ลักษณะรวงรัง (comb) ของผึ้งทุกชนิด พบว่า ประกอบด้วยหลอดรวง (cells) รูปหกเหลี่ยม
ด้านเท่าจำนวนพัน ๆ หลอดรวง ขนาดของหลอดรวง ขึ้นอยู่กับชนิดของผึ้ง เช่น ผึ้งหลวงตัวใหญ่ ขนาดของหลอดรวงก็ใหญ่ด้วย ผึ้งมิ้มมีขนาดเล็กที่สุด ดังนั้นขนาดหลอดรวงของผึ้งมิ้มจึงเล็กที่สุด จำนวนหลอดรวงในรังผึ้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของรัง เช่น ผึ้งหลวงรังใหญ่ ๆ อาจจะมีจำนวนมากถึงหมื่น ๆ หลอดรวง เช่นเดียวกับผึ้งเลี้ยง โดยเฉพาะ ผึ้งโพรงฝรั่ง มีประชากรมากที่สุด รังผึ้งรังเดียวอาจจะซ้อนกันได้ถึง ๓-๔ หีบ แต่ละหีบมีรังผึ้ง ๘- ๑๐ รวง ดังนั้นจะมีประชากรผึ้งงานมากกว่าแสนตัว
รวงรังผึ้งเปรียบเสมือนบ้าน หลอดรวงต่าง ๆ คือ ห้องนั่นเอง ดังนั้นจึงมีไว้ เพื่อเป็นที่อาศัยของตัวอ่อน นางพญาจะวางไข่ลงที่ฐานหลอดรวง ต่อมาตัวอ่อน หรือตัวหนอนจะเจริญในหลอดรวงเข้าดักแด้ เมื่อลอกคราบสุดท้าย ตัวเต็มวัยผึ้งจะคลานออกมาจากหลอดรวง ในรวงรังผึ้งชนิดเดียวกัน จะมีหลอดรวงไม่เท่ากัน เพราะขนาดของผึ้งในแต่ละวรรณะไม่เท่ากัน เช่น หลอดรวงของผึ้งงานมีขนาดเล็กที่สุด ในรังผึ้งโพรงไทยหลอดรวงผึ้งงานกว้าง ๐.๑๘ นิ้ว ส่วนหลอดรวงผึ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าคือ กว้าง ๐.๒๑ นิ้ว หลอดรวงของผึ้งนางพญามีลักษณะพิเศษ คือ หลอดรวงจะใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวง ในลักษณะที่ห้อยหัวลง ผึ้งทุกวรรณะ เมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้ว จะไม่เข้าไปอยู่ในหลอดรวงอีก แต่จะอาศัยเกาะห้อมล้อมรอบ ๆ รวงรัง หลอดรวงตัวอ่อนนี้ อาจจะใช้สำหรับเก็บน้ำผึ้ง และเกสรได้ด้วย โดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บาน ปกติหลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เราเรียกว่า หัวรวง หรือหัวน้ำผึ้ง ต่ำลงมาเป็นหลอดรวงเก็บเกสร และหลอดรวงตัวอ่อน
การสร้างหรือซ่อมแซมรัง เป็นหน้าที่ของผึ้งงาน โดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง ๔ คู่ ทางด้าน
ล่างส่วนท้องของผึ้งงานที่มีอายุ ๑๒-๑๘ วัน ไขผึ้งจะถูกผลิตออกมาเป็นแผ่น ๆ ในการสร้างหรือซ่อมแซมรัง ผึ้งงานจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกมาจากท้อง แล้วเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วจึงนำไปเชื่อมต่อ ๆ กัน เป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลาย ๆ อัน ก่อให้เกิดเป็นรวงรังขึ้น