“หมวดโอภาส” คาแรกเตอร์ล่าสุดของ “พระเอก 100 ล้าน” เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี ที่สวมบทบาททะเล้นจนคนดูชอบอกชอบใจไม่น้อยไปกว่าบทบาทชายหนุ่มไร้ชื่อสุดกวนจากหนัง “กวน มึน โฮ” ที่เขาทั้งแสดงและรับหน้าที่เป็นหนึ่งในทีมเขียนบท ความสามารถนี้บ่มเพาะจากการคลุกคลีอยู่หลังกองถ่ายมาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เขามีโอกาสฝึกงานและปรากฏตัวในภาพยนตร์ของค่ายจีทีเอชอยู่บ่อยๆ จนค้นพบว่าการทำหนังเป็นงานที่ตัวเองรักมากที่สุด
ตอน ม.ปลาย เป็นเด็กสายวิทย์ เพราะอะไรจึงเลือกเรียนด้านภาพยนตร์และภาพนิ่ง
มาจากความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ เลยครับ เพราะว่าผมได้เรียนในสิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบมาแล้วคือเรียนสายวิทย์ ผมเรียนได้นะแต่ว่าไม่ชอบ ผมเริ่มรู้สึกว่าถ้าเราอยู่กับสิ่งที่เรารักน่าจะดีกว่า เพราะมันจะเหมือนว่าทุกๆ วันเราไม่ได้ทำงาน มันก็ไม่เกิดความรู้สึกเหนื่อย ผมเลยมาคิดว่าผมรักอะไร แล้วก็ เออ ผมรักในการดูหนัง คงจะดีมากเลยถ้าเรารู้ว่าหนังที่เรารักทุกๆ เรื่องที่เราไปดู เขาทำกันอย่างไร ได้เรียนรู้ ฝึกฝน ได้ไปทำทุกอย่างเกี่ยวกับหนัง ก็เลยเลือกเรียนภาพยนตร์ครับคิดว่าลักษณะสำคัญของคนที่เรียนสาขาภาพยนตร์คืออะไร
ในความคิดผมมี 2 อย่างครับ หนึ่งคือช่างสังเกต สองคือรู้จักการถ่ายทอดครับ การสังเกตนี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว มนุษย์ทุกคนมีความสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้านซึ่งผมเป็นหนึ่งในนั้นด้วย และผมได้มารับรู้ว่ามันเป็นข้อดีเมื่อเราได้มาเรียนภาพยนตร์ เราจะมีข้อมูลในหัวเยอะมาก สมมติว่าคนนั่งกินสุกี้กัน เป็นแฟนกันสองคนนั่งกินแบบไม่พูดอะไรกันเลย เงียบตลอดเลย 10 นาที เรารู้แล้วว่าเขามีปัญหา ไม่จำเป็นต้องโวยวายทะเลาะกันให้เราเห็น ดังนั้นในสิ่งที่เราสังเกต เราจะทำอย่างไรเพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นบทภาพยนตร์ และต้องรู้จักการถ่ายทอด รู้จักการเลือกมุมอะไรต่างๆ ถ้าเราเป็นคนเล่าเรื่องเก่ง เราจะรู้ว่าจังหวะนี้เราต้องบิ๊วแล้ว ถ้าเป็นเรื่องผี จังหวะนี้คนดูจะต้องกลัวแล้ว หรือว่าจังหวะนี้กำลังมัน เราต้องใส่อารมณ์เต็มที่
นอกจากในห้องเรียน กิจกรรมของเด็กนิเทศจุฬาก็ขึ้นชื่อใช่ไหมคะ
ที่เด่นๆ เลยมี “งานกางจอ” และ “มูฟวี่มาเนียร์” ครับ เป็นสองงานให้นิสิตเอาหนังสั้นมาฉายรวมกัน แล้วจะมีกรรมการที่มานั่งดู มีพี่เก้ง จิระ มีผู้กำกับดังๆ ซึ่งการที่ผมได้เข้ามาเขียนบทให้จีทีเอชทุกวันนี้ก็มีส่วนมาจากงานนี้ล่ะครับ เพราะว่าพี่เก้งได้มาดูแล้วชอบ ตอนนั้นเรื่องที่ผมทำชื่อ “ปล่อยไปตามหัวใจ” ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยถูกพูดถึง ห่วยเลยแหละพูดง่ายๆ แต่ว่าเรื่องที่ถูกพูดถึงมากคือเรื่อง “มนต์รักซักรีด” เป็นของเพื่อนผมชื่อเมษ ธราธร (ผู้กำกับภาพยนตร์ “บ้านฉัน...ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้)”) พี่เก้งดูแล้วชอบมากเลยดึงเมษเข้าไปทำ แล้วก็บอกให้เมษช่วยเขียนบทภาพยนตร์ให้เรื่องหนึ่ง มีไอเดียประมาณนี้ๆ ซึ่งเมษก็บอกว่าผมเขียนบทไม่เก่งแต่ว่าเพื่อนผมเขียนได้ เมษเลยดึงแกงค์ผมเข้าไปเขียนด้วยกันจนออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง “เก๋า เก๋า” ใช้เวลาเขียนปีกว่า เครียดมาก เราได้รู้แล้วว่าเขียนจริงๆ ยากกว่าในคณะเยอะ บางคนเลยเลิกไปทำอย่างอื่น ก็เหลือแต่ผมกับเมษสองคนที่ยังอยู่
ช่วงที่เรียนมีฝึกงานตามกองถ่ายภาพยนตร์บ้างไหม
ได้ฝึกครับ ตอนจบปี 3 ขึ้นปี 4 เค้าจะมีให้ฝึกงานอยู่แล้ว ผมก็ไปฝึกกองภาพยนตร์เรื่องเด็กหอ ของพี่ย้ง ทรงยศครับ และก็ไปทำตำแหน่งแอคติ้งโค้ช ตอนนั้นแอคติ้งโค้ชมี 2 คน ทำคู่กับน้องก้อย รัชวิน ทำด้วยกันฝึกงาน ถือเป็นการฝึกงานไปในตัว
คิดว่าความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องมีส่วนสำคัญในการทำงานไหม
มีส่วนแต่ไม่สำคัญครับ คือผมรู้สึกว่าสิ่งเดียวเลยที่ได้เปรียบมากของการเป็นพี่น้องกันคือเราได้เห็นผลงานกันและกัน พี่เก้งได้เห็นผลงานของพวกผมอะไรแบบนี้ ซึ่งการเป็นพี่น้องคณะเกี่ยวไหมก็เกี่ยว แต่ผมว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญครับ คือสมมติว่าพี่เก้งได้เห็นผลงานของคนที่ไม่ใช่พี่น้องคณะนะแต่ดีมากๆ พี่เก้งก็ทำเหมือนกัน พี่เก้งก็จะดึงคนเหล่านั้นเข้ามาทำเหมือนกันเพียงแต่ว่าผลงานเหล่านั้นไม่ได้ถูกส่งไปให้พี่เก้งดูหรือว่าพี่เก้งอาจจะไม่มีโอกาสได้ไปดู
เสน่ห์ของวงการภาพยนตร์คืออะไร
ผมรู้สึกว่าวงการหนังเป็นเหมือนหลักประวัติศาสตร์ของประเทศเรา คือสมมติว่าในช่วงที่เศรษฐกิจพัง หนังก็จะซบเซาลงไปด้วย สมมติว่าอะไรดังก็จะมีหนังที่เกี่ยวกับสิ่งนั้นออกมา ภาพยนตร์เป็นเหมือนภาพสะท้อนที่อยู่คู่กับความเป็นมาของสังคมเราครับ เออ มันเจ๋งดีนะกับการที่เราดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วได้รู้ว่าคนยุคนั้นเป็นอย่างไร เรานั่งดู “นางนาค” ในวันนี้ เราก็จะได้รู้ว่านางนาคในยุคนั้นเป็นอย่างไร ทั้งหมดเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากความสนุก ความบันเทิง ภาพยนตร์ให้อะไรหลายอย่างมาก
ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่มีความสนใจด้านการทำหนังสักนิดค่ะ
สำหรับน้องๆ ที่มีความสนใจอยากจะเรียนทำหนัง อย่างแรกคือเราต้องมีใจรักมากๆ เพราะว่างานนี้เป็นงานศิลปะ เป็นสิ่งที่เราต้องใช้ความรู้สึก ใช้ความรัก และก็ใช้ใจกับมัน มันไม่ใช่งานที่ทำแล้วเสร็จเหมือนงานบัญชี งานเอกสารต่างๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องทุ่มเทมากๆ เพราะว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันเหมือนลูกของเรา เวลาเขียนบทเราเริ่มจากศูนย์ครับ เราค่อยๆ สร้างเขาขึ้นมา และสุดท้ายก็ส่งเขาให้กับคนทั้งประเทศดู ซึ่งคนทั้งประเทศอาจจะรัก อาจจะเกลียด อาจจะไม่ชอบเขา แต่อย่างน้อยเราต้องรักเขา ดังนั้นคนที่จะเรียนภาพยนตร์และภาพนิ่งต้องมีใจรักมากๆ แล้วน้องจะประสบความสำเร็จครับ
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งหลักสูตรภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ ทางคณะฯ มีวิธีการรับสมัครและคัดเลือกนิสิตใหม่หลากหลายช่องทางด้วยกัน ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ที่เว็บไซต์ http://www.commarts.chula.ac.th/ |