จักรวรรดิไศเลนทร์ (3)
สมาชิกเลขที่110332 | 27 พ.ค. 55
1.8K views

เส้นทางข้ามสมุทรจุดเชื่อมโลก
ภายหลังจากชนชาวทวีปยุโรปฟื้นฟูศิลปวิทยาการ จนกระทั่งสามารถพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว บรรดานายทุนเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและพ่อค้าต่างมีความต้องการวัตถุดิบ เช่น ดีบุก เหล็ก สังกะสี นิเกิล ปรอท ถ่านหิน ยางพารา น้ำมัน ตลอดจนทรัพยากรมีค่าทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่อุดมในประเทศเขตร้อนที่ด้อยพัฒนาล้าหลังและเป็นตลาดระบายสินค้าได้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นหลักประกันในการรักษาแหล่งวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้า ประเทศมหาอำนาจในทวีปยุโรปซึ่งได้พัฒนาอารยธรรมตะวันตก (Western Civilization) มีความเชื่อว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ประเสริฐ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นล้วนแต่เป็นคนป่าเถื่อน เป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่มอบภารกิจให้คนผิวขาว นำอารยธรรมที่รุ่งเรืองไปช่วยสร้างความเจริญให้แก่ชาติที่ด้อยพัฒนาล้าหลัง “ลัทธิภารกิจของคนผิวขาว” (The White Man’s Burden) นำไปสู่การก่อกำเนิด “ลัทธิจักรวรรดินิยม” (Imperialism) ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจตะวันตกมีแสนยานุภาพทางกองทัพเรือที่เข้มแข็ง ได้แผ่ขยายอำนาจแข่งขันกันล่าเมืองขึ้นในทวีปเอเชีย โดยใช้กำลังทหารเข้ายึดครองดินแดนของประเทศที่อ่อนแอทั้งหลายเป็นเมืองขึ้นโดยเปิดเผย ประเทศอังกฤษ ยึดครองประเทศทั้งหลายเป็นเมืองขึ้นไปทั่วโลก อินเดีย พม่า และเข้ามายึดครองปลายแหลมทองไปจัดตั้ง ประเทศมลายู

เมื่อประเทศฝรั่งเศสยึดครองประเทศเวียดนามเป็นเมืองขึ้นแล้ว ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศเขมร ลาว ในที่สุดอาณาจักรทั้งสองได้ตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ต่อจากนั้นประเทศฝรั่งเศสพยายามแผ่ขยายอำนาจเข้ามายึดครองประเทศไทย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ถูกอังกฤษขัดขวาง ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันขึ้น ชาติมหาอำนาจทั้งสองเกรงว่าหากไม่สามารถแบ่งปันผลประโยชน์กันเองได้ อาจนำไปสู่การทำสงครามกันขึ้น ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันให้ ประเทศไทย เป็นประเทศอิสระในฐานะ “รัฐกันชน” (Buffer State)

ในสมัยลัทธิจักรวรรดินิยมเรืองอำนาจ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ได้เดินทางเข้ามาศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของชาติทั้งหลายในคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นนำไปเป็นข้อมูลเขียนประวัติศาสตร์ บางครั้งก็บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้สอดคล้องกับทฤษฎีการแบ่งแยกเพื่อการปกครอง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตน ดังนั้น หากศึกษาประวัติศาสตร์ไปตามแนวทางของชาติมหาอำนาจจักรวรรดินิยมโดยไม่พิจารณาค้นหาความจริงให้แน่ชัด ก็จะทำให้เกิดสับสนฟั่นเฟือนทางประวัติศาสตร์ ดังเช่นประเทศไทยประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ จึงขอนำข้อความในหนังสือเรื่อง “ชนชาติต่าง ๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน” ที่แต่งโดย “ศาสตราจารย์ ยอร์จ เซเดย์” ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแห่งปลายบูรพาทิศ กล่าวบรรยายถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของ “ชนชาวสยาม” ไว้ว่า

สยาม หมายถึง พวกคนไทยในบริเวณตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในขณะนั้นดินแดนแถบนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิกัมพูชา พวกไทยถือว่าเป็นหน่วยชาติวงศ์ใหม่ที่เพิ่งปรากฏขึ้นในคาบสมุทรอินโดจีน พวกไทยค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาอย่างช้า ๆ โดยเคลื่อนย้ายจากเหนือลงมาตั้งหลักแหล่งทางใต้นานแล้ว คนพวกนี้ยังมีร่องรอยการจัดระเบียบทางสังคมปรากฏอยู่ในเมืองโบราณของประเทศลาว และรัฐฉานในประเทศพม่า ตลอดจนระบบศักดินาของประชาชนที่อยู่ทางตอนเหนือของแคว้นตังเกี๋ย อาจกล่าวได้ ว่ามีความสามารถในการผสมผสานกับชาติอื่นเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ รู้จักปรับตนให้เข้ากับอารยธรรมของประเทศที่พวกตนเข้าอาศัยอยู่ คนเชื้อชาติเด่นเป็นพิเศษนี้เคลื่อนที่อย่างแนบเนียน อ่อนตัวดุจดังการไหลบ่าของน้ำ อยู่ใต้ฟ้าใดก็เปลี่ยนสีให้เข้ากับฟ้านั้น เข้าไปยังฝั่งน้ำใดก็ปรับรูปแบบให้เข้ากับฝั่งน้ำนั้น ด้วยลักษณะผันผวนอันหลากหลาย แต่ก็ยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ประจำชาติและภาษาของตนไว้ได้ และยังแผ่ขยายเผ่าพันธุ์ครอบคลุมดินแดนทางตอนใต้ของจีน ในที่สุดกลายเป็นชนชาติที่เป็นเจ้านายของเจ้าของถิ่นซึ่งพวกตนเข้าไปอาศัยอยู่แล้วกลืนเอาอารยธรรมของชาติเจ้าของถิ่นด้วย

ความคิดเห็นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ “ชนชาติสยาม” ตามที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแห่งปลายบูรพาทิศผู้นี้ จงใจที่จะแสดงให้ทุกคนเกิดสำคัญผิดคิดว่า“ชนชาวสยาม” หมายถึง “ชนชาติไท-ลาว”ที่อพยพหลบหนีลี้ภัยมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ลงมาสร้าง “อาณาจักรสุโขทัย” ขึ้นเป็นอาณาจักรแห่งแรกของชนชาติไทย โดยยื้อแย่งดินแดนมาของชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิม คือ ชนชาวมอญ ละว้า เขมร เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ทั้งยังมีเจตนาที่จะปกปิดความจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานของ“อาณาจักรสยาม” ซึ่งพงศาวดารจีนเรียกว่า “เสียมหลอก๊ก” แปลว่า “อาณาจักรสยาม-ละโว้”

พงศาวดารจีนอ้างว่า “อาณาจักรสยาม-ละโว้” เป็นผู้ครอบครองผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดินแดนในคาบสมุทรภาคใต้ เป็นแผ่นดินที่มีลักษณะเด่นพิเศษที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คือเป็นแหลมยื่นยาวดุจดังปราการธรรมชาติลงไปขวางกั้นมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิคให้แยกออกจากกัน เรือไม่สามารถแล่นผ่านไปได้โดยตรง ต้องแล่นเลียบชายฝั่งทะเลลงไปถึงช่องแคบสุมาตรา จึงเดินเรือผ่านช่องแคบอ้อมไมยังคาบสมุทรอีกฟากหนึ่ง ซึ่งมีระยะทางยาวไกลในราว 2000 กิโลเมตร หรือไม่อ้อมเกาะสุมาตรา ลงไปทางใต้เส้นศูนย์สูตรเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง

ในสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ ศิลปวิทยาการการต่อเรือเดินสมุทรยังไม่เจริญก้าวหน้า ความรู้ความสามารถในการเดินเรือยังอยู่ในขีดจำกัด การเดินเรือในยุคนั้นต้องอาศัยกระแสลมเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในมหาสมุทรแปซิฟิคและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งพัดตามฤดูกาลในรอบปี เมื่อถูกจำกัดของสภาพทางภูมิศาสตร์ของคาบสมุทรภาคใต้ที่ขว้างกั้น และบริเวณสองฟากฝั่งทางตอนปลายของคาบสมุทรเป็นพื้นที่ “สงบลม”(Doldrum) คือ ตั้งแต่บริเวณเลยเส้นละติจูที่ 5 องศาเหนือ ลงไปจนถึงเส้นศูนย์สูตรที่ 0 องศา ทะเลในแถบนั้นลมไม่พัด หรือ ลมพัดแต่ทิศทางไม่แน่นอน เป็นอุปสรรคขัดขวางการเดินเรือผ่านช่องแคบจากชายฝั่งทะเลด้านหนึ่งไปยังชายฝั่งทะเลอีกด้านหนึ่ง พวกพ่อค้าชาวอินเดียและจีน จึงมุ่งหน้าเดินเรือมายังเมืองท่าที่ตั้งอยู่ตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อจอดพักเรือและขนถ่ายสินค้านำสัมภาระเดินทางข้ามคาบสมุทร ไปยังเมืองท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง ต่อจากนั้นลงเรือเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้โดยไม่ต้องรอฤดูกาลลมมรสุม

ด้วยเหตุนี้ตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย จึงเป็นเส้นทางเดินบกข้ามคาบสมุทรที่สะดวกปลอดภัยที่สุด ตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ ผลักดันให้ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมที่ตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ได้รับอารยธรรอันรุ่งเรื่องจากนานาชาติ พัฒนาบ้านเมืองเป็น เมืองท่า นิคมการค้า และตลาดการค้าทางทะเลที่เจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งยิ่งกว่าเมืองในภูมิภาคอื่น

หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาจากดินแดนโพ้นทะเล เช่น อินเดีย อาหรับ กรีก โรมัน ที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ และเริ่มมีความรู้มากขึ้นใน “สัมฤทธิ์” และ “ยุคเหล็ก” ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากแหล่งโบราณคดีบ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พบลูกปัดจำนวนมาก ทั้งประเภท ลูกปัดแก้วสีเดียว (Monochome Greads) ลูกปัดแก้หลากสี (Poly-chome Breads) ลูกปัดหินสีรูปแบบต่างๆ ทำจาก อาเกต คาร์นีเลียน เรียกกันว่า “ลูกปัดลมสินค้า” (Trade-Wind Breads) ซึ่งแต่เดิมมีแหล่งผลิตอยู่ในอาณาจักรกรีก โรมัน แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีอายุเก่าแก่กว่า 2000 ปี พวกพ่อค้านำเข้ามาแลกเปลี่ยนกับผลิตภัณฑ์ของชาวพื้นเมือง เช่น เครื่องเทศ สมุทรไพร ไม้หอม งาช้าง นอแรด ไข่มุกกระดองเต่า ดีบุกทองคำ เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกปัดแล้ว ลูกปัดหินมีค่า ซึ่งพวกพ่อค้านำเข้ามาในยุคแรก ทำเป็นลายเส้นฝังลงในเนื้อหิน (etched) และ โอนิกซ์ (onyx) พบที่แหล่งโบราณคดี เขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร พร้อมด้วยกลองมโหระทึก 2 ใบ จารึกตัวอักษรพรหมมี นอกจากนั้น ยังพบตามแหล่งโบราณคดีสำคัญในภาคใต้ เช่น ที่ควนพุนพิน อำเภอพุนพิน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เกาะคอเขา บ้านทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา อันแสดงให้เห็นว่า ในสมัยนั้นเมืองท่าและสถานีการค้าที่เป็นชุมขนเจริญรุ่งเรืองแผ่กระจายไปทั่วพื้นที่ตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้

นักโบราณคดีได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดี บ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พบทั้งลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน จำนวนมาก ทั้งยังพบแท่งแก้วและหินกึ่งรัตนชาติ เช่น ควอร์ต แคลซิโดเนีย คาร์นีเลียน อาเกต สันนิษฐานว่านำเข้ามาจากอินเดีย เพื่อนำมาผลิตที่บ้านควนลูกปัด เพราะว่ายังมีร่องรอยของกระบวนการผลิตเครื่องประดับเป็นสินค้าหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่า บ้านควนลูกปัด ในอดีตเคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตลูกปัดเป็นสินค้าเพื่อส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย

นอกจากนั้นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แหล่งโบราณคดีบ้านควนลูกปัด เป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวต่างประเทศโพ้นทะเลมาช้านานกว่า 2000 ปี ก็คือโบราณวัตถุเก่าแก่ที่พวกพ่อค้าต่างชาตินำติดตัวเข้ามาเป็น เครื่องราง เครื่องประดับ หรือเป็นสิ่งของสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนกับผลิตภัณฑ์ชาวพื้นเมือง เช่น ลูกปัดแก้วรูปหน้าคน (Face Bread) มีสีเป็นริ้วรายรอบคล้ายกับรัศมีของพระอาทิตย์ แผ่นหินคาร์นีเลี่ยนสีแดงแกะสลักเป็นรูปหน้าคนแบบศิลปกรีก จัดเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น พบตามเมืองท่าโบราณที่เคยติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวกรีก โรมัน และยังพบตราประทับสินค้าของชาวอินเดีย กรีก โรมัน เปอร์เซีย

แหล่งโบราณคดีสำคัญในแถบชายผั่งทะเลอันดามันร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านควนลูกปัดอีกแห่งหนึ่งก็คือ “กลุ่มโบราณคดีภูเขาทอง” ประกอบด้วย บ้านภูเขาทอง บ้านบางกล้วยนอก บ้านเขากล้วย บ้านไร่ใน ซึ่งเคยเป็นชุมชนเมืองท่าเรือ หรือสถานีการค้าขนาดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต แหล่งโบราณคดีดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสุขสำราญ จังหัดระนอง มีหลักฐานชัดเจนว่าเคยเป็น “แหล่งอุตสาหกรรมผลิตลูกปัด” (Beadmakidng Site) ทั้งประเภทลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินหลากสีที่สวยงาม มีเทคนิคการผลิตลูกปัดแก้วแบบพิเศษ คือสีเดียวในหนึ่งเม็ด (Monochrome) เช่น สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน สีดำ เรียกกันว่า “ลูกปัดอินโดแปซิฟิค” (Indo Pacific Bead) พบหัวแหวนหินสลักเป็นรูปคนขี่ม้าสง่างาม แผ่นหินคาร์นีเลียนสลักเป็นรูปบุคคลเหมือนกับพบที่บ้านควนลูกปัด และเมืองออกแอว ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือบริเวณปลายแหลมญวนในสมัยฟูนัน

โบราณวัตถุที่ถือว่าสำคัญแสดงให้เห็นการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างชัดเจนก็คือ พบจี้คริสตัลแกะสลักเป็นรูปสิงโต (Rock Crystal) มีสัดส่วนสวยงาม คล้ายกับเคยพบที่บ้านตอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองตักสิลา ในประเทศปากีสถาน เมืองสัมภร เมืองนาสิก ท่าเรือโบราณในลุ่มแม่น้ำกฤษณา ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์สาตวาหนะเรืองอำนาจ เมืองฮาลิน ประเทศพม่า รูปสิงโตถือว่าเป็นเครื่องรางที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำติดตัวเพื่อคุ้มครองอันตราย เพราะเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความยิ่งใหญ่ แสดงนัยความหมายว่า พระพุทธเจ้า ทรงเป็นสิงห์แห่งศากยะวงศ์

โบราณวัตถี่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนา สมัยก่อนที่จะมีการสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปเคารพ ถือว่าเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ สำหรับห้อยคอติดตัวก็คือ “รูปไตรรัตนะ” (Triratana) ตลอดจนวัตถุที่แสดงถึงสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น หอยสังข์ ศรีวัตสะ รูปสวัสดิกะ เป็นหลักฐานยืนยันว่า ในสมัยนั้นศาสนาพุทธได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย สอดคล้องกับคัมภีร์พุทธศาสนาที่กล่าวถึง พระเจ้าอโศก ทรงโปรดให้ พระโสณะเถระ กับพระอุตตระเถระ เดินทางไปยัง สุวรรณภูมิ

ในสมัยเริ่มต้นอารยธรรมในประเทศไทย พ่อค้าชาวอินเดียเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากับผลิตภัณฑ์ของชาวพื้นเมือง บริเวณตอนกลางทางฝั่งตะวันตกคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าหลักฐานแหล่งโบราณคดีบ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังกวัดกระบี่ เป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายแถบชายฝั่งทะเลอันดามันเกิดขึ้นมาก่อนเมืองท่าแห่งอื่น ๆ เพราะพบวัตถุโบราณมีอายุเก่าแก่จากต่างประเทศจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีแห่งนั้น ต่อมาจึงเดินทางบกข้ามคาบสมุทรจากฝั่งทะเลอันดามันไปยังชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย

เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากบ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ไปยังอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเดินบกจากฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรไปลงเรือเล็กที่ คลองสินปูน ซึ่งเป็นคลองที่เกิดจากเทือกภูเขาในจังหวัดกระบี่ ไหลไปลงแม่น้ำหลวง หรือ แม่น้ำตาปี ในเขตอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วล่องไปยังแหล่งโบราณคดีเมืองเวียงสระ ไปยังเมืองท่าเรือที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย บ้านหัวเขา ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งผลิตลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน แหล่งใหญ่อีกแห่งหนึ่ง และยังพบภาชนะแก้วโมเสกแบบโรมัน สีเขียว สีเหลือง หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงไปยังดินแดนโนทะเลทางตะวันตกจนผ่าน อินเดีย อาหรับ ทะเลแดง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปจนถึงจักรวรรดิโรมันในทวีปยุโรป

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นบริเวณตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเลของโลก (World System) หรือที่เรียกกันว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เส้นทางคมนาคมและการค้าทางทะเลของโลก เริ่มต้นจากเมืองท่าเรือในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของประเทศจีนพาดผ่านคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา อาหรับ ไปสิ้นสุดที่กรุงโรมในทวีปยุโรป ชุมชนชายฝั่งทะเลจีนใต้และทะเลอันดามันกลายเป็นเมืองท่าและสถานีการค้า ติดต่อเชื่อมโยงถึงกันมาช้านานแล้ว สันนิษฐานว่าพวกพ่อค้าชาวอินเดียและชาวต่างชาติในสมัยโบราณ แล่นเรือเลียบชายฝั่งทะเลและแวะพักตามเมืองท่าเป็นจุด ๆ ไปจนถึงบริเวณตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย แล้วซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวพื้นเมืองหรือตั้งนิคมการค้าขึ้นเพื่อซ่อมแซมเรือและรอลมมรสุมในฤดูถัดไป พร้อมกับนำอารยธรรมแปลกใหม่ทันสมัยเข้ามาเผยแพร่แก่ชาวพื้นเมืองตามเมืองท่าต่าง ๆ ตลอดมา ด้วยเหตุนี้ดินแดนตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย จึงเป็นดินแดนที่มีชื่อเสียงเลื่องลือขจรขจายไปไกล วรรณกรรมโบราณของขาวอินเดียจึงขนานนามดินแดนดังกล่าวว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป”

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการต่อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ สามารถขนสินค้าและสัมภาระได้จำนวนมากสำหรับเดินทางไกล แล่นฝ่าคลื่นลมไปได้อย่างรวดเร็ว มีความรู้และประสบการณ์ เป็นนักเดินเรือที่สามารถ กล้าแล่นเรือฝ่าคลื่นลมตัดข้ามมหาสมุทรจากเมืองท่าในประเทศศรีลังกาหรือเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งอยู่ในแถบเส้นละติจูด 5 องศาเหนือ ตั้งหัวเรือมุ่งตรงไปทางทิศตะวันออก เมื่อแล่นใบตัดข้ามทะเลอันดามัน กระลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดหัวเรือให้เฉไประหว่างเส้นละติจุดที่ 7-8 องศาเหนือ ครั้นเรือมาถึงคาบสมุทรภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ก็จะมาถึงเมืองท่าเรือในจังหวัดกระบี่ หรือ จังหวัดพังงา

ส่วนตอนขากลับกัปตันมักแล่นเรือเลียบขายฝั่งขึ้นไปที่บริเวณละติจูด 10 องศาเหนือ ในเขตจังหวัดระนอง มุ่งหัวเรือตรงไปทางทิศตะวัตตก กระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดพาเรือไปยังเมืองท่าเรือชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย หรือ เมืองท่าเรือชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศศรีลังกา

การเดินเรือในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค สมัยโบราณถูกจำกัดฤดูกาลของลมมรสุม คือ “ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ” เริ่มต้นพัดตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ “ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้” เริ่มเต้นพัดตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ฤดูกาลของลมมรสุมดังกล่าวจึงมีระยะเวลาห่างกันในราว 3 เดือน ดังนั้น เมื่อพวกพ่อค้าเดินเรือจากอินเดียเมื่อมาถึงเมืองท่าชายฝั่งคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ไม่ว่าชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือว่าชายฝั่งทะเลตะวันตก ก็ไม่สามารถเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้ จำเป็นต้องจอดเรือที่เมืองท่า หรือสถานีการค้า เพื่อซ่อมแซมเรือ ตระเตรียมเสบียงอาหาร น้ำจืด ขนสินค้าและสัมภาระข้ามคาบสมุทรไปยังเมืองท่าฝั่งตรงกันข้าม บรรทุกเรือเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง และรวบรวมสินค้าที่ซื้อขายและเปลี่ยนกับชาวพื้นเมืองขนถ่ายลงเรือ เพื่อเดินทางกลับให้ทันฤดูกาลของลมมรสุม

ส่วนการเดินเรือในทะเลจีนใต้ เรือสินค้าที่แล่นใบตามลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากเมืองท่าทางตอนใต้ของประเทศจีน กระแสลมจะพัดพาเรือเข้าปะทะชายฝั่งทะเลตอนกลางประเทศเวียดนามในแถบเมืองดานัง ต่อจากนั้นเรือจะแล่นเลียบชายฝั่งลงมาทางใต้จนกระทั่งถึงปลายแหลมญวน แล้วจึงแล่นเรือตัดข้ามอ่าวไทยมายังเมืองท่าชายฝั่งคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ในแถบจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในตอนขากลับจะต้องอาศัย ฤดูกาลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เรือแล่นใบตัดอ่าวไทยไปยังปลายแหลมญวนแล้วเลียบชายฝั่งทะเลขึ้นไปยัง เมืองดานัง ต่อจากนั้นจึงแล่นเรือตัดอ่าวตังเกี๋ย มุ่งหน้าไปยังเมืองกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน

แต่ภายหลังพวกพ่อค้าค้นพบว่า เส้นทางข้ามคาบสมุทรจาก บ้านทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ข้ามเขาสกไปยังท่าเรือบ้านหัวเขา หรือควนพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีระยะทางในราว 150 กิโลเมตร เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรภาคใต้ ที่สะดวกรวดเร็วประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายกว่าเดิม โดยขนถ่ายสินค้าและสัมภาระลงเรือเล็กล่องไปตามลำแม่น้ำจนถึงต้นน้ำ ต่อจากนั้นเดินบกข้ามเขาสกไปลงเรือเล็กล่องไปตามลำแม่น้ำไปยังท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง จึงนิยมใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรในบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางหลัก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรจุดเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจการค้าระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกให้ติดต่อถึงกันอย่างเป็นระบบ เรียกว่า “ระบบการค้าโลก” (World System)

ทั้งนี้เพราะว่าเรือสินค้าไม่ว่าเดินทางมาจาก อินเดีย อาหรับ เมื่อเดินทางมาถึงตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยทางชายฝั่งทะเลอันดามัน หากต้องการขนถ่ายสินค้าและสัมภาระเดินทางข้ามคาบสมุทรไปยังชายฝั่งทะเลตะวันออก ต้องจอดเรือที่บ้านทุ่งดึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพราะว่าเป็นท่าเรือน้ำลึกที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำตะกั่วป่า มีภูเขากำบังคลื่นลมสามารจอดได้ดีทุกฤดูกาล ต่อจากนั้นลำเลียงสินค้าและสัมภาระลงเรือเล็กล่องขึ้นไปตามลำแม่น้ำตะกั่วป่า ซึ่งมีความยาวในราว 30 กิโลเมตร เมื่อไปถึงเขาพระนารายณ์ต้นแม่น้ำตะกั่วป่า ตรงบริเวณ คลองเหล และ คลองรมณีย์ ไหลมาบรรจบกัน ก็ล่องเรือไปตามลำคลองจนถึงบ้านท่าหัน เรือไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ต้องเดินเท้า ส่วนสินค้าและสัมภาระใช้ช้างชนเดินตัดข้ามเขาสก ที่ช่องจอมน้ำค้าง ใช้เวลาในราว 4 ชั่วโมง ลงจากเขาสกไปยังท่าเรือที่บ้านคลองสก ขนถ่ายสินค้าและสัมภาระลงเรือล่องไปตามคลองสกไปออกลำแม่น้ำพุมดวง เดินทางมาถึงควนพุนพิน ซึ่งเป็นจุดที่ แม่น้ำพุมดวง กับ แม่น้ำหลวง หรือ แม่น้ำตาปี ไหลมาบรรจบกัน แล้วไหลไปออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน

เส้นทางข้ามคาบสมุทรจุดเชื่อมโลก ซึ่งประกอบด้วยเมืองท่าเรือ คลังเก็บสินค้า ศูนย์กลางตลาดการค้าทางทะเลที่ต้อยู่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางฝั่งทะเลตะวันตกของคาบสมุทรภาคใต้ บริเวณโบราณสถานบ้านทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในคัมภีร์เก่าแก่ของอินเดียว่า “เมืองท่าตักโกลา” มีร่องรอยเส้นทางเดินลัดข้ามคาบสมุทร มายัง เมืองท่าเรือชายฝั่งทะเตะวันออกของคาบสมุทรภาคใต้ที่แหล่งโบราณสถานควนพุนพิน ตำบลท่าข้าม เป็นบริเวณที่แม่น้ำพุดวง ซึ่งต้นแม่น้ำเกิดมาจากเทือกภูเขาต่อแดนกับจังหวัดพังงาไหลมาบรรจบกับ แม่น้ำหลวง ซึ่งต้นแม่น้ำเกิดมาจากเมืองภูเขาหลวง ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช กลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่และยาวที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “แม่น้ำตาปี” แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านแหล่งโบราณสาถนสำคัญบ้านหัวเขา ตำบลเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สันนิษฐานว่า บริเวณควนพุนพิน ในอดีตเคยเป็นเมือท่าเรือ สถานีการค้าขนาดใหญ่ ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของคาบสมุทรภาคใต้ คงหมายถึง “เมืองพัน-พาน” หรือ “เมืองผุ่น-ผุ่น” ตามที่พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์เหลียงกล่าวไว้

“เมืองท่าและสถานีการค้า” (Trading Staton) ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกและชายฝั่งทะเลตะวันออกของคาบสมุทรภาคใต้ จึงเปรียบดัง “สะพานบก” (Land Bridge) เชื่อมโยงเมืองท่าทั้งสองฟากฝั่งให้ติดต่อถึงกัน ต่อเนื่องกับเส้นทางการเดินเรือของโลกมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งก่อกำเนิดอารยธรรมอินเดียในสมัยเริ่มแรกในคาบสมุทรอินโดจีน นำมาปรับปรุงดัดแปลงผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมและความเชื่อของตนอย่างกลมกลืน จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แล้วส่งต่อไปยังภูมิภาคอื่นและดินแดนที่ไกลออกไป

เส้นทางข้ามคาบสมุทรจุดเชื่อมโลกที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างให้ความสนใจมาช้านานแล้ว พระบาทสมเด็จพระมุงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรับกาลที่ 6 ทรงสนพระทัย ได้เสด็จขึ้นไปถึงยอดเขาพระเหนอ อันเป็นเทวสถานที่ประดิษฐาน “เทวรูปพระนารายณ์” เพื่อทอดพระเนตรเมื่อ พ.ศ. 2452 เทวรูปพระนารายณ์สวมมาลาทรงกระบอกองค์นี้ แกะสลักขึ้นด้วยศิลาทรายประทับยืนอยู่บนฐานแท่น แสดงกล้ามเนื้อสง่างามเหมือนอย่างมนุษย์ ศาสตราจารย์ ปีแอร์ ดูปองต์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชายฝรั่งเศสกล่าวว่าเป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นจากช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญตามศิลปะแบบปัลลวะ ในปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติฉลาง จังหวัดภูเก็ต

กรมศิลปากรได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก และแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พบโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยชั้นดีราคาแพง ที่พวกพ่อค้านำเข้ามาจากต่างประเทศจำนวนมาก เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อละเอียดขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเร็ว ผ่านการเผาด้วยความร้อนสูง ควบคุมอุณหภูมิได้ดี เนื้อดินจึงสุกเสมอกัน เรียกว่า หม้อคุณฑี (Kendi) พบในชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ เช่น ที่ถ้ำต้นเหรียง อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ชุมชนโบราณวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขุมขนโบราณบ้านท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีบริเวณที่ราบปากแม่น้ำโขง ในประเทศเวียดนาม เครื่องถ้วยจีนเนื้อดินขาวแบบติ้ง (Ding Ware) เครื่องถ้วยจีนแบบฉางช่าง (Chang Sha Ware) เครื่องถ้วยจีนเคลือบเขียวแบบยั่ว (Yue Ware) เครื่องถ้วยจีนแบบเหม่ยเซียน (Meixian Ware)เป็นสินค้าส่งออกของจีนที่เฟื่องฟูในสมัยราชวงศ์ถัง เหมือนกับที่พบท่าเรือโบราณตามแหล่งโบราณคดีในคาบสมุทรภาคใต้เช่น แหล่งโบราณคดีท่าม่วง อำเภอท่าชนะ ชุมชนโบราณวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนโบราณท่าเรือ เมืองพระเวียง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีสุไหงมาส รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

นอกจากนั้นยังพบเครื่องถ้วยเปอร์เซีย หรือ บาสรา แวร์ (Basra Turauoise Ware) เป็นภารชนะดินเผาเคลือบสีฟ้า หรือสีเขียวอมฟ้า สันนิษฐานว่าพวกพ่อค้าชาวเปอร์เซียนำเข้ามาเป็นสินค้าเพื่อขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าของชาวพื้นเมือง ภาชนะแก้วเคลือบน้ำยา เขียนด้วยสีสันเป็นลวดลายสดใสสวยงาน สันนิษฐานว่าผลิตในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พ่อค้าชาวโรมัน อาหรับนำเข้ามาขายเป็นสินค้า

การขุดค้นแหล่งโบราณคดีสถานควนพุนพิน บนเนินเขาเตี้ยๆ ใกล้บริเวณใกล้แม่น้ำพุมดวงไหลมาบรรจบกับลำแม่น้ำหลวง อันแสดงให้เห็นว่า ชุมชนโบราณควนพุนพิน ตั้งอยู่ในทำเลทางภูมิศาสตร์เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำ สามารถติดต่อกับชุมชนต้นแม่น้ำพุมดวก อันเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากชายฝั่งทะเลตะวันออกของคาบสมุทรภาคใต้ ข้ามเขาสกไปยัง ต้นแม่น้ำตะกั่วป่า เพื่อเดินทางไปยังที่ตั้งเมืองท่าบริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า และยังสามารถเดินทางไปตามลำแม่น้ำหลวงไปยังแหล่งโบราณคดีสำคัญที่อำเภอเวียงสระด้วย พบฐานอาคารก่อด้วยอิฐ รูปพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ 2 องค์ พระพิมพ์ทำด้วยดินดิบสีแดงจำนวนมาก สถูปดินเผา ภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยจีน เหรียญเงินอาหรับ ลูกปัด ขวานหินขัด

จากแหล่งโบราณสถานควนพุนพิน ล่องเรือไปตามลำแม่น้ำหลวงประมาณ 5 กิโลเมตร มีชุมชนโบราณขนาดใหญ่ เรียกว่า “แหล่งโบราณสถานเขาศรีวิชัย” หรือ “โบราณสถานเขาพระนารายณ์” เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำหลวง หรือ แม่น้ำตาปี ในราว 400 เมตร เป็นภูเขาลูกเดียวโดด ๆ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ กว้างในราว 100 เมตรยาวตลอดสันเขาในราว 650 เมตร สูงประมาณ 30 เมตร เรียกกันว่า “เขาศรีวิชัย” หรือ “เขาพระนารายณ์” บนยอดเขามีที่ราบกว้างประมาณ 50 เมตร พบโบราณสถานก่อสร้างด้วยอิฐและหิน 8 แห่ง บนภูเขาแห่งนี้พบเทวรูปพระนารายณ์ หรือ พระวิษณุสวมมาลาทรงกระบอกทั้งสิ้นจำนวน 4 องค์ บางองค์ชำรุดพระเศียรหักหายไป องค์ที่ถือว่าสมบูรณ์ก็คือ เทวรูปพระนารายณ์ในป่าประทับยืนตรง ขนาดความสูง 170 เซนติเมตร นักโบราณคดียกย่องว่าเป็นเทวรูปที่มีสุนทรียภาพที่ช่างผู้เชี่ยวชาญการประติมากรรมได้บรรจงแกะสลักขึ้นด้วยความประณีตให้มีรูปทรงสูงสง่างาม โดยบรรยายรายละเอียดไว้ว่า

เค้าพระพักตร์มนเป็นรูปไข่ พระเนตรเบิกกว้าง พระโอษฐ์แย้มสรวลน้อย ๆ อย่างอ่อนโยน พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อตามธรรมชาติที่สง่างาม พระอังสากว้าง (ไหล่) บั้นพระองค์คอดเล็ก (สะเอว) ทรงกีรฏิมกุฏทรงสูง (หมวก) ทรงพระภูษาโจงยาว (ผ้าโจงกระเบน) ขมวดเป็นปมอยู่ใต้พระนาภี (ท้อง) คาดทับด้วยปั้นเหน่งผ้าผูกเป็นโบว์อยู่ด้านหน้า คาดผ้าคาดโสณีเฉียง (สะโพก) และผูกเป็นโบว์อยู่เหนือต้นพระเพลาขวา (ขา) พระหัตถ์ขวาล่าง (มือ) ชำรุด พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงคธา (ไม้เท้า) ส่วนพระหัตถ์หลังทั้ง 2 ข้างหักหายไป

การขุดค้นโบราณสถานเขาศรีวิชัย พบพระพิมพ์ดินดับ เรียกกันว่า “พระเม็ดกระดุม” จารึกคาถา” “เยธรรมา” ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ลูกปัดทองคำ คล้ายกับพบที่บ้านควนลูกปัด บ้านแหลมโพธิ์ และแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย เครื่องใช้เครื่องประทับ เครื่องถ้วยจีน สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณสถานเขาศรีวิชัยเป็นชุมชนโบราณที่เจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองท่าเรือ สถานการค้า ติดต่อค้าขายกับชุมชนภายในและภายนอกตลอดจนดินแดนโนทะเล และมีลักษณะคล้ายกับเป็นเมืองแฝดของ “เมืองพันพาน” ใกล้เคียงกัน เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า “แหล่งโบราณคดีควนพุนพิน” และ”แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย” ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของคาบสมุทรภาคใต้ซึ่งเป็น “เส้นทางข้ามคาบสมุทรจุดเชื่อมโลก” มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนกระทั่งถึงสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อพิจารณา “แหล่งโบราณสถานควนพุนพิน” กับ “แหล่งโบราณสถานเขาศรีวิชัย” รวมกัน จะเห็นได้ว่าเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีขนาดใหญ่มโหฬาร จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นมหานครที่เจริญรุ่งเรืองมากมาก่อนสมัยประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวจากหลักฐานการติดต่อทางพระราชไมตรีกับราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์เหลียง สันนิษฐานว่าดินแดนแห่งนี้คงหมายถึง“เมืองพัน-พัน” หรือ “เมืองผุ่น-ผุ่น”

ทั้งนี้เพราะพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์เหลียง จดบันทึกเรื่องราวรายละเอียดไว้ว่า ประเทศพัน-พัน ตั้งอยู่ตรงอ่าวใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหลินยี่ก๊ก (อาณาจักรจามาปา) มีทะเลน้อยคั่นอยู่เดินทางโดยเรือสำเภาจาก เกียวเจา (มณฑลเกียวเจาทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม) ถึงประเทศนี้ใช้เวลาในราว 40 วัน

พระเจ้าแผ่นดิน ประเทศพัน-พาน ทรงพระนามว่า “หยางหลีซี” ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อจาก “พระเจ้าหยางเตวุเหลียง” ซึ่งเป็นพรราชบิดา กำแพงเมืองพัน–พาน ทำด้วยไม้ล้อมรอบเมือง พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ในประสาท เสด็จออกว่าราชการในท้องพระโรง ประทับนั่งบนบัลลังก์ทองคำสลักเป็นรูปมังกร (พระยานาค) เหล่าเสนามหาอำมาตย์ที่เข้าเผ้า นั่งคุกเข่าประนมมือสูงเหนือบ่า ตำแหน่งเสนาบดีชั้นสูงประเทศพัน-พาน มีอยู่ 4 ตำแหน่ง (จตุสดมภ์) คือ โปลังโซลัม คุนหลุนติเย คุนหลุมโปโห คุนหลุนโปติโลกัน ส่วนตำแหน่งเสนาบดีผู้ปกครองหัวเมืองเรียกว่า นาเย็น ตำแหน่ง นาเย็น ตรงกับตำแหน่งขุนนางจีนเรียกว่า ซูซี และ เซียงหลิง ทหารประเทศนี้ใช้ศิลาทำเป็นหัวลูกศร ใช้หอกทำด้วยเหล็ก

พลเมืองของประเทศพัน-พาน ส่วนมากอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำ มีวัดใหญ่ของพุทธศาสนาอยู่ 10 วัด ภิกษุและนางชีจำนวนมากต่างศึกษาหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ภิกษุและนางชีกินอากรได้ทุกชนิด แต่ไม่ดื่มสุรา มีวัดอยู่แห่งหนึ่งที่ถือพระวินัยเคร่งครัดมาก ภิกษุและนางชีที่วัดนั้นไม่กินเนื้อสัตว์ (มังสวิรัติ)

ชาวเมืองพัน-พาน เรียกภิกษุในพุธศาสนาว่า “ท่าน” ส่วนใหญ่ชอบอ่านนิยายเรื่องอสูรราช (รามเกียรติ์) ในประเทศนี้มีพราหมณ์จำนวนมากจากอินเดียเข้ามาแสวงหาความร่ำรวย ไม่ทำงานการอะไรนอกจากท่องคัมภีร์พระเวท และทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินโดยรับใช้อย่างใกล้ชิด

ในสมัยยวนเซีย (พ.ศ.967-987) สมัยเสียวเซียน (พ.ศ.1000-1072) พระเจ้าแผ่นดินประเทศพัน-พาน ทรงโปรดให้ราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระจักรพรรดิ ในปีที่ 1 และปีที่ 4 แห่งรัชกาลต้าตุง (พ.ศ.1070-1072) พระเจ้ากรุงพัน-พาน ทรงโปรดให้ราชฑูตนำพระทันตธาตุ 1 องค์ สถูประบายสี และของหอมนานาชนิด มาถวายพระจักรพรรดิ

ต่อมาอีก 6 ปี (พ.ศ. 1078) พระจ้ากรุงพัน-พาน ทรงโปรดให้ราชทูตนำพระธาตุหลายองค์ สถูปสีต่าง ๆ ใบ พระศรีมหาโพธิ์ ขนมหวาน และของหอม มาถวายพระจักรพรรดิ

จะเห็นได้ว่าหลักฐานการติดต่อทางพระราชไมตรีระหว่างกษัตริย์ “อาณาจักรพัน-พาน” กับ จักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์เหลียง ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 967 แต่ผลการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณ “เส้นทางข้ามคาบสมุทรจุดเชื่อมโลก” พบศิลปวัตถุเก่าแก่มีมาก่อนสมัยประวัติศาสตร์มากมาย และก่อนสมัยเริ่มต้นติดต่อทางพระราชไมตรีกับราชสำนักจีนเป็นเวลานาน

จาการตรวจสอบพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นพบว่า ภายหลังจากกองทัพจีนพิชิตดินแดนทางภาคใต้และผนวกเข้ารวมอยู่ในจักรวรรดิจีน ต่อมจากนั้นได้แผ่อำนาจลงมายึดครอง มณฑปตังเกี๋ย ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนามไว้เป็นเมืองขึ้นเรียกว่า “แคว้นอันหนำ” โดยแต่งตั้งข้าหลวงของจีนลงมาปกครอง ทำให้จักรพรรดิจีนทราบว่า ชนพื้นเมืองในแถบนั้นได้ติดต่อค้าขายทางทะเลกับชนชาวพื้นเมืองในคาบสมุทรอินโดจีนและหมู่เกาะทะเลใต้ โดยผลิตกลองมโหระทึกเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ และสิ่งของต่างๆ ที่ทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ นำไปขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าของชาวพื้นเมืองมาช้านานแล้ว นักประวัติศาสตร์จีนมีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีนามว่า “พัน-กู” จดบันทึกเรื่องราวไว้ว่า

จักรพรรดิจีนทรงโปรดให้ขุนนางชาวจีนและอาสาสมัคร ลงเรือเดินทางไปในทะเลเพื่อติดต่อซื้อขายสิ่งของมีค่าหายากในแถบทะเลใต้ เช่น ไข่มุก กระดอกเต่า นอแรด ขนนก อัญมณี โดยนำ ทองคำ ผ้าไหม ไปแลกเปลี่ยน

แสดงให้เห็นว่าราชสำนักจีนเพิ่งรู้จัก เส้นทางการค้าทางทะเล และศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยราชวงศ์ฮั่น คือเมื่อราวต้นพุทธศวรรษที่ 4 ในสมัยนั้นราชสำนักจีนยังไม่ได้ติดต่อทางการทูตกับชนชาวพื้นเมืองในคาบสมุทรอินโดจีน ราชสำนักจีนจึงไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมาของ “อาณาจักรพันพาน” และอาณาจักรเก่าแก่แห่งหนึ่งที่เรืองอำนาจขึ้นในคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งมีชื่อในภาษาจีนว่า “อาณาฟูนัน” ชื่อเสียงของอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่ได้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารจีน

จนกระทั่งมาถึงสมัยสามก๊ก “พระเจ้าซุนกวน” หรือ “พระเจ้าซุนเฉียน” แห่ง “อาณาจักรอู๋” ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่และมีอำนาจอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน พระองค์ทรงโปรดให้ “ราชทูตคังไถ่” กับ“อุปทูตจูยิง” เดินทางมาเจริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักฟูนันใน พ.ศ. 788 ในสมัยนั้นราชสำนักเหลียงยังไม่รู้จัก “อาณาจักรพัน-พาน” คงทราบเรื่องราวจากบันทึกกราบทูลรายงานของ “ราชทูตคังไถ่” กล่าวถึงอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองและเป็นคู่แข่งสำคัญของ “อาณาจักรฟูนัน” มีชื่อในภาษาจีนว่า “อาณาจักรจินหลิน” หรือ “อาณาจักรสุวรรณภูมิ” ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจาก “อาณาจักรฟูนัน” ประมาณ 2000 ลี้ หรือในราว 1100 กิโลเมตร “พระเจ้าฟันจีมัน” มหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรฟูนัน ทรงต่อเรือรบขนาดใหญ่ เพื่อยกกองทัพไปปราบปรามผนวกเข้ารวมไว้ใน “อาณาจักรฟูนัน” แต่พระองค์ทรงประชวรและสวรรคตไปเสียก่อน เรื่องราวของ “อาณาจักรจินหลิน” หรือ “อาณาจักรสุวรรณภูมิ” จึงเงียบหายไป ราชสำนักจีนเพิ่งส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับ “อาณาจักรพันพาน” เมื่อราว พ.ศ. 967 ดังปรากฏเรื่องราวที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อนำหลักฐานในเอกสารประวัติศาสตร์จีนประกอบกับผลการขุดค้นแหล่งโบราณคดีควนพุนพิน ตำบลท่าข้ามและแหล่งโบราณคดีบ้านหัวเขา ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาประมวลกับข้อความในคัมภีร์โบราณของอินเดียและศรีลังกา ทำให้เห็นว่า “นครพันพาน” ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ฟูนัน เป็นเมืองท่าเรือ เป็นสถานการค้า และตลาดการค้าทางทะเลที่เจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งสุดทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของคาบสมุทรภาคใต้ ซึ่งเป็น “เส้นทางข้ามคาบสมุทรจุดเชื่อมโลก” เป็นชาติที่มีอำนาจทางทะเลมาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้กระทั่ง “พระเจ้าฟันจีมัน” มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของจักรวรรดิฟูนัน ก็ไม่สามารถพิชิตได้ มีอำนาจยั่งยืนต่อมาจนกระทั่งถึงสมัยราชทูตจีนเดินทางเยือนราชสำนักพัน-พาน ดังปรากฏหลักฐานข้างต้น จนอาจกล่าวได้ว่า “เมืองพันพาน” เป็นเมืองหลวงของ “อาณาจักรพันพาน” ซึ่งมีกษัตริย์สืบราชวงศ์มาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นรับอารยธรรมอินเดีย ชาวอินเดียได้เดินทางเข้ามาแสวงโชคและเผยแพร่อารยธรรมอันรุ่งเรือง เป็นมูลเหตุให้ชาวพื้นเมืองจัดระบบการเมืองการปกครองขึ้นในรูป “อาณาจักร” ตามแบบอย่างราชสำนักในประเทศอินเดีย ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในคัมภีร์โบราณมากมาย ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากษัตริย์ของอาณาจักรพันพาน คงส่งทูตเดินทางไปติดต่อทางสัมพัทธ์ไมตรีกับราชสำนักของพระเจ้าอโศก และติดต่อค้าขายกันเรื่อยมา พระเจ้าอโศกมหาราช จึงทรงโปรดให้คณะธรรมทูตเดินทางมาเผยแพร่พุทธศาสนาเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 2 ประวัติความเป็นมาของ “นครพันพาน” ที่ตั้งอยู่บน “เส้นทางข้ามคาบสมุทรจุดเชื่อมโลก” บริเวณขายฝั่งคาบสมุทรภาคใต้ทางฝั่งตะวันออกในสมัยนั้น ความเจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกลของเมืองท่าเรือที่ยิ่งใหญ่ของโลก อาจสรุปได้ว่า

“อาณาจักรพันพาน” ในภาษาจีนหมายถึง “อาณาจักรสุวรรณภูมิยุคแรก” “นครพันพาน” ในภาษาจีนหมายถึง “กรุงสุวรรณปุระ” ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา

สุวรรณปุระวงศ์
ประวัติศาสตร์และโบราณคดีฝ่ายอังกฤษอ้างว่า จารึกกัลยาณี และคัมภีร์พุทธศาสนาเรื่อง “ศาสนวงศ์” ซึ่งพระเถระชาวพม่ามีนามว่า “ พระปัญญาสามี” แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2405 อ้างว่าพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในแผ่นดินมอญตั้งแต่สมัยพุทธกาล ระบุว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป” ตามที่คัมภีร์โบราณของชาวอินเดียและคัมภีร์พุทธศาสนากล่าวไว้ ตั้งอยู่ที่ “เมืองสุธรรมวดี” หรือ “เมืองสะเทิม” เมืองหลวงของ “อาณาจักรมอญ” ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน ทางตอนใต้ของประเทศพม่า ต่อมาเมื่อประเทศพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชาวอังกฤษได้นำไปแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทำให้เกิดรับรู้กันอย่างกว้างขว้างและเชื่อว่า “สุวรรณภูมิ” ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า แต่จาการขุดค้นทางโบราณคดี กลับไม่พบโบราณสถานและโบราณวัตถุที่แสดงว่าเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรเก่าแก่แต่อย่างใดและโบราณวัตถุที่พบก็มีอายุเก่าแก่ถึงสมัยสุวรรณภูมิอยู่เลย

ศาสตร์จารย์ ปีแอร์ ดูปองต์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีชาวฝั่งทะเล ได้ทำการขุดค้นซากเมืองโบราณในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึงเป็นแหล่งโบราณสถานใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยเมืองโบราณ 2 เมือง ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร คือ “แหล่งโบราณคดีเมืองนครชัยศรี” ตั้งอยู่ที่ตำบลพระประโทน ตัวเมือง กว้าง 2000 เมตร ยาว 3600 เมตร มีคูน้ำล้อมรอบ และ “แหล่งโบราณคดีเมืองนครปฐม” ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามจันทร์” ตัวเมืองกว้าง 1000 เมตร ยาว 1500 เมตร พบโบราณวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น ธรรมจักรและกวางหมอบสลักด้วยศิลา แท่นสถูป และสิ่งของต่าง ๆ มากมาย แต่เดิมสำคัญผิดคิดว่าเป็นสิ่งเคารพบูชาในพุทธศาสนาที่เรียกว่า “พุทธเจดีย์” ที่มีมาก่อนการสร้างพระพุทธรูป จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ตั้งของ “สุวรรณภูมิ” แต่จากการตรวจสอบพบว่าศิลปะโบราณวัตถุทั้งหลายแล้วผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีมีความเห็นว่า เป็นของที่สร้างขึ้นภายหลังพุทธศตวรรษที่ 10 และพบศิลาจารึกส่วนใหญ่เป็นภาษามอญ มีอายุเก่าแก่ไปถึง “สมัยสุวรรณภูมิ”

ต่อมามีผู้พบเหรียญเงินตรา 2 เหรียญ ที่เจดีย์เก่าใกล้วัดพระประโทน มีจารึกเป็นภาษาสันสกฤตอ่านแปลได้ความว่า “ศรีทวารวตีศวร” ทำให้ทฤษฎีที่เคยเชื่อว่าแหล่งโบราณสถานเองนครปฐมเป็นที่ตั้งของ “สุวรรณภูมิ” ล้มเลิกไป แต่กลับมีความเห็นใหม่ว่าเป็นที่ตั้งของ “อาณาจักรทวารวดี” อาจมีศูนย์กลางอยู่วัดพระประโทน หลังจากนั้นมีผู้พบเหรียญเงินสมัยทวารวดีมีอักษรจารึกเหมือนกับพบที่แหล่งโบราณคดีเมืองนครปฐมอีกหลายแห่ง เช่น จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์สิงห์บุรี ลพบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี จึงทำให้ความเชื่อในเรื่อง “อาณาจักรทวารวดี” สั่นคลอนไป กลับกลายเป็นการกำหนดยุคสมัยของศิลปกรรมเรียกว่า “ศิลปะสมัยทวารวดี”

แต่นักประวัติศาสตร์ภาคใต้ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าเรื่อง “สุวรรณภูมิ” โดยอาศัยข้อความในคัมภีร์อินเดียโบราณ และจากคัมภีร์เก่าแก่ของพุทธศาสนา ตลอดจนนิทานชาดกที่พระเถระในอดีตแต่งขึ้น เช่น คัมภีร์สมัยตปาสทิกา คัมภีร์ทีปวงศ์ คัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา ประกอบกับหนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่ฉบับแรกของโลก ซึ่งนักปราชญ์ชาวกรีกแห่งเมืองอเล็กซานเตรีย ทางตอนใต้ของประเทศอียิปต์ มีชื่อว่า “คลอดิอุส ปโตเลมี” (Claudius Ptolemy) แต่งขึ้นในสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 6 มีความเห็นแตกต่างออกไปว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป” ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์โบราณของชาวอินเดีย สันนิษฐานว่าตั้งอยู่บริเวณตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย เรียกกันว่า“คาบสมุทรทอง” หรือ “แหลมทอง” (Golden Khersonese) ทั้งนี้เพราะคำว่า “เคอโซเนส” (Khersones) ในภาษากรีกโบราณ หมายถึง “คาบสมุทร” (Penisula) ตรงกับคำว่า “ทวีป” ในภาษาอินเดีย

Share this