Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
กว่าจะเป็น จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) หมอตาผู้เชี่ยวชาญ

  Favorite

ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ 
หากดูแลดวงตาได้ดี ฉันใด 
ย่อมช่วยทำให้มองเห็นหัวใจได้ชัดเจนขึ้น ฉันนั้น 

 

          ว้าววว !! เริ่มต้นมาก็หวานแหววราวนิยายรักโรแมนติก แต่เนื้อหาที่แท้จริงของบทความนี้ กลับเข้มข้นในเนื้อหาของชีวิต “จักษุแพทย์” หรือ หมอตา ที่ช่วยทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนทำให้กระทบการมองเห็นได้รับการรักษา และสำหรับน้อง ๆ ม.ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวเป็นว่าที่นิสิต – นักศึกษาแพทย์คนใด ต้องการต่อยอดเป็นแพทย์เฉพาะทางทางด้านนี้ เรามาศึกษาเส้นทางและเตรียมตัวกันไว้แต่เนิ่น ๆ เตรียมก่อน ย่อมพร้อมก่อนแน่นอนค่ะ  

          ผู้นำทางชาว Plook TCAS ในวันนี้ คือ นพ.วิจักษณ์ คงวัฒนานนท์ จักษุแพทย์ ฝ่ายจักษุวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ ตั้งใจเปิดตาอ่านให้จบ แล้วจะรู้ว่าโลกของหมอตา....ไม่ธรรมดา ! 

          ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ ชาว TCAS ก็ควรจะต้องรู้ค่า 

 

เปิดใจ ก่อนเปิดความเป็น...หมอตา

          “ตา” เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกาย ทำหน้าที่ในการรับภาพ รับรู้ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมความงดงามบนใบหน้า หากตามัว มองไม่ชัด ดูแล้วไม่ปกติ ไม่สวย ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้อย่างมาก ดวงตาจึงถือเป็นอวัยวะที่มีค่ายิ่งสำหรับพวกเราทุกคน  

สำหรับความเป็นจักษุแพทย์นั้น เริ่มจากการที่แพทย์จบใหม่ได้ปฏิบัติงานและมีประสบการณ์ในฐานะแพทย์ทั่วไปมาพอสมควรแล้ว หากแพทย์เลือกที่จะสมัครเรียนต่อเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องตัดสินใจ เพื่อเลือกสาขาที่ตนใฝ่ฝันและถนัด และหนึ่งในสาขายอดนิยม  คือ สาขาจักษุวิทยา 

 

Signature ประจำสาขา 

          จุดเด่นของสาขานี้ คือ เป็นสาขาที่ต้องใช้ความละเอียด ความนิ่มนวล ในการดูแลรักษาผู้ป่วย มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นสาขาที่มีบทบาทเกี่ยวกับการมองเห็น ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้ป่วยอย่างมาก

ก่อนการสมัครเข้าเรียนต่อเฉพาะทางจักษุแพทย์ แพทย์ผู้สมัครควรมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ที่สำคัญต้องมีสายตามองเห็นเป็นปกติทั้งสองข้าง (กรณีที่สวมแว่นตาหรือเคยผ่าตัดแก้ไขสายตามาก่อน  ไม่ถือเป็นข้อห้ามในการสมัคร)  ไม่มีภาวะตาบอดสี สามารถมองเห็นภาพสามมิติได้ เนื่องจากการใช้กล้องผ่าตัดตา มีความจำเป็นต้องสามารถแยกความตื้นลึกที่แตกต่างกันของโครงสร้างภายในตาได้ การตรวจดังกล่าว อาจต้องเข้ารับการตรวจกับจักษุแพทย์โดยละเอียดจึงจะทราบ  

          คุณสมบัติโดยทั่วไปของจักษุแพทย์ ได้แก่ มีความประณีต มีความละเอียดรอบคอบ สามารถปรับตัวกับความเครียดและแรงกดดัน สื่อสารได้ดี ตลอดจนทำงานเป็นทีมร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ได้

 

เส้นทางสู่จักษุแพทย์ 

          ในแต่ละปีการศึกษา สถาบันโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ จะเปิดรับสมัครแพทย์ทั่วไป เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจักษุแพทย์ โดยทั่วไปมีโควตาประมาณ 45 ตำแหน่งต่อปี (ปีการศึกษา 2564) เกณฑ์การพิจารณาในการคัดเลือก ขึ้นกับความขาดแคลนของจักษุแพทย์ในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ปัจจุบันประเทศไทยยังคงขาดแคลนจักษุแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด

          การฝึกอบรมเพื่อเป็นจักษุแพทย์ใช้เวลา  3 ปี ขณะที่กำลังศึกษาแพทย์จะถูกเรียกว่า แพทย์ประจำบ้านจักษุวิทยา  การฝึกอบรมประกอบไปด้วย การเรียนพื้นฐานเกี่ยวกับกายวิภาค สรีระวิทยาของดวงตาโดยละเอียด โรคต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับดวงตา  การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ การทำวิจัย รวมถึงฝึกทำหัตถการที่เกี่ยวข้องภายใต้การดูแลของอาจารย์จักษุแพทย์ เช่น การวัดแว่น การผ่าตัดต้อกระตก ผ่าตัดต้อเนื้อ การใช้เลเซอร์กับการรักษาโรคทางจักษุวิทยา เป็นต้น 

          กว่าจะมาเป็นจักษุแพทย์ได้นั้น แพทย์ต้องผ่านการประเมินความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว

          เมื่อสำเร็จการศึกษาเป็น จักษุแพทย์แล้ว  จักษุแพทย์จะไปทำงานในโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ตนเองได้รับทุนสนับสนุนมา ในบางครั้งอาจเป็นโรงพยาบาลระดับจังหวัดหรืออำเภอ อาจเป็นภูมิลำเนาของตนเอง หรือจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะได้ทำงานที่ไหน ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่จักษุแพทย์จบใหม่ตั้งหน้าตั้งตารอคอย เมื่อทำงานไปสักระยะ และปรับตัวได้ดีก็อาจถึงขั้นตั้งรกรากที่นั่นได้ 

          นอกจากนี้ จักษุแพทย์ส่วนหนึ่งเลือกที่จะเรียนเฉพาะทางต่อยอดเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับโรคทางตาแต่ละประเภท ทั้งการวินิจฉัยและการรักษา   อนุสาขาต่อยอดที่มีการฝึกอบรมในปัจจุบัน ได้แก่ สาขาต้อหิน  สาขาจอตาและน้ำวุ้นตา สาขากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา สาขาศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง สาขาจักษุวิทยาเด็กและตาเข สาขาจักษุประสาทวิทยา  อนุสาขาต่าง ๆ เหล่านี้ใช้ระยะเวลาเรียนเพิ่มเติมอีก 1 - 2 ปี 

 

ตามติดชีวิตจักษุแพทย์ 

โดยทั่วไป งานบริการของจักษุแพทย์ แบ่งออกเป็น สองส่วนหลักได้แก่  

          1. งานตรวจผู้ป่วยนอก โดยเฉพาะ โรคต้อกระตก ต้อหิน  ต้อเนื้อ จอตาเสื่อม อุบัติเหตุทางตา เลเซอร์

จอประสาทตา อุปกรณ์ ผู้ป่วยทางจักษุที่เข้ารับบริการมีได้ทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ส่วนปริมาณผู้ป่วยที่ต้องตรวจในแต่ละวัน โดยทั่วไปขึ้นกับขนาดของโรงพยาบาลและจำนวนจักษุแพทย์ในโรงพยาบาลนั้น ๆ

          2. งานผ่าตัด ได้แก่ ผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดเปลือกตา ผ่าตัดต้อเนื้อ ผ่าตัดเย็บซ่อมดวงตาที่ประสบ

อุบัติเหตุ เป็นต้น โดยปกติจักษุแพทย์จะมีตารางการเข้าห้องผ่าตัดโดยเฉลี่ยประมาณ 1 - 2 วัน ต่อสัปดาห์ และอาจมีการผ่าตัดนอกเวลาราชการได้ ในกรณีมีผู้ป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ณ เวลานั้น    เนื่องจากอุปกรณ์และเครื่องมือในการผ่าตัดทางจักษุ มีความซับซ้อนและราคาสูง การผ่าตัดจึงทำในโรงพยาบาลมากกว่าคลินิกส่วนตัว

          นอกจากงานที่ได้กล่าวไป จักษุแพทย์ยังมีบทบาทในงานด้านอื่น ๆ เช่น หากทำงานอยู่ในโรงเรียนแพทย์  จะได้ทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานบริการ ได้แก่ การเรียนการสอน การประเมินผู้เรียน งานวิจัย    จักษุแพทย์บางท่าน อาจได้มีโอกาสออกหน่วยในพื้นที่ขาดแคลนจักษุแพทย์ เพื่อไปคัดกรองหรือไปผ่าตัด ขึ้นกับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาลที่อยู่   สำหรับสถานที่ทำงานส่วนใหญ่ของจักษุแพทย์มักเป็นโรงพยาบาลในภาครัฐ มากกว่าเอกชน  

 

ความประทับใจในวิชาชีพ

          การเป็นจักษุแพทย์ถือเป็นความภาคภูมิใจ ที่มีโอกาสได้ดูแลดวงตาของผู้ป่วย  เป็นผู้มีบทบาทในการคืนความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วย  คำขอบคุณจากผู้ป่วยที่ทำให้เขาได้กลับมามองเห็นดี และเราเห็นเขาสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติอีกครั้ง มันมีค่ามากเหนือกว่าสิ่งอื่นใด ที่เงินไม่สามารถซื้อได้เลย

 

เรื่อง : นพ.วิจักษณ์ คงวัฒนานนท์ 
จักษุแพทย์ ฝ่ายจักษุวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์
เรียบเรียง : พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
อยากเป็นหมอเฉพาะทาง “วิสัญญีแพทย์ พระเอกหลังม่านแห่งการผ่าตัด”
อยากเป็นหมอเฉพาะทาง “พยาธิแพทย์ ศาลฏีกาแห่งวงการแพทย์”
กว่าจะเป็นหมอ ปลายทางหมอ...ไปทางไหน รวมเส้นทางสู่คณะแพทย์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us