ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙ ได้เกิดปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ และการว่างงานอย่างกว้างขวาง รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับสถานการณ์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ จึงได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการวางแผนพัฒนาใหม่จากการวางแผนแบบการจัดสรรทรัพยากร (Allocative Plan) เป็นแผนแบบชี้ทิศทางหรือชี้นำ (Indicative Plan) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและความคล่องตัว ซึ่งผู้บริหารและหน่วยปฏิบัติ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและทรัพยากรที่มีอยู่
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ มีจุดเน้น ๒ ประการ คือ
ประการแรก มุ่งที่จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มั่นคงในช่วง ๒ ปีแรกของแผน ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรวมทั้งชะลออัตราเพิ่มของ ประชากรต่อไป
ประการที่ ๒ เร่งทำการฟื้นฟูบูรณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ และแร่ธาตุ เพื่อให้เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว
สำหรับเป้าหมายที่สำคัญๆของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ มีดังนี้
ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ ปรากฏว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยเพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องใช้จ่ายเพื่อซื้อน้ำมัน วัตถุดิบ และเครื่องจักรเพิ่มขึ้นมาก ก่อให้เกิดการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละเกือบ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณร้อยละ ๖.๓ ของผลิตผลรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ ๑๑.๖ ต่อปี นอกจากนี้ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน เป็นต้น
อย่างไรก็ดีในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ ปรากฏว่าเศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย คือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี สาขาที่เพิ่มสูงขึ้นคือสาขาเหมืองแร่ ก่อสร้าง คมนาคมขนส่ง และประปา ทั้งนี้เพราะรัฐทุ่มเทการลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่วนสาขาที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายคือ สาขาเกษตร ทั้งนี้เป็นเพราะความจำกัดของที่ดินและความเสื่อมโทรมของที่ดิน แหล่งน้ำ ส่วนสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึง ๖๐๐,๐๐๐ คน และยังโยงไปถึงปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในสาขาเกษตรและที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล ผู้ที่อยู่ในสาขาเกษตรกรซึ่งมีจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าผู้อยู่ในสาขาอุตสาหกรรมเกือบ ๕ เท่าตัว ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงหนือมีรายได้ต่างจากคนในกรุงเทพฯ เพิ่มจาก ๖.๙ เท่าตัว ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็น ๗.๕ เท่าตัว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔
สำหรับการพัฒนาด้านสังคม ปรากฏว่ามีบางเรื่องทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ สามารถลดอัตราการเพิ่มของประชาชนใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เหลือเพียงร้อยละ ๒.๒ ส่วนการพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุข ยังคงมีปัญหาด้านคุณภาพของบริการและยังไม่สามารถกระจายได้ อย่างทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ยากจนและห่างไกล