เชื่อว่าหลายคนที่เคยไปหอศิลป์กรุงเทพ คงจะเคยผ่านร้านไอศกรีมไอเดียเก๋ และมีชื่อเก๋ๆ อย่าง IceDEA (ไอซ์เดีย) กันมาบ้างแล้ว ร้านไอศกรีมที่ยิ่งดูยิ่งไม่ธรรมดานี้มีเจ้าของเป็นสาวสวยชื่อ พี่ติ๊บ-พริมา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ศิษย์เก่าของภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ พี่ติ๊บจะมาเล่าให้เราฟังว่า เป็นยังไงมายังไงถึงได้ผันตัวเองมาเป็นนักออกแบบไอศกรีมได้ และวิชาความรู้และประสบการณ์จากภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบไอศกรีมได้อย่างไรบ้าง
แนะนำตัว
พริมา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา เป็น นักออกแบบไอศกรีม (ice cream designer) ของร้าน Icedea ค่ะ
รู้ตัวเองได้อย่างไรว่าอยากเรียนสาขาออกแบบอุตสาหกรรม และทำไมถึงเลือกเรียนสาขานี้ที่จุฬาฯ
ค้นพบว่าตัวเองอยากเรียนด้านออกแบบเพราะตอนเด็กๆ เป็นคนชอบวาดรูป ชอบออกแบบ ชอบประดิษฐ์ของอะไรใหม่ๆมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ถึงขั้นว่าตอนเด็กๆเคยเอากระดาษมาทำเป็นกระเป๋าสตางค์หรือรองเท้านู่นนี่ แล้วก็ยังมีสมุดสเก็ตช์ภาพเป็นของตัวเองมาตั้งแต่เด็กค่ะ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็จะอาร์ตๆ ก็เลยค่อนข้างจะสนับสนุนด้านนี้ ก็เลยทำให้ชอบด้านออกแบบมาตั้งแต่เด็ก
ทีนี้ ตอนเรียนอยู่มัธยมปลาย ก็ได้คุยกับลูกพี่ลูกน้องที่เรียนจบจาก ID (Industrial Design) จุฬาฯ ค่ะ ก็ปรึกษาเขาว่า เรามีสมุดสเก็ตช์อย่างนี้ ชอบวาดรูปอย่างนี้ น่าจะไปเรียนที่ไหนดี ด้วยความที่เขาจบ ID จุฬา ก็เลยสนับสนุนคณะนี้ค่ะ แล้วที่บ้านทุกคนก็จบที่จุฬาฯ หมด ทุกคนก็เลยแนะนำว่า ถ้าชอบด้านการออกแบบ เรียนที่นี่ก็ดี เพราะสอนค่อนข้างแข็ง ก็เลยแนะนำกันให้เข้าที่นี่ค่ะ
การออกแบบอุตสาหกรรมคืออะไร
ถ้าพูดถึงการออกแบบอุตสาหกรรมนะคะ ตามชื่อเลยก็คือการออกแบบสิ่งที่ผลิตได้ในอุตสาหกรรมทั้งหมดค่ะ
แต่ถ้าพูดถึงการออกแบบจริงๆ แล้ว ก็คือกระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือ ให้เกิดอะไรใหม่ๆขึ้นมา โดยตอบโจทย์อะไรบางอย่างด้วย
คนที่เรียนด้านการออกแบบควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
สำหรับคนที่อยากเรียนด้านนี้นะคะ แน่นอนว่าต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดอะไรใหม่ๆ คิดออกนอกกรอบไปในทางที่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ต้องช่างสังเกต ต้องรู้จักมองสิ่งต่างๆ รอบตัวแล้วนำมาคิดต่อยอด รู้จักตั้งคำถามและคิดอะไรใหม่ๆจากคำถามที่เกิดขึ้นค่ะ
จำเป็นต้องวาดรูปเก่งมาก่อนหรือไม่
เรื่องวาดรูปเก่งเนี่ย จริงๆคิดว่ามันอยู่ที่กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์มากกว่าค่ะ ถ้าน้องๆ มีความสามารถในการวาดรูปก็อาจจะมีความสามารถในการสื่อความคิดของเราไปให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเราวาดรูปไม่เก่งก็สามารถมาฝึกมาหัดกันทีหลังได้ หรืออาจจะนำเสนอความคิดโดยใช้คอมพิวเตอร์ รูปถ่าย หรือสิ่งอื่นๆ ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องมีความคิดที่ดี เพราะถ้าวาดรูปเก่งแต่ความคิดไม่ดี ก็คงไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ๆ ได้
สิ่งที่ประทับใจสมัยเรียน
สมัยที่เรียนอยู่ สิ่งที่ประทับใจก็คงจะเป็นการอบรมสั่งสอนของอาจารย์ทุกท่านในคณะค่ะ ไม่ว่าเป็นที่ภาควิชา ID หรือตอนปี 1-2 ที่ต้องเรียนที่คณะสถาปัตย์ฯ พอเปิดภาควิชามาอาจารย์ก็ต้อนรับนักเรียนด้วยการไม่ให้นอนเลยค่ะ (หัวเราะ) มาคืนแรกก็ต้องนั่งดราฟท์กันจนเช้า เราก็คิดว่า โอ้โห โหดขนาดนี้เลยเหรอ ตอนช่วงที่เรียนก็คิดว่า โอ๊ย ทำไมมันเหนื่อย ทำไมมันหนักจัง แต่พอจบออกมาแล้ว กลับกลายเป็นรู้สึกว่า สิ่งที่อาจารย์เขาโหดกับเรามันเหมือนเป็นการฝึก เหมือนเป็นการตีดาบให้แข็งแกร่งก่อน พอเรามาทำงานจริงๆแล้วเจอปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่ได้เหนื่อยยากไปกว่าช่วงที่เราเรียนเลย
ตอนเรียนที่อาจารย์เคี่ยวเราหนักๆ เนี่ย พอเรามาเจอลูกค้าหรือต้องทำงานจริงๆ โหดกว่ากันเยอะค่ะ อยู่กับอาจารย์ ท่านยังให้คำแนะนำหรืออนุโลมให้เราได้ แต่กับลูกค้าจริงๆ มันคงไม่ได้เป็นอย่างตอนอยู่กับอาจารย์แน่ๆ เพราะฉะนั้น การที่อาจารย์เคี่ยวหนักขนาดนี้ ถ้าจบออกมาก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทีเดียวค่ะ
แรงบันดาลใจให้มาเป็นนักออกแบบไอศกรีม
ที่มาที่ไปของการมาเป็นไอศกรีมดีไซน์เนอร์ ต้องย้อนกลับไปหาคุณพ่อค่ะ คุณพ่อเป็นคนชอบทานไอศกรีมมาก และสามารถทำทานเองได้ด้วย แล้วช่วงนั้นร้านไอศกรีมก็มีอยู่ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ คุณพ่อก็เลยคิดว่าน่าจะลองทำไอศกรีมของตัวเอง เราจะได้ใส่เครื่องได้เยอะๆ เต็มที่ไปเลย ก็เลยเริ่มทำไอศกรีมของตัวเองออกมา
แต่การที่มาเป็นนักออกแบบไอศกรีมได้ ก็คือตอนที่เรียนจบจากคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ธุรกิจไอศกรีมค่อนข้างบูมมาก ก็มีหลายคนที่อยากทำร้านไอศกรีมเป็นของตัวเอง หรือถ้ามีร้านอาหารหรือร้านกาแฟก็อยากจะหาไอศกรีมเข้ามาขายด้วย คราวนี้ปัญหาก็คือว่า การจะเปิดร้านหรือจะนำไอศกรีมเข้ามาขายเนี่ย เราก็จะต้องไปเลือกรสจากร้านอื่นๆ ซึ่งก็มีรสชาติค่อนข้างจำกัด เป็นแค่วนิลา ชอคโกแล็ต หรืออะไรทั่วไป หรือถ้าจะเปิดร้านเอง ก็จะต้องลงทุนซื้อเครื่อง แล้วยังต้องลงทุดด้านการหาความรู้ประสบการณ์ในการคิดสูตรไอศกรีมอีก
เราก็เลยมาคิดว่าน่าจะลองเอาไอศกรีมที่คุณพ่อเคยทำมาลองผสมกับการออกแบบที่เราเรียนมา ออกแบบให้ได้เป็นไอศกรีมที่เหมาะกับร้านของลูกค้าไปเลย ลูกค้าก็จะได้ไม่ต้องไปลงทุนซื้อเครื่อง แล้วยังได้ไอศกรีมใหม่ๆที่เข้ากับคอนเซปต์ร้าน และไม่ซ้ำกับคนอื่นด้วย นอกจากนี้เรายังดูแลในเรื่องของกราฟิกต่างๆ ให้ด้วย เพราะเราก็เรียนด้านออกแบบมาอยู่แล้ว เรียกว่าจบกระบวนการได้ในที่เดียว ก็เลยเกิดเป็นอาชีพนักออกแบบไอศกรีมมาค่ะ
สิ่งที่เรียนมาสามารถนำมาปรับใช้กับการเป็นนักออกแบบไอศกรีมได้อย่างไรบ้าง
ได้เต็มๆ เลยค่ะ เพราะการเป็นนักออกแบบไอศกรีมมันก็คือการออกแบบเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียนมาตั้งแต่ตอนอยู่ที่ ID จุฬาฯ ทั้งนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นรับโจทย์จากลูกค้า เอามาคิดพัฒนาเป็นคอนเซปต์ จากคอนเซปต์มาพัฒนารายละเอียด แต่แทนที่วัสดุที่ใช่จะเป็นไม้หรือพลาสติกในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั่วไป ก็จะเป็นนม เป็นไข่แทนเท่านั้นเอง แต่หลักการทำงานทั้งหมดในกระบวนการคิด ก็ได้มาจาก ID จุฬาทั้งหมดค่ะ
ต้องหาความรู้เพิ่มเติมในด้านรสชาติอาหารและการทำอาหารด้วยหรือไม่
แน่นอนค่ะ ถ้าเราต้องการออกแบบอาหาร เราก็ต้องมีความรู้ด้านอาหาร เหมือนเวลาที่เราเรียนวิชา material process ในภาควิชา ID ค่ะ อันนี้เราก็ต้องไปเรียนเพิ่มในเรื่องของการทำไอศกรีม นอกจากเรียนจากคุณพ่อแล้ว เราก็ได้ไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นเพิ่มเติมที่อเมริกา คือเป็นหลังสูตรที่กึ่งๆ วิทยาศาสตร์โภชนาการไปเลยค่ะ
อธิบายงานชิ้นที่ภูมิใจ บอกแนวความคิด กระบวนการคิด วิธีการทำ
งานออกแบบไอศกรีมชิ้นที่ชอบมากที่สุดจะเป็นชิ้นที่ชื่อว่า Global Warming ค่ะ คือตอนนั้นเป็นช่วงที่กำลังรณรงค์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนกันเยอะ ก็เลยคิดทำเป็นไอศกรีม Global Warming นี่ขึ้นมา โดยนำเอาคุณสมบัติของไอศกรีมที่มันสามารถละลายได้มาเป็นแนวคิด แล้วได้ใช้เทคนิคการทำไอศกรีมที่เรียกว่าการ swirl สีมาใช้ ปรกติที่เราทำการ swirl ไอศกรีม ส่วนใหญ่ก็จะใช้รสวนิลลากับช๊อคโกแล๊ต หรือรสทั่วๆ ไป มาผสมกัน แต่ในงานชิ้นนี้ เราเอาไอศกรีมรสนมซึ่งเป็นสีขาว มาผสมกับรสมินต์ที่ออกสีเขียวๆ ฟ้าๆ พอเราตักไอศกรีมขึ้นมาเป็นลูกๆ มันก็จะดูเหมือนกับลูกโลก และด้วยความที่ไอศกรีมมันละลายได้ พอมันละลายมันก็จะให้ visual impact ที่เหมือนกับว่า โลกกำลังละลายเพราะภาวะโลกร้อน แต่ถ้าได้ลองทานเข้าไป ด้วยความที่มันเป็นรสมินต์ มันก็จะให้ความรู้สึกเย็นๆ ก็เลยกลายมาเป็น “รสลดโลกร้อน” เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักถึงภาวะโลกร้อนด้วยค่ะ
แรงบันดาลใจในการออกแบบไอศกรีม
ก็มาจากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวค่ะ อาจจะเป็นอาหารที่ทานเมื่อเช้านี้ หรือท้องฟ้าที่เห็นว่า เออ วันนี้สีมันสวยดีนะ อาจจะเป็นของที่เราไปเห็นมาในซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นการผสมผสานขนมที่น่าสนใจดี เราก็ลองเอามาทำเป็นไอศกรีมบ้าง มันก็เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราค่ะ อยู่ที่ว่าเราจะนำมาคิดต่อยอดได้มากน้อยแค่ไหน
ไอศกรีมร้านนี้นอกจากเรื่อรสชาติอร่อยแล้ว มันอาจจะมีกิมมิค มีไอเดียอะไรบางอย่างสอดแทรกมาด้วย ทั้งในภาพที่ตาเห็น ในวิธีการรับประทาน หรือในความรู้สึกเมื่อได้ทานเข้าไป รับรองว่าถ้าได้ลองแล้วจะต้องได้เดินอมยิ้มออกไปจากร้านแน่นอนค่ะ
คิดอยากนำไอเดียไปใส่ในสิ่งอื่นอีกบ้างไหม
นอกจากเอาไอเดียไปใส่ในไอศกรีมแล้ว ก็ยังอยากลองเอาไอเดียไปใส่ในขนมต่างๆ ค่ะ เพื่อที่จะได้เอามาทานคู่กับไอศกรีมด้วย ถ้าหลังจากนั้นก็น่าจะลองเขยิบไปทำในส่วนของเครื่องดื่มหรืออาหารด้วยค่ะ แต่ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปนะคะ
![]() |
![]() |
ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเรียนคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ
สำหรับน้องๆ ที่อยากเรียนคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ นะคะ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาควิชา ID ก็ได้ ก็อยากให้ฝึกเรื่องความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ อีกส่วนหนึ่งก็อย่างให้ฝึกเรื่องความอดทนด้วยค่ะ เพราะถ้าได้เข้ามาเรียน จะต้องโดนอาจารย์ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีแน่นอน แต่ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ทุกคนที่อยากเข้าคณะนี้แล้วกันค่ะ
ภาควิชา ออกแบบอุตสาหกรรม • หลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรมบัณฑิต (ออ.บ.) หลักสูตร 4 ปี ปี 1 และ ปี 2 เรียนวิชาพื้นฐาน ซึ่งมีวิชาหลักเรียกว่า 2D Studio, 3D Studio และ 4D Studio ปี 2 เทอมสอง นิสิตสามารถเลือกเรียนรายวิชาตามถนัด สอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เช่น Jewelry Design, Ceramic Casting, Toy Design, Furniture Design,Transportation Design หรือวิชาด้าน Graphic design ได้แก่ Typo, Publication Design, Motion Graphics, InfoGraphics ปี 3 มีการฝึกงานตามบริษัทต่างๆ และปี 4 มีการทำ Senior Project โดยนิสิตสามารถเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาเองได้ รายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พญาไท เขต ปทุมวัน โทร 02-218-4494 Fax. 02-218-4499 • หลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต นิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ) ศศ.บ. Communication Design International Program (CommDe) Communication Design (CommDe) เป็นหลักสูตรใหม่ที่เปิดสอนในภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CommDe เป็นการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติที่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากมายหลายแขนง ตั้งแต่การออกแบบเพื่อสื่อสิ่งพิมพ์ผ่านช่องทางสื่อสมัยใหม่ กราฟิกดีไซน์ การสร้างภาพประกอบและภาพเคลื่อนไหว หลักสูตรนี้ใช้เวลาเรียนสี่ปี บัณฑิตที่ศึกษาจบจะได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณทิต นิเทศศิลป์ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.commde.com/ |