Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Portfolio คืออะไร เปลี่ยน Portfolio ให้กลายเป็น Profile เด็กมหา’ลัย !

  Favorite

          ปัง ปัง ปุริเย่ ! เย่ เย่ ๆ ใกล้เปิดฤดูกาล TCAS 64 แล้ว โดยพี่นัทถือเอาฤกษ์เอาชัยที่เรียกว่าวันเปิดฤดูกาลคือวันที่ 5 มกราคม 2564 เพราะเป็นวันเปิดให้ลงทะเบียนในระบบ mytcas วันแรก นั่นเท่ากับเสียงนกหวีดเป่าปี๊ดเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ถึงเวลาแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการแล้ว แม้ว่าก่อนที่จะถึงวันนั้น อาจจะมีการเปิดรับรอบที่ 1 Portfolio กันก่อนก็ตาม นั่นเพราะปีนี้ ทปอ. มีการปรับเปลี่ยนระบบปลดล็อกช่วงเวลาการสมัครรอบที่ 1 ที่ใน TCAS ที่ผ่านมาจะกำหนดเป็นช่วงเวลาเดียวกันไว้ ให้ทุกสถาบันเปิดรับรอบนี้ แต่ปีนี้ ทปอ. ได้ปรับเปลี่ยนเป็นให้เปิดรับสมัครได้อย่างอิสระ แต่ต้องเข้าระบบ Clearing House พร้อมกันคือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

          ดังนั้นพี่นัทเดาได้เลยว่า ป่านนี้น้อง ๆ คงกำลังขมักเขม่นปั้นฝัน ปั่นพอร์ตกันอย่างแน่นอน แต่ก่อนจะทำเคยถามตนเองก่อนมั้ยว่า  Portfolio คืออะไร ทำไปทำไม และกรรมการเขาตัดสินเราอย่างไร จาก แฟ้มสะสมผลงานเพียง 1 เล่ม !! วันนี้มีคำตอบค่ะ

 

 

Portfolio คืออะไร

          Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน คือ เอกสารที่แสดงตัวตน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ การเข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนรางวัลที่ได้รับ ที่มีความสอดคล้องกับสาขาวิชาที่เราสมัคร

 

การนำไปใช้ในระบบ TCAS

          ใช้เป็นเครื่องมือแข่งขันหลักในรอบที่ 1 และอาจมีใช้ประกอบบ้างในรอบที่ 2 โดยทางมหาวิทยาลัยอาจจะขอใช้ Portfolio เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา

 

ประเภทของ Portfolio

          1. ผลงานที่สะสมมาในอดีตย้อนหลัง 3 – 4 ปี ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่สมัคร

          2. ผลงานที่สร้างตามโจทย์ที่สาขากำหนด (โจทย์เปลี่ยนทุกปี ไม่ต้องลอกกัน ให้ติดตามจากประกาศของแต่ละสาขา

 

หัวใจของ Portfolio ที่กรรมการมองหา

          1. ทำตามคำสั่งที่แต่ละสถาบันกำหนดถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

          2. มีความสร้างสรรค์ภายใต้กติกาอย่างไร

          3. เลือกผลงานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสาขาหรือไม่ โดยน้อง ๆ ต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่า เราได้อะไรจากกิจกรรม และสิ่งที่ได้นั้นทำให้เรามองเห็นถึงความเหมาะสมในการเลือกเรียนสาขาวิชานั้น ๆ อย่างไร ไม่ใช่แค่โชว์ว่าไปชนะอะไรมา แต่ต้องสื่อสารได้ว่าชนะแล้วไง เกิดอะไรกับชีวิต เป็นประโยชน์อะไรต่อการศึกษาและอนาคตตน

          4. แสดงเป้าหมายของการเรียน การทำงาน และเป้าหมายของชีวิตได้ชัดเจนแค่ไหน น้อง ๆ ต้องแสดงให้กรรมการเห็นอย่างชัดเจนว่า เราจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้จากการเรียนในสาขาวิชาที่สมัครอย่างไร

          5. ไม่เน้นความสวยงาม มากไปกว่าผลงานที่นำเสนอแน่นอน

 

รูปแบบ Portfolio และเกณฑ์การคัดเลือก

- แข่งขันโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน

- เอกสารไม่เกิน 10 หน้ากระดาษ A4 (ไม่รวมปก)

- ไม่สอบข้อเขียน (ข้อสอบกลาง) แต่สามารถคัดเลือกผ่านการ Audition ได้

- ถ้าจะใช้คะแนน GPAX จะเป็นคะแนน 4 หรือ 5 ภาคเรียน

- รายละเอียดอื่น ๆ นำมาเพิ่มเติมในวันสอบสัมภาษณ์ได้

 

คำเตือน

          การยื่น Portfolio แบบเดียวกัน ไปสมัครในหลายหลักสูตร โดยไม่ดูความสอดคล้องของตัวตนกับคุณสมบัติที่สาขาวิชาต้องการ เป็นสิ่งที่ทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และไม่มี Portfolio ใด เพียง 1 เล่ม ที่เหมาะสมกับการเป็นเครื่องมือนำไปใช้แข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคณะ อยากเข้าคณะใด ควรจัดทำ Portfolio เพื่อคณะนั้น

 

          การจะสร้างบ้าน น้องต้องออกแบบบ้านให้เสร็จก่อน จะสร้างไปออกแบบไปคงไม่ได้ เพราะเราคงไม่สามารถเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ประกอบการสร้างได้ทัน หากเราไม่ได้วางแผนไว้ก่อน เช่นเดียวกับการเลือกคณะ การที่น้อง ๆ จะหาคณะในฝันได้นั้น น้องต้องหาความฝันตนเองให้เจอก่อน อยากเป็น อยากอยู่ อยากทำ อยากใช้ชีวิตกับอะไร แล้วค่อย ๆ ออกแบบต่อไปว่า การจะมีชีวิตแบบนั้นได้ เราต้องเตรียมตัวอย่างไร นั่นล่ะ คือการปั้นฝัน จากนั้นก็ลงมือ...ปั่นพอร์ต

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่าง Portfolio ของรุ่นพี่ที่ผ่าน TCAS รอบแรก
How to การส่ง Portfolio TCAS รอบที่ 1
สร้าง Portfolio เด็กสายประกวดต้องรู้
5 เรื่อง Portfolio ที่เข้าใจผิด

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us