาเวิร์ด (Luke Howard) เขาเป็นเภสัชกร แต่มีความหลงใหลกับเรื่องราวของก้อนเมฆและฝนฟ้าพยากรณ์มาตั้งแต่เด็ก เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก เขาใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันเพียงจ้องมองก้อนเมฆลอยไปและเปลี่ยนรูปบนท้องฟ้า แม้แต่ในขณะที่เรียนหนังสืออยู่ ในยุคนั้นยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่มีใครให้ความสำคัญกับเรื่องวัฏจักรของน้ำหรือการเกิดขึ้นของเมฆและฝน เพราะมันเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ คุณไม่สามารถจับก้อนเมฆ เก็บเอารุ้งใส่กล่อง รวบรวมลมหรือปุยเมฆไว้เป็นของสะสมได้ ซึ่งนั่นทำให้ไม่ได้รับการศึกษามากเท่าที่ควรแล้ว มันยังไม่เป็นที่สนใจอีกด้วย



ภาพประกอบ : trueplookpanya.com


     แน่นอนว่าคุณสามารถเก็บน้ำฝนได้ แต่มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการไปตักน้ำมาใส่ถัง ยังไม่มีความเข้าใจมากพอเรื่องที่มาที่ไปของฝนหรือความสัมพันธ์ของปริมาณของไอน้ำ เมฆ ฝน และลมต่าง ๆ แต่ความแตกต่างนี้เองที่เป็นตัวจุดประกายให้ ลุค สนใจและเริ่มจดบันทึกสิ่งที่เขาเฝ้ามองอยู่ทุกวัน เขาสังเกตว่าแม้เมฆมีหลายรูปทรง ต่างรูปร่าง แต่ล้วนมีพื้นฐานอยู่ไม่กี่แบบ และเขาได้ทำการจัดกลุ่มให้มันเป็น 3 กลุ่มคือ

     Cirrus (ซีรัส)           แปลว่า    กิ่งไม้เลื้อย (Tendril) หรือ ผม (hair)
     Cumulus (คิวมูลัส)  แปลว่า    กอง (Heapหรือ Pile)
     Stratus (สตราตัส)   แปลว่า   ชั้น (Layer) หรือ แผ่น (sheet)

     อย่างไรก็ตาม เมฆไม่ได้อยู่นิ่ง มันยังคงอยู่ภายใต้กฎของแรงโน้มถ่วงและเบาพอที่จะปลิวไปเมื่อลมพัด นอกจากเมฆจะลอยต่ำลงเรื่อย ๆ หากไม่มีลมพัดหนุนแล้วยังเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ ตามแรงของลม เมฆจึงไม่สามารถคงรูปร่างของตัวเองให้เหมือนเดิมหรือลอยอยู่ในตำแหน่งเดิมโดยไม่เปลี่ยนได้ โดยปกติเมฆสามารถรักษารูปร่างของตัวเองได้นานที่สุดเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น คำถามสำคัญคือจะสามารถกำหนดโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงไปของเมฆแต่ละกลุ่มได้อย่างไร



ภาพประกอบ : trueplookpanya.com


     ลุคสามารถทำได้สำเร็จ นอกจากจะจัดกลุ่มและตั้งชื่อเมฆทั้ง 3 กลุ่มแล้วเขายังแนะว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างไปมาระหว่างเมฆสองกลุ่ม เราควรใช้ชื่อของสองกลุ่มรวมกันเพื่อบ่งบอกว่า เมฆก้อนนั้น ๆ มีรูปร่างเหมือนทั้งสองชนิด เช่น หากเมฆซีรัสที่ลอยตัวสูงขึ้นเริ่มแผ่ตัวออกเป็นแผ่น เราจะเรียกมันว่า ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) ซึ่งมาจากการผสมคำว่า Cirrus และ Stratus หรือหากกองเมฆคิวมูลัสแผ่ตัวออกเป็นแผ่นก็จะถูกเรียกว่า สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) มาจากการผสมคำระหว่าง Cumulus และ Stratus ท้ายที่สุดแล้วเราจึงมีชื่อก้อนเมฆหลายชื่อแบ่งตามรูปร่างและลักษณะที่ผสมกันของแต่ละกลุ่มชนิด



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
 

     และเมื่อเมฆแต่ละรูปแบบได้รับการตั้งชื่อ การศึกษาเพิ่มเติมถึงที่มาที่ไป การเปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์ระหว่างก้อนเมฆชนิดต่าง ๆ ที่มีต่อสภาพดินฟ้าอากาศในบริเวณต่าง ๆ จึงได้รับความสนใจและศึกษาเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา เนื่องจากเราสามารถเรียกชื่อ และอ้างอิงได้ง่ายขึ้น เมฆแสดงให้เราเห็นถึงวิถีและการเปลี่ยนไปที่ไม่จีรังของอากาศ วัฎจักรที่หมุนวน การเกิดซ้ำ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเมฆก็ยังทำให้เราเข้าใจถึงเหตุและผลความเป็นไปที่เกิดขึ้นในโลกมากขึ้นอีกด้วย เพราะแม้แต่เมฆที่ครั้งหนึ่งเคยลอยอยู่บนฟ้าสุดท้ายก็จะตกลงมาเป็นเม็ดฝนสู่พื้นดิน

เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=UuW1jhxCgx0
         https://www.youtube.com/watch?v=zn3MhQawLpc
         https://scied.ucar.edu/webweather/clouds/cloud-types
         https://www.metoffice.gov.uk/learning/clouds/cloud-names-classifications

ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด