Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เปิดลานเกียร์ เคลียร์เรื่อง “วิศวะ ลาดกระบัง” กับ “รศ.ดร.คมสัน มาลีสี”

  Favorite

“Leader ไม่ใช่การเหยียบคน แล้วขึ้นไปอยู่ข้างบนได้
แต่คนอื่นต้องสนับสนุนขึ้นไป
การเหยียบคนอื่นขึ้นไป นี่ไม่ใช่ Leader ของวิศวะลาดกระบัง !

 

“คลุกวงใน ชาวเกียร์ที่แท้ทรู”

          พี่นัทได้ใช้บริการ VROOM เพื่อสัมภาษณ์ Video Call กับ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารทรัพยากรและบริการ และอดีตคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในเรื่องที่ Inside สุด ๆ ของชาวเกียร์ลาดกระบัง (ในวันสัมภาษณ์ท่านยังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ท่านได้รับตำแหน่งใหม่ คือ “รองอธิการบดี” ทีมงานทรูปลูกปัญญาขอแสดงความยินดีกับท่านด้วยค่ะ) กลับมาว่ากันต่อเรื่อง “เกียร์” คณะนี้มีคำกล่าวที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นรุ่นว่า “ไม่มีอะไรที่วิศวะลาดกระบังทำไม่ได้” จะแท้ทรูแค่ไหน ไปติดตามพร้อมกันกับเรื่องราวของชาวเกียร์ลาดกระบัง

 

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารทรัพยากรและบริการ และอดีตคณบดี
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

DNA วิศวะ ลาดกระบัง

          “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน” อัตลักษณ์ที่จะผลิตน้อง ๆ ออกมาตอบโจทย์ทั้ง 3 ด้าน เป็นอัตลักษณ์ที่หลายคนมองแล้วรู้กันเลยว่า นี่ล่ะคือ วิศวะ ลาดกระบัง  เราไม่ได้เน้นให้นักศึกษาเป็นเลิศแค่ทางด้านวิชาการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราสร้างคือ สร้างให้เขาเป็น “Leader” ปลูกฝังให้เขาเห็นว่า ไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่ไม่สามารถทำงานกับคนอื่นได้ และไม่สามารถสร้างความสำเร็จให้แก่คนอื่นได้  เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ลาดกระบังจะได้รับการฝึกให้ทำงานร่วมกับผู้อื่น แล้วสร้างความสำเร็จให้กับทีมงานและหน่วยงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นอกจากจะเรียนเก่งแล้ว ยังจะต้องมีทักษะทำงานร่วมกับคนอื่น แล้วก็สร้างความสำเร็จร่วมกับคนอื่นให้ได้ ต้องมีความมุ่งมั่น ความอดทน และต้องสร้างความยอมรับให้กับทีมงานเพราะสิ่งนี้เป็นทักษะสำคัญของ leader

คนที่จะเป็น leader ได้ จะต้องมีความใฝ่รู้และสู้งาน เพราะถ้าจะเป็น leader ที่ดี จะต้องทำตัวเองให้คนอื่นศรัทธา ดังนั้นวิศวะ ลาดกระบังจึงเน้นในเรื่องของการทำกิจกรรมร่วมกับการเรียนการสอน ให้น้อง ๆ นักศึกษาเห็นว่า การทำกิจกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ถ้าเรียนอย่างเดียว จะไม่มีเวทีที่ดีที่ได้ทำงานร่วมกับคนเลย แล้วเวทีกิจกรรมจะเป็นกระจกสะท้อนตัวเองว่า เขามีศักยภาพพอมั้ยที่จะเป็น leader ตามที่วิศวะ ลาดกระบังต้องการผลิตบุคลากรในลักษณะนี้ออกมา เพื่อไปช่วยเหลือ เพื่อไปดูแลสังคม

 

สาขาครบ ตอบโจทย์วิศวกรรมศาสตร์

พระเอกใหม่ ในหลักสูตรนานาชาติ

Robotic and AI  ดาวรุ่งพุ่งแรง ลาดกระบัง ผสานพลังกับ จุฬาฯ และ CMKL

          หลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์เทรนด์เทคโนโลยี ตอบสนองประชาคมโลก คือ สามารถทำงานได้ทั่วโลก สมาร์ทไปในทิศทางข้างหน้า เป็นเรื่องของ Multidisciplinary (สหสาขาวิชาชีพ) คือการนำศาสตร์หลาย ๆ อย่างมารวมกัน ยกตัวอย่าง เช่น หลักสูตร Robotic and AI เป็นศาสตร์ทางด้าน robotic แล้วนำการวิเคราะห์ AI เข้ามา ตอนนี้ค่านิยมในสาขานี้มีสูงมาก ตอนที่เราเปิดหลักสูตรนี้ คนมาสมัครเต็มเลย เพราะว่าตอบโจทย์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ภาคอุตสาหกรรม เพราะมันจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการที่ใช้คนมาก ๆ เปลี่ยนมาใช้ในรูปแบบของ robot แทน แล้วการ robot ที่อัจฉริยะ ก็มีการคำนวณ  นำ data นำระบบมาคำนวณ  แล้วก็เป็นระบบ AI เพื่อพัฒนาการทำงาน ใช้ศาสตร์ของวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหการ ทั้ง 3 ส่วนนี้มารวมกัน แล้วยังมีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อีก

          นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบังยังร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยเรานำจุดแข็งของลาดกระบังและของจุฬาฯ มาประสานกัน และถ่ายโอนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อจะทำให้หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ทันสมัยที่สุด มีการเชิญอาจารย์จากจุฬาฯ มาสอนที่ลาดกระบัง และเชิญอาจารย์จากลาดกระบังไปร่วมสอนที่จุฬาฯ โดยในช่วงต้น ๆ ของการเปิดหลักสูตร จะเปิดขนานกันเลยทั้งลาดกระบังและจุฬาฯ

          ไม่เพียงแต่การผสานพลังในประเทศเท่านั้น แต่วิศวะ ลาดกระบัง ยังร่วมมือกับ สถาบัน Carnegie Mellon University (CMU) มหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมชั้นนำ ซึ่งเป็น TOP 3 หรือ TOP 5 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทยร่วมกับลาดกระบัง ในรูปแบบสถาบันร่วมภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) เพราะฉะนั้นเด็กที่เรียน Robotic and AI ก็จะได้เรียนกับ Professor ชั้นนำของโลก

 


 

 

ลาดกระบัง ผนึกกำลัง กับนิด้า หลักสูตร Financial Engineering

          หลักสูตรนี้เป็น Multidisciplinary ระหว่างลาดกระบัง ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ แล้วร่วมมือกับทางด้าน finance จากนิด้า เปิดหลักสูตร Financial Engineering น้อง ๆ ที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ จะเรียนทั้งที่นิด้าและลาดกระบัง เพราะฉะนั้นจะได้องค์ความรู้ทั้งจากนิด้า ซึ่งปกตินิด้าไม่เปิดสอนระดับปริญญาตรี จึงถือว่าเป็นการร่วมมือครั้งสำคัญของที่นิด้าเลยก็ว่าได้

หลักสูตรนี้เปิดเป็นปีที่ 2 แล้ว น้อง ๆ ให้ความสนใจมาก เพราะปกติน้อง ๆ ลาดกระบังจบแล้วจะไปต่อ MBA เพื่อไปเรียน finance แต่ปัจจุบันสามารถเรียนควบคู่ไปด้วยกันได้เลย แล้วก่อนจบ จะมีการสร้างโปรเจกต์จริง ๆ ขึ้นมาให้น้อง ๆ ได้ฝึก ใช้เวลาเรียนแบบ 4 + 1 หมายความว่า ใช้เวลาเรียน 4 ปี ได้ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าเรียนต่ออีก 1 ปี จะได้ปริญญาโท ด้าน finance จากนิด้าด้วย

 

วิศวะ VS บริหารธุรกิจ หลักสูตรน้องใหม่ ตรีควบโท Management Engineering and Entrepreneur

          ล่าสุดวิศวะลาดกระบังได้เปิดหลักสูตร Management Engineering and Entrepreneur ตัวนี้น่าสนใจมาก ๆ เพิ่งเปิดปีนี้ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทางด้านวิศวกรรม รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นองค์ความรู้ที่ได้จะมาจากการเรียนทางด้านวิศวะ และความรู้ด้านการบริหารการจัดการ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง กับคณะบริหารธุรกิจ ลาดกระบัง ใช้ เวลาเรียนแบบ 4 + 1 เช่นเดียวกับที่เรียนร่วมกับนิด้า ใช้ศาสตร์ที่เป็น multidisciplinary ต้องบอกว่าเป็นค่านิยมที่น้อง ๆ รุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก ๆ เพราะเป็นมิติหนึ่งที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า

 

บูรณาการศาสตร์วิศวะกับศาสตร์การแพทย์  Biomedical Engineering

          หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์  หรือ Biomedical Engineering เป็นหลักสูตรที่ใช้วิศวกรรมศาสตร์และแพทยศาสตร์ ร่วมไม้ร่วมมือกันเพื่อที่จะผลิตวิศวกรที่มีทักษะทางด้านการแพทย์ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องของ COVID - 19 ลาดกระบังได้ผลิตนวัตกรรมค่อนข้างเยอะมาก เพราะว่าเรามีหน่วยงานวิศวกรรมที่เป็นแกนหลักที่เข้มแข็ง แล้วก็มี biomedical engineering อยู่ด้วย ประกอบกับเรามีคณะแพทยศาสตร์ เลยทำให้สามารถผลิตนวัตกรรมหลากหลายในการเข้าไปสนับสนุนเรื่อง COVID - 19

 

คณะช่วยเหลือสังคม

 

คณะช่วยเหลือสังคม

 

 

11 หลักสูตรภาคปกติ

1. วิศวกรรมไฟฟ้า

          สาขานี้เรียนเรื่องที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าแรงสูง หรือการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรม ทางด้านการขับเคลื่อน การให้พลังงาน ระบบกระแสไฟฟ้า เป็นสาขาที่น้อง ๆ ให้ความสนใจสูงมากเพราะว่าวิศวกรรมไฟฟ้าสามารถไปทำงานได้หลากหลายมาก อย่างที่เราทราบว่า อุปกรณ์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่ต้องมีเรื่องของไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าแรงสูงหรือไฟฟ้าแรงต่ำ แต่ก็ย่อมเกี่ยวกับเรื่องของไฟฟ้าไปเป็นพลังงานขับเคลื่อน อย่างเช่น ที่โรงไฟฟ้าแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็น กฟผ. กฟภ. กฟน. แล้วหน่วยงานเหล่านั้น มีความยินดีสูงมากที่จะรับน้อง ๆ ที่จบไปทำงาน

 

วิศวกรรมไฟฟ้า

 

วิศวกรรมไฟฟ้า

 

วิศวกรรมไฟฟ้า

 

2. วิศวกรรมเครื่องกล

          สาขานี้แตกต่างจากวิศวกรรมไฟฟ้าค่อนข้างมาก ไฟฟ้าเป็นด้านของการใช้พลังงานทางด้าน electronic ส่วนทางด้านเครื่องกล เป็นเครื่องจักร เครื่องจักรใหญ่ ๆ ก่อนที่ระบบมันจะเคลื่อนได้มันต้องมี mechanic ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่เครื่องกลอย่างเดียวก็ทำงานไม่ได้ เครื่องกลต้องทำงานร่วมกับวิศวกรรมไฟฟ้า เพราะฉะนั้นค่านิยมของวิศวกรรมในประเทศไทย วิศวกรรมไฟฟ้ากับวิศวกรรมเครื่องกลจะมาในอันดับใกล้ ๆ กัน เพราะมีความต้องการสูงทั้งคู่

 

วิศวกรรมเครื่องกล

 

วิศวกรรมเครื่องกล

 

3. วิศวกรรมโยธา

          เรียนเกี่ยวกับการสร้าง Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) เช่น รถไฟฟ้า สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างสิ่งต่าง ไม่ว่าจะเป็นสร้างอาคาร บ้านเรือน ประเทศที่กำลังพัฒนาที่ก้าวไปสู่ high technology ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ในเรื่องของวิศวกรรมโยธา นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมน้อง ๆ ถึงเลือกเรียนวิศวกรรมโยธาค่อนข้างมาก
 

วิศวกรรมโยธา

 

วิศวกรรมโยธา

 

4. วิศวกรรมขนส่งทางราง

          ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับระบบรางทั้งสิ้น วิศวะ ลาดกระบังเลยสร้างหลักสูตรที่เรียกว่าหลักสูตรวิศวกรรมระบบราง แตกแขนงมาจากวิศวกรรมเครื่องกล คือ เรียนเครื่องกลด้วย แล้วแตกไปสู่รางในปีที่ 3 และ 4

 

5. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

          สาขานี้เป็นศาสตร์ของโลกดิจิทัล เด็ก ๆ ให้ความสนใจเยอะมาก วิศวกรรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวตอบโจทย์ ไม่ว่าจะพูดถึง data analytic เรื่อง AI ส่วนใหญ่แล้วล้วนต้องใช้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการขับเคลื่อนทั้งสิ้น ถ้าน้อง ๆ ชอบในเรื่องของการเขียนโปรแกรม ชอบในเรื่องของการคำนวณ  วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะเป็นตัวตอบโจทย์ในมิติต่าง ๆ สังเคราะห์ที่เป็นมิติอัตโนมัติ ระบบ AI ระบบต่าง ๆ ก็จะใช้พื้นฐานวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน

 

6. วิศวกรรมโทรคมนาคม

          ถ้าเป็นสมัยก่อนถ้าพูดถึงการสื่อสาร วิศวะ ลาดกระบังจะมีชื่อเสียงทางด้านวิศวกรรมการสื่อสาร สัญลักษณ์ของลาดกระบังจะเป็นเสาโทร แล้วก็มีธงชาติอยู่บนเสาโทร นั่นเป็นการร่วมมือกับญี่ปุ่น เมื่อย้อนกลับไปเมื่อสมัย 50 ปีที่แล้ว เราได้สร้างหลักสูตรแรกคือ โทรคมนาคมขึ้นมา หลักสูตรนี้เกี่ยวกับวงการการสื่อสาร เรากำลังขับเคลื่อน 5G แต่ค่านิยมของคนเปลี่ยนไป พอไปมองอนาคต ทุกคนอาจมองที่คอมพิวเตอร์กันหมดเลย แต่เราเป็นผู้ผลิต เรารู้ว่าวิศวกรรมโทรคมนาคม มีศักยภาพสูงมาก เพราะว่าเป็นรากเง่า และเป็นจุดของการเติบโตมาโดยตลอด แต่ค่านิยมตอนนี้ คนจะเลือกวิศวกรรมโทรคมนาคมน้อยลงแล้ว ถ้าใครที่ชอบเกี่ยวกับการสื่อสาร ขอแนะนำสาขานี้ จะบอกว่าดีไม่แพ้หลักสูตรอื่น ๆ ที่เป็นหลักสูตรหลักของวิศวะ ลาดกระบังเลย

 

7. วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์

          ตอนนี้เงียบหายไปแล้วในเรื่องมุมมองความคิดของหลาย ๆ คน วิศวะลาดกระบังเริ่มต้นโตมาจากโทรคมนาคม โตมาจากวิศวกรรมไฟฟ้า แล้วก็โตมาจากอิเล็กทรอนิกส์ แต่ตอนนี้คนทั่วไปทั้งประเทศไทยแล้วก็ต่างประเทศ พื้นฐานหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว มันเลยทำให้คนสนใจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์น้อยลงไป แต่จริง ๆ แล้ว ศิษย์เก่าลาดกระบังไปอยู่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ ไปอยู่บริษัทที่ทำเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ อะไรที่เกี่ยวข้องกับแผงวงจร พื้นฐานมันมาจากอิเล็กทรอนิกส์ แต่ค่านิยมของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป เวลาเด็กที่จบจากอิเล็กทรอนิกส์ไปสมัครงาน งานมี แล้วศักยภาพของเด็กเราก็สูง แต่ค่านิยมใหม่เด็กเข้าอิเล็กทรอนิกส์น้อยลง เพราะฉะนั้นอยากจะแนะนำว่า ของลาดกระบัง อิเล็กทรอนิกส์ถือว่าเป็นจุดแข็งมาก ๆ  เพียงแต่ค่านิยมจะเทไปที่วิศวกรรมไฟฟ้าแทน เพราะหลายคนมองว่าวิศวกรรมไฟฟ้าทำงานได้หลากหลาย วิศวกรรมไฟฟ้ากับวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ลาดกระบัง เราเรียนพื้นฐานค่อนข้างเยอะ บางที่ก็สามารถทำงานไขว้กันได้

 

8. วิศวกรรมเคมี

          ความต้องการของภาคอุสาหกรรมคือต้องการวิศวกรเคมีไปผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นวัตกรรมที่มีองค์ประกอบทางการเปลี่ยนแปลงในเรื่องขององค์ประกอบอะตอม องค์ประะกอบอนุภาค เพื่อสร้าง material ขึ้นมา ให้มันสามารถนำไปใช้กับนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ตอนนี้ต้องการพลาสติกที่ย่อยสลายง่าย  พวกนี้จะใช้หลักการทางด้านเคมี แล้วก็มีวิศวกรเคมีไปคุยว่า เมื่อเราเรียนรู้องค์ประกอบของเคมีแล้ว ก็ต้องไปดูโครงสร้างในวัสดุต่าง ๆ ถ้าเรามีความรู้ทางด้านเคมี ทางด้านวิศวกรรม ก็จะรู้ว่าทำอย่างไรให้มันแข็งแรงและสามารถใช้งานได้จริง แล้วเมื่อใช้งานถึงที่สุดแล้วต้องย่อยสลายเป็นมลภาวะน้อยที่สุด

 

9. วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ และออโตเมชั่น

          เมื่อก่อนลาดกระบังมีวิศวกรรมการวัดและควบคุม 4 หลักสูตร ตอนนี้เหลือ 1 หลักสูตร เรียกว่าหลักสูตร mechatronic automation engineering เป็นการนำ 4 หลักสูตรรวมองค์ความรู้ให้เป็นหลักสูตรเดียว แล้วหลักสูตรนี้จะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมในอนาคต เพราะว่าการใช้แมคคาทรอนิกส์ มีทั้งเครื่องกลกับไฟฟ้า และในเรื่องของ automation (ระบบอัตโนมัติ) ระบบที่เป็นเครื่องกลไฟฟ้าและอัตโนมัติมาบวกกัน ถือว่าเป็นวิศวกรรมในอนาคตที่จะใช้ในโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือโรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหลาย

 

10. วิศวกรรมอุตสาหการ

          เรียนเกี่ยวกับเรื่องของทางด้านโรงงาน รวมทั้งการบริหารจัดการภายในโรงงาน เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยที่เกิดขึ้นในโรงงาน วิศวกรรมอุตสาหการจะคิดถึงกระบวนการในการผลิต ศักยภาพในการผลิต นอกจากวิเคราะห์ทางด้านนี้แล้ว ในเรื่องการผลิตออกมาแล้วจะส่งไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในเรื่องของ logistic ก็มาฝังอยู่ในวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องมีวิศวกรอุตสาหการทุกโรงงาน

 

วิศวกรรมอุตสาหการ

 

วิศวกรรมอุตสาหการ
 

11. วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ

          ถ้าน้อง ๆ อยากจะเข้าสู่วิศวกรรมอาหารในส่วนของการผลิต ในเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของ process ในโรงงาน ในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะต่อยอด แล้วก็ส่งไปยังต่างประเทศ ลาดกระบังจึงนำวิศวกรรมอาหารกับวิศวกรรมอุตสาหกรรมมา combine ร่วมกัน คนที่สนใจว่าจะผลิตอาหารอย่างไรที่มีคุณค่าและตอบโจทย์ อย่างตอนนี้เรามีการทำเครื่องจักรที่เรียกว่า freeze dry โดยมีขบวนการทำให้มันติดลบ 50 องศาแต่คุณภาพและรสชาติของอาหารยังเหมือนเดิม

          ส่วนวิศวกรรมเกษตรนั้น เกษตรเป็นต้นทางของอาหาร เราจะเน้นไปเรื่องของการเรียนรู้ อย่างเช่น เกษตรพอเพียงตามทฤษฎีของรัชกาลที่ 9 วิศวกรรมเกษตรได้เรียนรู้ที่จะออกแบบ และพัฒนาปรับปรุงเครื่องจักรที่จะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้การเกษตรของเราสามารถที่จะเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

          แล้วตอนนี้เราเริ่มโฟกัสใหม่แล้ว เรากำลังไปดูว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่รัชกาลที่ 9 ท่านได้เคยวางไว้ ให้นำแนวทางนี้มาศึกษาแล้วทำเป็นแพลตฟอร์มขึ้น เพื่อเด็กที่มาเรียนจะได้เรียนรู้องค์ความรู้ของศาสตร์พระราชา ศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง ให้มาศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมเกษตร และเราก็พัฒนาเครื่องมือ เครื่องจักรที่จะนำไปช่วยให้ระบบเกษตรมีมูลค่าเพิ่ม

 

วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ

 

วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ

 

ชีวิตวิศวะแต่ละปี  ในรั้วลาดกระบัง

          หลักการคือ เราจะสร้าง leader เพราะฉะนั้นทีมงาน คณบดี ผู้บริหาร อาจารย์ เราจะวางหลักการนี้ลงไปในการเรียนการสอนทั้ง 4 ปี โดยที่ปี 1 น้องใหม่เข้ามาจะมีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง พอน้องสอบสัมภาษณ์ติด พี่ ๆ จะมาดูแลกันเต็มเลย มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ หลักการของวิศวะ ลาดกระบัง เด็กปี 1 จะต้องรู้จักกันทุกคน ! (หลักสูตรปกติประมาณ 1,300 คน หลักสูตรอินเตอร์ประมาณ 300 คน) และจะไม่ให้ทั้งสองหลักสูตร คือหลักสูตรปกติกับอินเตอร์แยกกัน เพราะเราสร้าง leader เราต้องให้เขาทำกิจกรรม แก้ปัญหาร่วมกัน และการเรียนตอนปี 1 น้อง ๆ จะได้เรียนวิชาพื้นฐานร่วมกันหมด  การรู้จักกันเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะช่วยเหลือกันในอนาคต

          ปี 1 เรียนวิชาวิศวกรรมพื้นฐานทั้งหมด โดยจะมี lab พื้นฐาน เด็กที่จะเข้ามาเรียนที่ลาดกระบังได้ ทุกคนจะต้องเรียน lab robotic and ai อันนี้จะเป็น engineering skill ที่เราปูพื้นฐานให้กับน้อง ๆ วิศวะปี 1ทุกคน น้อง ๆ จะได้เรียน lab พื้นฐานอยู่ 7 lab ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกล ไฟฟ้า โยธา คอมพิวเตอร์ robotic and ai พวกนี้จะถูกบรรจุลงไปใน lab ที่วิศวกรปี 1 ทุกคนต้องเรียน

          ปี 2 จะเริ่ม special เข้าไป

          ปี 3 เริ่มทำโปรเจกต์ ที่วิศวะลาดกระบังจะทำโปรเจกต์ 2 ปี คือ ปี 3 กับปี 4

          ปี 4 จะเป็นไฮไลท์เพราะจะมีการนำเสนอโปรเจกต์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งเป็นการฝึกให้น้อง ๆ ก่อนที่เขาจะจบจากเรา เขาจะต้องทำงานร่วมกับภาคมิติอื่น ๆ ได้ แม้ว่าเป็นหลักสูตรปกติ แต่จะต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับหนึ่งที่สามารถไปทำงานกับใครก็ได้

 

บรรยากาศการเรียน

 

บรรยากาศการเรียน

 

นักศึกษาได้รับรางวัล


วิศวะลาดกระบัง กับ ระบบ TCAS

          ถ้าเอาตรง ๆ 3 รอบเราก็เต็มแล้ว ! ที่ลาดกระบังเราให้โอกาสเด็กต่างจังหวัดมาก ๆ คือเด็กกรุงเทพ เด็กที่เรียนพิเศษ  เรามองว่าพวกนี้มีความได้เปรียบ แต่ลาดกระบังเรามองเด็กที่มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจจริงที่อยู่ต่างจังหวัด โดยจะเปิดรอบที่ 1 เพื่อรองรับเด็กกลุ่มที่มีความมานะ มีความขยัน แต่อาจจะไม่มีโอกาสเหมือนกับเด็กในกรุงเทพฯ แต่เป็นเด็กที่รับผิดชอบและเรียนดีในต่างจังหวัด ไม่ต้องมาสอบแข่งกัน เราเลือกเด็กที่เรียนดีในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าเรียนวิศวะ ลาดกระบัง ได้ก่อนเลยใน TCAS รอบแรก โดยให้ยื่น Portfolio คือเด็กที่ทักษะในการเรียนมาอย่างดี ลาดกระบังเชื่อว่า เราสามารถปั้นและพัฒนาเด็กพวกนี้ได้

          TCAS รอบที่ 2 จะเป็นของกรุงเทพฯ และปริมณฑล คนที่อยู่รอบ ๆ สถาบันเราดูแลอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือทั้งหมดจะอยู่ที่ TCAS รอบที่ 3 รอบนี้แข่งกันล้วน ๆ ด้วยคะแนน GAT – PAT ส่วน TCAS รอบที่ 4 เรารับน้อยมาก เราโฟกัสที่รอบ 1 – 3 บางคนบอกว่า เรารับน้อยเพื่อให้คะแนนมันสูง จริง ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับตรงนั้นเลย เพราะแค่รอบที่ 1 เด็กก็มาสัมภาษณ์กับเราถล่มทลายแล้ว
 

TCAS

 

TCAS

 

เปิดสูตรลับ Portfolio ตำรับวิศวะ ลาดกระบัง

          เดี๋ยวนี้มีคนจ้างทำพอร์ตกันเยอะ แบบนี้ไม่ดีเลย วิศวะ ลาดกระบังเน้นความซื่อสัตย์ สิ่งที่ดีที่สุดคือสิ่งที่เขาปฏิบัติในโรงเรียน กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำมา แล้วก็การสัมภาษณ์ที่มีความมุ่งมั่นและความตั้งใจ เอาข้อมูลจริง ๆ เข้ามาแสดง เราดูถึงความตรงไปตรงมา ไม่ได้มองความสวยของตัวพอร์ต คณะกรรมการของเรามองก็รู้ว่าไปจ้างทำมา การทำพอร์ตที่ดีคือ อยากจะให้น้อง ๆ ไปทำกิจกรรม โดยเฉพาะวิศวะ ลาดกระบังที่เราจะสร้าง leader ถ้าเราเห็นน้อง ๆ เป็นนักกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน หรือกิจกรรมด้านวิชาการก็ได้ น้อง ๆ ก็จะได้ความถูกอกถูกใจจากวิศวะ ลาดกระบังอยู่แล้ว ขอแค่ให้น้องนำเสนอสิ่งเหล่านี้ลงในพอร์ต มีภาพกิจกรรมที่ไปช่วยเหลือดูแลสังคมก็จะยิ่งดีมาก

          สิ่งสำคัญคือ ที่ลาดกระบังเราดู Portfolio เป็นแค่ส่วนประกอบ แต่เราจะดูหลัก ๆ คือ เรื่องวินัยและความตั้งใจ เวลาเราดูพอร์ต จะดูการเรียนของเด็กประกอบในรอบแรก คะแนนทางด้านการคำนวณ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คะแนนต้องดี ดังนั้นจะเข้าวิศวะ ลาดกระบัง ยังไงก็ต้องเรียนเก่ง ! ถ้าเรียนไม่เก่ง แนะนำว่าอย่ามาเรียนวิศวะ ลาดกระบังเลย เพราะมีการแข่งขันสูง มีการตัดเกรดแบบกลุ่ม คือถ้ารู้ตัวว่าเรียนไม่เก่งตั้งแต่ ม.ต้น ก็ให้ไปตั้งใจเรียนให้หนักตอน ม.ปลาย เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ที่อยากเข้าวิศวะ ลาดกระบังจะเรียนไม่เก่งไม่ได้ ! ไม่อย่างนั้นพอเกิดการแข่งขันกันแล้ว น้องเข้ามาเป็นฐานให้คนอื่นแล้วน้องจะเหนื่อย

 

 

อยากมีเกียร์ในชีวิต ต้องรักการคำนวณในหัวใจ

          การแข่งขันเพื่อสอบเข้าลาดกระบัง เราโฟกัสไปที่วิชาหลักคือ วิชาคำนวณ  เช่น PAT 3 เพราะเราบอกแล้วว่า ถ้าจะเรียนวิศวะได้ดี ต้องมีความสามารถในเรื่องของการคำนวณ  นั่นก็เลยเป็นไฮไลต์ที่เราต้องเน้นคำนวณกับวิทยาศาสตร์  ส่วนภาษาอังกฤษยังเป็นตัวรอง เพราะภาษาอังกฤษยังเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนมีเงินกับไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นถ้าน้อง ๆ มีทักษะในเรื่องของการคำนวณเป็นหลัก เราก็จะเปิดโอกาสให้มาเรียนรู้ด้วยกัน ส่วนภาษาอังกฤษเดี๋ยวมาลุยกันได้
 

ถนนสายวิศวกรรม ไกลแค่ไหน...ลาดกระบังก็ไปถึง

          เมื่อก่อนวิศวกรรมศาสตร์มาจาก 8 สถาบัน แต่ตอนนี้มีประมาณ 70 กว่าเกียร์แล้ว แต่ถึงจะมีเกียร์มากมาย แต่เวลาบริษัทจะคัดสรรคนไปทำงาน ก็จะมารับนักศึกษาที่ลาดกระบังก่อนเลย โดยเรามีแพลตฟอร์มให้บริษัทมาคัดเลือกตัวนักศึกษาก่อน ปกติเปิดเดือนสิงหาคม บริษัทก็จะวิ่งมาที่ลาดกระบังก่อน เราก็จะเปิดให้บริษัทพบกับนักศึกษา แพลตฟอร์มของเราคือ ทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน จะมีบริษัทยื่นเจตจำนงมา แล้วบริษัทใหญ่ ๆ ก็เขามาคัดเลือกน้อง ๆ นักศึกษา ซึ่งเป็นนักศึกษาที่เพิ่่งขึ้นปี 4 แต่ได้สมัครงานกันแล้ว โดยเราจะบอกบริษัทว่า ถ้าต้องการเด็กที่เก่งที่สุด ต้องมาหาเราให้เร็วที่สุด ! เด็กสมัยนี้เขาต้องการการมีส่วนร่วมกับบริษัท เขาเองก็จะคอยดูว่าบริษัทพวกนี้เคยมีกิจกรรมอะไรมั้ย  เดี๋ยวนี้เลยมีบริษัทมาทำกิจกรรมร่วมกับสถาบันมากขึ้น เพื่อให้เด็กรู้จักเขา  ตอนนี้ทุก ๆ ที่ต้องมีกลยุทธ์ที่จะดึงเด็กจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งนั้น
 

บริษัท Roadshow


จากใจคณบดี...ถึงว่าที่ศิษย์วิศวะ ลาดกระบัง

          วิศวะ ลาดกระบัง เราเน้นเรามุ่งมั่นว่า น้อง ๆ ที่จบแล้วจะต้องไปทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีศักยภาพ ผมมั่นใจในกระบวนการเรียนการสอนตลอดทั้ง 4 ปี ที่ลาดกระบัง ได้สร้าง  leader เพราะฉะนั้นน้อง ๆ จะได้รับการฝึกทักษะในการเป็น leader คนที่จบจากลาดกระบังไปทำงานที่ไหน ส่วนใหญ่แล้วมีคนรักใคร่ เพราะว่าเราได้รับการฝึกมาให้ทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะฉะนั้นเวลาเราไปทำงานแล้วเราก็ยินดีที่จะช่วยเหลือทุกคน leader ไม่ใช่การเหยียบคน แล้วขึ้นไปอยู่ข้างบนได้ คนที่เป็น leader ที่ดี คนอื่น ๆ ก็ต้องสนับสนุนขึ้นไป ไม่ใช่ไปคุยกับนายคนเดียวแล้วเหยียบคนอื่นขึ้นไป นี่ไม่ใช่ leader วิศวะลาดกระบัง เราไม่ใช่แบบนั้น !

          ขอให้น้อง ๆ ที่จบจากลาดกระบังทั้งหลายมีความภูมิใจ ที่เรามายืนอยู่ในจุด ๆ นี้ และฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเข้าลาดกระบังด้วยเช่นกัน เพราะว่าการที่จะเข้าลาดกระบังได้ การที่จะเข้ามาเป็นพี่น้อง เป็นทีมงานของเรา ก็ต้องมองเห็นอนาคตแล้วว่า เราจะมีพี่ ๆ คอยดูแล ไม่ว่าจะไปอยู่ตรงไหน เรามีคติว่า เราจะไม่ปฏิเสธการทำงานใด ๆ

“ไม่มีอะไรที่วิศวะลาดกระบังทำไม่ได้ ขอให้มุ่งมั่นและตั้งใจ เพราะว่าเรามีเน็ตเวิร์กที่ดี”

 

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารทรัพยากรและบริการ และอดีตคณบดี
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา
เขียนและเรียบเรียง

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us