Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
How to สู่การเป็นลูกที่ดี

  Favorite

         ครั้งหนึ่ง...พ่อแม่ทุกคน เคยเป็นลูก แต่ลูกทุกคน อาจไม่ได้เป็นพ่อแม่คนเสมอไป ดังนั้นบทบาทสำคัญบทหนึ่งของชีวิตเรา นั่นคือ บทบาทการเป็น “ลูก” แหม ! บทเด่นเสียด้วย ว่าแล้วก็ต้องขอทำหน้าที่ให้สมบทบาทเสียหน่อย เป็นลูกทั้งทีขอเป็นลูกที่ดี ไว้ให้เล่าขานสืบไป  ว่าแต่ลูกแบบไหนล่ะ คือลูกที่ดี เรียนเก่ง ขยัน สอบติดมหาวิทยาลัย หาเงินเลี้ยงพ่อแม่ ช่วยทำงานบ้าน ทำกับข้าวให้กิน ทำตามคำสั่ง ไม่เถียง ไม่โต้แย้ง แล้วถ้าเราเผลอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งเหล่านี้ล่ะ เราจะกลายเป็นลูกที่ไม่ดีเลยมั้ย แล้วถ้าวันหนึ่งเราน่ารัก เราก็เป็นลูกที่ดี อีกวันเราดื้อ เราจะยังเป็นลูกที่ดีได้มั้ย แหม ถามไปถามมา เริ่มชักไม่แน่ใจแล้ว ลูกที่ดีต้องดีแบบไหน แล้วต้องทำอย่างไร เราถึงจะเป็นลูกที่ดีได้

 

1. มีครอบครัวเป็นต้นแบบที่ดี ลูกไม้จึงหล่นไม่ไกลต้น

         วัยรุ่นบางคนโชคดี มีครอบครัวเป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งไม่ได้มีดีแค่คำสั่งสอน แต่หมายถึงการแสดงตัวอย่างความดีที่ทำสะสมบ่มเพาะให้ลูกเห็นรอยทาง เป็นที่ปรึกษาพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง เด็กจึงไม่ต้องแบกอะไรไว้ในใจเพียงลำพัง แต่เอามาแบ่งปันกับสมาชิกครอบครัว ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ โอกาสจะก้าวพลาดไปเจอเรื่องไม่ดีมีน้อย หรือต่อให้เจอเรื่องหนัก เรื่องร้ายอะไร ปัญหาเหล่านั้นก็จะเบาบางลง เพราะครอบครัวช่วยแก้ปัญหาและปกป้องคุ้มครองกัน ลูกที่ดีตามวิถีนี้จึงเป็นแนวลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เรียนรู้ ดูต้นแบบ ต่อเติมเพิ่มความดีร่วมกัน เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่ได้เป็นลูกที่ดี แต่ได้ร่วมกันสร้างครอบครัวที่ดีและแข็งแกร่งให้แก่สังคมด้วย  

 

2. เป็นทองเนื้อเก้า แม้ครอบครัวมีปัญหา แต่เราก็ดีได้  

         วัยรุ่นบางคนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับปัญหาครอบครัว แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้เรากลายเป็นลูกที่ไม่ดี แทนที่จะมาเสียเวลานั่งนอยด์ด้อยค่าตัวเองที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ การขยี้ปัญหาจะเท่ากับการขยายปัญหาให้ใหญ่ขึ้น สู้เอาเวลามาเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์กันดีกว่า เหตุผลของผู้ใหญ่ ก็อาจต้องรอวันที่เราเป็นผู้ใหญ่ก่อน ถึงจะเข้าใจ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินเรื่องของผู้ใหญ่ ในวันและวัยที่เรายังเป็นเด็ก มาท้าทายตัวเองดีกว่าว่า จะทำอย่างไรให้เราสามารถเป็น “วันเฉลิม แห่งทองเนื้อเก้า” ได้ ลูกที่ดี ไม่ใช่จะมีได้แต่ในครอบครัวที่ดี แต่ลูกที่ดี มีได้ทุกครอบครัว เพียงแค่เราเลือกที่จะเป็นและทำสิ่งที่ดี 

 

3. หาแหล่งกำเนิดเรื่องดี ๆ ให้ชีวิต

         ที่จริงวัยรุ่น โดยเฉพาะน้อง ๆ มัธยมปลาย เป็นวัยที่ได้เปรียบวัยอื่นอยู่มากตรงที่ ยังไม่โตเกินไปที่จะต้องแบกรับภาระอื่นใด นอกเหนือไปจากเรื่องเรียนและเรื่องส่วนตัว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เด็กเกินไป ที่จะทำอะไรตามใจ ตามสไตล์ ตามความต้องการของตัวเองได้  ดังนั้นน้อง ๆ จึงมีสิทธิ์ที่จะเลือกพาตัวเองไปเจอสิ่งต่าง ๆ ได้ และถ้าน้องรู้จักเลือกแหล่งกำเนิดเรื่องที่ดี น้องก็จะได้เจอเรื่องดี ๆ มาพัฒนาความเป็นลูกที่ดีได้มากขึ้น เช่น เลือกพาตัวเองไปอยู่ในโรงเรียนแทนที่จะโดดเรียนไปแหล่งมั่วสุม เลือกเพื่อนที่ดี ที่ชวนกันไปทำสิ่งดี ๆ แม้จะอยู่ใกล้หรือไกลสายตาพ่อแม่ก็ตาม 

 

4. การฝึกวินัยและความรับผิดชอบตัวเอง

         เรื่องง่าย ๆ ที่บอกเลยว่า ท้าทายความเป็นลูกที่ดีมาก ๆ เพราะความขี้เกียจ ความดื้อตามวัย แบบยิ่งว่ายิ่งเตือนเหมือนยิ่งยุ ยิ่งดุยิ่งด่ายิ่งฝ่าฝืน มันทำให้ลูก ๆ หลายคน มีอาการเก็บทรงไม่อยู่ คร่อมเลนไปบ้าง ว่าจะเป็นลูกที่ดี หรือลูกที่ไม่ดี เป๋ไปเป๋มา แต่ถ้าตั้งสติดี ๆ น้อง ๆ จะรู้เลยว่า มันไม่ได้ยากอะไร แค่ใช้สติดึงชีวิตเราให้กลับเข้าสู่เลนที่ถูกต้อง ปลอดภัย แม้จะผิดทิศผิดทางไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่คำตัดสินว่า ลูกที่ดีอย่างเรา จะกลายเป็นลูกที่ไม่ดี วินัยง่าย ๆ ที่อยากให้น้อง ๆ ลองโชว์ศักยภาพลูกที่ดี เช่น การแบ่งเวลาทำการบ้าน ทำกิจกรรม อ่านหนังสือ เล่นเกม ช่วยงานบ้าน ได้อย่างลงตัว เรียกว่าทำอะไรที่ไม่ต้องทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไช ใช้เสียงที่เดซิเบลสูงแสบหู แค่นี้ล่ะ ถ้าทำได้ รับรองได้สวมบทเป็นลูกที่ดีแน่นอน และอาจได้ของแถมอีกด้วย คือถ้าน้อง ๆ บริหารจัดการเวลาและรับผิดชอบตัวเองได้ดี คุณพ่อคุณแม่ก็จะเห็นว่าลูกเริ่มโต ดูแลตัวเองได้ดีแล้ว ท่านจะไม่ค่อยมายุ่งกับเรา ทีนี้ล่ะ สวรรค์เลย อิสระที่สวยงาม

 

5. มีชีวิตที่มีความสุขและปลอดภัย

         ถ้ามองจากมุมของผู้ใหญ่ คนเป็นพ่อแม่ส่วนมากไม่หวังอะไรจากลูกมากไปกว่าอยากเห็นลูกมีความสุขและความปลอดภัย ตราบเท่าที่ลูกมีสองสิ่งนี้ พ่อแม่ก็สบายใจ ไม่เครียดหรือวิตกกังวล ซึ่งเท่ากับเราทำหน้าที่ลูกที่ดีไปกว่าครึ่งแล้ว อาจจะเป็นความสุขจากการมีเพื่อนดี ๆ ที่ไว้ใจได้ ปรึกษาหารือกันได้ และสำคัญที่สุดคือ ไม่ชักนำเราไปในที่อโคจรหรือยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขหรือภัยอันตรายต่าง ๆ สุขจากการได้เข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ มีประโยชน์ ทำให้ตัวเองสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้เรียนรู้สังคมและผู้คน พอ ๆ กับที่ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย แค่นี้ก็ได้ทำหน้าที่ลูกที่ดีให้พ่อแม่สบายใจเฉยเลย

 

6. พอใจและภูมิใจในครอบครัว ไม่ว่าครอบครัวเราจะเป็นอย่างไร

         มีความสุขอีกข้อหนึ่งที่เราหามาใส่หัวใจของตัวเองและครอบครัวได้ นั่นคือความสุขจากการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ในสิ่งที่ครอบครัวเป็น และในสิ่งที่พ่อแม่เป็น เป็นไปได้ที่บางคนอาจมีความรู้สึกเชิงลบกับครอบครัว หรือรู้สึกไม่ใกล้ชิดไม่สนิทสนม บางครอบครัวพ่อแม่อาจไม่เคยแสดงความรักหรือชื่นชมเราเลย ทำให้เมื่อมีปัญหาจึงไม่เลือกปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากท่าน เพราะคิดเอาเองว่า ถ้าพ่อแม่รู้จะต้องโดนดุโดนทำโทษ เลยเลือกปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นนอกครอบครัวแทน  แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แสดงว่าพ่อแม่ไม่รักเรา เพียงแต่พวกท่านมีวิธีแสดงออกถึงความรักในรูปแบบของตัวเอง ซึ่งอาจถูกใจหรือไม่ถูกใจเรา ก็เหมือนกับสิ่งที่คนอื่น ๆ รอบตัวเราแสดงออก ก็ไม่ได้ถูกใจเราไปเสียทั้งหมดนั่นแหละ พ่อแม่ของเราก็เป็นคนธรรมดาเหมือนคนอื่น ๆ สิ่งที่ท่านทำอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกที่สุด และเราเปลี่ยนท่านไม่ได้ แต่...เราเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองได้

 

         ตราบเท่าที่เราดูแลความคิด ให้คิดแต่สิ่งที่ดี ดูแลหัวใจให้ซึมซับแต่พลังงานดี ๆ และดูแลความประพฤติของตัวเองเป็นอย่างดี ทำหน้าที่ของเราให้ดี ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำให้พ่อแม่ทุกข์ใจ ก็สบายใจได้แล้วว่าเราเป็นลูกที่ดี และคู่ควรที่จะมีความสุขความภาคภูมิใจในตัวเองทุกประการ

 

         สุดท้าย ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า สักวัน เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งได้เป็นพ่อเป็นแม่เองแล้ว จะรู้ซึ้งว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นทารก เด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว หรือวัยไหน ๆ คนรอบตัวจะยังรักและดีกับเราหรือไม่อย่างไร พ่อแม่นี่แหละคือคนที่จะยืนเคียงข้างลูกเสมอไปจนลมหายใจสุดท้ายของพวกท่าน

 

พี่มด กัลยภรณ์ จุลดุลย์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us