Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เสียงและมลภาวะทางเสียง

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
23,035 Views

  Favorite

เสียงและมลภาวะทางเสียง

      เสียงเป็นพลังงานรูปหนึ่งไม่มีตัวตนไม่มีน้ำหนักและไม่ต้องการที่อยู่  แต่สามารถทำงานได้กล่าว คือ เสียงทำให้แก้วหูของเราสั่นเมื่อแก้วหูสั่นก็จะกระเทือนต่อเนื่องกันไปจนถึงประสาทหูเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าสู่สมองทำให้เราได้ยินเสียง  เสียงเกิดขึ้นรอบตัวเราทั้งวันเสียงอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคนเป็นผู้กระทำก็ได้ ตัวอย่างของเสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ได้แก่ เสียงกิ่งไม้ใบไม้เสียดสีกันเมื่อมีลมพัด เสียงน้ำตก เสียงคลื่น เสียงฝน เสียงฟ้าร้อง ส่วนเสียงที่คนกระทำขึ้น ได้แก่ เสียงดนตรี เสียงระฆังบอกเวลา เสียงพูด เสียงหัวเราะ เสียงแตรรถ 

 

เสียงและ มลภาวะทางเสียง

 

เสียงและ มลภาวะทางเสียง


      เสียงรอบตัวเรามีทั้งเสียงไพเราะน่าฟังและเสียงหนวกหูน่ารำคาญ  เราชอบฟังเสียงไพเราะ เช่น เสียงนกร้อง เสียงดนตรี แต่ไม่ชอบฟังเสียงหนวกหูน่ารำคาญหรือเสียงดังอึกทึกต่าง ๆ เสียงมีความดังเป็นหลายระดับตั้งแต่เสียงค่อยมาก ๆ จนถึงเสียงดังมาก ๆ เสียงหัวใจเต้น เสียงกระซิบ เป็นตัวอย่างของเสียงค่อยมาก ๆ  ส่วนเสียงตะโกน เสียงหวูด เสียงพลุ เสียงปืนใหญ่ เสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าใกล้ ๆ เสียงเครื่องบินกำลังบินขึ้นหรือลงใกล้ ๆ เป็นตัวอย่างของเสียงดังมาก ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประสาทหูอาจทำให้หูตึงหรือหูพิการได้ควรใช้เครื่องป้องกันหรืออุดหูเมื่อได้ยินเสียงเหล่านี้

      นอกจากนั้นการอยู่ในที่ซึ่งมีเสียงดังอึกทึกติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เช่น ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีเครื่องจักรส่งเสียงดังติดต่อกันอาจทำให้หูตึงหูหนวกและสุขภาพจิตเสื่อมได้  ควรระมัดระวังและใช้เครื่องครอบหูเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่หูของเรา

 

เสียงและ มลภาวะทางเสียง

 

 

 

 

 

      เสียง คือ คลื่นความดันที่เคลื่อนที่ไปในอากาศ  คลื่นเสียงเป็นคลื่นตามยาวเคลื่อนที่ไปในอากาศโดยที่อากาศไม่ได้เคลื่อนที่ตามไปด้วยอากาศเพียงแต่สั้นไปมาเมื่อมีเสียงเดินทางผ่านไปเท่านั้นเสียงอาจเคลื่อนที่ไปในของเหลว เช่น น้ำ หรือของแข็ง เช่น เหล็กได้เช่นเดียวกับ เมื่อเคลื่อนที่ไปในอากาศคลื่นเสียงเคลื่อนที่ไปในเหล็กได้เร็วกว่าเคลื่อนที่ไปในอากาศถึงสิบห้าเท่าและเคลื่อนที่ไปในน้ำเร็วกว่าเคลื่อนที่ในอากาศสี่เท่า  

      อวัยวะสำหรับรับฟังเสียงของเรา คือ หู ซึ่งแบ่งเป็นสามส่วน เรียกชื่อว่า หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อคลื่นเสียงเคลื่อนที่มาถึงหูของเราใบหูจะทำหน้าที่รวบรวมคลื่นเสียงไว้แล้วส่งเข้าไปทางช่องหูซึ่งมีความยาวประมาณหนึ่งนิ้ว  เมื่อเข้าไปถึงแก้วหูคลื่นเสียงจะทำให้แก้วหูสั่นการสั่นสะเทือนถูกส่งถ่ายทอดไปตามกระดูกเล็ก ๆ สามชิ้น มีชื่อว่า กระดูกรูปค้อน กระดูกรูปทั่ง และกระดูกรูปโกลน มีกลไกทำหน้าที่ปกป้องเสียงที่ดังและเป็นคันโยกปล่อยเสียงเข้าไปสู่หูชั้นใน จากหูชั้นในคลื่นเสียงจะเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปสู่สมองซึ่งจะทำให้สมองรับรู้เป็นเสียง

 

เสียงและ มลภาวะทางเสียง


      เสียงแบ่งออกได้เป็นสองชนิด คือ เสียงธรรมดาและเสียงรบกวน เสียงธรรมดาเป็นเสียงที่มีความยาวคลื่นเป็นระเบียบจึงทำให้รื่นหูผู้ฟังหรือเสียงที่เราต้องการสื่อสารกัน  แต่เสียงรบกวนทำให้เราเดือดร้อนรำคาญ เช่น เมื่อโยนหนังสือลงบนพื้นขณะที่หนังสือตกกระทบพื้นจะทำให้อากาศสั่นสะเทือนอย่างไม่เป็นระเบียบทำให้ตกใจหรือดังเกินไปจนเรารู้สึกไม่ชอบ  เสียงรบกวนอาจเป็นเสียงดังหรือเสียงค่อยก็ได้  เสียงพลุเป็นเสียงรบกวนชนิดเสียงดังส่วนเสียงน้ำหยดดังติ๋ง ๆ จากก๊อกเป็นเสียงรบกวนชนิดค่อยซึ่งแม้จะค่อยมากแต่ก็อาจทำให้เราเดือดร้อนรำคาญได้มากเช่นกัน  เราวัดระดับเสียงและระดับของความดังเป็นเดซิเบล เสียงที่ดังไม่เกิน ๖๐ เดซิเบลเป็นเสียงที่ฟังได้สบาย  เสียงดังระหว่าง ๖๐ ถึง ๘๐ เดซิเบล จัดว่าเป็นเสียงดัง เสียงที่ดังเกินกว่า ๘๐ เดซิเบล ถือว่าเป็นเสียงที่ดังมากซึ่งอาจทำลายสุขภาพได้จากการทดลองพบว่าถ้าเราต้องฟังเสียงดังมากอยู่นาน ๆ จะทำให้หูหนวก ไม่สบายและเป็นโรคทางประสาทได้

 

เสียงพลุ
เสียงพลุ ซึ่งเป็นเสียงรบกวนชนิดเสียงดัง


      เสียงรบกวนที่ทำให้เดือดร้อนรำคาญอาจเกิดขึ้นได้จากการก่อสร้าง การจราจรทางถนน เสียงเครื่องบิน การจราจรทางรถไฟ และจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนเสียงรบกวนที่ดังมากที่สุดภายในอาคาร ได้แก่ เสียงในดิสโกเธค  เสียงรบกวนที่เกิดจากการก่อสร้างถ้าเป็นโครงการก่อสร้างขนาดเล็ก เช่น เสียงที่เกิดจากการสร้างหรือซ่อมอาครที่พักอาศัยเพียงหนึ่งหรือสองหลังไม่ทำให้เกิดปัญหามากนักเพราะเสียงเหล่านี้จะหยุดไปในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน  แต่ถ้าเป็นเสียงรบกวนจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น อาคารสูงหลายสิบชั้นซึ่งต้องใช้เวลากว่าหนึ่งปีหรือหลายปีก็อาจทำให้เป็นอันตรายต่อหูได้  เสียงรบกวนที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญมากที่สุดคงจะ ได้แก่ เสียงจากการจราจรทางถนนเพราะสามารถแผ่กระจายเข้าไปสู่สภาพแวดล้อมได้ง่ายทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อเนื่องเข้าสู่บ้านเรือน ศูนย์การค้า สำนักงานและสถานที่ทำงานต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดเสียง  เสียงเครื่องบินทำความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้มีที่อยู่อาศัยใกล้สนามบิน เสียงเครื่องบินไอพ่นขณะบินขึ้นเป็นเสียงที่ดังมาก วัดค่าความดังของเสียงได้ถึง ๑๓๐ เดซิเบล เสียงจากเครื่องบินตอนกลางวันทำลายสมาธิในห้องเรียน ส่วนเสียงในตอนกลางคืนทำให้ผวาตื่นจากหลับ  เสียงดังภายในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งดังติดต่อกันตลอดทั้งวันทั้งคืนเป็นอันตรายมากต่อผู้ที่ทำงานอยู่ภายในโรงงานนั้นเพราะอาจทำให้หูเสื่อมหรือหูหนวกได้  ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงงานซึ่งมีเสียงดังมากควรสวมเครื่องป้องกันหูเพื่อป้องกันมิให้หูหนวก  ภายในอาคารเสียงดังรบกวนที่มีค่าสูงสุด คือ เสียงดนตรีในดิสโกเธคซึ่งมีค่ากว่า ๑๐๐ เดซิเบล และอาจเป็นอันตรายต่อหูทำให้หูหนวกได้ 

 

เสียงรบกวนจากเครื่องบิน
เสียงรบกวนจากเครื่องบิน

 

การควบคุมเสียงรบกวนทำได้สามวิธี คือ
(๑) ควบคุมที่แหล่งกำเนิดเสียง 
(๒) ปรับทางเดินของเสียง และ 
(๓) ป้องกันหูของผู้ฟัง 

      การควบคุมแหล่งกำเนิดของเสียงทำได้โดยใช้วัสดุดูดเสียง เช่น กระเบื้องเนื้อพรุนกรุผนังหรือเพดานของแหล่งกำเนิดเสียง  การปรับทิศทางเดินของเสียงทำได้โดยการหันทิศทางของเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงให้เสียงเดินทางไปทางอื่นซึ่งมิใช่พื้นที่รับเสียงหรือใช้กำแพงกั้นเสียงระหว่างแหล่งกำเนิดและผู้รับเสียง กำแพงกั้นเสียงอาจเป็นกำแพงชนิดธรรมดาสิ่งก่อสร้างหรือขอบคันดินก็ได้  ส่วนการป้องกันหูของผู้ฟังควรใช้เครื่องครอบหูหรือจุกเสียบหูวิธีนี้ใช้ได้ดีกับผู้ทำงานในโรงงานที่มีเสียงดังมาก ๆ หรือผู้ทำงานในสนามบิน

 

ห้องบันทึกเสียงที่มีผนังทำด้วยวัสดุพรุนเพื่อใช้ดูดเสียง
ห้องบันทึกเสียงที่มีผนังทำด้วยวัสดุพรุนเพื่อใช้ดูดเสียง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

6
เดซิเบล (dB)
เดซิเบล (dB) เสียงค่อยที่สุดที่หูของสุขภาพดีตรวจหาได้ คือ ๒๐ ไมโครปาสกาล ซึ่งน้อยกว่าความดันบรรยากาศถึง ๕ พันล้านเท่า (๑ ปาสกาล คือ ๑ นิวตัน ต่อ ตร.เมตร นิวตัน เป็นหน่วยของแรง) การเปลี่ยนความดัน ๒๐ ไมโครปาลกาล มีค่าน้อยมากเพียงแต่จะทำให้เยื่อในหูคนขยั
3K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow