Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ช่วยลูกอย่างไร ให้รอดในยุค TCAS

  Favorite

“TCAS” อาจเป็นคำที่ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองปวดหัวปวดท้อง เพราะเป็นคำที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับอนาคตการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของลูก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การศึกษาไทยไม่ว่าจะยุคไหน Entrance, Admission หรือ TCAS ต่างก็ล้วนมีสไตล์การใช้ชีวิตและการอยู่รอดที่แตกต่างกัน ลองมาดูกันว่าในยุคนี้ ถ้าอยากให้ลูก ๆ รอดไปเจอความรุ่ง คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองต้องเป็นตัวช่วยในเรื่องใดบ้าง 

 

1. เป็นหน่วยข่าวกรอง

อันแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าข้อมูลข่าวสารในระบบ TCAS เดินทางเร็วด้วยระยะเวลาสั้น ทั้งรูปแบบการรับ รายละเอียด องค์ประกอบ และเงื่อนไขในแต่ละโครงการมีความแตกต่างกัน และมีจำนวนมากมายหลายหลักสูตร ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นตัวช่วยในการสืบเสาะค้นหาข่าวการรับของสถาบันต่าง ๆ ที่คิดว่าลูกสนใจมานำเสนอพูดคุยกันในครอบครัว นอกจากเป็นเหยี่ยวข่าวที่น่ารักแล้ว ยังช่วยสร้างพื้นที่ความรักความอบอุ่นร่วมกัน แต่ก็ต้องแอบระวัง เพราะบางครั้งคณะที่ท่านหามา กับคณะที่ลูกอยากเข้า อาจจะเป็น...คนละคณะกัน แต่อย่างน้อย การได้แลกเปลี่ยนถกเถียงร่วมกัน ก็เป็นหนทางหนึ่งให้ท่านกับลูกได้ใกล้ชิดและเรียนรู้กันก่อนตัดสินใจเลือกคณะจริง ๆ

 

2. รู้จักเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอนาคตลูก

TCAS ดำเนินการอยู่บนโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการ log in เข้าสู่ระบบ mytcas (น้อง ๆ ทุกคนต้องลงทะเบียนในระบบนี้) การรับสมัครของแต่ละสถาบัน แต่ละรอบ การยืนยันสิทธิ์ และการสละสิทธิ์ ต่างดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้นผู้ปกครองต้องเข้าใจ เข้าถึง และรู้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้ เพราะเป็นโอกาสที่ดีที่ท่านจะได้เป็นที่ปรึกษาช่วยลูกตัดสินใจอย่างเข้าใจและไม่สับสน

 

3. สร้างทักษะการบริหารเวลาให้ลูกตั้งแต่เยาว์วัย  

TCAS เป็นระบบที่มี Time Line ชัดเจน ทั้งเวลารับสมัคร เวลาสอบ เวลายืนยันสิทธิ์ และสละสิทธิ์ ดังนั้นเวลาต้องเป๊ะ ชีวิตถึงปัง อีกทั้งการบริหารเวลาในชีวิต ทั้งการจัดสรรเวลาเพื่อเรียน สอบ ทำกิจกรรม ล้วนเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบ คนที่มีทักษะการจัดการเวลาดีเท่านั้น ถึงจะเป็นผู้รอดในยุค TCAS เพราะเด็กต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน  

 

4. ช่วยค้นหา เพื่อให้ค้นพบ   

การค้นหาตัวตนสำคัญยิ่งต่อการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพราะต้องใช้วางแผนเลือกคณะ และการประกอบอาชีพ การค้นหาต้องจบลงด้วยการค้นพบ ไม่ใช่หาไปเรื่อย แต่ไม่พบอะไรสักอย่าง และในระบบ TCAS ยิ่งรู้ตัวเองเร็วเท่าไหร่ ยิ่งวางแผนการศึกษาได้คมชัดมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นผู้ปกครองควรให้การสนับสนุนในทุกกิจกรรมที่มีส่วนช่วยให้น้อง ๆ ค้นหาตัวตนได้สำเร็จ ที่สำคัญการช่วยค้นหาทำได้เพียงแนะนำ ไม่ใช่ครอบงำ !

 

5. เข้าใจระบบ และสัดส่วน

ระบบ TCAS มีหลายรอบ หลายรูปแบบ องค์ประกอบและสัดส่วนแตกต่างกัน ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าลูกของท่านต้องสอบหลายวิชา สมัครหลายครั้ง หลายรอบ ขอเงินท่านแล้วขออีก ขอเพียงแค่ท่านเข้าใจว่า ระบบ TCAS ต้องดำเนินการทีละรอบให้จบ ถ้าสอบไม่ติด หรือสอบติดแต่ยังไม่พอใจ ถึงจะไปสมัครรอบต่อไป ดังนั้นจึงอาจเกิดการสมัครซ้ำซ้อนหลายครั้ง หน้าที่หลัก ๆ จึงมีแค่เข้าใจและ...จ่ายเงิน !

 

6. สร้างกติกาและจัดระเบียบตัวป่วน ดูดพลังชีวิตลูก

ตัวทำลายสมาธิน้อง ๆ มากที่สุด มักจะเป็นสิ่งที่น้อง ๆ ชอบ คนที่รัก กิจกรรมที่สนใจ และบ่อยครั้งที่ตัวการแห่งความสุขกับความทุกข์คือตัวเดียวกัน ! ตัวป่วนที่ดูดพลัง ทั้งพลังกาย พลังสมอง พลังจิตใจ และพลังเวลา ส่วนใหญ่หนีไม่พ้น ความรัก ความโกรธ ความเครียด ความขี้เกียจ หรือเกมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ดังนั้น “วินัย” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่บังคับให้ตัดทุกอย่าง แต่ต้องจัดวางตัวป่วนเหล่านั้นไว้ในเวลาที่เหมาะสม เล่นอย่างพอดี 

 

7. ช่วยเติมความหวัง สร้างแรงบันดาลใจ

ชีวิต ม.ปลาย มีหลุมพรางที่ดึงดูดให้น้อง ๆ ตกลงไปมากมาย เพราะวัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต เป็นวัยคะนอง ชอบลองของ ความรับผิดชอบยังไม่คงที่ ดังนั้นระหว่างทางเดินจากจุดเริ่มฝัน ไปสู่วันแห่งเป้าหมาย ผู้ปกครองควรต้องต่อเติมแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการไปเข้าค่ายพบเจอรุ่นพี่ อาจารย์ หรือด่านทดสอบความสนใจที่แท้จริงของเขา การสร้างโอกาสเปิดโลกให้น้อง ๆ ได้พูดคุยร่วมกิจกรรมกับคนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ  

 

8. เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรม

TCAS เป็นระบบที่ไม่ใช่แค่การสอบคัดเลือก แต่ยังมีวิธีการคัดเลือกที่หลากหลาย เช่น การใช้ portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) เครื่องมือพิเศษที่ส่งผลให้ติดตั้งแต่รอบแรก หรือในรอบอื่น ๆ สถาบันต่าง ๆ ก็อาจจะขอดู portfolio เพื่อดูทักษะความสามารถที่นอกเหนือจากความรู้ในตำราเรียน ดังนั้นการก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสืออย่างเดียวคงไม่พอแล้ว สำหรับการเอาตัวรอดในยุคนี้ และแต้มต่อที่ดีที่สุดคือกิจกรรมนั่นเอง ดังนั้นผู้ปกครองควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกได้ทำกิจกรรม และผลักดันต่อให้กิจกรรมเหล่านั้นเป็นแหล่งพัฒนาความสามารถพิเศษ จนได้รับรางวัลหรือเกิดเป็นผลงานต่าง ๆ

 

9. เป็นวงแหวนดาวเสาร์ให้ลูก

การให้คำแนะนำของผู้ปกครองควรเป็นดั่งภาพวงแหวนของดาวเสาร์ คือไม่ก้าวล่วงเข้าไปยังเขตดวงดาวหลักของลูก แต่ก็อยู่ไม่ไกลคอยโอบล้อมลูก เชื่อมโยงประสบการณ์ตนผสมกับความเป็นตัวตนของลูก ความฝันของพ่อแม่อาจไม่ใช่มรดกของลูกเสมอไป อย่าให้ความฝันของลูก เดินตามความฝันของท่าน เพราะมันอาจไม่แฟร์สำหรับพวกเขา 

 

10. ปรับทัศนคติให้ลูกเข้าใจความเปลี่ยนแปลง

คนที่อยู่ “ไม่รอด” คือคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในยุค Digital Disruption หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดชุดข้อมูลใหม่ที่ทำลายล้างชุดข้อมูลเดิม ทั้งด้านความรู้ ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และไลฟ์สไตล์ ดังนั้นคำสอนแบบดั้งเดิมที่เคยสั่งสมส่งต่อกันมา อาจจะนำมาใช้ไม่ได้ทั้งหมด ผู้ปกครองต้องปรับชุดคำสอนใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันต้องสอนลูกให้เข้าใจ ยอมรับ และใช้ชีวิตอยู่บนความเปลี่ยนแปลงให้ได้

 

ทุกการเปลี่ยนแปลง ต้องปรับตัว

ทุกการปรับตัว ต้องรองรับ “การเปลี่ยนแปลง”   

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

Plook TCAS เมนูที่รวบรวมทุกเรื่องราวของการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย 

ติดตามข่าวการเปิดรับสมัครรับตรง โควตา TCAS ทั้ง 5 รอบ

ติดตามข่าวค่าย Open House และกิจกรรม เก็บประสบการณ์ สร้าง Portfolio

 

LINE Official Account Plook TCAS
ข่าว TCAS รับตรง โควตา
ตอบคำถาม ปรึกษาปัญหา แชทได้เลย
LINE ID: @PlookTCAS
Link QR : line.me/R/ti/p/%40yss8751a

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us