Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อยากเป็นนายตัวเอง ก็ต้องหาตัวเองให้เจอ !!! เปิดความคิด ฟังคนรุ่นพี่ ชี้แนะ บันไดสู่การเป็น “อองเทรอเพรอเนอ” (Entrepreneur)

Posted By Plook News | 26 มิ.ย. 60
4,278 Views

  Favorite

คนรุ่นใหม่อาจจะเก่งไปเสียทุกอย่าง… ก็จริง!! แต่เชื่อว่าเมื่อถามถึงความต้องการแห่งชาติ เช่น  โตขึ้นอยากเป็นอะไร อาชีพอะไร ที่คิดว่าทำจนแก่ตายก็ไม่เบื่อ !! หลายคนอาจสตั๊นท์ อึ้ง ตอบไม่ได้ คิดไม่ถึง กันเยอะเลย สะท้อนว่าแม้ปัจจุบันสังคมจะกลายเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีที่ก้าวไกล จะสามารถพัฒนา “ตัวตน” ของเด็กยุคใหม่ได้ แต่ละคนถึงไม่ได้ฉายแววอย่างชัดเจนแต่แรก
 


นาทีนี้ ไม่ผิด ถ้าคุณไม่รู้ว่า คุณรักอะไร ? ชอบอะไร ? หรือต้องการทำงานอะไรในอนาคตกันแน่  เพราะชีวิตจริงก็ยังมีอีกหลายคนที่เพิ่งจะค้นพบและรู้จักตัวเอง แต่ก็ให้คิดคิดเล่น ๆ อีกมุมว่า ว่าจะดีสักแค่ไหน ถ้าเรารู้จักและเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้เสียแต่เนิ่น ๆ เพราะบางที “เวลา” อาจเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ที่ไม่มีใครอยากเสียมันไปฟรี ๆ ดังจะเห็นได้ว่า คนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละวิชาชีพ เขามักเจอตัวเองอย่างเข้มข้นตั้งแต่วัยเด็ก และสามารถไปถึงจุดมุ่งหมายได้ตั้งแต่วัยรุ่น และน่าอิจฉาที่พวกเขาไม่มีวันยอมเกษียน เพราะอยากทำในสิ่งที่เขารักและเขาชอบไปตลอดนั่นเอง

อ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว คงรู้ว่าการ “ค้นพบที่ยิ่งใหญ่”  ก็คือ “การค้นพบตัวเอง”  ทั้งหมดเป็นข้อมูลบางส่วนจากงานสัมมนา “เตรียมความพร้อมบัณฑิตก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0” โดยวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร  (SUIC) จัดแนะนำ 6 หลักสูตรใหม่  สองใบปริยญา โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลก  จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อโอกาสและความพร้อมในการทำงานทั้งในและต่างประเทศ ภายในงานได้เชิญ  เหล่า Entrepreneur (อองเทรอเพรอเนอ) แปลตามตัว คือ ผู้ที่ประกอบการหรือสร้างธุรกิจขึ้นมาและยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หรือ เจ้าของธุรกิจตัวเอง มาถ่ายทอดประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย และการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือค้นพบตัวเอง อาทิ กิตตินันท์ วงศ์วาสิน (กิจ) เจ้าของธุรกิจ ร้านเลเซอร์ , คุณบอส-ปรัตถกร บุญทิตตานนท์ เจ้าของธุรกิจบริษัท Team Parallel, คุณกัส-กฤณ  โพธิปิติ เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ก๋วยเตี๋ยวเรือ-คลองกรุง, คุณเบลล์-เลลาณี ทศพร 

ลองเปิดฉากถามความเห็น ทำไมคนรุ่นใหม่ นิยมเป็นนายตัวเองกันมากขึ้น? คุณบอส-ปรัตถกร “อาจจะเป็นเพราะโลกยุคใหม่ เต็มไปด้วยโอกาสหลายอย่าง และสำหรับคนที่พร้อมหรือศึกษามาดีแล้ว เกิดอาการตื่นเต้น อยากเรียนรู้ อยากลอง และวิชาความรู้หรือข้อมูล ถ้าขวนขวายก็มีอยู่มากนอกนห้องเรียน อีกอย่างการได้ฝึกงาน ลองทำจริง แล้วทำได้ ทำให้คนรู้สึกว่าอยากลองเลย ไม่อยากเสียเวลา” คุณกัส-กฤณ “คนอื่น ผมไม่รู้ แต่ผมเป็นคนสมาธิสั้น ชอบทำอะไรเป็นของตัวเอง ถ้าไม่สนใจอะไร ก็จะไม่อยู่กับสิ่งนั้นนาน คิดว่าทำงานทั่วไปคงยาก ทำธุรกิจของตัวเองดีกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำตามสบาย เปิดไปวัน ๆ เราก็มีเป้าหมายของเราแหล่ะ เพราะการทำธุรกิจของตัวเอง  ได้ฝึกอะไรหลายอย่าง มีหน้าที่หลายส่วนมาก ไม่ดูไม่ได้ บางทีก็ต้องทำเอง เป็นการฝึกเราในตัว ให้เราไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะทำ ผมว่าคนรุ่นใหม่ อยากรู้ อยากลอง อยากรับผิดชอบตัวเอง ไม่ชอบให้ใครบังคับ แต่สุดท้ายเมื่อมาทำอะไรของตัวเองแล้ว ระบบธุรกิจก็บังคับเราอยู่ดี ให้ต้องแอ๊คทีฟเรื่อย ๆ

 


ดังนั้นกับคำถาม การเป็นนายตัวเอง ขณะอายุยังน้อย มี่ข้อดีมากๆนะครับ”  กิจ-กิตตินันท์ “ผมว่าแต่ละคน มีความคิดเป็นของตัวเอง มีไอเดีย แล้วก็มีไฟ อยากที่จะทำ อย่างผมเริ่มธุรกิจร้าน เลเซอร์เกม แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เพราะรู้สึกชอบเป็นการส่วนตัว อยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ทุกวัน แล้วก็หาความรู้ อัพเดทเทรนด์ใหม่ ๆ ได้ไม่เบื่อ ซึ่งตรงนี้เราก็เอามาเป็นไอเดียพัฒนาร้านด้วย” ว่ากันว่า 70 /30 คืออัตราของบริษัทฯ ที่เปิดใหม่ แล้วอยู่ได้ในสมรภูมิธุรกิจ ซึ่งวัดกันที่ความอยู่รอดยาวสามถึงห้าปี ตรงนี้มีวิธีการใดที่ทำให้บริษัทฯ ไปถึงจุดนั้น ? คุณบอส-ปรัตถกร “ต้องไม่หยุด ไม่ประมาท เทรนด์แป๊ปเดียว เปลี่ยน ไม่หยุด อย่าหยุดตัวเอง อย่าตายใจ อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว เทรนด์อะไรมาเร็ว แต่อะไรที่จะอยู่นาน ผมจะใช้วิธีสอบถาม เพื่อจะได้ข้อมูลเยอะ ๆ แชร์ไอเดียกัน บางทีมีข้อมูลที่เราไม่รู้ หรือบางอย่างเราคิดไม่ถึง อย่าคิดคนเดียว อันตราย”  กิจ-กิตตินันท์  “อย่าว่าแต่ธุรกิจ สังคมเองก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน ฉะนั้เราต้องเรียนรู้ ตลาดไปถึงไหนแล้ว อย่างผมทำสื่อดิจิตอลที่พัฒนาไปเรื่อย ๆ เลย ตอนนี้ก็กำลังดิวิลอป เทคโนโลยีวีอาร์ พยายามก้าวเข้าไปตรงนั้นให้ได้ เร็ว แรง แล้วก็ลึก ขณะเดียวกัน การตลาดก็ต้องศึกษา เรียนรู้ทุกอย่างไปในตัว แบ่งเวลา ไม่ประมาท” คุณกัส-กฤณ “ผมยกความดีความชอบให้กับการเรียนโอเปอเรชั่น สอนเราจัดการทุกอย่าง รวมถึงการฝึกงานเยอะ ๆ ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งวงจร ทั้งระบบ พอเข้าใจและได้เรียนรู้ทุกอย่างในภาคปฏิบัติการแล้ว ภาคบริหารก็ไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่นั่นอาจใช้ได้กับผม ที่ขนาดธุรกิจไม่ใหญ่มากนะครับ ถ้าใหญ่ ผมว่าประสบการณ์คงสอนเราเอง แต่ผมคิดว่าอย่างหนึ่งคือ อยากทำทุกอย่างด้วยความเอ็นจอย แล้วก็บาลานซ์ ถ้าความผิดพลาดจะเกิดขึ้นก็ต้องยอมรับ เพราะเป็นเรื่องไม่คาดฝัน”   คุณเบลล์-เลลาณี “เบลล์ ขอยกเป็นตัวอย่างสำนวนหนึ่งเรื่องว่ายน้ำ ว่ายช้า ๆ ค่อยไป แล้ววันหนึ่งจะไปได้ว่า แต่ถ้าว่ายไม่เป็น ไม่ว่าจ่ะว่ายอย่างไร เราก็จม คือทุกอย่างต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ลองผิด ลองถูก ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รอด ไม่แปลก แต่ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เรียนรู้ ศึกษาให้ได้ว่าทำอย่างไร ให้ไปถึงตรงนั้น  เบื้องต้น ก่อนทำอะไร ศึกษาให้เข้าใจจริง การมีพื้นฐานที่แน่น ไม่มีทางเป็นเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์แน่นอน”
 


