Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิทยาศาสตร์ในความรัก

Posted By sanomaru | 07 ก.พ. 61
25,116 Views

  Favorite

ร่างกายของมนุษย์เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ มันมีอะไรให้ค้นหาและชวนแปลกใจอยู่เสมอ แม้แต่อารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ยังสามารถอธิบายได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึง "ความรัก" ด้วย โดย Helen Fisher ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาเชิงชีววิทยา ได้ศึกษาสมองที่กำลังมีความรัก และแบ่งความรักออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะล้วนมีแรงขับที่เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายทั้งสิ้น

 

ความรักแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ความใคร่ (Lust)

กว่าจะไปถึงความรักที่แท้จริง มนุษย์มักถูกผลักดันด้วยความต้องการทางกายในเบื้องต้น ซึ่งมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย ตามลำดับ ฮอร์โมนทั้งสองเป็นฮอร์โมนพื้นฐานที่กระตุ้นความรู้สึกต้องการทางกาย ผ่านกระบวนการของสมองในระบบลิมบิก (Limbic System) อันประกอบด้วย 1) ไฮโปทาลามัส 2) อะมิกดาลา (Amygdala) และ 3) ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) โดยส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัสจะเป็นส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออารมณ์ และนี่คือระยะแรกของความรัก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนเพศ

 

ระยะที่ 2 แรงดึงดูด (Attraction)

ในระยะที่ 2 ของความรักเป็นระยะแห่งการดึงดูด ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สวยงามของความรัก เพราะเมื่อคนคนหนึ่งตกหลุมรักใครสักคน คนคนนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพไปเล็กน้อย หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวก และจะเริ่มคิดถึงอีกฝ่ายอยู่บ่อย ๆ รวมถึงรู้สึกร้อนรน กระสับกระส่าย ตื่นเต้น และพยายามจะดึงดูดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน 3 ชนิด คือ อะดรีนาลิน โดพามีน และเซโรโทนิน

 

- อะดรีนาลิน (Adrenalin) โดยทั่วไปแล้วเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งการตกหลุมรักใครสักคน ระดับของอะดรีนาลินและคอร์ติซอล (Cortisol) ในเลือดจะเพิ่มขึ้น มันทำให้เกิดอาการเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว และปากแห้ง เมื่อพบกับความรักครั้งใหม่

 

- โดพามีน (Dopamine) มีบทบาทต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ การนอนหลับ การจดจำ ทักษะต่าง ๆ ระบบภูมิคุ้มกัน ความตั้งใจในการทำงาน รวมถึงช่วยควบคุมการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวและอารมณ์ โดยโดพามีนจะสูงขึ้นเมื่อตกหลุมรักใครสักคน ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีความสุข ผลของโดพามีนต่อสมองนั้นคล้าย ๆ กับยาเสพติดประเภทโคเคนในปริมาณน้อย ๆ นอกจากนี้มันยังทำให้คู่รักมีพลังงานเพิ่มขึ้น ต้องการกินและนอนน้อยลงด้วย

 

- เซโรโทนิน (Serotonin) มีบทบาทเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้ ซึ่ง Sandra Langeslag ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา เคยกล่าวถึงเซโรโทนินไว้ว่า ระดับของเซโรโทนินจะแตกต่างกันในผู้ชายและผู้หญิงที่มีความรัก โดยผู้ชายจะมีระดับเซโรโทนินน้อยกว่าเมื่อมีความรัก ขณะผู้หญิงจะเป็นไปในทางตรงข้าม

 

นอกจากนี้ Dr. Donatella Marazziti จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยปิซา ยังได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลไกสมองในคู่รัก 20 คู่ ซึ่งรักกันมาไม่เกิน 6 เดือน โดยคาดว่าถ้ากลไกสมองเป็นสาเหตุให้คู่รักคิดถึงคนรักของตนซ้ำ ๆ มันอาจจะสัมพันธ์กับกลไกสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) และการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากคู่รัก ก็พบว่า เซโรโทนินในคู่รักใหม่มีระดับต่ำพอๆ กับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ นั่นหมายความว่า คู่รักใหม่จะคิดถึงคนรักของตนซ้ำ ๆ บ่อย ๆ นั่นเอง

 

ระยะที่ 3 ความผูกพัน (Attachment)

เมื่อคู่รักผ่านความรักในระยะที่ 1 และ 2 มาแล้ว ในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะของความผูกพัน ระยะนี้คู่รักจะมีระดับความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นและยาวนานพอ ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกพร้อมในการที่จะมีบุตร ความรู้สึกเช่นนี้มาจากฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ออกซีโทซินและวาโซเพรสซิน

 

- ออกซีโทซิน (Oxytocin) ออกซีโทซินถูกเรียกว่าเป็นฮอร์โมนแห่งการกอด (Cuddle Hormone) ฮอร์โมนชนิดนี้ถูกหลั่งออกมาเท่า ๆ กันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง มันเป็นฮอร์โมนที่สร้างความผูกพันหรือพันธนาการที่แข็งแกร่งระหว่างมารดาและทารกในช่วงเวลาของการเกิด และเป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการหลั่งน้ำนมโดยอัตโนมัติเมื่อได้ยินเสียงเด็กร้อง นอกจากนี้ในงานวิจัยยังระบุว่า ออกซีโทซินช่วยเพิ่มความสามารถในการตีความหรืออ่านใจผู้อื่นจากดวงตาของพวกเขาได้ด้วย จึงเป็นฮอร์โมนที่ช่วยพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รักอย่างแท้จริง

 

- วาโซเพรสซิน (Vasopressin) วาโซเพรสซินเป็นฮอร์โมนที่รู้จักกันดีในชื่อ แอนติไดยูเรติก (anti-diuretic) โดยทั่วไปมันทำงานร่วมกับไตในการควบคุมความรู้สึกกระหายน้ำ นอกจากนี้มันยังเป็นฮอร์โมนสำคัญในเชิงของการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ยาวนานด้วย ซึ่งจากการศึกษาคู่รัก 37 คู่ แสดงให้เห็นว่า ระดับของวาโซเพรสซินมีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เครือข่ายทางสังคมที่ใหญ่ขึ้น การรักษาความสัมพันธ์ ความมั่นคงต่อความผูกพันที่มากขึ้น ขณะที่มีการสื่อสารในเชิงลบต่อกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

แม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์ ความรักก็นับเป็นความรู้สึกที่น่ายินดีที่สุดอย่างหนึ่ง แม้ว่าคำกล่าวที่ว่า ความรักทำให้คนตาบอด จะมีส่วนจริงอยู่บ้างเพราะเมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน ฮอร์โมนต่าง ๆ ภายในร่างกายจะเริ่มทำงาน และมันก็ทำให้เราลืมเรื่องของเเหตุผลไปเสียสนิท นอกจากนี้ปริมาณของฮอร์โมนต่าง ๆ ยังจะลดลงไปตามเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ความรักจืดจางลง แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow