Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ยุคโคถึก สู้โควิด ชาว TCAS ใช้ชีวิตอย่างไร ให้รอด !

  Favorite

          ต้อนรับปีฉลูก็เจอกับวัวดุตั้งแต่ต้นปี ทั้งการปิดโรงเรียนและการใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ หนีภัยเจ้า COVID ที่แอบซุ่มโจมตีใจกลางเมืองสมุทรสาคร และขยายวงระบาดไปทั่วประเทศ แน่นอนว่าวิถีชีวิตแบบ New Normal ถูกนำกลับมาใช้อย่างเร่งด่วนอีกครั้ง ปิดสถานศึกษาและเรียนออนไลน์ คือคำตอบของการอยู่รอดในยุคนี้ และเมื่อนักเรียนไม่ต้องไปโรงเรียน แล้วนักเรียนต้องทำอะไร ให้อยู่รอดปลอดภัย และไม่พลาดจากมหาวิทยาลัยที่ตนฝันไว้ ไปลองดูกัน

 

1. เรียนรู้สร้างทักษะด้านดิจิทัล

          ระบบการเรียนการสอนและการสอบกำลังเปลี่ยนไปอีกครั้ง หลังจากที่น้อง ๆ กลับเข้าสู่ระบบโรงเรียนได้ไม่นาน ก็ต้องเปลี่ยนการเรียนจากระบบ Classroom มาเป็นระบบเรียนออนไลน์ ประกอบกับสถานการณ์ Digital Disruption ทำอย่างไรก็หนีไม่พ้นการเคลื่อนไหวชีวิตบนโลกออนไลน์ ซึ่งคำว่าออนไลน์ไม่ใช่แค่โลกโซเชียล  แต่หมายถึงระบบการเรียน การสอน การส่งงาน การสอบ การเงิน การกิน การสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ที่ขยับมาขับเคลื่อนในโลกออนไลน์เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งผลกระทบจาก COVID ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น ดังนั้นวิกฤตนี้จึงเป็นเหมือนโอกาสให้แก่น้อง ๆ รุ่นนี้ได้พัฒนาทักษะด้าน Digital ให้แก่ตัวเอง เรียนรู้เพื่อรู้อย่างเท่าทัน และระวังปกป้องตนจากดาบสองคมของเทคโนโลยี เพราะในวันที่โลกเปิด ในวันที่ COVID จากไป ดิจิทัลจะไม่มีวันจากไปด้วย แต่จะอยู่เป็นเครื่องมือในการอยู่รอดต่อไปอีกนานแสนนาน

 

2. เติมความรู้ด้วยการติวออนไลน์

          เมื่อต้องเปลี่ยนชีวิตจากห้องเรียนสู่การเรียนออนไลน์ที่บ้าน แน่นอนว่ารูปแบบการเรียน สถานที่และบรรยากาศล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของน้อง ๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างรอยต่อนี้ น้อง ๆ ควรหาคลิปเรียน ติวทบทวนตำราผ่านทางออนไลน์ ย้อนทั้งของเก่า และเตรียมสำหรับของใหม่ ซึ่งตอนนี้ทรูปลูกปัญญาก็ได้จัดคาราวานความรู้ คลิปติว และคลังบทเรียนเนื้อหาวิชาต่าง ๆ เตรียมพร้อมไว้ให้น้อง ๆ แล้ว ของฟรี ของดี มีอยู่จริง ! มีให้ใช้บริการมากมายในทุก platform ของทรูปลูกปัญญา ทั้งแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ Social Media  จัดซะ...อย่าให้เสียของ

 

3. เปิดโลกกว้างด้วยการอ่าน

          อ่านหนังสืออื่นที่นอกเหนือจากตำราเรียน เพราะชีวิตไม่ได้ถูกบีบด้วยเวลา ไม่มีข้ออ้างว่า “ไม่ว่าง” เพราะต้องทำการบ้าน ทำรายงาน ทำกิจกรรม ดังนั้นเวลาว่างที่ไม่ต้องเสียไปกับการเดินทาง หรือการทำกิจกรรมในระหว่างเรียน จึงเปรียบเสมือนการได้ของขวัญเป็นเวลากลับคืนมา เวลาที่มีมากพอให้น้อง ๆ ใช้เปิดโลกให้กว้าง ให้ลึก และรอบด้านกว่ากรอบตำราที่มีเนื้อหาตายตัว ประสบการณ์ชีวิตหลาย ๆ อย่างไม่ได้มาจากห้องเรียนหรือตำราเรียน แต่ได้มาจากตัวอักษรผ่านงานเขียนต่าง ๆ ทั้งบทความ นวนิยาย เรื่องสั้น หนังสือ How to หรือสร้างแรงบันดาลใจต่าง ๆ รับรองว่า ถ้าเปิดใจให้เปิดหนังสือได้ เท่ากับเราได้เปิดโลกทั้งใบให้กว้างขึ้นด้วยการอ่าน แค่เปิด...ชีวิตก็เปลี่ยน !

 

4. เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสทางธุรกิจออนไลน์

          ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย คือการที่ COVID สามารถปิดประเทศต่าง ๆ สร้างการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพมากมาย แต่กลับมีอีกหลายอาชีพ เติบโตและพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ ด้วยการย้ายตัวเองไปทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ได้เผชิญกับสถานการณ์จริง ดังนั้นการศึกษาหาทางรอดในการประกอบอาชีพ จึงเป็นโอกาสที่ดีของน้อง ๆ หากวันใดที่โลกต้องหยุดการเคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์ แต่ในโลกออนไลน์ ทุกอย่างยังคงเคลื่อนไหวและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนและครอบครัวได้ วันนั้น น้องจะได้เป็นผู้ที่อยู่รอด เพราะสามารถปรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้

 

5. Reset นาฬิกาชีวิตตัวเองใหม่

          บางคนกล่าวว่า COVID เข้ามาปรับสมดุลของโลก ในฐานะชาวโลก เราก็ควรใช้ช่วงเวลานี้ปรับสมดุลชีวิต เมื่อเราได้เวลาคืนมาจากการไม่ต้องทำกิจวัตรประจำวันบางอย่าง เช่น ไปโรงเรียนด้วยการฝ่ารถติด ๆ ไปเที่ยว ทำกิจกรรม ให้เวลากับสังคมต่าง ๆ แต่ตอนนี้เรามีเวลาให้กับตัวเอง ดังนั้นจงใช้เวลาที่มีปรับสมดุลชีวิตตนใหม่  เช่น เคยนอนดึกเพราะต้องอ่านหนังสือหนัก ทำการบ้าน ทำรายงาน ซ้อมกีฬา เตรียมกิจกรรมแล้วต้องรีบตื่นเช้าไปโรงเรียน อดนอนจนร่างกายเหนื่อยล้า แต่วันนี้ ถ้าเราหันมาปรับนาฬิกาชีวิตใหม่ ตื่นเช้าได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง แต่อาจเปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องนอนดึก เพราะตารางชีวิตไม่ได้แน่นเหมือนตอนเปิดเทอม ไม่ต้องเรียนพิเศษอย่างหนักเหมือนที่ผ่านมา เวลาที่ได้คืนมา เหมือนได้เวลาในชีวิตมากขึ้น


6. คุยกับตัวเองให้มากขึ้น เพื่อค้นหาตัวเองให้เจอ

          Social Distancing ทำให้เราต้องห่างจากคนอื่น แต่ทำให้เราได้ใกล้ชิดกับตัวเอง ค้นหาว่าในช่วงเวลาที่ต้องหยุดนิ่ง เราโหยหาอะไรที่สุด (นั่นอาจเป็นสิ่งที่เรารัก) เราอยากทำอะไรมากที่สุด (นั่นอาจเป็นสิ่งที่เราสนใจ) แม้ไม่ได้ไปเรียน แต่เรายังทำอะไรได้ดีอยู่ (นั่นอาจเป็นสิ่งที่เราถนัด) แล้วค่อย ๆ เขียนออกมาให้เป็นเรื่องราวที่ชัดเจน แล้วนำไปสู่การออกแบบรูปร่างอนาคตของเรา คำตอบที่ดี บางทีก็หลุดออกมาในช่วงวิกฤตที่สุดของชีวิต เพราะมันอาจเป็นช่วงที่เรามีสติที่สุด...ก็เป็นได้ และปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งของการศึกษาคือ การไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร อยากเรียนคณะไหน อยากทำงานด้านใด เพราะภารกิจประจำวัน ทำให้เราขาดการสื่อสารกับตัวเอง ดังนั้นช่วงเวลานี้ จึงเหมาะสมที่สุด คุยกับตัวเองให้มาก แล้วความยากในการเลือกคณะจะลดลง

 

7. ปีฉลู สุขภาพฉลุย พร้อมลุย COVID

          ช่วงเวลาแห่งการเก็บตัวอยู่บ้าน เรียนรู้ออนไลน์ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่น้อง ๆ จะหันมาดูแลสุขภาพ ลดความอ้วน ออกกำลังกายแบบไม่ต้องใกล้ชิดกับใคร เพราะต่อให้ความฝันเรายิ่งใหญ่แค่ไหนหรือใกล้จะสำเร็จเพียงใด ถ้าสุขภาพไม่ร่วมมือด้วย ความสำเร็จนั้นก็ไม่มีวันเป็นจริง และยิ่งการเตรียมร่างกายให้พร้อมลุยกับ COVID ด้วยแล้ว คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ติดง่าย แพร่กระจายเร็ว ดังนั้นอย่าประมาท ต้องรักอนาคตและรักษ์สุขภาพควบคู่กันไป และอย่าลืม ITEM แห่งยุคโควิดที่ไล่ขวิดไปทั่วแบบนี้ คือ หน้ากาก แอลกอฮอล์ และ Social Distancing พี่นัทเชื่อว่าทุกคนมีอาวุธครบ แต่เวลาจะออกรบ บางทีชอบลืมใช้อาวุธที่มีปกป้องตัวเอง

 

          สิ่งที่อยู่รอด ไม่ใช่สิ่งที่แข็งแรงที่สุด แต่คือสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us