Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เด็ก Home School กับการสอบติดรอบ Portfolio วิศวะ คอมพิวเตอร์ จุฬาฯ

  Favorite

          เส้นทางชีวิตของ พี่จาจ้า จิณณพัต ญานะ เด็ก TCAS 63 นิสิตใหม่ (ยุคโควิดปิดมหาวิทยาลัย) เฟรชชี่หนุ่มเมืองเหนือ ชาวเชียงใหม่ กว่าจะเป็นนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ พี่จาจ้าไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียน แต่เรียนในรูปแบบ Home School ที่มีคุณแม่เป็นผู้จัดการศึกษา ว้าววว !!

          โรงเรียนก็ไม่ต้องไป ไม่ต้องเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่มีชั้นเรียน ไม่มีครูให้การบ้าน เอ แล้วพี่จาจ้าเขาเรียนอะไร ใครสอนเขา และวัน ๆ เขาทำอะไรบ้าง อย่าเสียเวลาตั้งคำถามเลย เราไปหาคำตอบกันดีกว่า
 

 

เชื่อมั่นในทางของเรา และทำวันนี้ให้ดีที่สุด
Home School : บ้านเรียน ที่ไม่ใช่แค่การเรียนที่บ้าน

          ก่อนจะไปรู้จักพี่จาจ้า พี่นัทขอพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับระบบการเรียนการสอนแบบ Home School กันก่อน เพื่อจะได้ไม่งงกับแนวทางการเรียนและการเตรียมตัวของพี่จาจ้า ว่าเอ ! ทำไมมันช่างแตกต่างจากเราเหลือเกิน

          “Home School” หรือบ้านเรียน เป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือกลุ่มครอบครัว โดยอาจพึ่งพาระบบการศึกษาหลัก เช่น โรงเรียน หรือระบบการศึกษาของรัฐ หรือไม่ก็ได้ ส่วนใหญ่พ่อแม่จะรับผิดชอบจัดการศึกษาให้ลูกเองทั้งหมด หรืออาจจะจัดร่วมกันระหว่างครอบครัว หรือกับโรงเรียนก็ได้  วิธีการเรียนแบบนี้จะตอบสนองต่อความสนใจ ความต้องการ หรือปัญหาของแต่ละครอบครัวที่มีความแตกต่างกันไป เด็ก ๆ จะได้เรียนสิ่งที่สอดคล้องกับความถนัด ความชอบ ความสนใจ และความต้องการของพวกเขา ทำให้เด็กมีอิสระในการเรียนรู้ อีกทั้งยังสามารถออกไปทำกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในบ้าน 

 

 

Home School ของพี่จาจ้า เรียนรู้ คู่ทำโปรเจกต์

          พี่จาจ้าเปลี่ยนมาเรียนระบบ Home School ตั้งแต่ตอน ม.2 และเรียนแบบนี้เรื่อยมาจนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นน้องใหม่ในรั้วจามจุรี

          การเรียนแบบบ้านเรียน หรือ Home School ไม่ได้เรียนเป็นรายวิชา แต่มีลักษณะการเรียนเป็นโปรเจ็กต์  คือนำเรื่องราวที่เราสนใจในช่วงเวลานั้น ๆ มาทำเป็นโครงงานขึ้นมา โดยเอาหลายวิชา หลายศาสตร์ มารวมกันเป็น 1 โปรเจ็กต์ เช่น โปรเจ็กต์ต์คอมพิวเตอร์ โปรเจ็กต์ต์บอร์ดเกม  โดยปีหนึ่งทำประมาณ 1 - 2 โปรเจ็กต์  หลัก ๆ คือเราสามารถเลือกเรียนตามความสนใจเป็นตัวนำในการเรียนรู้ มีแม่เป็นผู้จัดการศึกษาใน Home School  ชื่อ “บ้านเรียนญานะ” โดยจะทำหน้าที่เหมือนเมนเทอร์ คือ คนที่ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เป็นคนแนะนำหรือหา Connection ให้ ซึ่งการเรียนรูปแบบนี้ ทุกคนสามารถเป็นครูเราได้หมด เรียนรู้ได้รอบด้าน โดยครูคือผู้ที่ให้ความรู้เราได้ ในเรื่องที่เราอยากทราบ  ส่วนหลักสูตรการเรียน จะช่วยกันคิดและเขียนกันในครอบครัว โดยตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการวางหลักสูตร ร่วมกับการวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ

 

 


เริ่มใส่ “เกียร์” ในหัวใจ

          ความจริงตอนแรกที่ตัดสินใจเลือกเรียนแบบ Home School ไม่ได้คิดจะเข้ามหาวิทยาลัยเลย แต่พอมีโอกาส

          ได้เข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ Junior Science Talent Project (JSTP) ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นค่ายที่ได้ทำโครงงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์  เลยรู้สึกชอบ  เพราะได้ทำโปรเจ็กต์เหมือนตอนอยู่บ้านเรียน และนำโครงงานที่เคยทำตอนอยู่บ้านเรียนมานำเสนอ เรียกได้ว่าค่ายนี้เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนได้เลย  ซึ่งทำให้เปลี่ยนความคิดและรู้สึกอยากเข้ามหาวิทยาลัย เหมือนต้องการไปใช้ชีวิตในสังคมที่มีเพื่อนที่มีความคิดเห็นไปทางเดียวกัน

          ลักษณะของโครงการ JSTP เราจะได้เข้าค่าย 5 - 6 ครั้งต่อปี ร่วมกับการทำโปรเจ็กต์ตามความสนใจ โดยเมื่อครบ 1 ปีแล้ว ทางโครงการจะคัดเลือกผู้มีแววอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีละ 3-7 คน โดยให้ทุนการศึกษา ตั้งแต่ชั้นปีที่ได้เข้าร่วมโครงการถึงระดับปริญญาเอก (ศึกษาภายในประเทศ) มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ที่เราสนใจ และพี่จาจ้าก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับทุนนี้ และสามารถสอบเข้าศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรอบที่ 1 Portfolio การได้ร่วมโครงการนี้ ทำให้มีโอกาสดีหลายอย่าง ทั้งได้เรียนในสาขาที่ชอบ ได้ไปฝึกงานที่  NECTEC และได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น

 

ความได้เปรียบ - เสียเปรียบของ Home School กับการเรียนในระบบห้องเรียน   

          มีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ มุมที่ได้เปรียบคือ ความอิสระและเวลา  เราสามารถไปทำอะไรได้มากกว่าการใช้

          เวลาอยู่ในโรงเรียน สามารถนั่งติวที่บ้าน มีเวลาทำพอร์ต และหาข้อมูลได้มากกว่า  เวลาจะส่งพอร์ต เราจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ๆ เพราะเรามีประสบการณ์ในการทำโครงงานมาก่อน ซึ่งพี่จาจ้ามีหลายโครงงานที่ทำไว้ตอนเรียน Home School  ส่วนด้านเสียเปรียบคือ คิดว่าถ้าเราไม่มีวินัยและไม่ค้นคว้าด้วยตัวเอง ไม่ใฝ่หาความรู้จากสิ่งรอบ ๆ ตัว จะทำให้ไม่สามารถสร้างโครงงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นเรื่องจริงได้

 

 


เรียนให้รู้ ไม่ได้เรียนเพื่อจำตำรา

          ในช่วงเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย พี่จาจ้าไม่มีแผนในการอ่านหนังสือ เพราะเลือกการสอบเข้าเป็นแบบ Portfolio ดังนั้นก่อนตัดสินใจส่งพอร์ต ใช้การอ่านทบทวนผลงานมากกว่า ทำความเข้าใจงานตัวเองมากกว่าที่จะไปท่องหรือไปอ่านในหนังสือ แล้วเตรียมคำตอบเพื่อไปตอบคำถาม โดยทำความเข้าใจงาน ไม่ได้ทำโน้ตหรือตารางอ่านหนังสือใด ๆ เลย  โดยส่วนตัวพี่จาจ้ามองว่าหนังสือเป็นสูตรสำเร็จเกินไป และเนื้อหาค่อนข้างทั่ว ๆ ไป ไม่อัปเดต ส่วนใหญ่หลัก ๆ  จะหาทางอินเทอร์เน็ต จะตรงกับความสนใจมากกว่า และค่อนข้างอัปเดตกว่า รายละเอียดชัดเจน เนื้อหากว้าง แถมยังเจาะลึกตรงประเด็นที่เราอยากรู้  ลักษณะการเรียนคือ เรียนให้เข้าใจและเรียนให้รู้ ไม่ได้เรียนเพื่อติวไปสอบ จึงไม่นิยมการท่องจำ หรือท่องหนังสือ

 

พี่จาจ้า กับข้อสอบกลางของระบบ TCAS     

          พี่จาจ้าผ่านสนามสอบแค่ไม่กี่สนาม อย่างวิชาสามัญและ GAT PAT ไม่ได้สอบเลย ส่วน O-NET สอบเพื่อแค่วัดระดับความรู้กับคนอื่นเท่านั้น ไม่ได้นำไปใช้งาน ไม่ได้ต้องโชว์คะแนนอะไร เพราะรู้ผลว่าสอบติดจุฬาฯ แล้ว ก่อนสอบ O-NET  เด็ก Home School จะเลือกสอบ O-NET หรือไม่ก็ได้ บางคนก็ไม่ได้สอบ  ซึ่งพอไปสอบแล้ว รู้สึกว่าไม่ได้มีน้ำหนักพอที่จะนำมาใช้สำหรับเข้ามหาวิทยาลัย

 

 

ตะลุยสนามสอบภาษาอังกฤษ บททดสอบของเด็ก Home School

          การสอบหลักของพี่จาจ้า คือ การสอบภาษาอังกฤษ ได้แก่ CU TEP และ TOEIC  โดย TOEIC เป็นการสอบภาษาอังกฤษครั้งแรกในชีวิต ค่อนข้างตื่นเต้นมาก ลักษณะการสอบคือ มีลำโพงใหญ่ ส่วนรวม ต้องฟังรวมกันในห้องกว้าง ๆ  มีคนสอบประมาณ 5 - 6 คนเท่านั้น  ข้อสอบเป็น Choice ทุกข้อ คะแนนเต็ม 990 พี่จาจ้าสอบได้  840  แต่เป็นคนถนัดภาษาอังกฤษอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาตรงจุดนี้

          ส่วนการสอบ CU TEP เป็นระบบการสอบของจุฬาฯ สำหรับนิสิตไม่ว่าปริญญาตรี โท หรือเอก และในระดับอาจารย์ ก็ต้องสอบเพื่อวัดระดับผลงานเช่นกัน พี่สอบที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ในห้องสอบมีคอมพิวเตอร์ให้คนละเครื่อง มีหูฟังแยกคนละอัน ข้อสอบเป็น Choice เหมือนกัน แต่ความรู้สึกของพี่คือ CU TEP จะมีความเป็นไทยมากกว่า เพราะคนไทยออกข้อสอบ จะง่ายกว่า ตรงไปตรงมา เข้าใจได้ง่ายกว่า TOEIC  คะแนนเต็ม 120 สอบได้ 89 คือ ประมาณ 75%

 

เทคนิคการเตรียมตัวสอบภาษาอังกฤษ

          บ้านเรียนญานะ เราไม่ได้เรียนแบบมีครูมาสอนรายวิชา ดังนั้นการเตรียมตัวสอบภาษาอังกฤษของพี่คือ การเข้าเรียนในสถาบันกวดวิชา เรียนอยู่ทั้งหมด 2 ปีเต็ม ซึ่งเรียนรวมกับนักเรียนอื่น ๆ อีกหลายคน เป็นลักษณะห้องรวม ส่วนการอ่านก็อ่านจากชีทที่ทางสถาบันกวดวิชาจัดทำขึ้น  และเมื่อทราบว่าจะต้องเข้าสอบ TOEIC จึงไปปรึกษาผู้สอน โดยนำข้อสอบจากปีที่แล้ว  มาเจาะเป็นคลาสพิเศษให้เรา โดยสอนตัวต่อตัว พอใกล้สอบก็ออกไปเรียนให้บ่อยขึ้น  เจาะลึกแนวข้อสอบ โดยเราบอกทางผู้สอน ให้เขาออกแบบให้เราตามที่เราต้องการ ว่าเราจะเรียนเพื่อไปสอบในรูปแบบไหน และมีการจำลองการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษให้ด้วย  ส่วนการสอบ  CU TEP เตรียมตัวน้อยกว่า TOEIC  เพราะดูจากข้อสอบเก่าแล้วเข้าใจง่ายกว่า

 

Portfolio : โชว์ผลงานเด่น เน้นการสัมภาษณ์

          เนื่องจากพี่ทำพอร์ตมาตั้งแต่ตอนเรียนแบบ Home School เลยไม่ต้องเตรียมอะไร แค่เรียบเรียงใหม่เท่านั้น

ซึ่งพี่เลือกทำพอร์ตจากกิจกรรมที่โดดเด่นและเคยใช้ทำโครงงานจริง ๆ จากบ้านเรียน มาเป็นตัวหลักในการนำเสนอ  เพราะเรามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงงานนั้นมาก ๆ เลยทำให้พอร์ตของเราดูจริง มีความเป็นไปได้ และสามารถนำไปใช้ได้จริง เพราะเคยทดลองทำจากค่าย JSTP มาแล้ว จึงทำให้มีประสบการณ์ในการทำงานจริง จากนั้นก็เป็นเรื่องของการสัมภาษณ์ โดยต้องแนะนำพอร์ตของตัวเองให้ดึงดูดและน่าสนใจที่สุด
 

 

 

 

 

 

 

 

 


บอกเล่าประสบการณ์การสัมภาษณ์

          การสัมภาษณ์หลัก ๆ คือ ถามเรื่องบ้านเรียนญานะว่ามีหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร มีรูปแบบการเรียนลักษณะไหน เพราะค่อนข้างมีความแปลก และแตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่เรียนในโรงเรียนปกติ  และส่วนที่พี่นำเสนอไปก็คือ เล่าถึงโครงงานที่เราทำตอนอยู่บ้านเรียนว่ามีอะไรบ้างที่น่าสนใจ  ซึ่งอาจารย์ค่อนข้างชอบผลงานของเรา มาก ๆ

 

ทีเด็ดที่คิดว่าทำให้สอบติดจุฬาฯ ในรอบ Portfolio

          จากโครงงานที่เคยสั่งสมประสบการณ์ ตั้งแต่ตอนเรียน Home School มาตลอด ทำให้ผ่านการคัดเลือก เพราะการทำโครงงานของเราไม่ได้เป็นลักษณะเพ้อฝัน แต่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ซึ่งตรงจุดนี้ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สอบผ่าน

 

สรุปผลงาน การสอบติด

          พี่สอบติดวิศวกรรมศาสตร์ 2 ที่ คือ ที่ จุฬาฯ กับ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (เอสไอไอที) ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งค่อนข้างเลือกยากมาก เพราะต่างมีดีกันคนละแบบ  แต่สุดท้ายก็เลือกที่จุฬาฯ เพราะเป็นที่ที่พ่อกับแม่ภูมิใจ  เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง และเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้ครอบครัว

 

ความประทับใจในประสบการณ์การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย

          เรื่องความประทับใจคือ การทำโครงงาน ตอนเข้าค่าย JSTP เพราะต้องเข้าค่ายกับนักเรียนจากโรงเรียนดัง ๆ ช่วงแรกรู้สึกไม่มีความมั่นใจในตอนทำโครงงานและการนำเสนอเคส  แต่มีช่วงหนึ่งได้รับคำชม เลยทำให้รู้สึกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้สามารถเข้าค่ายจนจบ จุดประกายให้ตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัย และเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จ


ฝากแรงบันดาลให้น้อง ๆ ที่จะสู้ศึก TCAS

          “เชื่อมั่นในทางของเรา และทำวันนี้ให้ดีที่สุด”

 

 

          เรื่องราวชีวิตของพี่จาจ้า อาจจะมีความแตกต่างกับน้อง ๆ หลายคน และนั่นทำให้เราได้รู้ว่า ต้นทางของการศึกษาอาจจะมีได้หลายทาง เช่น ระบบโรงเรียน การศึกษานอกโรงเรียน หรือการศึกษาตามอัธยาศัย แต่ไม่ว่าต้นทางนั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ ระหว่างทางที่น้อง ๆ เดินต่างหาก ว่าทุกก้าวย่างนั้น มีความเชื่อมั่นในทางของเรามากน้อยแค่ไหน มีความมุ่งมั่นทุ่มเทมากเพียงไร รวมทั้งสามารถก้าวข้ามอุปสรรคได้ดีแค่ไหน

          เพราะต้นทางไม่ใช่ตัวกำหนดปลายทาง แต่ระหว่างทาง คือตัวกำหนดปลายทาง...ที่แท้จริง

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา
เขียนและเรียบเรียง

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us