ปิดม่านการแสดงไปเรียบร้อยสำหรับละครเวทีฟอร์มยักษ์ “แมคเบธ” ของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 40 ปีแห่งการก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร และการเปิดโรงละครแห่งใหม่ “ศูนย์ศิลปะการละคร สดใส พันธุมโกมล” นอกจากนักแสดงและทีมงานที่ยอดเยี่ยม หนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของ “แมคเบธ” คือการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมี ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ หรืออาจารย์บัว ศิษย์เก่าศิลปการละคร เป็นผู้รับผิดชอบ
เพราะอะไรอาจารย์บัวจึงเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์คะ
เป็นคนชอบอ่านหนังสือ นิยาย วรรณกรรม การ์ตูน มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็เลยเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ ตอนนั้นทราบแค่ว่าเป็นคณะที่เข้ามาแล้วจะได้อ่านเรื่องต่างๆ คิดว่าคงได้อ่านหนังสือสนุกขึ้น ตอนปี 1 มีโอกาสได้ช่วยทำละครของภาควิชา ทำแล้วรู้สึกว่าได้ค้นพบสิ่งที่เราชอบ เราชอบอ่านบทละคร ชอบเขียนบทละคร ชอบทำโปรดักชั่น ละครเวทีมีมนต์ขลังบางอย่าง เรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดไปนิดหนึ่งเพราะมัวแต่ยึดค่านิยมว่าเรียนอักษรฯ ต้องเรียนภาษาสิ ก็เลยเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษแล้วเลือกเรียนวิชาโทไป แล้วต่อปริญญาโท-ปริญญาเอกด้านการละครค่ะ
ในมหาวิทยาลัยอื่น วิชาการแสดงจะถูกบรรจุอยู่ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ เพราะอะไรที่นี่จึงบรรจุอยู่ในคณะอักษรศาสตร์
ค่อนข้างแปลกค่ะ จะมีที่จุฬาฯ และศิลปากร เพราะว่าที่นี่เป็นภาควิชาเกี่ยวกับละครที่แรกในประเทศไทย รศ.สดใส พันธุมโกมล เป็นผู้ก่อตั้งวิชาละครตะวันตกขึ้น เดิมทีท่านสอนภาควิชาภาษาอังกฤษ เวลาเราเรียนละครก็เหมือนเรียน
วรรณกรรมภาษาอังกฤษ จากนั้นท่านจึงแยกออกมาเปิดภาควิชา ถ้าถามว่าจุดต่างจากที่อื่นคืออะไร อย่างคณะนิเทศฯ ก็มีวิชาละคร เน้นการสื่อสารกับสังคม ในขณะที่คณะอักษรศาสตร์จะอยู่ในหมวดวิชามนุษยศาสตร์ ละคร เป็นการสื่อสารเกี่ยวกับมนุษย์ เกี่ยวกับวิธีคิดของมนุษย์ เรียนเพื่อเข้าใจตัวเองและเข้าใจคนอื่น
สไตล์ของละครเวทีต่างจากละครสถาปัตย์ฯ หรือละครนิเทศฯ อย่างไรบ้าง
อย่างที่เรียนไปแล้วพอมันเป็นสายมนุษยศาสตร์เราก็จะเน้นในเรื่องของความเข้าใจมนุษย์ เข้าใจตัวละคร ตีความตัวละครในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ต้องการอะไร และเราเรียนในฐานะศิลปะ ไม่ได้เป็นการสื่อสารไปสู่สังคมเฉยๆ ฉะนั้นที่คณะอักษรศาสตร์ นิสิตจะต้องเข้าใจและสามารถตีความได้อย่างลึกซึ้ง และละครก็ต้องสนุกด้วยค่ะ
![]() |
![]() |
สิ่งที่นิสิตอักษรฯ จะต้องพบตลอด 4 ปี
จริงๆ ก็เหมือนกันหมดทุกคณะ แต่ในคณะอักษรศาสตร์นิสิตต้องอ่านเยอะ ดูเยอะ อ่านบทละคร อ่านหนังสือ อ่านวรรณกรรม ดูหนัง ดูละคร เพราะเป็นต้นทุนในการสร้างสรรค์งานต่อ อีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นมากคือ ต้องฝึกคิดวิเคราะห์ในเชิงลึกให้ได้ค่ะ
หลังจากเรียนจบแล้วสามารถนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ได้อย่างไรบ้าง นอกจากประกอบอาชีพโดยตรง
นอกจากวิชาชีพแล้ว เราจบมาทำงานเขียนบท ทำงานโปรดักชั่นได้จริงๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้จากคณะอักษรศาสตร์ ที่นำไปใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิตคือวิธีคิด วิธีเข้าใจมนุษย์ วิธีวางความคิดให้เป็นระบบ กระบวนการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งไม่ได้ใช้กับเรื่องงานอย่างเดียว เรื่องส่วนตัว มองคนมองชีวิต วางแผนชีวิต
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสองวิชาเอกหลายสาขาวิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สารนิเทศศึกษา ศิลปการละคร ปรัชญา ภาษาบาลีและสันสกฤต ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลียน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของสาขาวิชาที่เปิดสอนและหลักสูตรต่างๆ ได้ที่ http://www.arts.chula.ac.th/02program/academic_program.html |