การพัฒนาครูคือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง
สมาชิกเลขที่73381 | 30 ก.ค. 55
6.2K views

การพัฒนาครูคือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง

โดย นายปรีชา เริงสมุทร์[1]  

ภายหลังที่ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อมุ่งหวังและยกระดับการศึกษาของชาติ และจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง โดยเฉพาะปฏิรูปการบริหารและการศึกษา ซึ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิรูป เนื่องจากการปฏิรูปทุกด้านต้องประสานเชื่อมโยงและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ นับจากนั้นมาได้ร่วมสองทศวรรษ การปฏิรูปรอบใหม่กำลังขับเคลื่อนต่อไปซึ่งแน่นอนที่สุดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะตกเป็นภารกิจสำคัญของผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ ไม่ว่า รัฐบาล สถานศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ในบทความชิ้นนี้จะขอชี้ประเด็นไปที่ปัญหาและคุณภาพของบุคคลากรทางการศึกษา ดังที่ ดร.ปกรณ์ ปรียากร (2554) ผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมนานาชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้ว่า สิ่งที่น่าห่วงคือเรื่องของการพัฒนาคุณภาพครูกับบุคคลากรทางการศึกษา เพราะเรายังไม่มีบุคคลากรที่มีคุณภาพเพียงพอ เพื่อเข้าสู่ความเป็นครู ทั้งในแง่กระบวนการคัดเลือก กระบวนการสร้างการเรียนรู้ และกระบวนการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง

ดร.รุ่ง แก้วแดง (2555) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอให้เห็นถึงปัญหาของการศึกษาไทยที่สอดคล้องกันในการเตรียมตัวสู่การปฏิรูปการศึกษาว่า ปัจจัยหนึ่งคือ กำลังคนในการศึกษามีปัญหา หมายถึง วิชาชีพครูถดถอยลงเรื่อยๆ จากอดีตที่มีการคัดเลือกคนที่เรียนได้ที่หนึ่ง มาเป็นครู แต่ปัจจุบัน วิชาชีพครูอยู่ในอันดับท้ายๆ ที่คนจะเลือก และมักเป็นผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย เขาให้ความสำคัญกับวิชาชีพครูมาก ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเรื่องเงินเดือนครูก็สูงกว่าข้าราชการอื่นถึง 15% และอย่างที่ประเทศจีน ก็ให้การยกย่องครูมาก เหมือนที่ไทยเคยยกย่องครูเหมือนในอดีต แต่ปัจจุบันวิชาชีพครูถูกมองข้าม

แม้ว่าจะมีข้อเสนอในการยกระดับบุคคลากรทางการศึกษามากมาย และข้อเสนอเหล่านั้นก็ได้รับการตอบรับนำสู่การออกนโยบายของรัฐบาลและสร้างแนวปฏิบัติของหน่วยงานทางการศึกษาหลายประการ แต่ข้อเสนอประการหนึ่งที่ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ (2554) ประธานกรรมการ โรงเรียนนานาชาติ เดอะรีเจ้นท์ ( The Regent’s School ) กูรูนักการศึกษา เสนอว่า การปฏิรูปการศึกษาจะต้องสนองตอบ การพัฒนาชาติ และ การแก้ปัญหาคอรัปชั่นของชาติ จึงต้องเริ่มจาก พัฒนาคนด้วยการศึกษาองค์รวม (Holistic Education)โดยให้มี ปัญญาดี (Good Head)และจะต้องมี จิตใจดี (Good Heart) เพื่อนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า ควบคู่กับคุณธรรมความดีงาม ให้เกิดต่อตนเอง ,ครอบครัว,องค์กรที่ทำงาน ,ชุมชนสังคมและประเทศชาติ เป็นการช่วยกันแก้ปัญหาการคอรัปชั่นที่เป็นปัญหาเรื้อรังและฝังรากลึกในทุกวงการมายาวนาน ซึ่งบั่นทอนขีดความสามารถและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศชาติ  และด้วยระบบการศึกษาแบบองค์รวมที่ผสมผสานความแข็งแกร่งทั้งด้านวิชาการและคุณธรรม จะทำให้นักเรียนเติบโตเป็นผู้นำที่ดี ที่ประเทศชาติ และโลกต้องการ โดยท่านเน้นย้ำว่า “ ผู้นำหมายถึงเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้อื่นทำตามได้  ไม่ใช่เก่ง แล้วเอาเปรียบคนอื่น หรือ เก่งแล้วไปโกงคนอื่น”

ปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่พูดกันมากจนไม่ทราบว่าจะเริ่มแก้กันตรงไหนดี  หัวใจสำคัญ คือ ทำอย่างไรจึงจะให้เด็กทุกคนมีความสุขในการเรียนทุกวิชา? ซึ่งครูผู้สอน จะต้องมีความรู้และคุณภาพมาตรฐานตามหลักสากลอย่างประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้ว    ผู้ที่ต้องการเป็นครูต้องเรียนจบปริญญาตรีมาแล้วโดยมีพื้นความรู้ทางวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่ง จากนั้นต้องเรียนการเป็นครูต่ออีก 2 ปี และสอบ QTSเพื่อเตรียมความพร้อมในทุกๆด้านของการเป็นครู ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการสอน  การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ หลักจิตวิทยา โดยคำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลักเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  และที่สำคัญบุคลากรก็ต้องมีคุณธรรมและจรรยาบรรณเช่นกัน เพราะจะทำให้การเรียนการสอนบรรลุเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนมีความสุขในทุกวิชา เช่นนี้ การปฏิรูปการศึกษาจะสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพและประเทศชาติต้องการ ทั้งลดปัญหาคอรัปชั่นและค่าสังคมที่นิยมคอรัปชั่นให้น้อยและหมดไป  ทำให้ประเทศไทยที่เรารัก...แข็งแรงและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง

ในตอนท้ายของบทความนี้ ต้องการให้เราทุกคนตระหนักว่า การศึกษาไทยกำลังวิกฤตหนัก ทำอย่างไรที่จะให้ทุกคนหันมาร่วมปฏิรูปการศึกษา สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย วิธีที่ง่ายที่สุดของดร.รุ่ง แก้วแดง ก็คือ กลับไปบ้านเกิด ใช้ความรู้ ประสบการณ์และเครือข่ายในการช่วยลูกหลานของเรา ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษาควรเน้นปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมการบริหารแบบมีส่วนร่วมและตั้งเป้าหมายที่มีพลัง และส่งเสริมการประกันคุณภาพภายในให้เป็นวัฒนธรรมคุณภาพ ส่วนการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายนั้นไม่ใช่แค่เพียงต้องการให้คนเห็นผลรูปธรรมในระยะสั้น  ยังมีปัญหาสำคัญในโครงสร้างลึกๆของปัญหาการศึกษาไทยที่ต้องใช้เวลาแก้ในระยะยาว  และต้องเริ่มแก้กันตั้งแต่วันนี้  การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องลงลึกถึงแก่นของปัญหาและเห็นว่าควรเอาคนภายนอกที่มีประสบการณ์มารอบด้านมาปฏิรูป จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้  โดยตั้งเป็นคณะกรรมการแห่งชาติ ไม่เกี่ยวกับการเมือง งานปฎิรูปการศึกษาของประเทศก็ยังทำได้ต่อเนื่องและปลอดจากการครอบงำทางการเมือง

บรรณานุกรม

ปกรณ์ ปรียากร. 2554. “มองการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง,” วารสารข่าวสารมุสลิม ฉบับพิเศษ การศึกษาไทย.

ประภาภัทร นิยม. 2553. “แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วยการศึกษาทางเลือก,” การนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทางเลือกครั้ง ที่ 3/2553 (24 พฤศจิกายน 2553).

รุ่ง แก้วแดง 2555. “ทิศทางการศึกษาไทยภายใต้ การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2,” ปาฐกถาพิเศษ วชิรบารมี (25 กรกฎาคม 2555).

วีระชัย เตชะวิจิตร์ 2554. “ปฏิรูปการศึกษาไทย ในรัฐบาลยุคใหม่ เริ่มกันตรงไหนดี,” ปาฐกถาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (15 สิงหาคม 2554).

 

 

 



[1] นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนประทีปธรรมมูลนิธิ จ.กระบี่ 

Share this