Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปลาขี้ลืมกว่าคนจริงหรือ

Posted By Plook Creator | 08 ต.ค. 61
11,094 Views

  Favorite

เรามีภาพจำว่าปลาทองต้องขี้ลืม ขี้ลืมเป็นสมองปลาทอง หรือแม้แต่เจ้าดอรีที่อยู่ในภาพยนต์การ์ตูนระดับฮอลลีวูดเองก็ถูกแต่งเติมให้มีคาแรกเตอร์ขี้ลืมเหมือนปลาทอง แม้ว่ามันจะดูน่าขัน แต่มันก็ทำให้หลายคนคิดว่าปลานั้นมีสมองน้อยนิด และน่าจะขี้ลืมอย่างที่ใคร ๆ กล่าวจริง แต่จากการศึกษาพบว่าเราอาจจะเข้าใจผิด ปลาอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตง่าย ๆ กิน ๆ ว่าย ๆ ไปวัน ๆ และมีความจำสั้นอย่างที่เราแต่งแต้มให้มันเป็น มันอาจจะมีสมองและความคิดที่ซับซ้อนเหมือนกับสัตว์เลือดอุ่นหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ การศึกษาพบว่าปลาเองอาจจะมองเห็นสิ่ง ๆ ต่างคล้ายคลึงกับคน มันมองเห็นภาพลวงตาแบบเดียวกับที่ตาของเรามองเห็น แม้ว่าสายพันธุ์ของมันจะแยกจากบรรพบุรุษร่วมของสัตว์บกเมื่อกว่า 450 ล้านปีก่อน แต่ประสาทสัมผัสทางด้านการมองเห็นของมัน ได้รับการวิวัฒนาการและพัฒนามาใกล้เคียงกับคนหรือสัตว์บกอีกหลายชนิด

 

Convergent Evolution วิวัฒนาการแบบเบนเข้าหรือลู่เข้าหากัน แม้จะแปลเป็นไทยออกมาแล้วดูประหลาด แต่ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้หลาย ๆ คู่ก็เป็นแบบนี้ กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่คนละสภาพแวดล้อม แตกต่างกัน มีต้นกำเนิดหรือบรรพบุรุษที่ต่างกัน แต่ละชนิดก็มีกระบวนการวิวัฒนาการในแบบของตนเอง แต่​ ณ จุดหนึ่งของเวลานั้น ผลลัพธ์ที่ได้จากวิวัฒนาการกลับเหมือนกัน เช่น นก ค้างคาว และแมลง ต่างวิวัฒนาการปีกขึ้นมาเพื่อให้ใช้บิน แต่ทั้งสามกลุ่มไม่ได้มีความใกล้เคียงกันเลย หรือปลาฉลาม โลมา และวาฬ ซึ่งแม้หน้าตาจะคล้ายกัน ใช้ครีบและหางเพื่อการว่ายน้ำเหมือนกัน แต่ต่างกันทางด้านสายพันธุ์และต้นตระกูล ด้านหนึ่งเป็นปลา อีกชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

 

นักวิจัยยังพบว่าตาของปลาและมนุษย์เองก็วิวัฒนาการมาเพื่อมองด้วยกลไกเหมือนกัน และทั้งปลาและคนต่างก็หลงกลกับภาพลวงตาในรูปแบบเดียวกัน และเมื่อหันกลับมาดูเรื่องของสมาธิและความทรงจำ ซึ่งเรามีการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ปลาทองเองมีสมาธิสั้น สมาธิของมันอยู่ได้ประมาณ 9 วินาที ในขณะที่คนเราสมาธิดีกว่ามาก สามารถจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างนิ่ง ๆ ได้ถึง 12 วินาที แต่นั่นก็เป็นการศึกษาเมื่อปี ค.ศ.  2002 เพราะเมื่อปี ค.ศ. 2013 พบว่าสมาธิของคนเราลดลงเหลือ 8 วินาที นั่นทำให้คนเรามีสมาธิสั้นกว่าปลาทอง ส่วนต้นเหตุที่ทำให้คนเรามีสมาธิสั้นลงนั้นมาจากปัจจัยด้านสื่อและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำให้เราเสียสมาธิได้ง่ายจริง ๆ


ผลการวิจัยพบว่า คนยุคใหม่ Generation X Y Z ต่างก็มีการพัฒนาความสามารถในการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน มันฟังดูดีว่าคุณสามารถทำงาน บริหารจัดการเวลาและความคิดได้ดีขึ้น เรียกว่าทำงานแบบ Multitask ได้ดี ซึ่งหลาย ๆ บริษัทต่างก็ค้นหาคนที่มีคุณสมบัตินี้ แต่แม้ว่ามันจะแปลว่าคุณทำงานได้ดีและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรของคุณ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งคือ คุณอาจจะไม่สามารถจดจ่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เสพติดสื่อสังคมออนไลน์ ยิ่งมีการปรับตัวและสมองให้สอดรับกับการดึงดูดความสนใจจากเนื้อหาต่าง ๆ ในสื่อ ในรูปแบบของความต้องการที่จะรับรู้และไม่รับรู้เนื้อหาจากสื่อแบบใด แต่ไม่จำเป็นต้องจดจำรายละเอียดในเนื้อหาทั้งหมด กล่าวคือคนยุคใหม่ รับรู้แค่ว่ามีข่าว มีดราม่าเรื่องอะไร แต่รายละเอียดมักจะจำไม่ค่อยได้ และลืมไปทั้งหมดอย่างรวดเร็วเพราะมีเรื่องใหม่ให้ติดตามอยู่ตลอดเวลา นักวิจัยจากบริษัทไมโครซอฟท์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะสมองของเราต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีเหล่านี้เองก็เปลี่ยนการทำงานและการใช้ชีวิตของเราด้วย


อย่างไรก็ตามแม้ว่าการให้การสนใจ สมาธิ หรือความจำของคนเราปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ได้แปลว่าสมองของเราด้อยลง มันอยู่ที่มุมมองและการใช้เกณฑ์วัด ก่อนหน้านี้สมาธิของปลาทองที่มีอยู่เพียง 9 วินาที ก็อาจจะเป็นเพราะมันไม่สามารถจะจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานกว่านี้ เนื่องจากต้องเฝ้าระวังศัตรูและผู้ล่าที่อาจจะมีตามธรรมชาติ ในขณะที่มนุษย์เราอยู่ในยุคที่สามารถปล่อยตัวปล่อยใจอ่านหนังสือนิยายอยู่ริมหาดหรือศึกษาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีสมาธิที่ดีกว่าปลาทองเพราะการใช้ชีวิตของเราเองก็ไม่ต้องระวังภัยที่อาจจะมีตามธรรมชาติอีกต่อไป เราวิวัฒนาการมาให้ปลอดภัยและห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นมานานพอที่สมองจะทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่า แต่เมื่อในยุคที่ข่าวและเรื่องราวต่าง ๆ มีมากมายให้เสพ เราก็แบ่งสมาธิของเราให้เป็นช่องสั้น ๆ เพื่อให้สามารถสนใจกับสิ่งที่ประดังประเดเข้ามามากขึ้น เกณฑ์การวัดสมาธิของเราจึงไม่อาจจะใช้ได้ เพราะแม้ว่าสมาธิจะสั้นลง แต่การรับรู้เนื้อหาสามารถทำได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการทำงานแบบ multitask นั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow