Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเฉลิมฉลองวันสตรีสากลครั้งแรกของโลก

Posted By Plook Panya | 08 มี.ค. 60
3,870 Views

  Favorite

8 มีนาคม พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911)
การเฉลิมฉลองวันสตรีสากลครั้งแรกของโลก

วันนี้มีการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีประชาชนทั้งชายและหญิงมากกว่า 1 ล้านคน จากประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ เข้าชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการทำงาน พร้อมขอให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงาน จากนั้นในปีถัดมาก็เริ่มมีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากลขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดนตามมา แต่แรกเริ่มเดิมทีผู้คนต่างยึดถือให้วันนี้เป็นวันสำหรับจัดกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับสตรี โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานหญิงได้รับผลกระทบตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ  ต่อมากิจกรรมในวันสตรีสากลเริ่มเน้นไปที่การสร้างความตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มผู้ใช้เเรงงานหญิงให้ได้รับการคุ้มครองจากปัญหาความรุนเเรง และยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มสตรีทั่วโลก ผู้คนต่างหันมาร่วมกันเฉลิมฉลองในวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิง เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค ความยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนาศักยภาพสตรีทั่วโลก
 

เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดวันสตรีสากล

• 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 วันสตรีสากลมีจุดกำเนิดมาจากการประท้วงนายจ้างเพื่อขอเพิ่มค่าแรง และเรียกร้องสิทธิของกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครั้งนั้นได้เกิดโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ที่มีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากการลอบวางเพลิงเผาโรงงานในขณะที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่   

• ปี ค.ศ. 1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ ทั้งกดขี่และทารุณของนายจ้าง พวกเธอต้องทำงานอย่างหนักไม่ต่ำกว่า 16-17 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีวันหยุดและไม่มีสวัสดิการใด ๆ 

• 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 “คลาร่า เซทกิน” นักการเมืองสตรีชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ปรับปรุงสวัสดิการ และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

• 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก 

• 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 ผู้แทนสตรีจาก 17 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรีที่ถูกกดขี่แรงงาน โดยปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย มีการคุ้มครองสวัสดิภาพสตรีและแรงงานเด็ก ทั้งยังรับข้อเสนอในระบบสาม 8 คือ

1. ยอมลดเวลาทำงานของแรงงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง

2. ให้เวลาแรงงานได้ศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองวันละ 8 ชั่วโมง

3. ให้เวลาแรงงานได้พักผ่อนวันละ 8 ชั่วโมง

 

ในครั้งนั้นที่ประชุมสมัชชาได้รับรองข้อเสนอของ“คลาร่า เซทกิน” 
ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล”

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow