Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ

  Favorite

สวัสดีค่ะ น้อง ๆ ทุกคน พี่ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ พี่วาตี-แวอัสลาวาตี แวบือราเฮง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก่อนที่พี่จะพาน้อง ๆ เจาะลึกสาขาที่พี่กำลังศึกษาอยู่ว่าเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง พี่อยากให้น้อง ๆ ทุกคนมาทำความรู้จักกับคณะวิทยาการจัดการ ว่าเปิดสอนหลักสูตรอะไรบ้าง มาดูกันเลย!!!
 

คณะวิทยาการจัดการ

มีการเรียนการสอน ทั้งภาคปกติ และภาค กศ.บป. โดยมี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต

1. หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต ผลิต 2 สาขา ได้แก่
- หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์
- หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศนและสื่อดิจิทัล

2. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต 8 หลักสูตร
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร

3. หลักสูตรปริญญาโท 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
- หลักสูตรใหม่กำหลังพัฒนา
- หลักสูตรการบัญชีมหาบัณฑิต
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์

 

สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

น้อง ๆ หลายคนคงจะคิดว่าเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ต้องยากแน่ ๆ เพราะมี IT เข้ามาเกี่ยวข้องใช่ไหมล่ะ พี่บอกเลยว่าสาขาคอมคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เรียนไม่ยากค่ะ เป็นการเรียนแบบแบ่งครึ่งระหว่างภาคคอมพิวเตอร์กับภาคธุรกิจ ซึ่งภาคคอมพิวเตอร์จะศึกษาเกี่ยวกับระบบสารสนเทศและการประยุกต์เทคโนโลยีกับงานธุรกิจและการจัดการ ส่วนภาคธุรกิจ เราจะศึกษาเกือบทุกอย่างค่ะ ตั้งแต่ บัญชี การตลาด กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยตลอดหลักสูตรการเรียนจะมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป งานเขียนโค้ดก็มาจ้า แต่น้อง ๆ ไม่ต้องซีเรียสนะคะ เพราะว่าเราแค่เขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐานที่ไม่ลึกมาก เพื่อให้ดูโค้ดเป็นอ่านโค้ดออกและเขียนได้เล็กน้อย พี่จะพาน้อง ๆ มาดูว่า ปี 1 ถึง ปี 4 เรียนเกี่ยวอะไรบ้าง

 

ปี 1 จะเริ่มเรียนเป็นวิชาพื้นฐานก่อนค่ะ เพื่อปรับให้น้อง ๆ ได้เจอวิชาที่ใกล้เคียงกับที่เรียนมา ได้แก่ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้ การจัดการทางสังคม คณิตศาสตร์เพื่อธุรกิจ การบัญชีขั้นต้น 1 หลักการบริหารธุรกิจ โปรแกรมสำเร็จรูปและอินเตอร์เน็ตเพื่องานธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนปรับพื้นฐานความรู้เบื้องต้นของปี 1

 

ปี 2 ในบางวิชาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะเริ่มเรียนหนักขึ้นแต่ไม่ได้เจาะลึกมาก เอาให้รู้หลักการและวิธีการเขียนโค้ดเป็นอย่างไร และมีการเรียนวิชาฝึกปฏิบัติเล็กน้อย ซึ่งวิชาที่เรียนตอนปี 2 ได้แก่ การจัดการการผลิตและการดำเนินงาน ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการธุรกิจ ขั้นตอนวิธีและโครงสร้างข้อมูล ระบบฐานข้อมูลธุรกิจ การปฏิบัติการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ การจัดการงานเลขานุการและธุรการด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

ปี 3 จะเป็นช่วงที่เรียนหนักหน่อย ส่วนใหญ่จะเน้นปฏิบัติ เพราะถึงเวลาที่เราจะต้องเขียนโค้ดเองออกแบบเว็บไซต์เองและสร้างระบบเองอีกด้วยบอกเลยว่าเป็นปีที่เราต้องใช้ความพยายามสูงมาก ๆ ค่ะ วิชาเรียนได้แก่ เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อการสื่อสาร การออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ การสื่อสารข้อมูลธุรกิจและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 2 การวิเคราะห์และออกแบบระบบสารสนเทศทางธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ การโปรแกรมเว็บและฐานข้อมูลบนเว็บ จะประมาณนี้จ้า

 

ปี 4 เรียนน้อยแต่เรียนหนักหน่วงมากค่ะคุณ มาดูกันค่ะว่าเรียนวิชาอะไรบ้าง เตรียมสหกิจศึกษาธุรกิจ โครงงานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ 2 การวิจัยทางคอมพิวเตอร์ธุรกิจ การบริหารโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ สหกิจศึกษาธุรกิจ ดูจากตารางเรียนแล้วน่ารักไหมล่ะ เรียนน้อยแต่อัดแน่นมาก เป็นอีกปีที่จ่ายค่าเทอมแล้วคุ้มมาก ๆ คุ้มสุด ๆ เพราะสถิตอยู่แต่ในมหาลัยเช้ายันค่ำ นั่งปั่นโปรเจคบวกกับวิจัยวนไปค่ะ นั่งปั่นจนหมีแพนด้าเรียกพี่ ความที่นอนน้อยแต่นอนนะ เพราะเทอมสองเราต้องออกสหกิจศึกษากันแล้ว

 

 

จุดเด่นของคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจจะเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและระบบในการวางแผนการบริหารองค์กร โดยตลอดหลักสูตรการเรียนจะเน้นการฝึกทักษะสู่ภาคปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์ที่ทันสมัยค่ะ

 

ทักษะที่ต้องมี

ช่วงแรก ที่พี่เข้ามาเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจพี่ก็ไม่ได้มีทักษะอะไรมากมาย เพราะเรามีพื้นฐานที่เราเรียนมาอยู่แล้วมันอาจจะไม่ได้เหมือนมากแต่ก็มีที่ใกล้เคียงกันบ้าง เอาแค่ให้รู้ว่าการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไรและธุรกิจคืออะไร เพื่อเพิ่มทักษะและความพร้อมในการเตรียมตัวเข้าศึกษาในสาขานี้

 

คุณสมบัติของคนที่อยากเรียนสาขานี้

เป็นผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติและทฤษฎี เพราะสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจเราจะเรียนควบคู่กันไปค่ะ สิ่งที่สำคัญมีความพยายามในการเรียนรู้และแก้ปัญหาชอบที่จะค้นคว้า และทดลองลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องเก่ง ขอแค่อดทนและพยายามฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ

 

 

ตลาดการทำงาน จบไปทำงานอะไรได้บ้าง

พี่ขอบอกตรงนี้เลยว่าเรียนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จะมีทางเลือกในสายอาชีพในองค์กรต่าง ๆ มากมาย เพราะว่าสมัยนี้ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ น้อง ๆ ทุกคนเคยสังเกตไม่ว่าต้องมี IT เข้ามาเกี่ยวข้องในการใช้ชีวิตประจำวันเกือบทุกอย่าง วันนี้พี่จะมาบอกอาชีพที่สามารถประกอบอาชีพได้หลังสำเร็จการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชนให้น้อง ๆ ได้รู้กันค่ะ

1. นักวิเคราะห์และออกแบบระบบงานคอมพิวเตอร์ทางด้านธุรกิจ
2. นักพัฒนางานกราฟิกหรือมัลติมีเดียทางด้านธุรกิจ
3. นักออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์
4. นักวิชาการคอมพิวเตอร์
5. ผู้จัดการระบบเครือข่ายและฐานข้อมูล
6. ผู้จัดการโครงการคอมพิวเตอร์
7. ที่ปรึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์
8. ผู้ตรวจสอบระบบงานคอมพิวเตอร์
9. ประกอบธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
10. ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สามารถสอบบรรจุตำแหน่งงานเจ้าหน้าที่บริหารงานด้านต่าง ๆ เป็นต้น

มีงานรองรับเยอะขนาดนี้ ใครที่กำลังสนใจสาขานี้ หรือกำลังลังเล ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ลุยเลย!!

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
[รีวิว] มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้
เรียนต่างจังหวัด...มาฝึกงานในกรุงเทพฯ

 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us