เมื่อนำผลการศึกษาหลักฐานทาประวัติศาสตร์และผลการขุดค้นทางโบราณคดี กรมศิลปกร บริเวณตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งในแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกและด้านตะวันตก พบหลักฐานมากมาย บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นดินแดนที่เริ่มต้นรับอารยธรรมอินเดียเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลักฐานมากมายแสดงให้เห็นว่า ดินแดนทางตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย เคยเป็น “เส้นทางข้ามสมุทรจุดเชื่อมโลก” หรือสะพานเชื่อมต่อเส้นทางการเดินเรือของโลก ( Lanes Linking) มาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ ต่อมาพัฒนาการจุดนัดพบของพ่อค้าจากทั่วโลกเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวพื้นเมืองมาไม่น้อยกว่า 2000 ปีแล้ว
เส้นทางข้ามสมุทรจุดเชื่อมโลก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางของพ่อค้าที่เดินทางมาจากโลกตะวันออก คือ จีน เวียดนาม จามปา โดยอาศัยกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางของพ่อค้าที่เดินทางมาจากโลกตะวันตก จากอินเดีย ศรีลังกา อาหรับ เปอร์เซีย กรีก โรมัน โดยอาศัยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พ่อค้าทุกทั่วโลก จึงเดินทางมาชุมนุมกันตรงจุดดังกล่าวทุกฤดูกาล ครั้นเมื่อถึงฤดูกาลลมมรสุมเปลี่ยนทิศทาง เรือสินค้าก็จะเดินทางกลับโดยอาศัยลมมรสุมประจำทิศ บรรทุกสินค้าแล่นตามลมกลับถิ่นฐานบ้านเมืองของตน เป็นวัฏจักรเช่นนี้มานานแสนนาน มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า เมืองท่าบ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และอาณาบริเวณใกล้เคียงเคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรือง ต่อมาได้ย้ายไปที่ เมืองท่าตักโกลา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นเมืองท่าเรือสำคัญทางชายฝั่งทะเลตะวันตกดังกล่าวนี้ มีเส้นทางเดินบกข้ามคาบสมุทรติดต่อเชื่อมโยงกับ เมืองพันพาน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือเมืองท่าใกล้เคืองทางฝั่งทะเลตะวันออกของคาบสมุทรภาคใต้ จนอาจกล่าวได้ว่าดินแดนในบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นที่ตั้งของ “อาณาจักรสุวรรณภูมิยุคแรก” ซึ่งมี “เมืองพันพาน” เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร
แม้ว่าความเห็นในเรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เห็นชัดเจนไม่อาจโต้แย้งได้ก็ตาม แต่การค้นพบ “เทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก” ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหลักฐานยืนยันว่าภายหลังจาก พระเจ้าจันทรคุปต์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ ทรงประกาศยกเลิกประเพณีการห้ามิให้สร้างรูปเทพเจ้าอินเดียขึ้นมาเป็นรูปเคราพ ในสมัยต้นศตวรรษที่ 2 ชาวอินเดียจึงได้สร้าง เทวรูปเทพเจ้าของตน เช่น พระสุริยเทพ พระนารายณ์ พระศิวะ ขึ้นมากราบไหว้บูชา สันนิษฐานว่าพ่อค้าชาวอินเดียอาจนำติดต่อเข้ามายังดินแดน “สุวรรณภูมิ” ตั้งแต่สมัยนั้น
ต่อมาช่างชาวพื้นเมืองเมื่อได้รับความรู้ในศิลปะสมัยคุปตะอันงดงามในประเทศอินเดีย จึงได้สร้าง “เทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก” โดยลอกเลียนแบบศิลปะสมัยคุปตะขึ้นมาประดิษฐานในเทวสถาน สำหรับกราบไหว้บูชา เทวรูปดังกล่าวค้นพบที่เขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน พบที่โบราณสถานเมืองเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่วัดพระนารายณ์ อำเภท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ศิลปะโบราณวัตถุดังกล่าวนี้สามารถกำหนดอายุทางโบราณคดีได้ตามหลักวิชาการ นักโบราณคดีสมัยนี้มีความเห็นว่ามีอายุเก่าแก่ถึง “สมัยสุวรรณภูมิ” และยังแพร่หลายข้ามอ่าวไทยไปยัง เมืองนวนคร ทางตอนใต้ของประเทศเขมร ขึ้นมายังผืนแผ่นดินคาบสมุทรอินโดจีนพบที่แหล่งโบราณคดี อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ว่า แหล่งโบราณคดีเมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เส้นทางการแพร่ขยายศิลปกรรมที่สสักขึ้นด้วยศิลาอันงดงามและมีขนาดใหญ่ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการแพร่ขยายอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จากคาบสมุทรภาคใต้ขึ้นมายังคาบสมุทรอินโดจีน เป็นรากฐานปลูกฝังชาวพื้นเมืองให้นิยมศิลปวัฒนธรรมแบบอินเดีย แม้ว่าข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด คงทราบเรื่องราวเพียงกระท่อนกระแท่นจากข้อความใน คัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา จดบันทึกไว้แต่เพียงว่า“เจ้าชายสุมิตร” แห่งราชวงศ์โมริยะ เสด็จลงเรือมายัง “กรุงสุวรรณปุระ”
ผู้สนใจใฝ่รู้ประวัติศาสตร์สมัยสุวรณภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทีมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในแหล่งโบราณคดีบริเวณ “เส้นทางข้ามคาบสมุทรจุดเชื่อมโลก” มีชื่อว่า นายธรรมทาส พานิช อดีตนิสิตคณะแพทย์ศาสตร์น้องชายของภิกษุผู้มีชื่อเสียงนามว่า พุทธทาสภิกขุ ได้พยายามสืบสวนค้นหาความจริงเกี่ยวกับ “เจ้าชายสุมิตร” เสด็จมายัง “กรุงสุวรรณปุระ” เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 พบข้อความใน “คัมภีร์สุวรรณปุระวงศ์” “คัมภีร์ปรัมปราปุสตกะ” “คัมภีร์สีกิริยา” ทำให้ทราบเรื่องราวเพิ่มขึ้นมา เจ้าชายแห่งราชวงศ์โมริยะพระองค์นี้เป็นโอรสของ “พระนางสังฆมิตตาเถรี” ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์หนึ่งของ พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์เสด็จมายังลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ. 296 พร้อมกับ “คณะธรรมทูต” ซึ่งมีพระมหินทเถระ ราชโอรสของพระเจ้าอโศกและเป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) ของ พระนางสังฆมิตตาเถรี เป็นหัวหน้า เดินทางมาเผยแพร่พุทธศาสนายัง อาณาจักรสิงหล ในรัชกาล “พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ” ด้วยเหตุนี้การเสด็จมายัง “กรุงสุวรรณปุระ” ของ “เจ้าชายสุมิตร” ผู้เป็นพระราชนัดดา (หลานตา) ของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย ย่อมเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามายัง “สุวรรณภูมิ”ด้วย
เมื่อประมวลเรื่องราวจากตำแหน่งเก่าแก่ดังกล่าว ทำให้ทราบว่า ต่อมา “เจ้าชายสุมิตร” ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาผู้เลอโฉมของ พระเจ้ากรุงสุวรรณปุระ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมา ตำนานดังกล่าวระบุว่า ทรงเป็นผู้สถาปนา “ราชวงศ์สุวรรณปุระ” ขึ้นใน “สุวรรภูมิ” และสืบราชวงศ์ลงมากระทั่งถึงสมัยจักรวรรดิศรีวิชัยเรืองอำนาจและล่มสลายไปในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยเหตุนี้ ราชวงศ์กษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย จึงอ้างว่า พระองค์เป็นราชวงศ์เดียวกับพระพุทธเจ้า ดังปรากฏหลักฐานในบันทึกของราชทูตจีนในสมัยราชวงศ์สุยมีชื่อว่า “ราชทูตเสียงจุ่น” ซึ่งเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักเชี๊ยะโท้ว เมื่อ พ.ศ. 1150 ระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินของประเทศเชี๊ยะโท้ว แซ่เดียวกับพระพุทธเจ้า
เมื่อตรวจสอบหลักฐานจาพงศาวดารจีนทำให้ทราบว่า ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 จักรพรรด์จิ๋นซี ทรงปราบปรามว่านแค้วนคู่แข่งหมดสิ้น แล้วรวบรวมแว่นแคว้นทั้งหลายเข้าเป็นจักรวรรดิเดียวกันได้เป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “จักรวรรดิจิ๋น” ต่อมาองทัพอันเกรียงไกรของพระองค์ได้แผ่ขยายอำนาจข้ามแม่น้ำฮวงโห แม่น้ำแยงซีเกียง ลงมายึดครอง มณฑลยูนนาน กุ้ยโจว กวางสี กวางตุ้ง ผนวกเข้ารวมอยู่ในจักรวรรดิจีน
กองทัพจีนบุกรุกลงมาสู่ลุ่มแม่น้ำแดงทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ยึดครองมณฑลตังเกี๋ยเป็นเมืองขึ้นเรียกว่า “อันหนำก๊ก” ในขณะกองทัพจีนพยายามบุกลงมายึด มณฑลเกียวเจา ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม ถูกกองทัพของชาวพื้นเมือง คือ “ชนชาวจามปา” รบพุ่งต้านทานจนกระทั่งกองทัพจีนไม่สามารถรุกคืบหน้าต่อไปได้ ต่อมาเมื่อ จักรพรรดิจิ๋นซี สวรรคต พระเจ้าฮั่นโกโจ ได้ครองราชย์สมบัติเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น พระองค์ทรงโปรดให้กองทัพจีนลงมายึดครองดินแดนทางตอนใต้ผนวกเข้ารวมอยู่ใน จักรวรรดิจีน และแต่ตั้งข้าหลวงจีนลงไปปกครอง “แคว้นอันหนำ” เป็นเมืองขึ้น
พงศาวดารจีนกล่าวว่า ในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่น บ้านเมืองอ่อนแอ ผู้นำชาวจามปามีชื่อว่า “จูเหลียง” ได้รับการสนับสนุนจากองทัพ “อาณาจักรฟูนัน” ฉวยโอกาสในขณะที่บ้านเมืองกำลังยุ่งเหยิง ยกกองทัพบุกขึ้นมาโจมตีแย่งชิงดินแดนของจีนในมณฑลจีนัง ไปจัดตั้งขึ้นเป็นอาณาจักร จีนเรียกว่า “หลินยี่ก๊ก” หรือ “อาณาจักรจามปา” การสู้รบระหว่างอาณาจักรจามปากับแคว้นอำหนำของจีนยืดเยื้อมาจนถึงสมัยสงครามสามก๊ก “พระเจ้าซุนกวน” หรือ “พระเจ้าซุนเฉียน” ตั้งตัวเป็นใหญ่ (อยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า “อาณาจักรอู๋” ข้าหลวงมณฑลตังเกี๋ยได้ทำหนังสือกราบทูลฟ้องร้องว่า พวกหลินยี่ กับพันธมิตรฟูนัน ยกกองทัพขึ้นไปโจมมีเผ่าผลาญบ้านเมืองแย่งเชิงเอาดินแดนของจีน ขอให้ทางเมืองหลวงส่งกองทัพไปช่วยเหลือ
สมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีใครทราบ “อาณาจักรฟูนัน” มีประวัติความเป็นมาอย่าไร จนกระทั่งถึงสมัย พระเจ้าซุนกวน แห่งอาณาจักรอู๋ ส่งทูตมีชื่อว่า “ราชทูตคังไถ่” และ “อุปทูตจูยิง” เดินทางไปเยือนราชสำนักฟูนันเป็นการตอบแทนใน พ.ศ. 788
ราชทูตไถ่ได้แต่งหนังสือเรื่อง “ประวัติของชาวต่างชาติในรัชสมัยอู๋” ส่วน อุปทูตจูยิง แต่งหนังสือเรื่อง“บันทึกเรื่องทรัพยากรอันมีค่าของฟูนันก๊ก” หนังสือที่ราชทูตจีนแต่งขึ้น ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ “อาณาจักรฟูนัน” เป็นครั้งแรก ถือได้ว่าเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดและเรืองอำนาจแห่งแรกในประวัติศาสตร์คาบสมุทรอินโดจีน
อาณาจักรฟูนัน ตั้งขึ้นเมื่อปีศักราชใดไม่มีหลักฐานชัดเจน คงทราบจากข้อความที่ “ราชทูตคังไถ่” จดบันทึกเรื่องราวเมื่อครั้งไปเยือนราชสำนักฟูนัน ทำให้ทราบเรื่องราวย้อนหลังขึ้นไปถึงสมัยเริ่มต้นก่อตั้ง “อาณาจักรฟูนัน” ว่าแต่เดิมฟูนันเป็นแต่เพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งยู่บริเวณชายฝั่งทะเล มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าปกครองมีนามว่า “พระนางหลิวเย” แปลว่า พระนางใบหลิว
ต่อมามีกษัตริย์ชาวอินเดียมีนามว่า “หวั่นถิ่น” นอนหลับฝันไป นิมิตฝันว่า เทพเจ้าได้ประทานธนูวิเศษให้และมีบัญชาให้ลงเรือเดินทางไปยังประเทศฟูนัน ครั้นตื่นขึ้นจากความฝันได้ไปที่เทวสถานของเทพเจ้า พบธนูวิเศษสมจริง จึงลงเรือมายังประเทศฟูนัน เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณชายแดนประเทศฟูนัน ก็ถูกกองทัพเรือของ พระนางหลิวเย ออกมารบพุ่งขัดขวาง “หวั่นถิ่น” จึงได้ยิงด้วยธนูวิเศษถูกเรือของพระนางทะลุเกราบเรือทั้งสองข้าง พระนางเกิดความตกใจกลัวขอยอมแพ้ ภายหลัง “ หวั่นถิ่น” ได้อภิเษกสมรกับ “พระนางหลิวเย” สถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นปกครอง อาณาจักรฟูนัน
เรื่องราวการเดินทางมาของกษัตริย์อินเดีย นามว่า “หวั่นถิ่น” ตามที่ ราชทูตคังไถ่ จดบันทึกไว้ เป็นเรื่องราวที่ชาวพื้นเมืองแปลงมาจากเทพนิยายอินเดีย เพื่ออ้างถึงที่มีของราชวงศ์กษัตริย์ของตนว่า สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า คล้ายกับตำนานการสถาปนาราชวงศ์กษัตริย์ปัลลวะ แห่งนครกาญจีปุรัม เมื่อท่าริมฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย ก็อ้างในทำนองเดียวกันว่า “พระเจ้าสกันทสิทธิ์” ปฐมกษัตริย์ของตน เป็นโอรสของนักรบผู้แก้วกล้ามีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในมหากาพย์ “มหาภารตยุทธ” มีนามว่า “อัศวันธรรมัน” บุตรของโทรณะพราหมณ์ ซึ่งแม่ทัพใหญ่ในสงครามนองเลือดที่ทุ่งกุรุเกษตรในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงประสูติจากนางพระยานาคราช ต่อมาเมื่ออารยธรรมอินเดียแพร่ขยายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กษัตริย์ทุกพระองค์ในสมัยโบราณมักอ้างว่าเป็นโอรสของนางพระยานาค ดังจะเห็นได้จากสร้อยพระนามลงท้ายด้วยคำว่า “วรมัน”
แต่พระราชประวัติในเชิงเทพนิยายของกษัตริย์ปัลละในอินเดียใต้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตรงกับ “สมัยศรีวิชัย” ต่างยุคคนละสมัยกับ “สุวรรณภูมิ” ห่างกันในราว 1000 ปี ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า สมัยเริ่มต้นสถาปนาราชวงศ์กษัตริย์ขึ้นปกครอง “อาณาจักรฟูนัน” ของ “พระเจ้าหวั่นถิ่น” น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 อาจเป็นเรื่องราวเดียวกับ “เจ้าชายสุมิตร” เสด็จลงเรือจากเกาะลังกาเดินทางมายัง “กรุงสุวรรณปุระ” ตามที่คัมภีร์โบราณกล่าวไว้ แต่เหตุการณ์ล่วงเลยมานาน ชาวฟูนันอาจจดจำคลาดเคลื่อน ราชทูตคังไถ่ จึงจดข้อความไปตามที่ชาวฟูนันเล่าให้ฟัง ซึ่งความจริงเป็นไปไม่ได้ที่ “หวั่นถิ่น” จะเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังประเทศฟูนันแต่เพียงลำพัง การเดินเรือข้ามมหาสมุทรจากประเทศอินเดียหรือประเทศศรีลังกา จะต้องโดยสารเรือใบขนาดใหญ่ ผู้ควบคุมเรือจะต้องมีความรู้ในเรื่องกระแสลมกระแสน้ำ จึงจะแล่นเรือฝ่าคลื่นลมมาถึงชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรภาคใต้ต่อจากนั้นต้องเดินบกข้ามคาบสมุทรไปยังเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก จึงสามารถเดินทางต่อไปยังที่อื่นได้
ด้วยเหตุนี้ การเดินทางมายังประเทศฟูนันของ “หวั่นถิ่น” จึงกลายเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ เพราะจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีใครรู้แน่นอนว่า “อาณาจักรฟูนัน” ตั้งอยู่ที่ไหน
แผนที่แสดงทิศทางการพัดของ “ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ” และ “ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้” รวมทั้งเหรียญสำริดรูปเรือในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่บ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ จะเห็นได้ว่าทิศทางการพัดของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศอินเดีย ศรีลังกา พุ่งเฉขึ้นมายังตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ดินแดนดังกล่าวจึงได้รับอารยธรรมอินเดียก่อนบ้านเมืองในภูมิภาคอื่นและค้นพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์มากมายยิ่งกว่าแหล่งโบราณคดีในพื้นที่อื่น
แผนที่แสดงเส้นทางเดินเท้าข้ามมหาสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ในสมัยก่อนประวัติศาตร์และในสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ จากแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย ควนพุนพิน อำเภพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางชายฝั่งทะเลตะวันออก ล่องเรือไปตามลำแม่น้ำพุมดวงขึ้นไปยังต้นน้ำคลองสก เดินเท้าข้ามเขาสก ไปลงเรือที่คลองรมณีย์ล่องไปตามลำแม่น้ำตะกั่วป่า ลงไปยังแห่งโบราณคดีเขาพระหนอ บ้านทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ทางชายฝั่งทะเลตะวันตก บริเวณนี้พงศาวดารจีนระบุว่า ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 7 เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของ”อาณาจักรจินหลิน” หรือ “อาณาจักรสุวรรณภูมิ”
รูปแผ่นที่แสดงเส้นทางการเดินเรือจากประเทศอินเดีย ศรีลังกา ผ่านช่องแคบสุมาตราไปยังมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน ผ่านคาบสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทย
แผ่นที่แสดงเมืองท่าเรือชายฝั่งตะวันตกและเส้นทางเดินบกข้ามแหลมไปยัง(Land Bride) ไปยังเมืองท่าเรือทางชายฝั่งตะวันออกในยุคดึกดำบรรพ์
แผนที่คาบสมุทรภาคใต้ของไทย ซึ่งมีหลักฐานว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรจินหลิน หรืออาณาจักรสุวรรณภูมิ แสดงให้เห็นถึงแหล่งโบราณคดีที่ท่าเรือชายฝั่งทะเลตะวันตก ตรงบริเวณเส้นทางเดินเท้าข้ามคาบสมุทรมาก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ จนกระทั่งถึงสมัยจักรวรรดิ์ศรีวิชัยเรืองอำนาจในพุทธศตวรรษที่ 12 ค้นพบศิลปะโบราณวัตถุ สมัยสุวรรณภูมิ จำนวนมากในแหล่งโบราณคดีทั้งสองฝั่ง