Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (A Lifelong Learning Society)

Posted By Plook Teacher | 13 มี.ค. 61
38,095 Views

  Favorite

สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน สังคม และประเทศชาติแบบองค์รวมเพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และมีความสุข ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีมานานแล้วโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศและนักคิดคนสำคัญ (อาทิ UNESCO, 2005; OECD, 1998; Schon, 1963; Hutchins, 1970; Husen, 1974; Drucker,1993; Ranson, 1994 เป็นต้น) ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศในทวีปยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร เยอรม สเปน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และประเทศในทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นต้น กำหนดให้สังคมแห่งการเรียนรู้เป็นวิสัยทัศน์หลักในการพัฒนาคนและประเทศ สำหรับประเทศไทยการปฎิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้ความสำคํญกับการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นกัน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับโอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีสิทธิและมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบการจัดการศึกษาตลอดชีวิต และให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับสภาพของกลุ่มเป้าหมาย และบูรณาการเข้าเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคม

 

“สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” หมายถึง สังคมที่ผู้คนมีนิสัยรักการเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเรียนรู้ มีนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนใจและใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ผู้คนสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลายและใช้ความรู้และทักษะความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม มีกระบวนการทางสังคมที่เกื้อหนุนส่งเสริมให้บุคคล กลุ่มบุคคล และชุมชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพยากรและแหล่งการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการ สะดวกรวดเร็วและมีการให้บริการอย่างครอบคลุมทั่วถึง เป็นสังคมที่มีการแบ่งปัน การถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทุกคนในสังคมร่วมมีบทบาทในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้จากผู้ทรงภูมิปัญญา มีระบบการบริหารจัดการความรู้ที่ทุกคนและทุกภาคส่วนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมได้ การพัฒนาสังคมเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนฐานการพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ และทัศนคติที่ดีแบบองค์รวมเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพและมีความสุข

 

องค์ประกอบของสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก ได้แก่ บุคคลแห่งการเรียนรู้หรือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้จัดการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ องค์ความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ บรรยากาศการเรียนรู้ เครือข่ายการเรียนรู้ การจัดการความรู้ องค์กรแห่งการเรียนรู้ และองค์ประกอบเสริม ได้แก่ วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระบบความผูกพันใกล้ชิดเป้าหมายการพัฒนา ความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค การออกแบบชุมชน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการประกันสิทธิการเรียนรู้ การสนับสนุนงบประมาณ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอาศัยองค์ประกอบทั้งเชิงโครงสร้างทางสังคมและเชิงระบบหรือสถาบันสำคัญของสังคม

 

หลักการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนฐานการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะและทัศนคติที่ดีเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพและมีความสุขอันเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน แต่ผลจากการวิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบันของการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในประเทศไทยพบว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ แม้ว่ามีบรรยากาศการเรียนรู้ เช่น การยกย่องชุมชนต้นแบบด้านการเรียนรู้ และมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้มากมายทั้งในระดับท้องถิ่นชุมชน ภูมิภาค และระดับชาติ แต่เนื่องจากผู้คนยังไม่มีนิสัยและคุณลักษณะของผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learners) ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ในระดับองค์กรยังมีการยอมรับความสามารถของคนภายในด้วยกันในระดับต่ำ ประกอบกับการแบ่งปันความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังพบเห็นได้เฉพาะในบางหน่วยงาน อาทิ หน่วยงานด้านการศึกษาเท่านั้น รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคม ทรัพยากรและแหล่งการเรียนรู้ยังไม่เพียงพอและเกื้อหนุนการเรียนรู้ตามปัญหา ความต้องการและความสนใจที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ในสังคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต้องเร่งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งระบบ ไม่เจาะจงการพัฒนาไปที่การศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น (การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย) ให้ความสำคัญกับรูปแบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น มีมาตรฐานและคุณภาพการเรียนรู้ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การเพิ่มโอกาสการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เป็นธรรมและมีคุณภาพ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา การกระตุ้นและยกระดับการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นที่ตัวบุคคล ทั้งในแง่ทัศนคติที่ดี ความรู้ ทักษะและการประพฤติปฏิบัติตัว ส่งเสริมให้บุคคลเป็นผู้รักและใฝ่เรียนรู้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เป็นผู้เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีนิสัยรักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีภาวะผู้นำตนเองในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยทั่วไปมีกระบวนการพัฒนาอันนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนี้

1. การสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดสังคมแห่งการเรียนรู้ การพัฒนาโดยใช้ความรู้เป็นฐานการพัฒนา และคุณค่าของการศึกษาตลอดชีวิต

2. การจัดตั้งคณะทำงาน เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่วางแผนการดำเนินงาน พัฒนาและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ กำเนินโครงการการต่างๆ และการประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งรับผิดชอบการประสานงานร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

3. วิเคราะห์สภาพองค์กรหรือชุมชนในการพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

4. กำหนดแผนการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

5. พัฒนาแผนปฏิบัติการอย่างละเอียดสำหรับการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

6. แสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

7. ดำเนินการจัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง

8. กำกับติดตามและประเมินผลความสำเร็จเป็นระยะๆ

9. สรุปองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานกับสมาชิกและเครือข่ายที่หลากหลาย

10. ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการดำเนินงานการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

ทั้งนี้ องค์กร หน่วยงานและชุมชนสามารถปรับกระบวนการพัฒนาข้างต้นได้ตามความเหมาะสมกับบริบทขององค์กร แนวนโยบาย ลักษณะการเรียนรู้ของผู้คนในองค์กร เป็นต้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาจากภายใน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือในการปฏิบัติงานที่เน้นความร่วมมือแบบหุ้นส่วน การมีส่วนร่วม และการมีความสามารถในการดำเนินการที่ชัดเจนและเป็นระบบต่อเนื่องอย่างเป็นพลวัต

 

สำหรับบริบทโรงเรียน การพัฒนาโรงเรียนไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ยั่งยืนต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานในการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ในการปฏิบัติขึ้นอยู่กับลักษณะบริบทโรงเรียน แนวนโยบาย วัฒนธรรมการเรียนรู้ การสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย และระบบโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน โดยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโรงเรียนมีแนวทางที่สำคัญๆ ดังนี้

 

         1. การกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย แผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาของโรงเรียนไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ชัดเจนและความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง

         2. การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติสามารถกระทำได้ทั้งในระบบและนอกระบบ อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และทั้งในระดับส่วนบุคคลและส่วนรวม ดังนี้

                  2.1 กำหนดคณะทำงานที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งระดับบริหารและดำเนินการ

                  2.2 แสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีการระดมทุนจากแหล่งต่างๆ

                  2.3 จัดการสื่อสารและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ความเชื่อ แนวคิดการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่ายร่วมกัน รวมทั้งสร้างกระแสความตื่นตัวและมีบทบาทสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

                  2.4 กำหนดกรอบการพัฒนา วางแผนดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการขับเคลื่อน พิจารณาประเด็นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือความสนใจร่วม

                  2.5 ออกแบบกิจกรรมการพัฒนาอย่างเป็นระบบแบบมีส่วนร่วม ปรัยกิจกรรมการเรียนการสอน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกิจกรรมเสริมหลักสูตรนอกห้องเรียน

                  2.6 จัดกิจกรรมการพัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียน โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ ตระหนัก เห็นคุณค่าและรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

                  2.7 ดำเนินการจัดกิจกรรม และส่งเสริมการพัฒนา ฝึกปฏิบัติซ้ำจนเกิดเป็นอุปนิสัย พฤติกรรมใหม่ ที่ดีงาม เช่น กิจกรรมการส่งเสริมการรักการอ่าน รักการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมการสร้างทัศนคติที่ดี การเปิดกว้างในการรับรู้ และยอมรับซึ่งกันและกัน

                  2.8 จัดสภาพแวดล้อมและการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งในเชิงกายภาพ จิตใจ และสังคม สร้างอัตลักษณ์โรงเรียนให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและพฤติกรรม

                  2.9 กำหนดให้มีการกำกับ ติดตามและประเมินผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตามตัวชี้วัด เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการทำงานที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

                  2.10 สรุปผลการดำเนินงาน ส่งเสริมการยกย่องและสร้างขวัญกำลังใจ เช่น การยกย่องเชิดชูคนดี เก่ง และมีความสุข

                  2.11 จัดระบบการจัดการความรู้โดยสร้างการเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน ชุมชนและระหว่างชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในวงกว้าง โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นกลไกในการบริหารจัดการ

                  2.12 สร้างระบบงานที่ส่งเสริมการพัฒนา การแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนความสำเร็จ ประชาสัมพันธ์นำเสนอบทเรียน องค์ความรู้สู่สาธารณะทั้งในระดับสถานศึกษา ระดับชุมชนหรือสังคมอื่นๆ ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

          3. การสร้างคุณค่าและผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ผลจากการพัฒนาจนเกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้จะทำให้โรงเรียนมีบุคลากรที่เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มีความพร้อมปฏิบัติงานและทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โรงเรียนมีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี มีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างคุณค่า ซึ่งส่งผลให้โรงเรียนมีความเป็นเลิศทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพ เป็นที่พึงให้กับผู้คน ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโรงเรียน สามารถพิจารณาได้จากการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับบุคคล และระดับองค์กร นั่นเอง

 

แผนภาพ 1 แสดงกระบวนการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับองค์กรและชุมชน

 

จะเห็นได้ว่า กระบวนการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโรงเรียนให้ความสำคัญกับการใช้โรงเรียนเป็นฐานการพัฒนา การเห็นคุณค่าและมีวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนาร่วมกันที่ชัดเจน การใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่เป็นหลักและการมีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดและตัดสินใจในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตนเองและหน่วยงาน การสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพและกำลังความสามารถ การแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ก่อเกิดพลังการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติอันเป็นรากฐานการพัฒนาโรงเรียนที่เข้มแข็ง อันจะเชื่อมโยงและนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติที่ยั่งยืนต่อไป

 

สรุป การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องคำนึงถึงภูมิสังคม ปรับการพัฒนาให้สอดประสานกับแนวทางการพัฒนาชุมชน องค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของบุคคลและกลุ่มบุคคล และการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยมีการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลไกการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สำคัญ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมควรทำความเข้าใจหลักคิดและแนวปฏิบัติของสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและการพัฒนาประเทศชาติที่มีดุลยภาพและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชนและสังคมโดยรวม สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551

 

รายการอ้างอิง

สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล. อนาคตภาพรูปแบบสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เชิงบวก

สำหรับชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน ภาควิชา

การศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.

Drucker, P. (1993). Post-Capitalist Society. HarperBusiness. New York, NY.

Faure, E., Herrera, F., Kaddoura, A., Lopes, H., Petrovsky, A., Rahnema, M., & Ward, F. R. (1972). Learning to be: The world of education today and tomorrow. Paris, France: UNESCO.

Husen, T. (1974). The Learning Society, London: Methuen.

Hutchins, R. M. (1970). The Learning Society, Harmondsworth: Penguin.

Longworth, N., & Osborne, M. (Eds.). (2000). Perspectives on learning cities and regions: Policy, practice and participation. Leicester, England: National Institute of Adult Continuing Education.

OECD. (1998). High level seminar on competitive strength and social cohesion through learning cities and regions: Concepts, developments, evaluation. Paris: Center for Research and Innovation.

Ranson, S. (1994). Towards the Learning Society, London: Cassell. 

Schon, D. (1963). The Theory and Rhetoric of the Learning Society. Retrieved from

http://www.infed.org/lifelonglearning/b-lrnsoc.htm.

Scott, L. (2015). Learning cities for adult learners. New Directions for Adult and Continuing Education, Number 145. San Francisco, CA: Jossey-Bass.

UNESCO. (2005). Towards knowledge societies. UNESCO World Report. UNESCO Publishing.

Retrieved from www.unesco,org/en/worldreport

 

ประวัติผู้เขียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล

สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow