ศิลปะการแทงหยวก ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 28.9K views



ศิลปะการแทงหยวก

 การแทงหยวก เป็นวิชาความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยใช้วัสดุที่หาง่ายคือต้นกล้วย มาสร้างงานฝีมือซึ่งมักใช้ในงาน ตกแต่งประดับประดา เมรุเผาศพ งานบวช งานกฐิน และงาน ตกแต่งอื่นๆ สืบทอดกันมาหลายร้อยปี กระบวนการแทงหยวกนั้น ต้องเริ่มจากการไหว้ครู เพื่อรำลึกถึงครูอาจารย์ มีธูป 3 ดอก เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม ดอกไม้ 3 สี สุรา 1 ขวด ผ้าขาวม้า 1 ผืน เงินค่าครู 142 บาท

อุปกรณ์ ประกอบด้วย มีดสำหรับแทงหยวก โดยการตีดิบ ไม่ต้องเอาไปเผาไฟ ตอกใช้สำหรับประกอบเข้าเป็นส่วนต่างๆ วัสดุที่ใช้ คือ ต้นกล้วยตานี เพราะไม่แตกง่าย ปัจจุบันต้นกล้วยตานีหายาก และมีขนาดไม่เหมาะสมสำหรับใช้งาน จึงนิยมใช้ต้นกล้วยน้ำว้าแทน โดยต้องเป็นต้นกล้วยน้ำว้าสาว คือต้นกล้วยที่ยังไม่มีเครือ หรือยังไม่ออกหวีกล้วย ต้นกล้วยจะอ่อนแทงลวดลายได้ง่าย กระดาษสี ใช้สำหรับรองรับลวดลายต้นกล้วยให้ปรากฏชัดเจน
          ขั้นตอนการแทงหยวกและประกอบเข้าเป็นลายชุด นั้น มี 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือขั้นเตรียมหยวกกล้วย ขั้นแทงลวดลายลงบนหยวก และขั้นประกอบเป็นลายชุด ซึ่งแต่ละขั้นตอนนั้น มีคุณค่าสูงด้านศิลปะ จิตใจ ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น การแทงหยวก เป็นภูมิปัญญาที่นับวันจะเลือนหายไปจากสังคมไทย จึงควรได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่ ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
          ในปัจจุบัน คำว่า “ร้านม้า” จะไม่ค่อยได้ยินบ่อยนักหรือบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินเลยก็ว่าได้ หรือ อาจจะได้ยินแล้วก็ตีความตามรูปคำไปเลยว่าเป็นที่ม้าอยู่อาศัยหรือ ที่เลี้ยงม้า ขายม้า จึงขอนำเสนอเรื่องร้านม้า เเละการสลักหยวกกล้วย (เเทงหยวก)
            การสลักหยวกหรือการแทงหยวก เป็นงานฝีมือช่างประเภทหนึ่งที่อยู่ในช่าง สิบหมู่ ประเภทช่างสลักของอ่อน ย้อนหลังไปประมาณ 20-30 ปี ขึ้นไป มีประเพณีที่เกี่ยวกับการแทงหยวกกล้วยอยู่ 2 อย่าง คือ การโกนจุกเเละการเผาศพ (โดยเฉพาะศพผู้ที่มีฐานะปานกลาง) งานโกนจุกหรือประเพณีการโกนจุก จะมีการจำลองเขาพระสุเมรุ ตามความเชื่อ เเล้วตกเเต่งภูเขาด้วยรูปสัตว์ต่างๆ ส่วนภูเขาพระสุเมรุจะตั้งอยู่ตรงกลางร้านม้า ซึ่งทำโครงสร้างด้วยไม้เเล้วหุ้มด้วยหยวกกล้วยเเกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ประเพณีการเผาศพก็เช่นกันจะทำ ร้านม้า ซึ่งทำโครงสร้างด้วยไม้แล้วประดับด้วยหยวกกล้วยแกะสลักอย่างงดงาม

           การสลักหยวกกล้วยนั้นผู้ที่เป็นช่างจะต้องได้รับการฝึกหัดจนเกิดความชำนาญพอสมควร เพราะการสลักหยวกกล้วยนั้นช่างจะไม่วาดลวดลายลงไปก่อนจับมีดได้ก็ ลงมือสลักกันเลยทีเดียว จึงเรียกตามการทำงานนี้ว่า “การแทงหยวก” ประกอบกับมีดที่ใช้มีปลายเเหลม เมื่อพิจารณาดูเเล้วก็เหมาะสมที่จะเรียกว่า “แทงหยวก”

การแทงหยวกกล้วย

          หยวก คือ ลำต้นกล้วยที่ลอกออกมาเป็นกาบหรือแกนอ่อนของลำต้นกล้วย มีสีขาว งานเเทงหยวกมักใช้หยวกหรือกาบกล้วยตานี เพราะมีสีขาวดีและไม่สู้ที่ จะเปลี่ยนสีเร็วนัก
           งานแทงหยวก คือ การนำเอากาบกล้วยมาทำให้เป็นลวดลายต่างๆโดยวิธีแทงด้วยมีดเเทงหยวกใช้สำหรับการประดับตกเเต่งที่เป็นงานชั่วคราว ตัวอย่างเช่น การประดับเบญจารดน้ำ ประดับร้านม้าเผาศพ ประดับจิตรการธารการเเกะสลัก หยวกกล้วยนั้นจะทำใน พิธีโกนจุกงานศพ

          ในวรรณคดียังปรากฏถึงความสำคัญของการแกะสลักหยวกกล้วย ที่ปรากฎในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน เมื่อพระไวยแล้วกล่าวถึงการทำพี้ว่า ให้ขุดศพนางวันทองขึ้นมา แล้วกล่าวถึงการทำพิธีว่าสถานที่วางหีบศพนั้นตกแต่งอย่างสวยงามเเละวิจิตรพิสดารเป็นรูปภูเขา มีน้ำตกมีสัตว์ต่างๆ มีกุฏิพระฤษี มีเทวดา เช่น รามสูร เมขลา ที่ตั้งศพที่เป็นภูเขานี้เห็นจะเป็นประเพณีไทยที่เก่าเเก่ ที่ทำเช่นนั้นก็คงหมายถึงว่าเขา พระสุเมรุคงเป็นที่เทวดาอยู่ตรงกับสวรรค์ ผู้ตายนั้นถือว่าจะต้องไปสวรรค์ เช่น พระเจ้าแผ่นดินตาย เรียกว่า “สวรรคต” จึงนิยมทำศพให้เป็นภูเขา พระสุเมรุหรือเมรุคือทำที่ตั้งเป็นภูเขาทั้งสิ้น ต่อมาคงจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น งานหลวงเล็กทำเป็นภูเขา เปลี่ยนทำเป็นเครื่องไม้เพราะอาจทำให้สวยงามให้เป็นชั้นลดหลั่นลงมาเป็นเหลี่ยมจะหักมุมย่อให้วิจิตรพิสดารอย่างใดก็ได้ เเต่เเม้จะเอาภูเขาพระสุเมรุ จริง ๆ ออกไปก็ยังคงเรียกเมรุตามที่เคยเรียกมา เมรุ จึงกลายเป็นที่ตั้งศพไป

ขั้นตอนการแทงหยวกกล้วย

         ขั้นตอนแรกจะต้องเลือกต้นกล้วยตานีหรือต้นกล้วยน้ำว้าต้นสาวๆ คือ ต้นกล้วยที่ยังไม่ออกผล ถ้าออกปลี ออกลูกแล้วจะใช้ไม่ได้เพราะกาบกล้วยจะกรอบเปราะหักง่าย แต่ถ้าเป็นต้นกล้วยที่ยังสาวๆ ไม่มีลูกกาบกล้วยจะอ่อนเหนียวไม่หักง่าย ต้องเลือกต้นใหญ่พอสมควร ร้านม้าเผาศพทั่วไปจะใช้ประมาณ 10 ต้น ต่อร้านม้า 1 ครั้ง
          เมื่อได้ต้นกล้วยมา ก็จะลอกกาบกล้วยออกเป็นกาบๆ จนถึงแกนของลำต้นให้เหลือประมาณ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 นิ้ว เอาไว้ทำฐานล่างเมื่อลอกกาบกล้วยออกมาแล้วก็ต้องคัดขนาด คือกาบใหญ่ๆ รอบนอกก็เอาไว้สำหรับแทงลาย ต่าง ๆ ส่วนกาบเล็ก ๆ ก็ใช้ทำอกกลาง 
         ประเภทลวดลายในการทำหยวกดูแล้วไม่ยากเพราะมีไม่กี่ชนิด คือ ฟันปลา ฟันสาม ฟันห้า ฟันบัว แข้งสิงค์ เเละลาบอก ซึ่งจะทำเป็นลายกนกต่าง ๆ ตามความถนัดเเละเน้นที่ความสวยงาม เเต่ถ้าทดลองทำจริงๆ เเล้วยากพอสมควร เมื่อทำลายต่างๆ ได้เพียงพอตามความต้องการเเล้วถึงขั้นตอนการประกอบหยวก เพื่อทำเป็นเสาล่าง พรึง เสาบน รัดเกล้าเเละฐานล่าง โดยใช้ตอกผิวไม้ไผ่เย็บให้ติดกันเเล้วติดเเต่งมุมให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จ 
          ในปัจจุบันไม่ค่อยมีการถ่ายทอดวิชาช่างประเภทนี้มากนักเพราะขาดผู้สนใจและนิยมใช้ ประกอบกับช่างเเทงหยวกต้องไม่กลัวผีเพราะต้องทำตอนกลางคืน ส่วนใหญ่จะทำที่วัด ล่วงหน้าก่อน 1 คืน ต้องทำกลางคืนและติตตั้งเช้า หยวกกล้วยจะไม่เหี่ยวเเห้ง ยังคงความสวยงามอยู่จนถึงเวลาประชุมเพลิง

          จังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องของศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปรากฏหลักฐานผลงานฝีมือช่างอยู่หลายสาขา การแทงหยวก เป็นงานศิลปะ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของช่างเมืองเพชรสาขาหนึ่ง ที่ได้รับการกล่าวขานถึงไม่แพ้สาขาอื่น เป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไป และช่างแทงหยวกของเมืองเพชร
          ภาพและข้อมูลที่นำมาเสนอในที่นี้ เป็นผลงานของปรามาจารย์ช่างแทงหยวกชาวเพรบุรีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี คุณลุงประสม สุสุทธิ เป็นหัวหน้า ช่างกลุ่มนี้เคยมีผลงานที่นำความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ ก็คือ การได้ร่วมแทงหยวก ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จย่าฯ

          สำหรับงานที่ช่างเตรียมแทงหยวกกันที่นำมาเสนอนี้ เป็นงานพระราชทานเพลิงศพ คุณแม่น้อม แฉ่งฉายา ที่วัดเพรียง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีท่านอาจารย์บุญมา แฉ่งฉายา เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2544 ในโอกาสนี้ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี ได้บันทึกภาพขั้นตอนวิธีทำตั้งแต่ต้นจนจบไว้ พร้อมทั้งจัดทำคำบรรยายประกอบภาพ โดยมีคุณลุงประสม สุสุทธิ เป็นผู้ตรวจทานแก้ไขแล้ว และได้ขออนุญาตคุณลุงประสม นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยยินดีให้ทำการคัดลอกเนื้อหา และภาพประกอบไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาโดยไม่ต้องขออนุญาตอีกด้วย

           งานแทงหยวก เป็นงานศิลปะ อันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำหยวก หรือกาบจากต้นกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ มาแกะฉลุเป็นลายไทย ใช้ในการประดับเชิงตะกอนเผาศพ ปกติในการเผาศพของคนเมืองเพชร มักจะมีการตั้งเมรุ และนิยมตกแต่งเชิงตะกอนด้วยหยวก แต่ภาพที่เห็นจากงานนี้ไม่มีการตั้งเมรุ แต่จัดบริเวณตั้งศพบำเพ็ญกุศลแบบธรรมดา ประดับบริเวณด้วยดอกไม้สดสวยงาม ในภาพนี้ยังไม่ได้ตั้งเชิงตะกอน ซึ่งปกติ การตั้งเชิงตะกอนอาจจะทำเตรียมไว้ตั้งแต่เริ่มตั้งศพบำเพ็ญกุศล หรือจะตั้งก่อนที่จะทำการเผาศพก็ได้

 

****ข้อมูล
https://www.bmp.ac.th/ThaiWisdom/Yuak/Y00006.html
https://ilwc.aru.ac.th/Contents/ArtCraftThai/ArtCraftThai8.htm
https://intranet.m-culture.go.th/phetchaburi/wisdom.htm

https://www.muangphet.com/library/tangyuak/index.html