“
โลเล” แปลว่า เปลี่ยนใจ ไม่แน่นอน เป็นชื่อของผู้ชายที่มุ่งมั่นเดินทางสายศิลปะมาตั้งแต่ชั้น ม.3 เป็นฉายาของศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ รั้วศิลปากร และเป็นลายเซ็นต์ของศิลปินแนวเซอเรียลลิซึ่ม (Surrealism) ผสมป๊อบอาร์ตชื่อดังของวงการศิลปะเมืองไทย เขาคือ โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี
พี่โลเลค้นพบตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าชอบศิลปะ
ตั้งแต่เด็กๆ ครับเพราะว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ของเราก็จะเป็นเรื่องของการขีดๆ เขียนๆ คุณแม่ก็เห็นว่าเราน่าจะมีแวว ตอนอยู่ ม.3 กำลังคิดว่าจะเรียนสายมัธยมต่อหรือว่าจะเรียนโดยตรงไปเลย พอดีคุณแม่สืบมาว่ามีช่างศิลป์ (วิทยาลัยช่างศิลป์) แต่มันไกลบ้าน เลยเรียนแถวๆ บ้านก็ได้ก็คือไทยวิจิตรศิลป์
การสอบเข้าคณะจิตรกรรมฯ มีการทดสอบอะไรเป็นพิเศษ
มีวิชาสำคัญที่ต้องสอบครับ คือดรออิ้งต้องวาดรูปร่างคน วิชาคอมโพซิชั่นคือองค์ประกอบศิลป์ และวิชาสามัญ ความรู้ทั่วไป ซึ่งเราไม่หนักใจเพราะตอนนั้นเราคิดว่าเป็นเด็กเรียนนะ สมัยนั้นตั้งใจเรียนอยู่ในระบบ
เพราะอะไรพี่ถึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทคณะจิตรกรรม
ทีแรกที่เราเรียนปริญญาตรี เราก็เรียนไปตามระบบแต่ว่าส่วนหนึ่งเราก็รู้สึกว่าเรามีความฝันอีกตั้งหลายอย่างที่อยากทำ เช่น ดนตรี หรือถ่ายรูป หรืองานออกแบบหรือว่า หรืองานเขียนหนังสือ แต่ว่าตอนที่เราเรียนจบมาปั๊ปเราก็ไม่ได้ต่อโททันที เราก็ไปทำงานอะไรที่เราสนใจฮะ แต่ท้ายที่สุดเราก็รู้สึกว่ามันคิดถึงกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับศิลปะ อยากวาดรูป ก็เลยหยุดทำงานกลับมาเรียนโท
ประเพณีดีเด็ดสำหรับคณะจิตรกรรม
ก็ไม่มีอะไรมากครับ ก็อาจจะมีช่วงกิจกรรมรับน้องครับที่ดูมีสีสัน สนุก และก็จะมีกิจกรรมวันอาจารย์ศิลป์เราก็เล่นดนตรีก็สนุกฮะ ทุกครั้งที่มีงานวันอาจารย์ศิลป์วงเราก็ต้องขึ้น ในสมัยนั้นจิตรกรรมก็จะมีอยู่ 2-3 วง วงเราก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากวาดรูปแล้วก็จะมีกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง เวลาจะมีเทศกาลอะไรเราก็ต้องเขียนคัทเอาท์ วาดรูปอะไรแบบนี้
ค้นพบสไตล์ของตัวเองได้ยังไง
สไตล์ของการทำงานมาจากการที่เราหมกมุ่นกับมัน จนกระทั่งเริ่มครีเอทอะไรใหม่ๆ จากสิ่งที่เราทำซ้ำ จุดนั้นแหละเราจะพบเทคนิคบางอย่างหรือสไตล์บางอย่างที่เราสนใจ โดยที่เพื่อน คนรอบข้างจะบอกเราเองว่า เฮ้ย เขียนอะไรเนี่ย มันดูแปลกนะ พอเพื่อนบอกเราก็จะรู้สึกว่าเป็นพวกแหกคอกและเป็นกำลังใจให้เรานะ
อะไรคือเสน่ห์ของศิลปะที่ทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับมันได้นานๆ