ถึงตรงนี้แต่ละคนเด่นชัดมาก แต่ถ้าลองย้อนกลับไป ค้นพบตัวเองได้อย่างไร และมีวิธีการใด ที่ทำให้หาตัวเองเจอ ? ทุกคนบอกว่า “ทุกวันนี้ มีคำถามนี้อยู่ !! ” ก่อนจะหัวเราะ แล้วบอกล้อเล่น  กิจ-กิตตินันท์ “นึกก่อนว่าเราเก่งด้านไหน ชอบทำอะไร แล้วถ้าเราทำแล้ว จะไปต่อยอดอะไรได้บ้าง บางคนเที่ยวไปวันๆ ทำให้ รู้ตัวเองช้า ลองหาที่รัก ที่ชอบ แล้วไปต่อยอดเอา “  คุณบอส-ปรัตถกร “สมัยนี้โลกเปิดกว้าง ชอบทำอะไร ถ้ามีที่ให้ทำ ทำหมด หมั่นศึกษา ยิ่งศึกษา ยิ่งค้นพบ ตอนแรกชอบถ่ายรูป ทำวิดีโอ มาร์เก็ตติ้งด้วย และถ้ามีโอกาส เรียนไป ทำงานไปก็ดีครับ ค้นพบตัวเองได้เร็ว” คุณกัส-กฤณ “จากประสบการณ์ตรง ตอนปีสอง ผมอยากออก อยากซิ่ว เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ตอนนี้คิดยังไงไม่รู้ โชคดีได้ครอบครัว เพื่อน เตือนสติ และเราก็มาคิดเองว่า ไม่อยากย้อนกลับไป เสียเวลา ตอนนั้นจำได้ เพื่อน ๆ บอกคิดจะทำอะไร ให้รอบคอบ ใจเย็น อย่ารีบร้อน โลกนี้ไม่มีทางลัดหรอก ทุกอย่างก็ต้องอาศัยเวลา  บางคนเรียนมา ทำงานมาสามสี่ปี ยังไม่ชอบเลย เวลาเพียงเท่านี้ อย่าเพิ่งตัดสินมัน แล้วผมก็เรียนต่อ แล้วก็ได้รู้ว่าชอบสาขาที่เรียนมาก ๆ หลัก ๆ คือให้เวลา” คุณเบลล์-เลลาณี  “อาจจะผู้หญิงนิดหนึ่งนะคะ เบลล์ใช้ไดอารี่ค่ะ ชอบเขียน ตอนหลังก็เอาสังเกต ดูว่าตัวเองชอบอะไร แล้วก็ปรึกษาคุณแม่ แม่บอกเรียนอะไรก็ได้ลูก  ให้มีความสุขตลอดสี่ปี จบไปไม่ได้หมายความว่าต้องทำ แค่อยากให้มีความสุขกับทุกๆ วัน แนะนำไปแล้วหนูไม่อยากตื่นมาเรียน แม่ก็ไม่แฮปปี้ ไม่มีใครมีความสุข  อีกยอ่างคือ ใจเย็น ๆ คอยสังเกตว่า แต่ละวัน ใช้เวลากับอะไรไปมากที่สุด
 


คมคิดที่คมคาย ได้มาจากการตกผลึก ท้ายสุดต้องขอหยิบคำพูด ผศ.ดร.สมพิศ ขัตติยพิกุล  วิทยาลัยนานาชาติ   มหาวิทยาลัยศิลปากร  (SUIC)  ที่กล่าวในงานสัมมนาว่า “เครื่องมือ” ยิ่งพัฒนาไปไกลเท่าไหร่    คนเรา ในฐานะผู้ควบคุม ก็ต้องพัฒนาตนเองให้รุดหน้าไปเท่านั้น  หรือหากใครมีศักยภาพ วิ่งไปได้ไกลกว่าถึงขั้น  “ควบคุม”  จึงเรียกได้ว่าเป็นระยะปลอดภัย เป็นบุคลากรที่พร้อมสำหรับการทำงานทั้งในและต่างประเทศ  แม้ระบบการศึกษาในแต่ละประเทศ  จะไม่เหมือนกัน  แต่ความรู้ด้าน  “เทคโนโลยี” และ “ภาษาอังกฤษ” จะเป็นตัวคัดเกรดได้อย่างมาตรฐาน… อ่านแล้ว รู้สึกอยากให้ไทยแลนด์  4.0  วิ่งเข้ามาเร็ว ๆ สักที
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow