Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
รวมวิชา หลักสูตร และสาขาเปิดใหม่เอาใจเทรนด์ดิจิทัลในศตวรรษที่ 21

  Favorite

          น้อง ๆ รู้หรือไม่ว่า เมื่อน้อง ๆ อยู่ในศตวรรษที่ 21 น้อง ๆ ควรที่จะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาแม่และภาษาสำคัญของโลก หลายศาสตร์เลยที่น้อง ๆ ต้องหาความรู้ไว้ใส่ตัว ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ คณิตศาสตร์ การปกครองและหน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ โดยวิชาเหล่านี้จะนำมาสู่การกำหนดเป็นกรอบแนวคิดสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ในเนื้อหาเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เพราะทักษะ แห่งศตวรรษที่ 21 บอกตรง ๆ เลยว่า แทบจะเข้าไปแทรกอยู่ในทุกวิชาพื้นฐานเลยทีเดียว อันได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับโลกความรู้เกี่ยวกับการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี ความรู้ด้านสุขภาพ ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม

           ดังนั้นน้อง ๆ จะต้องรู้ก่อนเลยว่า ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 คือ การเรียนรู้ 3R x 7C 3R คือ Reading (อ่านออก), Writting (เขียนได้), และ (A) Rithemetics (คิดเลขเป็น) ส่วน 7C ได้แก่ Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะใน การแก้ปัญหา) Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม) Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์) Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การ ทำงานเป็นทีม และภาวะผู้น่า) Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ) Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้) น้อง ๆ เห็นไหมว่า หลายทักษะที่น้อง ๆ ต้องฝึกนั้น บางทีอาจยังไม่มีในวิชา หลักสูตร หรือสาขาที่น้อง ๆ เคยผ่านตาด้วยซ้ำ แต่บทความนี้จะมาแนะนำวิชา หลักสูตร และสาขาเปิดใหม่ที่คิดว่าจะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาตนเองให้กับน้องวัยทีนเทรนด์ดิจิทัลได้ ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย

 

หลักสูตรปัญญาประดิษฐ์  

           หากน้อง ๆ สนใจ เทรนนี้กำลังมาเลย เป็นหลักสูตรที่ให้ความเข้มข้นกับศาสตร์ AI  โดยใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 4 ปี ประกอบด้วยเนื้อหาการเรียน 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ส่วนแรก  AI Techniques  เป็นการปูพื้นฐานทฤษฎีทางด้าน AI ซึ่งจะมีพื้นฐานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาเชิงคำนวณ ทฤษฎีด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และแนวคิดในการประยุกต์ใช้ AI ที่ชัดเจนและเข้มข้น ส่วนสอง AI Functional Applications เป็นการนำเอาขั้นตอนวิธีพื้นฐานของ AI ไปสร้างส่วนของ AI ประยุกต์ ในระดับของฟังก์ชันงาน เช่น การรู้จำ Recognition การจำแนกแบบ การจัดกลุ่ม การทำนาย เพื่อที่จะสามารถนำไปประมวลและวิเคราะห์ผลกับข้อมูลประเภทต่างๆ รวมไปถึงการที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความเหมาะสมของการเลือกใช้ AI แต่ละประเภทอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นเนื้อหาในระดับชั้นปีที่ 3 ส่วนสุดท้าย  AI Application Fields  คือการนำองค์ความรู้ AI ไปประยุกต์ใช้ในสายงานต่างๆ เช่น ทางด้านการแพทย์ ทางด้านการเกษตร ทางด้านบริหารธุรกิจ ทางด้านการส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะ และด้านอื่นๆ  ซึ่งในส่วนสุดท้ายจะเป็นเนื้อหาในระดับชั้นปีที่ 3-4 นอกจากนั้นยังมีส่วนของภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมมาร่วมมือด้วย ทำให้น้อง ๆ ที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้พร้อมที่จะออกไปทำงานจริง และเป็นบัณฑิตที่พร้อมใช้งานในความต้องการของตลาดแรงงานอีกด้วยนะ

 

หลักสูตร AI Sandbox

           ถ้าเลือกเรียนแบบนี้ น้องจบได้ภายใน 3 ปีนะ สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้น้อง ๆ ได้พัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัล โดยจะเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้ตามความสนใจ ความถนัด และก้าวหน้าไปตามความสามารถของตนได้อย่างอิสระ อีกทั้งน้อง ๆ ยังเรียนได้ โดยไม่ขึ้นกับระยะเวลาเรียน สำหรับหลักสูตรที่เข้าร่วมจัดการศึกษากับสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ นำร่องหลักสูตร AI Sandbox เช่น มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ), หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการและเทคโนโลยีดิจิทัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล, หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และระบบอัจฉริยะมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์, หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

 

หลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา เรียน 6 ปี ควบตรี-โท

          เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้มีหลักสูตรน่าสนใจนี้ออกมาด้วยนะ น้อง ๆ คนไหนอยากเป็นผู้บริหารของโรงพยาบาล ลองเลือกเรียนดู เขาเปิดรับ 2 สาขา ได้แก่ สาขาการบริหารโรงพยาบาล และสาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและสารสนเทศสุขภาพ หากน้องคนไหนสนใจหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา ในปีการศึกษา 2566 นี้ เรียน 6 ปี และเมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญา 2 ใบเชียวนะ ส่วน 2 ปริญญาที่ว่า ก็เป็นปริญญาจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตนั่นเอง

 

          แต่ไม่ว่าน้อง ๆ จะสนใจคณะ สาขา หรือรายวิชาใหม่เหล่านี้หรือไม่ บทความนี้เพียงอยากกระตุ้นเตือนให้น้อง ๆ ตั้งสติและตั้งมั่นที่การตั้งเป้าหมายในการเกิดการเรียนรู้มากกว่า หลายครั้งที่การเรียนรู้ใหม่จริง ๆ เกิดหลังจากน้อง ๆ ได้อภิปราย ได้ศึกษาข้อมูลจากตำรา ห้องสมุดหรืออินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง ได้ระดมความคิด สร้างโครงงาน ผลิตผลงาน แสดงบทบาทสมมติ การแก้ปัญหา การวิจัย หรือกิจกรรมใด ๆ ร่วมกับเพื่อน ๆ ทั้งหมดคือการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ใช่การเรียนแบบรับฟังหรือรับรู้จากสิ่งที่ผู้สอนพูดอยู่คนเดียวเป็นเวลานาน หากน้อง ๆ ตั้งมั่นแบบนี้ เชื่อเถอะว่า ไม่ว่าสาขาหรือคณะนั้นจะใหม่หรือไม่ น้อง ๆ จะต้องได้รับความรู้รูปแบบใหม่ไปปรับใช้แบบไม่ตกเทรนด์ดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน

 

ปริณุต ไชยนิชย์

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://regis.dusit.ac.th/images/news/1421308421_MACRO%20รูปแบบการสอนสำหรับศตวรรษที่%2021.pdf

https://academic.swu.ac.th/Default.aspx?tabid=17381

https://th.kku.ac.th/122168/

https://www.prachachat.net/education/news-1055017

https://www.prachachat.net/education/news-1038694

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us