Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
อาร์-อภิญญา เอกนาฏยศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  Favorite

            ในยุคสมัยที่โลกของเราดูเหมือนจะเล็กลง เพราะการติดต่อสื่อสารข้ามพรมแดนทำได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว การรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาผสมปนเปดูเหมือนเป็นเรื่องปรกติไป ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็เจอแต่วัยรุ่นแต่งตัวเกาหลี ทานอาหารเกาหลี เต้น cover นักร้องเกาหลีเต็มไปหมด แม้จะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแฟชั่นต่างชาติก็เป็นเรื่องสนุกดี แต่สมัยนี้จะมีเด็กรุ่นใหม่สักกี่คนที่คิดอยากอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้ด้วยความภูมิใจ และไม่กลัวว่าจะดู “เชย”

            อาร์-อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ พระเอกหนุ่มหน้าใหม่จากภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ยังคงสนใจและหลงใหลในศิลปะนาฏศิลป์ไทย ถึงแม้ว่าแต่เดิมจะเป็นเพียงกิจกรรมที่พ่อแม่เลือกให้ แต่สุดท้ายนาฏศิลป์ก็กลายมาเป็นสิ่งที่เขารักและให้อะไรหลายๆอย่าง ปัจจุบันอาร์เป็นนิสิตปีสามของ เอกนาฏยศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เริ่มสนใจนาฏศิลป์ไทยได้อย่างไร และตั้งแต่เมื่อไหร่

 

เริ่มสนใจนาฏศิลป์ไทยแต่แรกก็ได้คุณพ่อคุณแม่ล่ะครับที่พาไปเรียน ท่านเห็นว่าเราเอาแต่ทำกิจกรรมอยู่ที่บ้านอย่างเดียว เอาแต่ดูทีวี เล่นเกม ท่านก็เลยอยากให้ลองไปทำอย่างอื่นดูบ้าง ท่านก็เลยเริ่มให้ผมไปเรียนหลายๆอย่าง ทั้งลีลาศ ดนตรีไทย ดนตรีสากล และสุดท้ายก็มาได้ที่นาฏศิลป์ไทยครับ แล้วก็เรียนมาเรื่อยๆจากนั้นครับ

 

ตอนมัธยมปลายเรียนที่ไหน ได้เรียนนาฏศิลป์โดยตรงหรือเปล่า

 

ไม่ได้เรียนโดยตรงครับ ตอนม.ปลาย ผมศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ใกล้ๆที่จุฬาฯนี่แหละครับ ไม่ได้เรียนมาตั้งแต่เริ่มแรกครับ

 

 

ทำไมถึงตัดสินใจสอบเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกนาฏยศิลป์ไทย

ทำไมถึงเลือกเรียนนาฏยศิลป์เหรอครับ จริงๆแล้วในความคิดผม นาฏศิลป์ให้อะไรกับผมหลายอย่างครับ ทั้งที่เรียนมาตั้งแต่ ม.ต้น จนเข้าเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา เราก็ใช้โควตาทางด้านนาฏศิลป์มาตลอด จนตอนที่อยู่ ม.6 อาจารย์แนะแนวก็บอกเหมือนกันครับว่า แน่ใจเหรอว่าจะเรียนที่นี่ มันน่าจะยากนะ แต่ส่วนตัวผมก็อยากรู้ว่า ถ้าเราลองมุ่งไปหาสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ มันจะพาเราไปได้ไกลถึงจุดไหน ผมก็เลยเลือกเรียนสิ่งที่ชอบจริงๆครับ

สอบเข้าคณะนี้ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง (ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ)

ก็สอบเหมือนกับคณะอื่นๆทั่วไปเลยครับ เพียงแต่ว่าเขาจะมีสอบปฏิบัติด้วย และเอาคะแนนของภาคทฤษฎีและปฏิบัติมารวมกัน ส่วนตอนที่ผมสอบนั้น ผมสอบข้อสอบตรงของทางคณะเข้ามาครับ

จริงๆแล้วนาฏศิลป์ไทยไม่ได้มีแต่เรื่องรำอย่างเดียวนะครับ มีทั้งเป็นละคร เป็นระบำ มีการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านของอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ และยังมีการแสดงละครนอก ละครใน ละครพันธุ์ทาง ซึ่งแต่ละอันก็จะมีรายละเอียดยิบย่อยแตกออกมาอีก

ถ้าถามว่ามีเรียนทฤษฎีในคณะบ้างมั๊ย มีครับ เราก็ต้องศึกษาประวัติของแต่ละอย่างว่ามีที่มาจากไหน มีการรวบรวมข้อมูล อย่างเช่นในคณะศิลปะกรรมฯ ของผมก็จะค่อนข้างเน้นในเรื่องวิชาการ การศึกษาและการจดบันทึกข้อมูล แล้วนำมาวิเคราะห์ว่า นาฏศิลป์แต่ละประเภทมีมาตั้งแต่ยุคสมัยไหน คล้ายๆเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยไปในตัวด้วยครับ เช่นอาจจะศึกษาว่า ทำไมเขาถึงใช้คำๆนี้นะ อย่างนาฏศิลป์ ก็จะแยกออกมาได้ว่าเป็น “นาฏ” ก็หมายถึงการร่ายรำ การขับร้อง และ “ศิลป์” ก็หมายถึงศิลปะ สิ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจ สิ่งที่บันทึกเรื่องราวที่ผ่านๆมาก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจกับผู้ชมและผู้ฟัง เป็นต้น

เทคนิคการเรียนภาควิชานี้ให้ได้ดี

ผมคิดว่าก็คงเหมือนๆกับทุกสาขาวิชาครับ ต้องมีความตั้งใจและมุ่งมั่น หัดฝึกซ้อม ก็เหมือนตอนที่เราเรียนประถมแหละครับ ครูมีการบ้านให้ทำมีหนังสือให้อ่านเราก็ต้องทบทวน ไม่เข้าใจตรงไหนก็ถาม

สำหรับสาขานาฏยศิลป์ไทย ถ้าเราต้องการหาข้อมูลหรือประวัติอะไร มันอาจจะค่อนข้างหายากถ้าเราต้องการข้อมูลในเชิงลึก เราอาจจะต้องไปหาบุคคลที่เขารู้ ต้องถามเอาจากปากเขา เพราะความรู้ส่วนใหญ่จะเป็นการบอกการสอนกันปากต่อปากครับ ซึ่งนี่มาจะเชื่อมโยงกับทางคณะก็คือ เราต้องการจะรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด ต้องการนำข้อมูลมารวมกันไว้เป็นรูปเล่ม ให้บุคคลที่สนใจอยากสืบค้นทานด้านนี้ จะสามารถมาสืบค้นได้ที่คณะของเราครับ


มีกิจกรรมหรือประเพณีของคณะที่จัดเป็นประจำหรือไม่

ก็มักจะมีการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับนาฏศิลป์ครับ ทั้งว่านาฏศิลป์มีที่มาที่ไปอย่างไร ปัจจุบันมีผลต่อโลกภายนอกมากแค่ไหน เรียกได้ว่าเป็นเหมือน forum ประจำปีของวงการนาฏศิลป์ไทยก็ว่าได้ครับ เป็นงานใหญ่ ทุกคนในวงการนาฏศิลป์ อาจารย์ที่มีความรู้มากมายจะมาคุยกันว่าเราจะสามารถมีบทบาทมากแค่ไหนต่อสังคมไทย เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ประมาณนั้นครับ

นอกจากนี้ก็จะมีการจัดการแสดงผลงานของนิสิตในคณะครับ เหมือนเป็นการทดสอบให้คนที่เรียนนาฏศิลป์ได้เจอกับประสบการณ์จริง คือเราต้องแสดงต่อหน้าผู้ชมจริงๆ ทำเวทีขึ้นมาจริงๆ มีการติดประกาศว่าจะมีการแสดงที่นั่นที่นี่ ซึ่งนี่ก็เป้ฯการฝึกหัดเราด้วยไปในตัวครับ เมื่อเราแสดงแล้ว อาจารย์ก็จะคอยมาบอกว่า จุดที่เราต้องแก้ไขอยู่ตรงไหน คนดูจะเข้าใจได้ดีขึ้นได้อย่างไร ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองด้วยครับ

พูดถึงภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน”

ในเรื่องนี้ ตัวผมเล่นเป็น ชาด ครับ เป็นเด็กกำพร้าที่ไม่รู้ว่าพ่อแม่ของตัวเองเป็นใคร และต้องไปอยู่ในบ้านของครูโขนที่เก็บเรามาเลี้ยง พอเราได้มาอยู่บ้านนี้เราก็ได้เห็นการแสดงโขนมากมาย ในยุคสมัยของภาพยนตร์เรื่องนี้ การแสดงโขนเป็นการแสดงที่จะสร้างชื่อเสียง สร้างความมั่งคั่งได้ ทำให้ชาดมีความฝันว่าอยากจะไปถึงจุดนั้นให้ได้ แต่ในเรื่อง ชาดก็ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย มีทั้งเรื่องความรัก ความโลภ ความต้องการของคนอื่นที่เข้ามาแทรกแซง รวมถึงเวรกรรมที่เขาเคยได้ไปทำไว้ด้วย จนสุดท้ายก็ถึงจุดที่เขาต้องเลือกว่าเขาจะไปในทางไหนครับ


มีโอกาสมาแสดงใน “คนโขน” ได้อย่างไร

จากพี่ที่รู้จักกันครับ เขารู้จักเราและรู้อยู่แล้วว่าเรามีความสามารถทางด้านนาฏศิลป์ เห็นว่าเรารำโขนได้ เขาก็มาบอกว่าเขากับทีมงานอยากจะทำงานที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย และเห็นว่าโขนน่าสนใจ แต่ตอนแรกก็ยังไม่รู้รายละเอียดอะไรมากครับ เขาก็เลยอยากให้เราลองรำโขนให้ดูหน่อย จนสุดท้ายก็ได้ออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ ในตอนแรก ผมก็ไม่รู้ว่าพี่เขาจะทำเป็นภาพยนตร์ครับ แต่สุดท้ายก็ได้ทำและเป็นสื่อที่เขาอยากจะเผยแพร่ออกไปสู่สังคมครับ
 

การแสดงภาพยนตร์และการแสดงนาฏศิลป์ยากง่ายต่างกันอย่างไร ชอบอย่างไหนมากกว่า

ถ้าจะให้บอกว่าชอบอันไหนมากกว่ากัน ตอบไม่ได้ครับ เพราะจริงๆแล้วมันยากทั้งสองอย่างเลย (หัวเราะ) ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้นะ เราก็ต้องยอมรับว่าเรามีประสบการณ์ทางด้านนาฏศิลป์ไทยและการแสดงโขนมาบ้าง แต่เรื่องภาพยนตร์ ผมไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลย

การแสดงโขนจะแสดงไปตามลำดับเหตุการณ์ แต่ว่าเมื่อเป็นภาพยนตร์บางครั้งก็จะถ่ายจากฉากท้ายๆก่อน หรือถ่ายตรงกลางก่อนก็มี เนื่องจากเวลามันไม่ได้ ซึ่งบางเหตุการณ์เรายังไม่ได้ผ่านตรงนั้นมาก่อน สิ่งที่ทำได้ก็คือ ต้องไปอ่านบทมา และต้องพูดคุยและฝึกซ้อมกับทีมนักแสดงเยอะๆครับ นี่อาจจะเป็นข้อแตกต่างของทั้งสองอย่างครับ

เสน่ห์ของโขนอยู่ตรงไหน

 

ผมเชื่อว่าการแสดงโขนแตกต่างจากการแสดงประเภทอื่นๆตรงที่ว่า การแสดงประเภทอื่นๆ อย่างการแสดงของนักร้องในคอนเสิร์ตนั้นอาจจะตื่นเต้นปลุกอารมณ์ความรู้สึกของเราให้เรามีอารมณ์ร่วมจนอยากกรี๊ดอะไรอย่างนั้น แต่การแสดงโขนจะแสดงเป็นบทกลอนไพเราะ สวยงาม ทำให้คนดูรู้สึกเพลิน และอยากจะคิดตามตัวละครว่า โอ้โห มันงามขนาดที่เขากำลังบรรยายเลยหรือ มันงดงาม มันหอมหวานขนาดนั้นเลยหรือ คือโขน อยากจะให้ผู้ชมอิ่มเอมกับการรับชม มันเป็นเสน่ห์อย่างไทยๆ

 

 

 โขนเป็นสิ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากตัวพวกเราเอง ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นมาหยิบยื่นให้ สำหรับผมก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจครับ จริงๆแล้วเชื่อว่ามันเป็นเสน่ห์ที่ทุกๆคนอยากจะเห็น เพียงแต่ในปัจจุบันเราอาจจะได้รับสื่อจากภายนอกมากไปหน่อยเท่านั้นเอง มันคงเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วยครับ

คนส่วนใหญ่มักมีความรู้สึกว่าโขนเป็นศิลปะชั้นสูง เข้าถึงยาก อาร์มีความคิดเห็นว่าอย่างไรบ้าง

ผมเชื่อว่าที่หลายคนคิดอย่างนั้น เป็นเพราะว่าไม่มีโอกาสได้มาชมหรือได้มาดูอย่างจริงๆครับ ก็เลยรู้สึกว่ามันช่างห่างไกล เป็นเรื่องเข้าถึงยาก แต่จริงๆแล้วผมว่ามันไม่ใช่ครับ

ถ้าจะให้แนะนำสถานที่ที่สามารถลองไปรับชมโขนได้ ถ้าลองสืบค้นดีๆ ก็จะพบว่ามันมีหลายที่ครับ ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็มี โรงละครแห่งชาติครับ ข้างๆสนามหลวง ใต้สะพานปิ่นเกล้า ที่นี่จะมีการแสดงอยู่เป็นประจำเลยครับ ดูได้สนุก และถ้าให้พูดถึงเรื่องราคานะ บัตรใบหนึ่งยี่สิบบาทครับ (หัวเราะ) ดูได้สบายๆ ลมเย็นๆ สนามหญ้ากว้างๆ ข้างๆมีร้านอาหาร ถือเข้ามาทานระหว่างดูได้ด้วย ผมเชื่อว่าเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับท่านผู้ชมได้ดีเลยครับ

คำแนะนำน้องๆที่อยากเข้าเรียนคณะนี้ ควรต้องเตรียมตัวอย่างไร และเตรียมใจรับอะไรบ้าง

สำหรับน้องๆที่สนใจ อยากเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะครับ ก็ต้องหัดซ้อมเยอะๆครับ ทุกสิ่งที่เป็นพื้นฐานหรือเป็นแม่บทที่เราฝึกซ้อมมา และที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน ก็พยายามศึกษาให้เยอะๆ ให้ปรึกษาอาจารย์ว่าแต่ละอย่างมีกลเม็ดอะไรบ้าง ปัจจุบันนี้ก็มีข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเยอะ พวกพี่ๆเองก็พยายามทำสื่อที่น่าสนใจและเผยแพร่ออกไป เป็นสื่อที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ง่าย แต่ก็ยังคงรายละเอียดและเรื่องราวของนาฏศิลป์อยู่ครบไว้ ก็ถ้าทุกคนมีความตั้งใจ ก็เชื่อว่าทุกคนจะไปถึงสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ครับ ก็ทำตามสิ่งที่ฝันนะครับ แม้ว่าจะมีอุปสรรค แต่เชื่อว่าทุกคนจะผ่านมันไปได้ครับ เป็นกำลังใจให้น้องๆนะครับ

ฝากอะไรกับน้องๆหรือคนไทยทั่วไปเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย

ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนยังรักและยังหวงแหนของที่เป้นของเราอยู่นะครับ แม้ว่าเราจะได้รับของคนอื่นเขามาบ้าง แต่ผมเชื่อว่าลึกๆแล้ว ทุกคนยังหวงแหน อยากรักษา และเห็นศิลปะของเราว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ก็อยากจะให้ทุกคนช่วยรักษามันเอาไว้ ถึงจะมีนักศึกษาอย่างผมที่ศึกษาด้านนาฏศิลป์ก็จริง แต่พวกเรารักษาอยู่อย่างเดียวไม่ได้ คงต้องให้ทุกคนมาช่วยๆกันครับ

ก็ฝากไว้ด้วยครับ พวกเราคนไทย อยู่ในแผ่นดินไทย อย่างปล่อยให้ศิลปะไทยพ่ายแพ้กาลเวลานะครับ

 

ภาควิชานาฎยศิลป์ นับเป็นภาควิชาที่ 4 ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2531 ในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต ระดับปริญญาบัณฑิต ในปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่หลักสูตรปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ที่ http://www.faa.chula.ac.th/faa_old/dance_faa/index.htm

 

Tags
Posted by
Plook Admissions.
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us