Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
สาขาวิชายอดฮิต “คณะวิศวกรรมศาสตร์” ที่คนนิยมเรียน

  Favorite

          วิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในหลักสูตรที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะน้อง ๆ แผนการเรียนวิทย์ - คณิต เนื่องด้วยเป็นอาชีพที่น่าสนใจและมีรายได้ที่ดี แต่กว่าจะสอบติดได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นหนึ่งในคณะที่ถือได้ว่ามีความยากพอสมควร ต้องใช้คะแนนสอบและทักษะทั้งด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 วิชานี้ถือว่าเป็นวิชาสุดหินของเด็ก ม.ปลาย เมื่อมีคนสนใจเข้าคณะนี้มาก ย่อมมีคู่แข่งมากตามมา แต่จะมีสาขาวิชาไหนบ้างที่ได้รับความนิยม ไปเช็ครายละเอียดเพื่อเตรียมความพร้อมกันเลย

 

 

สาขายอดฮิตในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่คนนิยมเลือกเรียน

 

1. วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)

          สายงานที่ครอบคลุมเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างตึก อาคาร สะพาน ระบบขนส่ง ระบบโครงสร้างต่าง ๆ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค เมื่อเรียนจบและได้ใบประกอบวิชาชีพวิศกรรม (กว.) อาชีพในสายนี้เรียกว่า "วิศวกรโยธา"

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : คนที่มีความสนใจเรื่องการก่อสร้าง สนใจเกี่ยวกับโครงสร้างต่าง ๆ และศึกษาการทำงานของระบบสาธารณูปโภคในชีวิตประจำวัน สนใจเรียนรู้เรื่องระบบการพัฒนาความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์

 

2. วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)

          เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ไฟฟ้า, คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างและการนำไฟฟ้าไปใช้ ทั้งในรูปแบบการผลิตและการส่งต่อไฟฟ้าเพื่อการใช้งานด้านต่าง ๆ งานในสายอาชีพจะเรียกว่า "วิศวกรไฟฟ้า"

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : มีความสนใจ มีความรู้พื้นฐานเรื่องระบบไฟฟ้า สนใจเรื่องการผลิตและการประยุกต์ไฟฟ้าไปใช้งานให้เกิดประโยชน์

 

3. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering)

          เป็นการศึกษาและทำงานเกี่ยวกับการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ และการสื่อสาร มีหน้าที่คิดค้นและพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยเหลือ และปัจจุบันยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญกับระบบการสื่อสารและเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เช่น อุปกรณ์การสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ เป็นต้น สายอาชีพนี้มีชื่อเรียกกว่า "วิศวกรคอมพิวเตอร์"

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : คนที่สนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มีพื้นฐานหรือความสนใจเกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญต้องก้าวทันทุกเทรนด์ไอทีอยู่ตลอด

 

4. วิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering)

          ศึกษาและทำงานเกี่ยวกับโครงสร้างการบิน เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบินทั้งหมด เช่น ระบบการขับเคลื่อนการบิน การผลิตโครงสร้างอุปกรณ์การบิน วางแผนการสร้างอุปกรณ์การบินทุกรูปแบบ รวมถึงระบบการขนส่งการบินไปอวกาศ เป็นสาขาที่น่าสนใจและเสี่ยงพอสมควร ทำให้ค่าตอบแทนรายได้ค่อนข้างสูง เรียนจบด้านนี้สามารถเข้าทำงานได้ในสายอาชีพ “วิศวกรด้านอากาศยาน, ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” เป็นต้น

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : คนที่สนใจเกี่ยวกับเครื่องบิน ระบบการบินต่าง ๆ และสนใจเรื่องโครงสร้างเกี่ยวกับการสร้างอุปกรณ์การบินด้วย ที่สำคัญต้องมีความกล้าและท้าทาย อีกทั้งไหวพริบต้องดี

 

5. วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering)

          เป็นสาขาที่เกี่ยวกับการออกแบบ, พัฒนา, วางแผนควบคุม, ประเมินผล บริหารจัดการเกี่ยวกับการออกแบบอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตต่าง ๆ ควบคุมต้นทุน ดูแลผลกำไรในสายงานวิศวกรรมทุกด้านที่เกี่ยวข้อง สรุปง่าย ๆ ว่า มีหน้าที่ดูแลควบคุมระบบการผลิต ควบคุมคุณภาพนั่นเอง

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : ต้องเป็นคนที่สนใจเรื่องวิศวกรรม และมีทักษะวิชาคำนวณที่ดี เพราะต้องอยู่กับการคำนวณทุกอย่างในระบบวิศวกรรม เช่น ต้นทุน วัตถุดิบ อุปกรณ์ เป็นต้น

 

6. วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering)

          ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ วางแผนและควบคุมการทำงานของกระบวนการทางเคมี เพื่อพัฒนาอุตสหกรรมเคมี ให้ออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ และควบคุมเรื่องความปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน อยู่บนหลักการที่ไม่ทำอันตรายกับสิ่งแวดล้อม ทำงานโดยใช้ความรู้เรื่องเคมีควบคู่ไปกับความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล อาชีพในสายงานนี้เรียกว่า "วิศวกรเคมี" และงานอีกส่วนในสาขาวิชานี้ ที่ทำหน้าที่ด้านควบคุมกระบวนการ เรียกว่า "วิศวกรกระบวนการ"

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : คนที่สนใจเรียนสาขานี้ ควรมีทักษะวิชาฟิสิกส์และวิชาเคมีควบคู่ไปพร้อมกัน

 

7. วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)

          ศึกษาเกี่ยวกับการเอาวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มาใช้ในการประดิษฐ์อุปกรณ์ทางวิศวกรรม ครอบคลุมทั้งการผลิตและการดูแลรักษาระบบ เช่นการออกแบบหุ่นยนต์, เครื่องจักรกล, ระบบการควบคุมต่าง ๆ, ยานพาหนะ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่แค่คิดค้นและผลิต แต่ยังต้องวิเคราะห์และพัฒนาระบบอีกด้วย ซึ่งนับเป็นสาขาวิชาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความเก่าแก่ที่สุด

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : คนที่มีความสามารถ สนใจการคิดค้นและประดิษฐ์ผลงานต่าง ๆ เช่น ระบบหุ่นยนต์ การควบคุมเครื่องกลพื้นฐาน ถนัดและสนใจวิชาฟิสิกส์เป็นอย่างมาก

 

8. วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering)

          เป็นสาขาวิชาที่นำความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ในการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ให้ทันสมัย เอื้ออำนวยต่อการใช้รักษาผู้ป่วยและมีมาตรฐาน

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : คนที่มีความสนใจเรื่องวิศวกรรมและการแพทย์ เข้าใจความต้องการของแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยว่า อุปกรณ์แบบไหนที่จะเอื้อต่อการรักษาของแพทย์ เข้าใจกระบวนการทางร่างกายมนุษย์ เพื่อนำไปใช้ออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับการรักษา และควรมีพื้นฐานวิชาฟิสิกส์และชีววิทยาที่ดี

 

9. วิศวกรรมปิโตรเลียม (Petroleum Engineering)

          ศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อการขุดเจาะ การผลิตไฮโดรคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันต่าง ๆ รวมทั้งก๊าซทางธรรมชาติ ทำงานตั้งแต่การสำรวจตลอดจนกระบวนการนำมาผลิตเพื่อใช้งาน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมปิโตรเลียม ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อุตสาหกรรมทางธรณีวิทยาปิโตรเลียม เป็นต้น

ใครเหมาะกับสาขาวิชานี้ : ต้องสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม มีทักษะเรื่องวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยาและเคมี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก www.siuk-thailand.com, www.wikipedia.org

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us