Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกโกหกเพราะอะไร ทำไมลูกไม่พูดความจริง

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 03 ส.ค. 60
5,977 Views

  Favorite

 “ทำไมลูกถึงโกหก” 

“ทำไมลูกไม่บอกความจริงกับพ่อแม่”

 
พ่อแม่หลายท่านคงมีความกังวลใจไม่น้อยเมื่อพบว่า ลูกโกหก ซึ่งจริง ๆ แล้วการที่ลูกพูดโกหกนั้นอาจเกิดมาจากหลายสาเหตุ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกให้ดีว่า การที่ลูกพูดโกหกนั้นเกิดจากความไม่รู้ หรือเกิดจากการพูดตามจินตนาการโดยที่ยังไม่สามารถแยกแยะ “ความจริง “ กับ “จินตนาการ” ได้
 
ซึ่งถ้าการที่ลูกโกหกนั้น ในเด็กวัย 2-3 ขวบ อาจเป็นเพราะลูกยังไม่เข้าใจหรือยังไม่สามารถแยกแยะความจริงกับจินตนาการได้อย่างชัดเจน ลูกจึงอาจจะพูดในสิ่งที่นึกขึ้นมาโดยไม่ได้ตรวจสอบกับโลกความเป็นจริง ดังนั้นในวัยนี้พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เด็กโกหก” เพราะจะกลายเป็นการตอกย้ำพฤติกรรมนั้นใส่เข้าไปในสมองของลูกแทน
 
แต่ในทางกลับกันถ้าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในเด็กวัยประมาณ 7 ขวบขึ้นไป ซึ่งสามารถเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีแล้ว ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมโกหก แต่การโกหกนั่นก็อาจจะยังไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะโกหกจริงๆ อาจเป็นแค่พฤติกรรมหนึ่งที่เด็กแสดงออกมาเพื่อปกป้องตัวเอง หรืออาจเป็นพฤติกรรมการสื่อสารที่ไม่ตรงกันมากกว่า ซึ่งพ่อแม่จะต้องรีบแก้ไขด้วยการแนะนำและช่วยอธิบายให้ลูกฟังว่าพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี และไม่สมควรทำอย่างไร
 
ภาพ : Shutterstock

 

 

วิธีการ

1. เป็นแบบอย่างที่ดี

เพราะต้นแบบของลูกคือ พ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรแสดงให้ลูกเห็นว่าการพูดความจริง และการรักษาคำพูดมีความสำคัญอย่างไร ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น พ่อแม่ไม่ควรหลอกหรือบอกให้ลูกทำอะไรโดยใช้เหตุผลที่เกินจริง  หรือเมื่อพ่อแม่ให้สัญญาอะไรกับลูกไว้ก็ควรที่จะทำตามสัญญานั้น ๆ
 

2. หลีกเลี่ยงการบังคับที่มากเกินไป

ในบางครั้งการที่ลูกโกหก อาจเป็นเพราะพ่อแม่ปิดกั้นความคิดหรือดุลูกมากเกินไป จนลูกกลัวที่จะพูดความจริงกับพ่อแม่หรือเปล่า  ลูกจึงเลือกการโกหกเพื่อเลี่ยงการถูกทำโทษ หรือหลีกเลี่ยงการทำให้พ่อแม่เสียใจ
 

3. ไม่ซ้ำเติมหรือตอกย้ำเมื่อลูกทำผิด

ในบางครั้งเมื่อลูกทำผิดไปแล้ว พ่อแม่จะต้องให้กำลังใจก่อนที่จะว่าหรือกล่าวหาลูก พ่อแม่ต้องให้โอกาสลูกได้บอกเล่าถึงเรื่องราวหรือสาเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ และไว้ใจ มากกว่าทำให้ลูกกลัว เพราะถ้าพ่อแม่ยิ่งต่อว่าหรือบีบคั้น ทำให้ลูกอยู่ในสถานการณ์ที่เขารู้สึกไม่สบายใจ ลูกก็จะยิ่งเลือกวิธีการโกหก เพื่อที่จะได้หลุดพ้นจากสถานการณ์นั้น ๆ
 

4. พูดคุยและใช้เวลาอยู่กับลูกให้มาก

เชื่อหรือไม่ บางครั้งการที่ลูกโกหก เพราะลูกมีเหตุผลบางอย่าง เช่น โกหกเพื่อปกป้องผู้อื่น หรือโกหกเพราะกลัวว่าเมื่อบอกความจริงแล้วพ่อแม่จะเสียใจ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การที่พ่อแม่ลองเริ่มคุยกับลูกให้มากขึ้น ฟังลูกมากขึ้น ตัดสินลูกให้น้อยลง ใช้เวลาอยู่กับลูก เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของลูก และแสดงความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของลูก เพื่อให้ลูกเกิดความไว้วางใจ และความไว้วางใจนี้เองที่จะทำให้ลูกเปิดใจและพูดคุยกับพ่อแม่ในทุก ๆ เรื่อง
 

ถึงแม้ว่า “การโกหก” จะถือเป็นพฤติกรรมในทางลบอย่างหนึ่ง แต่พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ในบางครั้งการโกหกนั้นเกิดขึ้นจากความอ่อนด้อยประสบการณ์ หรือความไม่รู้ของลูก ดังนั้นพ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการลงโทษที่รุนแรง แต่ควรใช้การพูดคุยทำความเข้าใจมากกว่า และในบางครั้งเมื่อลูกทำผิดแล้วมาสารภาพภายหลัง พ่อแม่ต้องเข้าใจ ถึงแม้ความผิดนั้นจะต้องถูกลงโทษตามปกติ แต่ก็ต้องแสดงความชื่นชมที่ลูกทำผิดแล้วสารภาพ ชมเชยว่าลูกมีความกล้าหาญ และลูกได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow