Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
อาจารย์จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  Favorite

          ผศ. ดร. จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล หรืออาจารย์มะนาว อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในเด็กไทยรุ่นแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการคอมพิวเตอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่ประเทศเยอรมนี ในปีนั้น ตัวแทนเยาวชนไทยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยคว้ารางวัลมาถึง 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ทั้งๆที่ในสมัยนั้นการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ยังจำกัดอยู่มาก แต่ด้วยความชอบส่วนตัว ทำให้อาจารย์มะนาวพยายามหาหนังสือมาศึกษาค้นคว้าทางด้วยตนเอง จนประสบความสำเร็จดังกล่าว

          ในฐานะอาจารย์และรุ่นพี่ วันนี้อาจารย์มะนาวจะมาให้คำแนะนำน้องๆ ที่สนใจอยากเรียนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหมาะกับการเรียนด้านนี้ และควรจะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง



อาจารย์มีโอกาสได้ไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศได้อย่างไร

ก่อนไปแข่งขันผมก็ต้องสอบเพื่อเข้าร่วมโครงการอบรมให้ได้ก่อนครับ พอได้เข้าร่วมโครงการแล้วก็จะมีอาจารย์มาคอยดูแล คอยสอน พอเรียนเสร็จ ตัวเราเองก็ต้องไปฝึกทำโจทย์เพิ่มเติมครับ

ทำไมถึงตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่เกษตรศาสตร์

ตอนนั้นอาจารย์ที่สอนในค่ายอบรมก็จะมาจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลายท่านครับ ก็จะรู้จักกับอาจารย์ แล้วตอนนั้นคณะวิศวะคอมฯ ของที่นี่ก็มีชื่อเสียงด้วย ก็ทราบว่าที่นี่เขามีทำวิจัยน่าสนใจมากมาย ก็เลยตัดสินใจเรียนที่นี่ครับ

ที่คณะมีประเพณี หรือ กิจกรรมอะไรที่น่าสนใจ และเป็นเอกลักษณ์บ้างหรือไม่

ทางภาควิชาส่วนใหญ่ก็จะเน้นให้นิสิตได้ฝึกแสดงออก มีการให้ลองพัฒนานวัตกรรมต่างๆ พอรุ่นน้องเข้ามาใหม่ รุ่นพี่ก็จะจัดค่ายให้น้องๆได้รู้จักกัน แล้วก็จะมีกิจกรรมให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ครับ

ก็จะมีค่ายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อยู่ในหลักสูตรของเราด้วยครับ นักเรียนก็จะได้ไปออกค่ายกันประมาณเจ็ดวันเพื่อฝึกทำโปรแกรมอะไรพวกนี้ แล้วก็จะมีการแข่งขันกันในค่ายด้วยครับ



จบสาขานี้สามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

คนจบสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์สามารถประกอบอาชีพได้มากมายครับ ตั้งแต่การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เขียนโปรแกรม ทำฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ หรือทำด้านเครือข่ายก็ได้ คือทำได้ทั้งการเขียนโปรแกรมและการพัฒนาด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ครับ

อาจารย์ได้ไปศึกษาต่อที่ UC Berkeley ในสาขาเดียวกัน อาจารย์คิดว่าการเรียนการสอนของไทยกับของต่างประเทศแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ก็มีความแตกต่างกันบ้างครับ แต่หลักๆแล้วก็อยู่ที่ตัวนักเรียนมากกว่า คือนักเรียนที่ต่างประเทศค่อนข้างจะมีความกระตือรือร้น แล้วก็มีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ตั้งใจเรียนมากกว่า

ส่วนการเรียนก็เรียนค่อนข้างยากเลยครับ การเรียนที่นู่นจะเน้นการบ้านเป็นหลัก นักเรียนก็ต้องทำการบ้านกันหนัก ทำกันทั้งวันทั้งคืน

หากต้องการสอบเข้าเรียนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ยังมีวิชาอื่นที่ต้องสอบด้วยหรือไม่

นอกจากต้องเรียนสายวิทย์-คณิตมาแล้ว  ก็มีต้องสอบความถนัดทางวิศวะครับ อันนี้ก็เป็นส่วนที่เพิ่มมาจาการสอบสายวิทย์ธรรมดา





คำแนะนำสำหรับน้องๆที่ต้องการเข้าศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ต้องเตรียมตัวอย่างไร

คำแนะนำก็มีครับ คือ ถ้าอยากเรียนที่นี่ก็ต้องเตรียมตัวเยอะหน่อย แต่ที่อยากเน้นมากที่สุดก็คือ อยากให้ตรวจสอบตัวเองว่าจริงๆชอบด้านนี้จริงหรือเปล่า เพราะว่ามีหลายคนสามารถสอบเข้ามาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ชอบเรียนด้านนี้จริงๆ เรียนด้านไหนก็ตาม ถ้าเราไม่ได้ชอบจริงๆแล้วเราต้องมาอยู่กับมันทั้งวันทั้งคืนเนี่ย สุดท้ายเราก็ทนไม่ไหว เลยอยากให้ตรวจสอบตัวเองหน่อยครับว่าจริงๆชอบด้านนี้หรือเปล่า

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นคนที่ชอบเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จริงๆ

สำหรับบางคนอาจจะคิดแค่ว่าเออ เราชอบเล่นคอมพิวเตอร์ชอบเล่น Facebook หรือเปล่า แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่ครับ เพราะว่าการเรียนวิศวะคอมฯ ไม่ใช่การเรียนเพื่อใช้โปรแกรม แต่เป็นการเรียนเพื่อพัฒนาโปรแกรม

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะรู้ว่าเราชอบด้านนี้หรือเปล่า ให้ลองไปหาหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาระบบซอฟท์แวร์มาอ่านแล้วทดลองทำดู ดูว่าทำได้ไหม ชอบไหม ในสิ่งที่ต้องทำนี่

หลักๆก็คือ ต้องเป็นคนที่อยากจะสร้างสรรค์พัฒนาซอฟท์แวร์หรือนวัตกรรมใหม่ๆครับ คือไม่ได้ว่าอยากจะใช้ของใหม่อย่างเดียว แต่ต้องอยากเป็นคนที่คิดค้น อยากเป็นคนที่สร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมา ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้ การเรียนสาขานี้ก็น่าจะตรงใจครับ

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนรวมทั้งหมด 5 หลักสูตร โดยแบ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร หลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร หลักสูตรระดับปริญญาโท 2 หลักสูตร และหลักสูตรระดับปริญญาเอก 1 หลักสูตร คือ

• หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
• หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตนานาชาติ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้
• หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
• หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
• หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและกิจกรรมต่างๆของภาควิชาได้ที่เว็บไซต์ http://www.cpe.ku.ac.th/

Tags
Posted by
Plook Admissions.
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us