Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
กุญแจนำทาง แห่งการค้นหาตัวตน เพื่อค้นพบตัวเอง

  Favorite

          เรือต้องการหางเสือเพื่อกำหนดทิศทางฉันใด 
          ชีวิตก็ต้องการเป้าหมายเพื่อกำหนดเส้นทางฉันนั้น

          การเดินดุ่ย ๆ หอบหิ้วความฝันแบบลม ๆ แล้ง ๆ หรือเดินทางอย่างไม่รู้ทิศ ใช้ชีวิตอย่างไม่รู้ทาง ไปตามการไหลพาของคะแนนที่ได้ สุดท้ายเมื่อค้นพบว่าทางนั้นไม่ใช่ทางของเรา ก็อาจจะสายเกินไป จะเดินต่อไปข้างหน้าก็ล้าเกินกำลัง จะเดินถอยหลังก็ไร้เรี่ยวแรง

          บทความนี้ พี่นัทจะพาน้อง ๆ ไปตามหา “ตัวตน” ใครอีกคนที่อยู่ในชีวิตเรา ที่เราจำเป็นต้องหาเขาให้เจอ ก่อนที่เรากับเขาอาจจะไม่มีโอกาสพบกัน...ตลอดชีวิต !   

          “กุญแจนำทาง“ จะช่วยไขประตูสู่การค้นหา เพื่อการค้นพบ และเมื่อไขครบทุกดอกแล้ว จะต้องพบคำตอบเกี่ยวกับตัวตนของเรา เมื่อรับมอบกุญแจแล้ว ก็เริ่มไขฝันกันได้เลยยยย !! 

 

กุญแจดอกที่ 1 ไขหาตัวตน บุคคลที่สองในชีวิตเรา

          “เรื่องชาวบ้านคืองานของเรา” แต่ความฝันของเรา ไม่ใช่งานของชาวบ้าน !

ในแต่ละวันเรามักใส่ใจกับตัวของเราน้อยเกินไป น้อยจนห่างเหินและห่างหายไปจากการรู้จักตัวตน (บุคคลที่สองในชีวิตเรา) ซึ่งก็คือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวเราที่เรายังหาไม่เจอ  ข้างนอกเราอาจเป็นอย่างหนึ่ง แต่ตัวตนข้างใน เราอาจเป็นอีกอย่างก็ได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ชีวิตที่อยู่ภายนอกโลดแล่นสนุกสนานไปวัน ๆ แล้วปล่อยให้ชีวิตภายในต้องเงียบเหงา ดังนั้นสิ่งที่ควรเข้าไปไขคือ

1. หาเวลาว่างหลังจากคุยกับคนอื่นแล้ว ลองแวะมาเยี่ยมเยียน มาชวนคุย ชวนคิด ชวนค้น หาคำตอบจากตัวตนของเรา 

2. ตั้งคำถามให้ชีวิตว่า เราชอบอะไร ถนัดวิชาไหน สนใจกิจกรรมอะไร มีรสนิยมการใช้ชีวิตแบบไหน ประทับใจกับเรื่องราวอะไรบ้าง 

3. เก็บ Data ข้อมูลชีวิตไว้ เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผล เพราะในวันเลือกคณะ ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาใช้เป็นตัวตัดสินใจเลือกอนาคตของเราต่อไป  

 

กุญแจดอกที่ 2 ไขหาสีสันชีวิต จากกิจกรรม 

          กิจกรรมสำคัญแค่ไหนใน Lifestyle วัยรุ่น คำตอบคือสำคัญยิ่ง เพราะกิจกรรมไม่ใช่แค่สีสันของชีวิตอย่างเดียว แต่เปรียบเสมือนแม่สี 3 สี ที่ต้องละลายรวมตัวกันเพื่อก่อให้เกิดสีใหม่หลากหลายขึ้น  การรวมตัวของกิจกรรมหลายหลากจะช่วยทำให้รู้ซึ้งถึงศักยภาพของทักษะและความสามารถพิเศษ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนบุคลิกภาพที่แท้จริงของเรา

          การเลือกสาขาวิชาและศึกษาอาชีพ โดยยึดหลักที่ว่า ต้องเลือกให้เหมาะกับตนเอง โดยเน้นเรื่องบุคลิกภาพ ซึ่งแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างและแบ่งแยกได้ยิบย่อย  ในภาวะที่เรากำลังสนุกสนานไปกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำกิจกรรมอยู่นั้น ตัวตนของเราจะค่อย ๆ แง้มโผล่ออกมาดูโลก “จ๊ะเอ๋ เราเองนะ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเธอ” 

 

กุญแจดอกที่ 3 ไขหาคำตอบ จากแบบทดสอบ 

          แบบทดสอบตัวตน ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่ช่วยขุดคุ้ย แคะค้น หาตัวตนของเราได้ แบบทดสอบมีหลายประเภท ทั้งเล่นแบบขำ ๆ ตามอินเทอร์เน็ต หรือจริงจังแบบวิชาการด้านแนะแนว ไม่ว่าจะแบบไหนขออย่างเดียวคือ ตั้งใจตอบ และคำตอบที่ได้นั้น จะช่วยให้ตามหาตัวตนของเรา จากที่เห็นมัว ๆ จะเริ่มคมชัด จากกล้า ๆ กลัว ๆ จะเริ่มมีความมั่นใจขึ้น  

          นักทฤษฎีแห่งการค้นหาตัวตน ซึ่งรู้จักในวงการแนะแนวเป็นอย่างดี “จอห์น แอล ฮอลแลนด์” (John L. Holland) ผู้สร้าง "แบบสำรวจความพอใจในอาชีพ" (The Vocational Preference Inventory)  และผู้สร้าง "ทฤษฎีการเลือกอาชีพ" อาจารย์แนะแนวหลายท่านได้นำทฤษฎีนี้มาปรับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยนักเรียนในการวิเคราะห์อนาคต โดยมีบุคลิกภาพเป็นแต้มตัดสิน 

          ฮอลแลนด์ได้จำแนกประเภทอาชีพตามบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 R (REALISTIC) บุคลิกภาพแบบจริงจัง ไม่คิดฝัน นิยมความจริงและสิ่งที่เป็นรูปธรรม

กลุ่มที่ 2 I (INVESTIGATIVE) บุคลิกภาพแบบที่ต้องใช้เชาว์ปัญญาและความคิดนักวิชาการ หรือผู้ใช้กิจกรรมทางปัญญาในการแก้ปัญหา และแสวงหาความรู้ 

กลุ่มที่ 3 A (ARTISTIC) บุคลิกภาพแบบมีศิลปะ

กลุ่มที่ 4 S (SOCIAL) บุคลิกภาพที่ชอบการสมาคม สังคมกับบุคคลอื่น มีความสนใจสังคม

กลุ่มที่ 5 E (ENTERPRISING) บุคลิกภาพแบบกล้าคิดกล้าทำ มีธรรมชาติที่ชอบทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการวางแผนหรือผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ 

กลุ่มที่ 6 C (CONVENTIONAL) บุคลิกภาพที่ทำตามระเบียบแบบแผน ในคนหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องมีตัวอักษรเดียว แต่อย่างน้อยต้องมีตัวหลักเป็นพระเอก และผสมผสานกับพระรองบ้าง เรียกว่ามีบุคลิกแบบผสมผสาน แต่ถ้าใครหาพระเอกไม่เจอ พระรองไม่พบ ตัวประกอบไม่มี แบบนี้ต้องทำแบบทดสอบใหม่ ค้นหาใหม่ และต้องหาให้เจอ...ให้ได้ !

 

กุญแจดอกที่ 4 ไขประตู สู่คณะที่ฝัน 

          การนั่งวาดภาพมหาวิทยาลัยในฝันกับการออกไปนั่งดื่มด่ำในสถานที่จริง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่เราต้องไปเยือนสถาบันที่เราใฝ่ฝันก่อนที่จะสอบติด จริงอยู่ว่าการไปเยือนสถาบันไม่มีผลโดยตรงต่อการสอบติด แต่มีผลอย่างยิ่งต่อการสร้างกลวิธีเพื่อให้ตนเองสอบติด มหาวิทยาลัยเข้าไปเที่ยวชมง่าย แต่เข้าไปเรียนยาก ดังนั้นยังพอมีเวลาควานหาเครื่องรางของขลัง และของขลังที่ดีที่สุดก็คือ แรงบันดาลใจและศรัทธาที่เรามีต่อสถาบันหรือคณะในฝัน นั่นเอง 

          มหาวิทยาลัยสามารถเป็นแหล่งพลังงานสร้างฝัน ไปเซลฟี่เก็บภาพ เก็บความรู้สึก เก็บความทรงจำ เก็บแรงบันดาลใจมาฝากไว้ในกระปุกฝันก่อน ส่วนใครคิดไม่ออกว่าจะไปทำอะไร พี่นัทขอแนะนำ ดังนี้ 

-  เที่ยวชมมหาวิทยาลัยให้เหมือนเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า ซอกไหนมุมไหนมีอะไร ส่องดูให้ทั่ว

- ศึกษาประวัติความเป็นมา โดยเฉพาะตำนานอันทรงคุณค่าของสถาบันที่สอดคล้องกับแนวคิดและความสนใจของเรา 

- ศึกษาเนื้อหาสาระของสาขาที่สนใจ เรียนเกี่ยวกับอะไร มีวิชาใดให้ศึกษาบ้าง   

- ร่วมกิจกรรม Openhouse ที่คณะจัดขึ้น เพื่อจะได้รู้ข้อมูลเชิงลึกจากคนวงในทั้งอาจารย์และรุ่นพี่ 

 

กุญแจดอกที่ 5  ไขหาสิ่งที่ใช่ กับ สิ่งที่ชอบ  

          “สิ่งที่ใช่” หลายคนอาจคิดว่าต้องเป็นคณะที่ใฝ่ฝัน คำตอบอาจเป็นเช่นนี้ ถ้าน้อง ๆ ยังไม่ผ่านกระบวนการค้นหาตัวตน แต่ถ้าน้องได้ผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว โดยใช้กุญแจนำทางทั้งสี่ดอกที่กล่าวไปแล้ว รับรองเลยว่าคณะที่ใช่สำหรับเรา อาจจะไม่ใช่ที่ใฝ่ฝันไว้ในตอนแรก กระบวนการพิสูจน์ฝันแบบสัมผัสจริงจะช่วยกลั่นกรองให้เหลือแต่ความฝันที่แท้จริงเท่านั้นที่ตกผลึก  ดังนั้นสิ่งที่ใช่สำหรับกุญแจดอกนี้ ต้องเป็น...สิ่งที่ใช่ในความฝัน และมีโอกาสสำเร็จได้ในความจริง 

          “สิ่งที่ชอบ” คือชอบอะไรก็อยากเรียนอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนั้น แต่ความชอบมักไม่ถูกรองรับด้วยเหตุผล และไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ ชอบก็คือชอบ เหล่านักล่าฝันทั้งหลายจึงมักเผลอตัวเผลอใจไปกับความฝันอย่างกระเจิดกระเจิง ไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ และขีดความสามารถของตน เช่น อยากเป็นนักบัญชี แต่ตกคณิตศาสตร์สามปีซ้อน อยากเรียนวิศวะ แต่อ่อนฟิสิกส์มาก เรียกได้ว่าทำอย่างไรก็ไม่สนิทใจกับไอน์สไตน์ 

          “สิ่งที่ใช่” คือ สิ่งที่ผสมกันระหว่างสิ่งที่ชอบ (จะชอบมากชอบน้อยก็ช่าง) บวกกับสิ่งที่เรียนได้ เรียนไหว ไม่ทนทุกข์ทรมานจากการเรียน 4 ปี เพื่อไปทุกข์ต่ออีก 40 ปีในการทำงาน 

 

          การเลือกคณะเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของน้อง ๆ เป็นความท้าทายที่แสนเปราะบางต่อหัวใจ เป็นการแข่งขันที่ใช้ความฝันเป็นอุปกรณ์ สำหรับน้องคนไหนที่รู้ตัวตนชัดเจน เรื่องการเลือกคณะอาจเป็นปัญหาแค่คะแนนกับคณะสอดคล้องกันหรือไม่ แต่ถ้าใครไม่รู้จักตัวตน นอกจากจะกังวลกับคะแนนแล้ว ยังต้องพะวงอีกว่า จะเลือกคณะไหนดี ดังนั้นลองใช้กุญแจนำทางทั้ง 5 ดอกนี้ ค่อย ๆ ไขหาคำตอบให้ตัวเอง 

          แต่อย่าลืมว่า...เมื่อลงมือค้นหาแล้ว ต้องจบลงด้วยการค้นพบ...เสมอ !

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

รวมแบบทดสอบค้นหาบุคลิกภาพและทักษะในตนเอง >> Click

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us