Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
“ครูลิลลี่” แด่ศิษย์ด้วยจิตวิญญาณ

  Favorite

20 กว่าปีแล้วที่ อาจารย์กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือ “ครูลิลลี่” เป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการสอบผ่านเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของเด็กนักเรียนชั้น ม. 6 จำนวนไม่น้อยในแต่ละปี ทุกวันนี้ สูตร “เรียนภาษาไทย = ครูลิลลี่” ยังคงได้รับการท่องจำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเด็กๆ ที่ศรัทธาในวิธีการสอนที่ครูลิลลี่เรียกว่า “การใส่จิตวิญญาณในวิชาชีพ” นอกจากความสุขใจที่ได้พายเรือพานักเรียนไปให้ถึงฝั่ง ครูลิลลี่ยังภูมิใจที่ทำให้ภาษาไทยเป็นที่รักของเด็กยุคใหม่จากรุ่นสู่รุ่น

เริ่มสนใจวิชาภาษาไทยตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ครูลิลลี่เกิดในสมัยที่อยู่กันเป็นครอบครัวขยาย อยู่กับปู่ยาตายายก็ถูกปลูกฝังเรื่องวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ มารยาท  สำนวนภาษา หรือว่าความคิดความอ่าน คุณย่าเป็นผู้หญิงโบราณ เดินเหินก็ต้องมีมารยาท พูดจามีหางเสียง มีการละเล่นการแสดงท่านก็พาเราไปดู ลิเก ลำตัด เราเหมือนถูกปลูกฝังทางอ้อม ตอนประถมฯ เราสอบภาษาไทยได้คะแนนดีที่สุด อ่าน พูด ฟัง เขียน เข้าทาง เป็นตัวเลขก็ไม่ถนัด พอตอนเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา ผอ. มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน เราได้รับมอบหมายให้ติวภาษาไทย รู้สึกว่าเราได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ทำให้เค้าสอบได้ ทำคะแนนได้ดี ตอนนั้นก็ฝึกไปในตัวว่าเราต้องพูดให้เค้ารู้เรื่อง เข้าใจ และสอบได้ พอสอบเอ็นทรานซ์เข้านิเทศ จุฬาฯ เราสอบติดก็เพราะภาษาไทยได้คะแนนดีที่สุด

 


ครูลิลลี่ - อ.กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

แต่ครูลิลลี่เลือกเรียนนิเทศศาสตร์ แล้วค้นพบตัวเองว่าอยากสอนหนังสือได้ยังไง
เราเลือกตามแฟชั่น เรียนจบมาทำโฆษณาได้วันเดียวก็ออก โชคดีว่าได้ช้อปปิ้งงานตั้งแต่สมัยปีหนึ่ง เพราะว่ารุ่นพี่มักจะเอางานมาให้ทำ เราก็จะรู้ว่าโฆษณาทำแบบนี้ ประชาสัมพันธ์ทำแบบนี้ ทำหนังทำแบบนี้ ลองมาหมดแล้วแต่มันไม่ใช่ตัวเรา เราชอบยืนอยู่หน้าห้อง ได้แสดงออก การเป็นครูก็ได้แสดงออกด้วย ได้ให้ความรู้กับคนอื่นด้วย

จนถึงตอนนี้ เมื่อนึกถึงครูภาษาไทยต้องเป็นครูลิลลี่ คิดว่าอะไรที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ
มันคือจิตวิญญาณมากกว่า ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรต้องรักก่อน ถ้าเราชอบเรารักมันอยู่ได้นาน วันนี้ 20 ปีแล้วที่สอนหนังสือ ยังไม่เบื่อ ครูทำอะไรต้องมีแต่สีขาวสีดำ ชีวิตไม่มีสีเทา ทำต้องลุยเต็มที่ ไม่เอาคือไม่เอา ความรักและศรัทธาในอาชีพ และซื่อสัตย์ต่อตัวเองต่อเด็กๆ ทำให้เรามีวันนี้ จุดมุ่งหมายของเรา ถ้าเด็กสอบเข้าได้ก็เป็นส่วนหนึ่ง การที่เค้ารักภาษาของชาติก็เป็นส่วนหนึ่ง บางทีเค้าอาจจะสอบไม่ติด แต่เค้ามีทัศนคติที่ดีขึ้น ภาษาไทยง่าย ใช้ได้จริง (กลายเป็นผู้ส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์ภาษาไทย?) ฟังดูยิ่งใหญ่เกินไป เราก็เป็นกลไกเล็กๆ ของสังคม หน้าที่ของเราก็คือสอนให้ดีที่สุด

คิดยังไงกับภาษาใหม่หรือศัพท์แสลงของวัยรุ่น
ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น วัฒนธรรมต้องมีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เดี๋ยวก็มาใหม่ เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นคำอื่น สมัยหนึ่งเราพูด “จ๊าบ” เดี๋ยวนี้ใครพูด “จ๊าบ” ดูเชย บางคำก็ตายไปเป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องรู้ว่าควรใช้ในโอกาสไหน พูดเมื่อไหร่ ใช้กับใคร ภาษาก็เหมือนเสื้อผ้า ถ้าทุกคนยอมรับก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

เด็กๆ มีข้อผิดพลาดในเรื่องภาษาไทยยังไงบ้าง
เด็กสมัยนี้อ่านหนังสือแล้วตีความไม่เป็น ตีไม่แตก จับประเด็นไม่ได้ เมื่อคุณรับสารมาผิด จะไปถ่ายทอดต่อก็ผิดเพี้ยนไปหมดทุกอย่าง เพราะเด็กไทยไม่ใช่เด็กรักการอ่าน เมื่อการอ่านลดลง การพูดการเขียนให้ดีมันก็ยาก เรื่องการออกเสียงครูไม่คิดว่าสำคัญมากมาย ชีวิตจริงไม่ต้องเป๊ะทุกคำหรอก ให้รู้ก็พอว่าอันนี้ควบกล้ำอันนี้ไม่ได้ควบ แต่ถ้าทำให้ถูกต้องได้ก็ดี แต่คนที่อ่านหนังสือเยอะๆ จะมีความละเมียดละมุนในการเลือกใช้คำ ภาษาจะไม่ตรง ไม่ห้วน ไม่กระด้าง ไม่แข็ง

ช่วยขยายความคำว่า “ภาษาเป็นวัฒนธรรม”
ตัวอย่างเช่น คนตะวันตกจะกินก็บอก “eat” กษัตริย์พูดกับประชาชนก็ “eat” ประธานาธิบดีก็พูดว่า “eat” พ่อแม่คุยกันก็ “eat” เพื่อนคุยกันก็ “eat” อยู่คำเดียว แต่ภาษาไทยมีคำมากมายให้ใช้ เรามีความรุ่มรวยทางภาษาและวัฒนธรรม ฉัน เสวย บริโภค รับประทาน ทาน กิน คำที่ต่ำกว่ากินก็มีเยอะ สะท้อนเอกลักษณ์ว่าเราให้ความสำคัญกับลำดับชั้นของบุคคล

ถ้าไม่ได้เรียนเพื่อสอบผ่าน ภาษาไทยมีประโยชน์อะไร
ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ชีวิตประจำวันคุณต้องใช้ทักษะเหล่านี้ ไม่ว่าอาชีพอะไรคุณต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร แม้กระทั่งหมอ บางอาชีพใช้ภาษาไทยโดยตรง ทนายความ ผู้ประกาศข่าว คนเขียนหนังสือ คนเขียนบทละคร คนเขียนสคริปต์ หรือว่าอาจารย์ ไม่เขียนก็ต้องพูด ไม่พูดก็ต้องฟัง ทักษะมี 4 อย่างก็วนอยู่เท่านี้

ใครเป็นตัวอย่างในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องทั้ง 4 ทักษะ
สมเด็จพระเทพฯ ค่ะ ภาษาที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ในหนังสือต่างๆ สละสลวย สวยงาม และใช้อย่างถูกต้อง พระองค์ทรงมีอัจฉริยภาพทางด้านภาษาและศาสตร์อื่นๆ ทรงได้หมดเลย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดนตรี พระองค์ทรงเป็นต้นแบบให้รู้ว่าคนเราถ้าตั้งใจทำอะไรผลงานก็จะออกมาดี พระองค์ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ แต่สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

มีเคล็ดลับในการเรียนภาษาไทยยังไงบ้าง
เราไม่จำเป็นต้องเรียนจากหนังสือ เรียนจากชีวิตประจำวัน สิ่งรอบตัว ป้ายโฆษณา ฟังเพลง ดูข่าว ดูละคร ไม่ได้ดูเพลินๆ อย่างเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ตอนที่เด่นจันทร์ด่าเรยาว่า “เธอก็เหมือนดอกไม้ แต่ไม่ใช่ดอกไม้ที่เหมาะจะปักในแจกันหรอกนะ แต่เธอเป็นดอกไม้ริมทาง” ขอชมคนเขียนบทประพันธ์ว่ามีความฉลาดในการเลือกคำ มีภาษาที่สวยมาก ไม่จำเป็นต้องด่าคำหยาบเลยแต่ฟังแล้วสะดุ้งทุกคำ เห็นไหม ถ้าเค้าไม่เก่งภาษาไทยแล้วจะเขียนบทให้คนติดใจทั้งประเทศได้เหรอ

แล้วเคล็ดลับในการสอนภาษาไทยล่ะคะ
ถ้าเป็นหลักภาษาต้องสรุปให้เป็น แล้วรู้จักสร้างจินตนาการ ฝึกความเชื่อมโยง คิดเองว่าจะจำยังไงให้ง่ายๆ อย่างเช่นตัวละครพลายแก้วกับพลายงามในเรื่องขุนช้างขุนแผน เด็กงงว่าใครพ่อใครลูก พลายแก้วเป็นพ่อ พลายงามเป็นลูก แก้วกับงาม อักษร ก ไก่ กับ ง งู อะไรมาก่อน ก ไก่มาก่อน เกิดก่อนก็ต้องเป็นพ่อ ง งู เป็นลูก อย่างนี้ ก็ต้องสร้างจินตนาการให้เป็น หรือ อนุญาต ไม่มีสระ อิ เพราะมันไม่ใช่ญาติ

อารมณ์ขันช่วยด้วยไหม
อารมณ์ขันช่วยให้บรรยากาศในห้องเรียนมีความสุข เราต้องมีความสุขก่อน นี่เป็นเทคนิคส่วนตัว แต่ก็ไม่เสแสร้งนะ ส่งความเมตตา ความชื่นชมยินดีให้เด็ก ปล่อยพลังบวกๆ ผู้ที่สื่อสารกับเราจะรับคลื่นพลังไป เค้าก็เปิดรับสิ่งดีๆ กลับไป ถ้าครูเครียดก็จะปล่อยพลังความเครียดไปหาเด็ก ปล่อยสายตาเฉยเมย เด็กก็ต้องรับพลังลบ บรรยากาศในห้องเรียนก็มาคุ ไม่มีความสุข

แสดงว่าการสอนแต่ละครั้งต้องใช้พลังมาก
มาก ต้องเตรียมตัวอยู่ในห้องหนึ่งชั่วโมงก่อนขึ้นสอน การสอนเราเตรียมมาหมดแล้ว แต่ต้องเตรียมสภาพจิตใจและร่างกาย ต้องนิ่งๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รีบมาจากที่อื่น สอนแล้วสวยๆ เวลาสอนไม่ใช่สมองอย่างเดียวนะ สายตา ปาก ใบหน้าไปหมด ฉะนั้น ความรู้ครูทุกคนมีเท่ากัน แต่ครูรู้จักใช้อารมณ์ ความรู้สึก จิตวิญญาณ วันไหนที่ไม่คึกก็มี แต่พอเจอเด็กๆ เราก็จะปรับอารมณ์ได้ เขาตั้งใจมาเรียน บางคนมาจากอยุธยา สุพรรณบุรี เมืองกาญจน์ ชลบุรี ถ่อมาเรียนเสาร์-อาทิตย์ เด็กมีความศรัทธาในตัวเราจึงต้องทำให้เต็มที่ ทุกวันนี้เหมือนเล่นคอนเสิร์ต ทอล์กโชว์ สองชั่วโมงในการเรียนต้องมีทั้งความสุขและวิชาการ ทำยังไงให้มันนัว เป็นส้มตำก็ต้องกลมกล่อม ประสบการณ์จะสอนเรา วันแรกกับวันนี้ครูก็สอนไม่เหมือนกัน ค่อยๆ เรียนรู้ไปว่าขาดเหลือตรงไหน

คิดยังไงกับคำพูดที่ว่า “ครูเป็นอาชีพที่ปิดทองหลังพระ”
สังคมไทยคนเป็นครูน่ายกย่อง มีคนกราบไหว้บูชา แต่ปัจจุบันคนมองในแง่วัตถุมากเกิน ความศรัทธาในอาชีพจึงน้อยลง ต้องทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้สึกว่าการเป็นครูเป็นอาชีพที่อยากจะเป็น ไม่ใช่ว่าไม่รู้จะทำอะไรเลยมาเป็นครู สังคมต้องช่วยกันยกย่องด้วย รัฐก็ต้องมีสวัสดิการครูที่ดี ครูมีทั้งความรู้และจิตวิญญาณ เราส่งเสริมให้คนเป็นคนดี มีความรู้ ประสบความสำเร็จไม่ต้องไปคิดน้อยใจว่าเราปิดทองหลังพระ

ชมคลิปเคล็ดลับการเรียนภาษาไทยจากครูลิลลี่ได้ที่นี่
http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=15397&mul_source_id=027387

Tags
Posted by
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us