เวลาเราดู เรามอง หรือเราได้สัมผัส จะรู้สึกว่าเราได้หลุดพ้นจากกิจกรรมในประจำวันที่เรามีเรื่องยุ่งวุ่นวาย ตอนที่เราทำงาน กระบวนการก็ทำให้เรามีความสุข รวมไปถึงทำให้เรามีสมาธิด้วย และทำให้เราคิดนู่นคิดนี่ สร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีครับ
การเรียน “จิตรกรรม” แบบเจาะลึกในมหาวิทยาลัยให้อะไรกับเราบ้างนอกจากเทคนิคการวาดภาพ หรือการเรียนรู้ทฤษฎี
คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเรียนจิตรกรรมแล้วอาจจะหมกมุ่นอยู่กับเทคนิคมากเกินไป จริงๆแล้วคนข้างนอกก็ไม่เห็นกันหรอกว่าจริงๆแล้ว เค้าก็เรียนทฤษฎีจริงจังเหมือนกันและค่อนข้างซีเรียส
ศิลปะของพี่โลเลให้อะไรกับสังคมบ้าง
ขั้นต้นเลยนะครับ ผมว่าศิลปะมันคุยกับเรามันช่วยบำบัดสิ่งที่เรามีคำถามและเราก็ทำกับมัน แต่ว่าถ้าถามว่ามันให้ประโยชน์อะไรกับสังคมในขั้นต้นนะ ในแง่ของการศึกษาโอเคมันมีน้องๆ ที่เห็นเราทำงานแล้วก็อาจจะมองว่ามันเป็นตัวอย่างหรืออะไรก็ตาม และอีกส่วนหนึ่งถ้ามองลึกลงไปอีกว่าเรื่องราวของงานที่เราทำเนี่ย คือจริงๆ มันก็สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ สะท้อนสังคมอดีต ปัจจุบันทั้งหลาย แต่ว่าเวลาคนดูงานศิลปะเค้าอาจจะเข้าไม่ถึงเรื่องราวที่เราทำจนกว่าเค้าจะอ่านหรือว่าจะมาตามเราแต่ไม่เป็นไร เพราะขั้นต้นเค้าก็เห็นรูปร่างของมันก่อนแล้ว
เพื่อนๆ ที่จบจิตรกรรมไปทำงานด้านไหนบ้าง
หลากหลายมาก ทำศิลปะก็ยังมี ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ เป็นนักออกแบบก็มี บางคนก็ไปเป็นผู้กำกับหนังโฆษณา กำกับหนัง ผมคิดว่าช่วงเรียนปริญญาตรีมันเป็นช่วงทางผ่านของชีวิตครับ ผมเชื่อว่าศาสตร์ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด ถึงเราจะเรียนศิลปะ แต่ว่าเราก็เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา หรือวรรณกรรม ที่สุดแล้วมันก็จะหล่อหลอมรวมมาเป็นก้อนเดียวกันได้
สุดท้ายอยากให้ฝากเคล็ดลับในการฝึกฝนตนเองสู่แวดวงศิลปะ
อย่างแรกคือฝึกฝีมือให้เต็มที่ เหมือนเราเป็นซามูไรต้องฝึกดาบ และฝึกสมองคืออ่านหนังสือเยอะๆ รับความคิดใหม่ๆ และเดินทาง แล้วเอาความคิดและสิ่งที่เราอ่านเหล่านั้นมาทำให้ตกผลึกกลายเป็นความคิดของเราเอง สุดท้ายเอามารวมกันเป็นงานศิลปะที่ไม่ได้เน้นหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แล้วงานจะสะท้อนสังคม ประวัติศาสตร์ และเมื่อเวลาผ่านไปงานของเราก็จะมีคุณค่า
คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหลักสูตรปริญญาศิลปบัณฑิต (ศ.บ.) หลักสูตรการศึกษา 5 ปี เปิดสอน 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะไทย และทฤษฎีศิลป์ นอกจากการสอบตรง ยังมีการเปิดรับนักเรียนเรียนดีทางศิลปะ และนักเรียนผู้มีประวัติดีเด่นด้านศิลปะอีกด้วย |