จะมีสักกี่คนโชคดีพอที่จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักเป็นอาชีพ ยิ่งเมื่อสิ่งที่รักและหลงใหลเป็นดนตรีคลาสสิกด้วยแล้ว ความฝันก็ยิ่งดูห่างไกลความเป็นจริงมากเข้าไปอีก ในประเทศที่ดนตรีคลาสสิกเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่า “ต้องปีนบันไดฟัง” อย่างในเมืองไทย โอกาสที่จะได้ยึดเอาสิ่งที่รักเป็นอาชีพดูเหมือนจะแทบเป็นไปไม่ได้
แต่นี่ก็ไม่ได้ทำให้ เป้-ทวีเวท ศรีณรงค์ นักไวโอลิน พี่ชายคนโตของวง VieTrio ถอดใจ แต่เขากลับทุ่มเทฝึกซ้อมมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสและช่องทางให้ตัวเอง จนเขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนดนตรีอันดับต้นๆของโลก
รู้ได้ยังไงว่าชอบทางด้านดนตรี และทำไมถึงชอบดนตรีคลาสสิก
ความรู้สึกชอบดนตรีของผมเป็นเรื่องที่มาโดยธรรมชาติครับ และด้วยความที่มันเป็นธรรมชาติครอบครัวของผมเลยรู้สึกว่า ดนตรีคลาสสิกที่ใครๆบอกว่าต้องปีนบันไดฟัง จริงๆแล้วไม่ต้องเป็นอย่างนั้น จริงๆแล้วดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีที่อยู่ในชีวิตคุณนั่นแหละ คุณเปิดทีวีมาก็อาจจะได้ยินผ่านๆ เสียงโทรศัพท์ เพลงในภาพยนตร์ เพลงละคร ก็เอามาจากเพลงคลาสสิกเยอะเหมือนกัน พวกเราก็เลยได้สัมผัสเพลงคลาสสิกมาตั้งแต่เด็กครับ คุณพ่อก็เป็นอดีตหัวหน้าวงบางกอกซิมโฟนี และเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรเพลงคลาสสิกหลายๆที่ในประเทศไทย ก็เลยทำให้พวกเรารู้สึกซึมซับไปเอง รู้สึกว่ามันก็เพราะดี
ถามว่าดนตรีคลาสสิกมีเพลงที่ไม่เพราะไหม ก็มีเยอะแยะครับ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนต่างก็มีดนตรีคลาสสิกที่ตัวเองชอบอย่างน้อยหนึ่งหรือสองเพลง ก็เลยอยากเชิญชวนให้มาฟังกันดูก่อนครับ อย่างเพิ่งตัดสินใจว่ามันยาก จริงๆแล้วมันเหมือนอาหารครับ ลองชิมดูคุณอาจจะชอบก็ได้
ตอนเด็กๆผมเรียนเปียโนกับไวโอลินไปด้วยกันครับ แต่ตอนหลังก็มารู้สึกว่าเราชอบไวโอลินมากกว่า เพราะเปียโนมันต้องนั่งเล่นเฉยๆ ขณะที่ไวโอลินมันเดินไปเดินมาได้ ก็เลยชอบไวโอลินครับเพราะไม่อยากนั่ง
สำหรับดนตรีชนิดอื่น อย่างกีตาร์ผมไม่เคยคิดเล่นเลยครับ เพราะสมัยผมเด็กๆ ละครเรื่องคู่กรรมมาแรง ก็จะมีแต่ผู้หญิงตีขิม ส่วนผู้ชายก็จะมีแต่เล่นกีตาร์ ผมก็เลยรู้สึกว่า ผมจะไปเล่นกีตาร์อีกทำไม คนเล่นตั้งเยอะแยะแล้ว และด้วยความที่เรารู้จักไวโอลินมาแล้วด้วย ก็เลยเลือกเล่นไวโอลินดีกว่า เล่นไปสักพักเราจะได้สัมผัสเสียงที่ไพเราะจริงๆของไวโอลินครับ เสียงไวโอลินเป็นเสียงเครื่องดนตรีที่จะใกล้เคียงกับเสียงคนร้องมากที่สุดครับ
ส่วนกีฬาก็เป็นสิ่งที่ผมชอบมากเหมือนกันครับ ผมก็คิดไว้เสมอว่าถ้าผมไม่ได้ทำงานดนตรี ผมอยากจะไปเป็นนักกีฬา ตอนเด็กๆก็เคยเป็นนักปิงปอง ติดทีมโรงเรียน ไปแข่งได้เหรียญมาด้วย แต่ไม่เคยได้เหรียญทองก็เลยเลิกครับ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ผมก็ยังเตะฟุตบอลอยู่ตลอดครับ เรียกว่า ตอนนั้นถ้าไม่ได้เอาดีทางดนตรีก็อาจจะไปเอาดีด้านฟุตบอลก็ได้ครับ
เล่าถึงการเรียนดนตรีตอนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ
ผมเริ่มเล่นคอนเสิร์ตครั้งแรกตั้งแต่อายุสิบขวบครับ เล่นไปเรื่อยๆทั้งในและต่างประเทศ ครั้งแรกที่ไปเล่นที่ต่างประเทศน่าจะเป้ฯตอนอายุ 13 ครับ ก็เริ่มทัวร์มากขึ้นทั้งในเอเชียและในอเมริกา ไปทุกครั้งที่มีโอกาสเพราะต้องสอบแข่งขันไปครับ ช่วงนั้นก็เลยขาดเรียนเยอะครับ แต่ด้วยความที่คุณแม่เป็นครูด้วย คุณแม่ก็เลยจะกำชับมากกว่า ถ้าเรียนไม่ได้ถึงสาม ก็จะไม่ให้เล่น ก็เลยต้องกลับมาตามเรียน เหนื่อยพอสมควรครับ
พอผมจบ ม.3 ผมก็มาคิดดูว่าถ้าผมต้องทำอย่างนี้ต่อตอน ม.ปลายผมคงจะสอบตกแน่ๆ ก็เลยตัดสินใจบอกคุณพอคุณแม่เลยว่าอยากจะไปเรียนต่อ จะหาทุนไปเรียนต่อด้านดนตรีเอง คุณพ่อเคยไปอยู่ที่ยุโรปครับ ท่านก็เลยจะทราบดีว่าที่ไหนดีที่ไหนไม่ดี ก็เลยไปเลือกโรงเรียนในลอนดอนโรงเรียนหนึ่ง ชื่อ Purcell เป็นโรงเรียนที่เน้นด้านดนตรี แต่ก็ยังเรียนวิชาอื่นด้วย หมายความว่าถ้าเราเรียนจบที่นี่เราก็จะเท่ากับเราจบ ม.ปลาย เหมือนคนอื่นเขา แต่ที่นี่จะให้อิสรภาพในการเล่นดนตรีกับเรา คนที่จะเข้าเรียนที่นี่ได้ต้องเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถ และถ้ามีคอนเสิร์ตเมื่อไหร่ โรงเรียนก็จะสนับสนุนเต็มที่
ก็เป็นโรงเรียนที่ผมชอบมากครับ ตอนแรกผมก็ต้องส่งเทปเราไปก่อนให้เขาคัดเลือก ขั้นต่อไปเขาก็จะเรียกให้เราไปคัดตัวจริงๆ ที่ลอนดอน ก็ต้องบินไป ช่วงนั้นต้องขยันมากครับ ซ้อมกันวันละ 6-8 ชั่วโมง เพราะเราอยากไปจริงๆ สุดท้ายก็ได้ไปครับ และได้ทุนจากทาง British Council ช่วยสนับสนุนด้วย ก็เรียน ม.ปลาย ที่นี่อยู่สองปีครับ
หลังจากนั้น จะเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็อยากเรียนดนตรีอย่างจริงจัง ก็เลยสมัครไปที่ Royal Academy of Music อยู่ที่ลอนดอนเหมือนกัน เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดและดีที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปเลยครับ
มีเพื่อนร่วมโรงเรียนจากประเทศฝั่งเอเชียบ้างไหม
สำหรับเพื่อร่วมโรงเรียนทั้งตอนที่เรียน ม.ปลาย และที่ Royal Academy นะครับ ก็จะมีมาจากทั่วทุกมุมโลกเลยครับ แต่ตอนนั้นผมเป็นคนไทยคนเดียว แต่ตอนนี้น้องๆ รุ่นใหม่ที่ออกไปเรียนดนตรีจริงจังก็มีเยอะมากเลยครับ ไม่ว่าจะอยู่ในยุโรป อมริกา หรือในเอเชียด้วยกันเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นตอนนี้รับรองว่าไม่เหงาครับ แต่สำหรับผม ตอนนั้นเป็นคนไทยคนเดียวเลยครับมีวิธีแก้เหงาอย่างไร
จริงๆถามว่าเหงามั๊ย ตอนนั้นผมไม่เหงาครับ ชอบด้วย เพราะทุกอย่างมันใหม่ไปหมด แล้วก็ชอบการที่เราได้เรียนดนตรีจริงจัง มันทำให้เราได้เจออะไรใหม่ๆ เจอเพื่อนที่มีความสามารถมากกว่าเรา ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ
ผมไม่เคยรู้สึกกดดันเลยครับ ผมชอบที่ได้เจอคนเก่งกว่า ผมชอบอยู่ในหมู่คนเก่งๆ ถึงเป็นที่โหล่ก็ไม่เป็นไร ผมว่ามันดีกว่าไปเป็นที่หนึ่งในที่ที่เราไม่ต้องพยายามมาก เพราะฉะนั้น เวลาผมเลือกโรงเรียนหรือการออดิชั่น ผมก็จะเลือกที่ระดับค่อนข้างสูง ซึ่งผมอาจจะไม่ได้เป็นที่หนึ่งของเขาตลอดเวลา แต่การที่เราได้เห็นคนที่เก่งกว่าเรา มันทำให้เรามองเขาเป็นแบบอย่าง และเกิดแรงบันดาลใจให้เราไปไกลกว่าเขาได้ด้วย
หลักเกณฑ์การคัดเลือกรับคนเข้าเรียนที่ Royal Academy of Music
ก็ต้องมีการออดิชั่นครับ จะคล้ายๆกับการคัดตัวนักกีฬา ดนตรีก็ไม่ต่างจากกีฬาครับ เพราะต้องซ้อมเรียกความฟิตกันตลอดเวลา แต่ดนตรีมันคือศิลปะที่ไม่แพ้ชนะกันที่คะแนน ต้องใช้ความรู้สึก หรือตัดสินกันที่เทคนิค ถ้าให้เปรียบเป็นกีฬาก็คงจะเป็นการแข่งสเก็ตน้ำแข็งลีลา (figure skating) ครับ คือจะแบ่งการให้คะแนนออกเป็นคะแนนด้านเทคนิคและคะแนนด้านศิลปะ การออดิชั่นเข้าโรงเรียนดนตรีก็ตัดสินกันด้วยคะแนนสองแบบนี้เช่นกัน ถ้าเทคนิคคุณไม่เป๊ะ เพลงก็จะออกมาไม่ดี พอเพลงออกมาดีแล้ว เขาก็จะดูว่าคุณมีความรู้สึกสัมผัสกับเพลงนั้นขนานไหน และสามารถถ่ายทอดออกมาโดยที่ไม่ใช่คำพูดให้คนเข้าใจได้มากแค่ไหน นี่เป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างลึกซึ้งสำหรับดนตรีคลาสสิกครับ เพราะเราไม่สามารถร้องออกมาเป็นคำให้คนเข้าใจได้ ก็เลยต้องมีการออดิชั่น ตอนนั้นผมก็ซ้อมเยอะครับ ก็เลยได้ทุนจากทาง Royal Academy ก่อน ต้องยอมรับว่าตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีทุนสนับสนุนด้านการเรียนดนตรีคลาสสิกเลย รุ่นพี่ก่อนหน้าผมที่ได้ไปเรียนต่อด้านนี้ที่ต่างประเทศก็คือได้ทุนจากต่างประเทศทั้งนั้น ถ้ายังจำกันได้ ในช่วงปี 97-98 เป็นช่วงที่เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตก จากเดิมเงินปอนด์อังกฤษ ปอนด์ละ 38 บาท กลายเป็นปอนด์ละ 98 บาท ก็เรียกว่าชีวิตช่วงนั้นค่อนข้างลำบากกันพอสมควร ตอนนั้นผมก็ยังไม่มีคอนเสิร์ตมากมาย ยังหาเงินเองได้ไม่เยอะ ถึงหาได้ก็ไม่พอครับ เพราะค่าเงินเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัว แต่ก็โชคดีมากที่ตอนนั้นสมเด็จพระพี่นางฯ ท่านได้ยินเรื่องของผมจากทางผู้ใหญ่ของวงบางกอกซิมโฟนี ท่านก็เทรงช่วยเหลือ ให้ทุนผมเรียนจบปริญญาตรี และให้ต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาด้วยเหมือนกัน
เรียนปริญญาด้านดนตรี เรียนอะไรกันบ้าง
มีหลายคนถามผมครับว่าเรียนดนตรีนี่เรียนกันยังไง เล่นแต่ดนตรีทั้งวันเลยหรือเปล่า เวลาซ้อมซ้อมกับเพื่อนมั๊ย เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับว่าชีวิตการเรียนดนตรีในโรงเรียนดนตรีระดับต้นๆของโลก เรียนอะไรกันยังไงบ้าง
การเรียนดนตรีในระดับปริญญาตรี ไม่ใช่ว่าจะเรียนแต่ดนตรีอย่างเดียวครับ คุณต้องเรียนอย่างอื่นด้วย คือต้องเรียนพวกวิชา elective (วิชาเลือก) จะเป็นภาษาหรือวิชาอะไรก็ได้ที่คุณอยากจะเลือกเรียน ก็จะมีวิชา elective หลายตัวพอสมควรครับ นอกจากนั้น ด้วยความที่เราอยู่โรงเรียนดนตรีเฉพาะทาง เราก็ต้องเรียนทุกอย่างเกี่ยวกับดนตรีครับ เช่นประวัติศาสตร์ดนตรี ทฤษฎีดนตรีทุกอย่าง และอีกอย่างก็คือ ถ้าคุณเลือกวิชาเอกเป็นการแสดงดนตรี คุณก็ต้องสามารถเล่นเครื่องดนตรีที่คุณเลือกให้ดี ถึงขนาดที่อาจารย์ที่มาวัดผลเราพอใจ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ผลสอบอย่างเดียวที่จะทำให้คุณต้องขยันครับ เพราะทุกคนไม่ได้ต้องการเรียนเพื่อให้ได้ใบปริญญา แต่ต้องการเรียนเพื่อให้ได้ฝีมือแล้วเอาไปใช้จริงๆ หลังเรียนจบ เพราะฉะนั้น ทุกคนจะขยันมาก เพราะรู้ว่านี่คืออาชีพของเขา ไม่ได้แค่เรียนให้จบๆไป แล้วปิดซัมเมอร์ก็ไม่ทำอะไรนะครับ ซัมเมอร์ก็ต้องฟิตมากกว่าเดิมอีก เพราะจะได้กลับไปแข่งขันกับคนอื่นได้มากขึ้นอีก
เพราะฉะนั้น ในแต่ละวัน นอกจากเรียนแล้วเราต้องแบ่งเวลาซ้อมด้วย แต่ไม่ใช่การเอาหลายๆคนมาซ้อมรวมกันตลอดนะครับ การซ้อมดนตรีส่วนใหญ่ต้องซ้อมคนเดียวอยู่กับตัวเอง ขังตัวเองอยู่ในห้อง แล้วซ้อมไปเรื่อยๆจนถึงระดับที่เราพอใจ จนกว่าเราจะเล่นเพลงที่เราต้องเล่นให้ได้ แล้วถ้าเพลงนั้นต้องมีคนอื่นร่วมเล่นด้วย เราก็จะไปซ้อมกับเขาอีก ก็เหมือนกีฬาที่เล่นเป็นทีมครับ ถ้าคุณซ้อมกับทีมอย่างเดียวก็จะไม่ได้พัฒนาความสามารถเฉพาะตัวของเราเลย ก็ต้องพัฒนาความสามารถเฉพาะตัวก่อน ก่อนที่จะเล่นทีมเป็น
การเรียนดนตรีจริงจังก็เลยมีเรียนหลายสาขาวิชาครับ โดยเฉพาะภาษาก็จำเป็น เพราะเราต้องเดินทางเยอะ ผมเองก็เลยเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสไปด้วย เผื่อจะได้ใช้ตอนต้องไปเล่นคอนเสิร์ตครับ และภาษาในดนตรีคลาสสิกส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาษาทางยุโรปอยู่แล้วด้วย ถ้ามีพื้นฐานตรงนี้ก็จะช่วยได้เยอะครับ
นอกจากวิชาเอกการแสดงดนตรี ยังมีวิชาเอกอะไรอีกบ้าง
ก็ยังมีวิชาเอกอื่นอีกครับ ก็แล้วแต่ว่าเราเลือกเข้าไปเรียนในวิชาเอกอะไร ก็จะมีวิชาเอกการร้อง แยกเป็นการร้องโอเปร่า การร้องละครเพลง (musical) บางโรงเรียนก็มีเอกวิชาการแสดง แยกเป็นวิชาการแสดงละครเวที หรือการแสดงภาพยนตร์ แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าเรียนการแสดงเขาจะโฟกัสไปที่การแสดงละครเวที
สำหรับดนตรีเองก็จะมีวิชาเอกต่างๆตามเครื่องดนตรี เช่น เอกไวโอลิน เปียโน เชลโล่ ทรัมเป็ต แล้วก็จะมีวิชาเอกการแต่งเพลงด้วย ซึ่งจะโฟกัสไปที่การแต่งเพลงไปเลยครับ
เพราะฉะนั้นการเรียนด้านดนตรีไม่ใช่ว่าเล่นได้หลายชนิดแล้วเก่งนะครับ เครื่องดนตรีชนิดเดียวต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการหัด ฝึกฝนให้สมบูรณ์ การเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิดอาจจะไม่ได้เข้าขั้นเก่งเลยสักชนิดก็ได้ครับ แต่ที่เล่นได้หลายอย่างอาจจะเป็นเพราะชอบหลายอย่างก็ได้ อย่างผมเอง ผมเล่นไวโอลินเป็นหลัก และเล่นเปียโนได้นิดหน่อย พอที่จะแต่งเพลงได้เพราะเรียนมาทางนี้ แต่ถ้าถามว่าผมดีพอที่จะเป็นนักแต่งเพลงระดับมืออาชีพมั๊ย ก็ไม่ครับ เพราะผมไม่ได้เรียนทางนี้จริงจัง แค่พอทำได้ครับ
ผมเลยชอบเปรียบดนตรีกับกีฬาครับ เพราะมันก็เหมือนกัน ไม่มีนักกีฬาอาชีพคนไหนที่เขาเล่นได้หลายแบบ มันต้องมุ่งไปทางเดียว เพราะมันต้องใช้ความทุ่มเท ต้องใช้เวลา ต้องอุทิศทุกอย่างในชีวิตให้มัน วันๆหนึ่งมี 24 ชั่วโมง ให้เวลากับเครื่องดนตรีชนิดเดียวก็แทบหมดวันแล้วครับ ก็เลยเป็นอาชีพที่ต้องมีความขยัน พรสวรรค์ช่วยคุณได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ครับ อีก 80 เป็นพรแสวงทั้งนั้นครับ ซ้อมเข้าไป อย่างที่เขาบอกว่า practice makes perfect ครับ
คิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์มากน้อยแค่ไหน
ผมก็ไม่เคยประเมินตัวเองเหมือนกันครับ แต่ก็จะสังเกตได้ตั้งแต่เด็กๆว่าผมเป็นคนหัดเพลงได้เร็วพอสมควร แต่ก็อาจจะไม่ได้เนี๊ยบอะไรมากมาย ถ้าเทียบกัน คนที่หัดช้าแต่มีระบบในการซ้อมและขยันซ้อมอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าของผมด้วย ดังนั้นคนที่พรสวรรค์เยอะ ส่วนใหญ่จะค่อนข้างขี้เกียจ ก็เลยต้องบอกตัวเองอยู่เสมอว่าต้องขยันกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะต้องพยายามควบคุมพรสวรรค์ของตัวเองให้ได้ สิ่งที่จะช่วยคุณได้ก็คือการซ้อมอย่างเดียวเลยครับ คุณจะไม่มีทางงัดพรสวรรค์คุณออกมาได้ถ้าคุณไม่ซ้อม ไม่มีทางที่คุณหยิบเครื่องดนตรีมาแล้วเล่นได้เลย บางคนพรสวรรค์ไม่มีเลยแต่อาศัยลูกขยันอย่างเดียว ขยันมากๆ จนสามารถประสบความสำเร็จได้ในระดับเดียวกับคนที่มีพรสวรรค์มากๆ ก็มีเหมือนกันครับ เพราะฉะนั้น สำหรับดนตรีแล้ว ผมบอกได้เลยว่าพรสวรรค์เป็นส่วนน้อยครับ พรแสวงสำคัญมากทีเดียว พอมีพรแสวงแล้ว พรสวรรค์ของแต่ละคนจะค่อยๆแสดงออกมาเอง สิ่งที่คุณไม่คิดว่าคุณมีมันจะเริ่มออกมาเอง พอถึงต้องนั้นพรสวรรค์ถึงจะช่วยคุณได้
ตอน ป.ตรีเรียนที่อังกฤษ ทำไม ป.โท จึงเลือกเปลี่ยนขั้วไปเรียนที่อเมริกา
สำหรับผมเอง ผมเรียนอยู่อังกฤษมาเกือบแปดปี ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนที่ และอยากเปลี่ยนครูหาประสบการณ์ใหม่ๆ ก็เลยมีอยู่สองตัวเลือกระหว่างยุโรปกับอเมริกา ตอนแรกผมเกือบจะถูกส่งไปประเทศในยุโรปแล้วครับ คืออาจารย์แนะนำโรงเรียนไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ได้ไปแน่นอน แต่ผมรู้สึกว่าผมอยากไปประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ก็เลยดูที่อเมริกา แล้วผมก็มีปมด้อยอยู่อย่างด้วยตรงที่ ผมอยากได้สัมผัสชีวิตการเรียนมหาลัยอย่างที่เพื่อนๆคนอื่นได้สัมผัสกัน การที่เราอยู่กับดนตรีมาตลอด มีแต่เพื่อนนักดนตรี มันทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะไปเห็นอย่างอื่นบ้าง อยากรู้ว่าคนอื่นเขาเรียนกันยังไง ก็เลยลองหาดู
แล้วผมก็ได้ไปเจอโรงเรียนดนตรีที่ดีมาก และในขณะเดียวกันก็มีสภาพแวดล้อมของ campus ในมหาลัยด้วย ก็คือที่มหาวิทยาลัยเยล ก็เป็นโรงเรียน Ivy League เก่าแก่มาก และเป็นมหาลัยที่ติดอันดับต้นๆของโลกเสมอ ทุกอย่างตอบโจทย์ผมได้ แต่ปัญหาก็คือจะเข้าได้ไหม เพราะการแข่งขันสูงมากครับ เนื่องจากเขาให้ทุนเรียนกับนักเรียนทุกคน การแข่งขันเลยสูงมาก ก็เหนื่อยพอสมควรครับกว่าจะได้ ก็เป็นหนึ่งในนักไวโอลิน 15 คนที่ถูกเลือกให้เข้าไปเรียน
ก็เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ดีมากครับ เป็นสามปีที่ผมมีความสุข ได้เรียนวิชาอื่นบ้าง และได้สัมผัสการเรียนการสอนที่เรียกว่าดีเป็นอันดับต้นๆของโลก ได้สัมผัสโรงเรียนดนตรีที่มีแต่คนเก่งๆ การเรียนที่อเมริกา โอกาสที่เขาให้นักดนตรีต่างชาติอย่างผมค่อนข้างจะเปิดกว้างมากกว่า ต้องบอกตรงๆว่าที่อังกฤษอาจจะยังมีความลำเอียงอยู่นิดหน่อย แต่อเมริกาจะให้โอกาสทุกคนที่มีความสามารถ นี่ก็เลยทำให้ผมมีความสุขในการเรียน และรู้สึกไม่กดดันการเรียนดนตรีในระดับปริญญาโท ต่างกับในปริญญาตรีอย่างไร
การเรียนดนตรีในปริญญาตรี ส่วนใหญ่เราก็จะครอบคลุมหลายๆวิชาที่เกี่ยวกับดนตรี ก็จะเรียนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดนตรีคลาสสิก ดนตรีแจ๊ซหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สำหรับปริญญาโทก็จะโฟกัสมากขึ้นไปที่อาชีพของคุณ คือคุณเข้าไปเรียนปริญญาโทด้านดนตรีในฐานะอะไร ในฐานะที่อยากเป็นนักแสดงดนตรี ในฐานะครูสอนดนตรี คือมันจะเป็นการเลือกว่าจบมาคุณอยากทำอะไร แล้วก็จะเลือกเรียนวิชาที่คุณจะนำไปใช้จริง
แต่สำหรับในปริญญาเอก จะแปลกตรงที่มันจะหนีวิชาชีพไปอีก จะไปให้ความสำคัญกับงานวิจัย ซึ่งถ้ามองในแง่ศิลปะแล้ว ถามว่ามันจำเป็นต่อการพัฒนาในด้านนี้หรือไม่ มีครับ แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นน้องๆที่คิดอยากเรียนปริญญาเอกทางด้านดนตรีก็ คิดดีๆนะครับ ว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าต้องการเป็นนักแสดงดนตรีจริงๆ ก็อาจจะไม่จำเป็น หรือว่าถ้าต้องการจะเรียนกับอาจารย์ที่สอนอยู่ที่โรงเรียนนั้น ก็อาจจะจำเป็น เพื่อเป็นการต่อยอดอาชีพของคุณ ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจเรียนปริญญาเอกครับ ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นด๊อกเตอร์ครับ แต่อยากจะต่อยอดอาชีพของเรามากกว่า
ตอนที่เรียนที่เยล (The School of Music Yale University) เป็นคณะด้านดนตรีโดยตรงหรือไม่
ใช่ครับ ก็เป็น school of music เยลเขาจะแบ่งออกเป็นสองภาค ภาคปริญญาตรี แล้วก็ภาคที่เขาเรียกว่า graduate school ที่ดังๆของเยลก็จะเป็น Law School ประธานาธิบดีหลายคนก็จบจากที่นี่ นอกจากนั้นก็มี medical school, business school แล้วก็มี music school เป็นหนึ่งในนั้น
ตอนอยู่ที่อเมริกามีโอกาสได้แสดงดนตรีบ้างหรือไม่
แสดงอยู่ตลอดครับ ผมให้ความสำคัญกับการแสดงคอนเสิร์ตมากกว่าการเรียนในโรงเรียนด้วยซ้ำ เพราะมันคืออาชีพของเรา มันคือประสบการณ์จริง มันคือสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเป็นนักดนตรี ไม่ใช่เพราะผมอยากเล่นเป็นและไม่ใช่ว่าผมอยากจบแล้วกลับมาสอน ผมเลือกเรียนเพราะผมอยากแสดง ผมอยากให้ผมมีพื้นที่ในการแสดง อันนั้นก็เป็นความชอบของผมเองนะครับ บางคนก็อาจจะชอบสอนมากกว่าชอบแสดง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะคนนั้นอาจจะมีความสามารถด้านการสอนจริงๆ คนที่เล่นเก่งอาจจะสอนไม่เป็น คนที่ไม่ได้เล่นเก่งแต่โฟกัสไปด้านสอนก็จะสอนคนได้เก่งระดับโลกก็มีให้เห็นอยู่เยอะแยะ
เรื่องแสดงดนตรีผมก็เริ่มแสดงมาตั้งแต่ ม.ปลายแล้วครับ ผมก็เริ่มเดินทางไปแสดงในยุโรปมากขึ้น เวลาเรามีผลงานคนก็จะเริ่มมาดูมากขึ้นแล้วบอกต่อๆกันไป ทำให้มีผู้ใหญ่ให้โอกาสเรามากขึ้น สมัยที่อยู่ยุโรปผมก็ได้เดินทางไปเกือบทั่วยุโรปเพื่อแสดงคอนเสิร์ตครับ มีทั้งได้เงินบ้างไม่ได้เงินบ้าง แต่ที่แน่ๆคือได้ประสบการณ์ที่มีประโยชน์มาก
ตอนที่อยู่อเมริกาก็เหมือนกัน สิ่งแรกที่ผมมองหาก็คือโอกาสในการแสดง แล้วโอกาสจะมายังไง ต้องวิ่งหาโอกาสเองครับ เพราะคุณอยู่ในประเทศที่มีแต่คนเก่งๆ เหมือนนักแสดงฮอลลิวู๊ด เขาก็ไม่ได้เริ่มในสิ่งที่อยากทำเลยทันที ก็ต้องลองทำอย่างอื่นไปก่อน ต้องไปออดิชั่น ไปเล่นบทเล็กๆไปก่อน ถึงจะดัง ผมก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ผมก็มีโอกาสได้แสดงที่ใหญ่ๆ อย่างที่นิวยอร์คก็ได้ไปแสดงที่คอเนกี้ฮอลล์มา หลายคนอาจจะรู้จักครับ แล้วก็เคยไปเล่นที่ลินคอล์นเซ็นเตอร์ด้วย ซึ่งเป็นเวทีหลักๆของดนตรีคลาสสิกในอเมริกาเลย นอกนั้นระหว่างที่เรียนอยู่ก็ได้ไปเล่นในหลายๆพื้นที่ในอเมริกาและในเอเชียด้วยครับ
ก็เหมือนกีฬาอีกแล้วครับ ถ้าคุณไม่ไปลงสนามจริงๆ อยู่แต่ในโรงเรียน คุณก็จะไม่ได้ประสบการณ์ที่คุณสมควรจะได้ นี่เลยเป็นเรื่องสำคัญมากครับ
คิดว่าวงการดนตรีคลาสสิกในบ้านเราในสมัยนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีโอกาสให้นักดนตรีรุ่นใหม่มากแค่ไหน
ตอนนี้ผมกล้าพูดได้เลยว่าวงการดนตรีคลาสสิกในบ้านเราสมัยนี้เปลี่ยนไปเยอะมากครับ เราอาจจะยังโตไม่เท่าประเทศอื่นๆในละแวกนี้ อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือสิงคโปร์ ที่เขามีอาชีพที่เรียกว่าอาชีพนักดนตรีที่จริงจัง และคนทั่วไปให้ความเคารพว่าเป็นอาชีพที่สามารถหาเงินได้สูงไม่แพ้อาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหรือว่าเป็นอาจารย์ก็แล้วแต่
สมัยที่ผมเรียนอยู่เมืองไทย การเล่นดนตรีเป็นสิ่งที่ทุกคนมักจะหัวเราะเยาะเสมอ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กก็จะมองว่าเชย ผู้ใหญ่ก็จะหาว่าจะไปทำอะไรกิน ซึ่งก็โทษเขาไม่ได้เพราะในสมัยนั้น ทัศนคติของหลายๆอย่างมันแคบเหลือเกิน
ถ้าสมัยเรียนได้เรียนแนะแนว ครูถามว่าอยากเป็นอะไร ก็จะมีแต่คนตอบว่า อยากเป็นวิศวะหรือไม่ก็หมอ ไม่ก็อยากทำธุรกิจ ไม่มีใครกล้าพูดว่าอยากเป็นนักกีฬา นักดนตรี หรือนักแสดงเลย ด้วยความที่สังคมมองว่ามันเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน แล้วจะหาเงินจากไหน แต่จริงๆเป็นการเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงนะครับ เพราะขนาดคุณพ่อผม ซึ่งเป็นนักดนตรีคลาสสิกรุ่นบุกเบิกของเมืองไทยเลย ก็ยังสามารถทำงานจนส่งผมเรียนต่างประเทศได้ แล้วก็ดูแลลูกๆทุกคนให้เป็นสิ่งที่เราเป็นในทุกวันนี้ได้ ดังนั้นโอกาสมีแน่นอนครับ ถ้าคุณตั้งใจจริงๆ ถ้าคุณมีฝีมือพอ
แต่ถ้าถามว่าอาชีพอะไรที่ดีที่สุดสำหรับคุณ มันตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะอาชีพที่ดีที่สุดก็คืออาชีพที่คุณรักที่จะทำ ตอนนั้นผมก็โดนเยอะครับ ก็เลยเหมือนเป็นแรงบันดาลใจว่าจะทำให้เห็นให้ได้ว่า อาชีพนักดนตรีสามารถทำได้จริงๆ และสามารถอยู่ได้แบบไม่ลำบากด้วย
ตอนนี้น้องๆ เด็กรุ่นใหม่ก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันเป็นอาชีพที่ทำได้ น้องๆที่เรียนดนตรีคลาสสิกจริงจัง และอยากเป็นนักดนตรีจริงๆ ก็มีมากขึ้นครับ แล้วก็มีโรงเรียนดนตรีเยอะขึ้น โรงเรียนดนตรีที่ดีจริงๆอาจจะยังน้อยอยู่ แต่ว่าก็ค่อยๆเริ่มมีเยอะแล้ว คนเริ่มเข้าใจว่าอาชีพนี้ไม่ใช่เล่นแค่ในผับในบาร์ และไม่ใช่แค่เรียนไปสอนอย่างเดียว หรือคนที่สอนอย่างเดียวนี่ผมรู้จักหลายคนนะครับที่สอนแล้วหาเงินได้เดือนเป็นแสนๆ ผมถามว่าจบปริญญาตรีสาขาอื่นๆมา เงินเดือนขั้นต่ำคุณเป็นแสนหรือเปล่า ก็ไม่ แต่ถามว่ามันจะเป็นอย่างนี้สำหรับทุกคนหรือไม่ ก็ไม่ครับ แต่อาชีพอื่นๆที่คุณคิดว่ามันมั่นคง คุณเลือกมันเพราะมันมั่นคงหรือเลือกเพราะใจรัก ผมแนะนำให้เลือกอย่างที่สองนะครับ เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าคุณรักมันเดี๋ยวคุณก็จะหาโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวเองได้ มันจะมีทางของมันเองครับ
คนเรียนดนตรีคลาสสิกถ้าไม่เป็นครู และไม่เป็นนักดนตรีอาชีพ จะมีทางเลือกอื่นหรือไม่
สำหรับคนเรียนดนตรีคลาสสิกแล้วไม่อยากเป็นครูและไม่อยากเป็นนักแสดงดนตรีด้วย มันก็อาจจะไม่สะท้อนสิ่งที่คุณอยากทำครับ เพราะถ้าคุณอยากเรียนเกี่ยวกับดนตรีแต่คุณไม่ปฏิบัติหรือว่าสอน คุณก็อาจจะมีอย่างอื่นอีกไม่เยอะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนะครับ มันก็จะยังมีสิ่งที่เรียกว่า music management อยู่ อาจจะไปจัดการคอนเสิร์ต แทนที่จะแสดงเองก็อาจจะเชิญคนเก่งๆมาเล่นก็ได้ เรียกว่าเป็นอาชีพผู้จัดการก็ได้ครับ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่ง เมื่อเลิกเล่นแล้วก็ไปจัดการหาคนมีพรสวรรค์ใหม่ๆ ก็เป็นอีกอาชีพที่ทำได้เหมือนกัน
แต่อีกอย่างที่ผมลืมพูดไปก็คือว่า คุณต้องรู้ตัวเองด้วยว่าคุณมีความสามารถที่จะทำอะไรแค่ไหน ไม่ใช่แค่เดินตามฝันอย่างเดียว เพราะโลกแห่งความจริงก็ยังมีอยู่ครับ บางคนอาจจะรักที่จะเป็นนักร้อง แต่โอกาสและความสามารถคุณอาจจะไม่มีเท่าคนที่อยู่ในระดับต้นๆ คุณก็ต้องคิดแล้วครับว่า ระดับที่คุณเป็นคุณพอใจหรือไม่ พอใจกับงานที่จะมีเข้ามาหรือเปล่า อาจจะไม่ได้ออกอัลบั้ม อาจจะไม่ได้มีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเอง แล้วคุณพอใจกับมันหรือเปล่า ถ้าพอทำไปเถอะครับ ยังไงก็ไม่อดอยาก