Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
อยากเป็นหมอเฉพาะทาง “พยาธิแพทย์ ศาลฏีกาแห่งวงการแพทย์”

  Favorite

          “อยากเป็นหมอ ๆๆๆ” เสียงตะโกนของน้อง ๆ ดังมาถึงทรูปลูกปัญญา วันนี้เลยมากางแผนที่หาทางไปเส้นทางหมอ แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถึงปลายทางหมอแล้ว มันมีทางเดินต่อ ที่เรียกว่า “หมอเฉพาะทาง” และเราได้ผู้นำทางจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาน้อง ๆ ไปทัวร์ภาควิชาต่าง ๆ วางแผนอนาคตแบบเปิดมุมมองจากระยะไกล เพื่อพิชิตเป้าหมายในระยะใกล้...ที่จะถึงนี้!   

          เริ่มต้นด้วย “พยาธิแพทย์” แพทย์เฉพาะทางที่ในวงการแพทยศาสตร์กล่าวกันว่า เป็นเสมือน ศาลฎีกาของแพทยศาสตร์เลยทีเดียว

          คดีที่ศาลฎีกาตัดสินแล้ว ถือเป็นที่สุด ฉันใด

          การวินิจฉัยที่มาจากพยาธิแพทย์ก็ว่ากันว่า เป็นที่สุด ฉันนั้น

 

          เรื่องราวของพยาธิแพทย์ที่ Exclusive ครั้งนี้ พี่นัทได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สมบูรณ์ คีลาวัฒน์ หัวหน้าภาควิชา พยาธิวิทยา (Department of Pathology) มาเล่าให้ฟังแบบเป็นกันเองสุด ๆ ตามอาจารย์หมอไปกันเลยค่ะ  

 

พยาธิแพทย์ ทำงานอะไรน้า

          พยาธิแพทย์เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาหนึ่ง หน้าที่หลักคือการวินิจฉัยโรค ไม่ใช่การรักษา โดยพยาธิแพทย์แบ่งเป็น 2 สาขา

1. พยาธิแพทย์คลินิค
2. พยาธิแพทย์กายวิภาค

          สาขาพยาธิแพทย์คลินิก  คือ แพทย์ที่ดูแลเรื่องการทำแล็บ ตรวจแล็บต่าง ๆ โดยดูค่าของผลแล็บ เช่น ค่าน้ำตาล ค่าสารบ่งชี้มะเร็ง ควบคุมคุณภาพในการบริการทางด้านห้องแล็บ ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะการวินิจฉัยโรคด้วยการดูชิ้นเนื้อหรือดูเซลล์ แบบสาขากายวิภาค

          สาขาพยาธิแพทย์กายวิภาค (สาขานี้มีคนเรียนมากกว่า) เป็นพยาธิแพทย์ที่มีบทบาทในการวินิจฉัยโรค โดยดูการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายวิภาค เช่น มีก้อนเนื้อผิดปกติ โดยหลัก ๆ ดูจากการนำชิ้นเนื้อตัดออกมาทำเป็นแผ่นสไลด์ แล้วให้การวินิจฉัย โดยดูความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของเซลล์หรือเนื้อเยื่อผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
1. ศัลยพยาธิวิทยา เป็นบริการตรวจชิ้นเนื้อจากห้องผ่าตัด หรือจาก OPD ที่มีการตัดชิ้นเนื้อมาส่งให้พยาธิแพทย์วินิจฉัย
2. เซลล์พยาธิวิทยา ส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อคนไข้ อาจจะตรวจจากสารคัดหลั่งหรือของเหลว เช่น เสมหะ น้ำในช่องปอด หรืออาจใช้เข็มเจาะก้อนที่คอ ที่เต้านม แทนการใช้มีดตัด แล้วดูดเซลล์ออกมาป้ายบนแผ่นสไลด์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเซลล์ ดูลักษณะรูปร่างสัณฐานวิทยา เพื่อทำการวินิจฉัยโรค

 

Lifestyle การทำงานเป็นอย่างไร

          พยาธิแพทย์จะประจำการอยู่ที่ห้องแล็บเพื่ออ่านผล (เป็นคุณหมอที่ไม่ต้องเจอคนไข้โดยตรง) หลังจากอ่านผลจากแผ่นสไลด์แล้ว ก็เขียนรายงาน ซึ่งแทบจะทุกโรงพยาบาลทำงานกันด้วยระบบออนไลน์ สามารถทำงานร่วมกันได้ แม้จะอยู่คนละที่ โดยแพทย์ผู้รักษาเข้าระบบเพื่อตรวจผลรายงานทางพยาธิวิทยาของคนไข้ ถ้าพยาธิแพทย์ออกผลแล้ว จะให้การรับรอง จากนั้นแพทย์ที่เป็นผู้รักษาก็สามารถเปิดดูข้อมูลได้

          นอกจากนี้มีพยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางท่าน ที่นอกจากอ่านชิ้นเนื้อแล้ว ยังสามารถออกตรวจ OPD โดยเปิดคลินิกเซลล์วินิจฉัย ทำหน้าที่เจาะดูดเซลล์จากก้อนเนื้องอกหรือก้อนที่เกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ จากคนไข้ด้วยตัวเอง

 

อยู่ห้อง Lab คนเดียวมั้ยน้า จะเหงาหรือเปล่า

          พยาธิแพทย์ไม่ได้ทำงานคนเดียวให้เปล่าเปลี่ยวหัวใจนะคะ ยังมีผู้สนับสนุนที่เป็นกำลังสำคัญทำงานร่วมกัน ดังนี้            
- ผู้ช่วยพยาธิแพทย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ หรือสาขาใกล้เคียง บทบาทหลัก ๆ จะช่วยงานในห้องแล็บ เช่น ตัดชิ้นเนื้อ เตรียมสไลด์
- นักเซลล์วิทยา ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้น โดยเฉพาะการตรวจ Pap Smear ซึ่งมาจากปากมดลูกผู้หญิง แล้วพยาธิแพทย์จะมาสุ่มตรวจซ้ำ
- แพทย์สาขาอื่น ๆ สำหรับแพทย์สาขาอื่น ลูกค้าคือคนไข้ แต่พยาธิแพทย์ลูกค้าคือแพทย์สาขาอื่น เพราะพยาธิแพทย์ไม่ได้ติดต่อกับคนไข้โดยตรง แต่จะติดต่อกับแพทย์สาขาอื่น ผ่านการประชุม การรายงานผล หรือการซักถามทางโทรศัพท์

 

ความก้าวหน้าทางอาชีพ

          1. อาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ ความก้าวหน้าเหมือนกับอาจารย์ในสาขาวิชาอื่น ๆ คือ มีตำแหน่งทางวิชาการ ไล่ระดับกันไปจากตำแหน่งอาจารย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์  

          2. งานแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการตามโรงพยาบาลของรัฐ ความก้าวหน้าตามซี ตามขั้นของทางระบบราชการ มีเงินประจำตำแหน่ง

          3. งานด้านบริหาร เช่น คณบดี, รองคณบดี, ผอ.รพ. หรือ รอง ผอ. รพ. หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าแผนก ฯลฯ เป็นต้น

          4. เป็นเจ้าของห้อง Lab ทางพยาธิวิทยา รับอ่านผล หรือไปรับงาน Lab เอกชนเป็นอาชีพอิสระ

 

เส้นทางสู่อาชีพพยาธิแพทย์

          อันดับแรกน้อง ๆ ต้องสอบเข้าเรียนแพทยศาสตร์ พอเรียนจบ 6 ปี ออกมาใช้ทุนทำงานโรงพยาบาลของรัฐ เป็นเวลา 3 ปี แล้วไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านพยาธิวิทยาอีก 3 ปี (การเรียนเฉพาะทางทุกสาขาไม่มีค่าใช้จ่าย) เป็นการเรียนรู้แบบ learning by doing เป็นการทำงาน ไม่ได้เรียนในห้องเรียน แต่เรียนกับอาจารย์ผู้ดูแล มีการประชุม สัมมนา ตรวจสอบติดตามการทำงาน โดยในระหว่างเรียนต้องทำงานให้อาจารย์หมอ เช่น ตัดชิ้นเนื้อ ตรวจสไลด์ โดยอาจารย์หมอจะเป็นผู้กำกับดูแล ให้คำแนะนำ ตรวจสอบผล เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถเปิดรับผู้เรียนเป็นจำนวนมากแบบการเรียนแพทยศาสตร์ได้ เพราะต้องเรียนควบคู่ไปกับการทำงานอย่างใกล้ชิด แบบ 2 ต่อ 1 คืออาจารย์ 2 คนต่อนักเรียนแพทย์เฉพาะทาง 1 คน

          ด้วยความที่พยาธิแพทย์ ถือว่าเป็นสาขาขาดแคลน ทำให้บางสถาบันมีเงื่อนไขพิเศษในการเปิดรับ คือ คุณหมอสามารถเรียนเฉพาะทางไปด้วย แล้วนับเวลาใช้ทุนควบคู่ไปด้วย ซึ่งพยาธิแพทย์เป็นเฉพาะทางสาขาหนึ่งในไม่กี่สาขาที่สามารถทำได้ นอกจากนี้การเรียนสาขาอื่น แพทย์ที่จะเรียนต้องไปเรียนเพิ่มพูนทักษะที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด 1 ปี (แพทย์เพิ่มพูนทักษะ) จึงสามารถมาเรียนต่อเฉพาะทางได้ แต่พยาธิแพทย์ไม่ต้อง สามารถเรียนต่อเฉพาะทางได้เลย (ถ้ามีเงินใช้ทุน)

 

เป้าหมายในการเปิดรับ

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับปีละ 7 คน !! แต่อัตราการเปิดรับฝึกอบรมทั่วประเทศ มีถึง 45 อัตรา แต่ แต่ แต่...ไม่เคยรับได้เต็มอัตรา ! ถือว่าเป็นสาขาขาดแคลนจริง ๆ ค่ะ

 

สถาบันที่เปิดสอนเฉพาะทางด้านพยาธิวิทยากายวิภาค

ในประเทศไทย มีการเปิดสอนทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โรงพยาบาลศิริราช
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ส่วนสถาบันที่เปิดสอนเฉพาะทางสาขาพยาธิวิทยาคลินิก มีอยู่แค่ 3 แห่ง ได้แก่
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โรงพยาบาลศิริราช
- โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

อาชีพ/สาขา ที่ใกล้เคียงกับพยาธิแพทย์

          “นิติเวช” นิติเวชมีส่วนที่งาน Overlap กับพยาธิแพทย์ คือ มีการตรวจศพเหมือนกัน โดยพยาธิแพทย์ ตรวจศพที่เป็นการป่วยตายตามธรรมชาติ แต่นิติเวชตรวจศพการตายแบบผิดธรรมชาติ  เช่น ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ อุบัติเหตุ สัตว์กัดตาย โดนฆาตกรรม และถ้านิติเวชตรวจพบว่าเป็นการตายตามธรรมชาติ จะส่งต่อมาให้พยาธิแพทย์ เป็นผู้ดูแลต่อ

 

เตรียมตัวอย่างไร ให้ได้เป็นพยาธิแพทย์

          “เตรียมติดแพทย์” คือการเตรียมตัวเพื่อสอบให้ติดแพทย์ และเมื่อสอบติดแล้ว ระหว่างเรียนให้เลือกวิชาเลือก (Elective) ในแผนกพยาธิวิทยา มาดูลักษณะงาน ดูวิถีชีวิตการทำงาน จะได้สำรวจจิตใจตัวเองว่างานแบบนี้คืองานที่ชอบจริง ๆ จะได้เตรียมตัวต่อไปได้ว่า จะต้องรู้อะไรบ้างเพื่อให้ได้เป็นพยาธิแพทย์  

          “เตรียมอังกฤษให้ดี” เพราะทั้งการเรียนและการทำงานในสาขานี้ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร โดยเฉพาะการรายงานผลการวินิจฉัย

          “เตรียมคะแนนวิชาพยาธิ” ทำให้ได้เกรดดี ๆ เวลาคัดเลือกรับเข้าศึกษาต่อเฉพาะทาง ถ้าอัตราการแข่งขันสูง ทางสาขาจะเลือกคนที่มีผลการเรียนดี มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพยาธิ เข้าใจว่าโรคเกิดได้อย่างไร รู้กลไกของการเกิดโรค   

 

เคล็ดไม่ลับที่อาจารย์หมอขอฝากไว้ให้น้อง ๆ

          การทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าอาชีพไหน ใช้หลักการเดียวกันหมด คือ ต้องมีฉันทะ หรือ passion นอกจากจะชอบเพราะถูกจริตกับตัวเราแล้ว สิ่งหนี่งที่สำคัญมากคือ เวลาทำงานเราต้องเห็นคุณค่าในงานที่ทำ คนที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จคือคนที่รู้จักคุณค่า รู้ว่างานที่ตนเองทำมีคุณค่า แล้วเวลาทำงานจะมีความสุข เกิด Impact เกิดผลที่ดีต่อคนไข้ ดีกับสังคม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

          หากน้องอ่านจบแล้วยังไม่แน่ใจ พี่นัทแนะนำให้เข้าไปที่ Plook Explorer ไปตรวจสอบอีกทีว่า น้องมีความสามารถ มีคุณสมบัติ และทักษะที่สามารถพัฒนาต่อไปยังวิชาชีพนี้ได้หรือไม่ ดูให้ชัด จัดให้ชัวร์!!

          การฝัน...เป็นของคนหลับ  แต่ความฝัน... เป็นของคนตื่น !!

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
กว่าจะเป็น จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) หมอตาผู้เชี่ยวชาญ
อยากเป็นหมอเฉพาะทาง “วิสัญญีแพทย์ พระเอกหลังม่านแห่งการผ่าตัด”
กว่าจะเป็นหมอ ปลายทางหมอ...ไปทางไหน รวมเส้นทางสู่คณะแพทย์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us