Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ทำความรู้จักข้อสอบคณิตศาสตร์ O-NET ม. 6 พร้อมเทคนิคเตรียมตัวสอบ

  Favorite
หากพูดถึงข้อสอบคณิตศาสตร์สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ข้อสอบคณิตศาสตร์ O-NET ม. 6 ถือเป็นข้อสอบที่มีความง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับข้อสอบ PAT 1 และคณิตศาสตร์ 1 วิชาสามัญ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นข้อสอบที่ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับข้อสอบอื่นแล้ว ทำให้น้อง ๆ หลายคนเลือกที่จะให้ความสำคัญกับข้อสอบอื่น จนละเลยการเตรียมตัวสอบคณิตศาสตร์ O-NET ม. 6 ไป การไม่เตรียมความพร้อม ทำให้คะแนนที่ออกมา มีโอกาสที่จะไม่เป็นไปตามที่หวัง และไม่สามารถที่จะยื่นคะแนนเพื่อสอบเข้าคณะที่อยากเข้าได้
 
          บทความนี้ พี่ภูมิเลยจะขอพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักข้อสอบ คณิตศาสตร์ O-NET ม. 6 กันอย่างละเอียดว่า ข้อสอบ O-NET มีความสำคัญอย่างไร เนื้อหาที่ออกสอบมีอะไรบ้าง บทไหนออกสอบบ่อย ต้องเน้นเป็นพิเศษ ปิดท้ายด้วยการแนะเทคนิคเตรียมตัวสอบอย่างเข้มข้น ให้น้องพร้อมที่สุด ก่อนลุยสนามสอบจริง
 

ความสำคัญของการสอบ O-NET ม. 6

น้อง ๆ หลายคนมักให้ความสำคัญกับการสอบ O-NET น้อยกว่าสนามสอบอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว
O-NET ถือเป็นเกณฑ์คะแนนที่สำคัญสำหรับการยื่น TCAS รอบต่าง ๆ โดยเฉพาะ รอบที่ 4 Admission ดังนั้น พี่ภูมิจะขอสรุปสั้น ๆ ให้น้อง ๆ เห็นว่า คะแนน O-NET ใช้ยื่นคะแนนหรือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำการสอบ TCAS รอบใดบ้าง
กลุ่ม กสพท การรับในกลุ่มนี้จะไม่ได้นำคะแนน O-NET มารวมในน้ำหนักคะแนน แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีคะแนน O-NET รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 (O-NET 5 กลุ่มสาระวิชา)
- เกณฑ์ขั้นต่ำ TCAS รับตรง บางโครงการอาจกำหนดคะแนนขั้นต่ำ O-NET ไว้ด้วย ซึ่งน้อง ๆ ต้องได้ไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ถ้าคะแนนไม่ถึงตามเกณฑ์ก็จะสมัครไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติเรื่องคะแนนขั้นต่ำไปนั่นเอง
- แอดมิชชั่น นอกจากคะแนน GPAX, GAT/PAT แล้ว คะแนน O-NET (5 กลุ่มสาระวิชา) จะใช้เป็นองค์ประกอบการคัดเลือก TCAS รอบที่ 4 แอดมิชชั่น โดยจะมีค่าน้ำหนักคะแนนร้อยละ 30 (9,000 คะแนน) และในบางคณะจะมีการกำหนดขั้นต่ำของคะแนน O-NET ไว้ด้วย
 
เมื่อรู้ความสำคัญของข้อสอบ O-NET แล้ว พี่ภูมิก็จะพาไปดูกันต่อว่า ข้อสอบคณิตศาสตร์ O-NET ม.6 ออกอะไรบ้าง พร้อมสถิติบทที่ออกปี 61 – 62

ข้อสอบคณิตศาสตร์ O-NET ม.6 ออกอะไรบ้าง ?

เนื้อหาที่ออกสอบ จะออกเฉพาะเนื้อหาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่

1. ลำดับ และอนุกรม
- ลำดับ และการหาพจน์ทั่วไปของลำดับจำกัด
- ลำดับเลขคณิต และลำดับเรขาคณิต
- อนุกรมเลขคณิต และอนุกรมเราขาคณิต
 
2. จำนวนจริง และเลขยกกำลัง
- จำนวนจริงที่อยู่ในรูปเลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนตรรกยะ และจำนวนจริงที่อยู่ในรูปกรณฑ์
- การบวก การลบ การคูณ และการหารจำนวนจริง
- การบวก การลบ การคูณ และการหารจำนวนจริงที่อยู่ในรูปเลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนตรรกยะ และจำนวนจริงที่อยู่ในรูปกรณฑ์
- สมบัติของจำนวนจริง และการนำไปใช้
 
3. สถิติ
- ค่ากลางของข้อมูล
- การวัดการกระจายของข้อมูล
- การหาตำแหน่งที่ของข้อมูล
 
4. เซต และการให้เหตุผล
- เซต และการดำเนินการของเซต
- แผนภาพเวนน์ – ออยเลอร์
- การให้เหตุผลแบบอุปนัยและนิรนัย
 
5. ความน่าจะเป็น
- กฎเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับการนับ
- ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์
 
6. อัตราส่วนตรีโกณมิติ
- โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับระยะทาง และความสูง
 
7. ความสัมพันธ์ และฟังก์ชัน
- ความสัมพันธ์ และฟังก์ชัน
- กราฟของความสัมพันธ์ และฟังก์ชัน
 
8. การแก้สมการ – อสมการ และโจทย์ปัญหาทั่วไป
- สมการ และอสมการตัวแปรเดียวดีกรีไม่เกินสอง
นอกจากเนื้อหาที่ออกสอบแล้ว พี่ภูมิยังมีสถิติคะแนนที่ออกในแต่ละบทของปี 61 – 62 มาให้น้อง ๆ ดูด้วย
 

 

เมื่อดูจากสถิติคะแนนในแต่ละบทที่ออกแล้ว บทหลัก ๆ ที่ออกข้อสอบเยอะ จะได้แก่ จำนวนจริง และเลขยกกำลัง, ลำดับ และอนุกรม และสถิติ บทเหล่านี้ น้อง ๆ ควรทบทวน Concept ให้แม่น และฝึกทำโจทย์บ่อย ๆ
 

เทคนิคเตรียมตัวสอบคณิตศาสตร์ O-NET ม. 6

          สำหรับน้อง ๆ ม.6 ที่เหลือเวลาเตรียมตัวสอบคณิตศาสตร์ O-NET ไม่มากแล้ว พี่ภูมิแนะนำให้น้อง เอาข้อสอบเก่า O-NET มาฝึกทำย้อนหลังอย่างน้อย 5 พ.ศ. ลองหยิบมาทำ 1 พ.ศ. แล้วให้ลองตรวจดูว่าข้อไหนที่ผิด และผิดบทอะไร จากนั้น ให้น้องย้อนกลับไปทวนเนื้อหาในบทที่ทำผิด ฝึกฝนทำโจทย์จนเข้าใจ แล้วไปทำ พ.ศ. อื่นต่อ ที่สำคัญ ในการฝึกทำโจทย์แต่ละครั้ง จะต้องฝึกทำโจทย์แบบจับเวลาเสมือนจริงทุกครั้ง
 
          ข้อสอบคณิตศาสตร์ O-NET จะมีด้วยกันทั้งหมด 40 ข้อ ให้เวลาทำ 120 นาที เฉลี่ยข้อละ 3 นาที เท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อน้องเข้าสู่ห้องสอบ พี่ภูมิอยากแนะนำให้ไล่ดูบทข้อง่ายที่น้องคิดว่าทำได้ ให้ทำบทนั้นก่อน แล้วค่อยมาไล่เก็บข้อยาก ๆ จะช่วยให้น้องทำข้อสอบได้ทันเวลาครับ นอกจากนี้ เมื่ออยู่ในห้องสอบ สิ่งที่ควรระวังเลยคือการคิดเลขพลาด เพราะบ่อยครั้งที่เมื่อเจอข้อสอบง่าย น้อง ๆ จะขาดความรอบคอบ และการตรวจทาน ดังนั้นน้องควรระมัดระวังเรื่องการคิดเลขให้ดีนะครับ
 
สุดท้าย พี่ภูมิก็ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดีกับการสอบวิชาคณิตศาสตร์ O-NET ม.6 ที่กำลังจะมาถึงครับ
 
ติวเตอร์สถาบันกวดวิชา We By The Brain  
 
บทความที่เกี่ยวข้อง
Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us