Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
นวพร ศรีนวกุล กับ นวัตกรรม ”สติ๊กเกอร์วัดความสุกของทุเรียน”

  Favorite

“คุณสมบัติของนักประดิษฐ์มีไม่มากเลย เพียงแค่คุณมีไอเดียที่ดี  มีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ และไม่กลัวต่อความล้มเหลว”

นวัตกรรม”สติ๊กเกอร์วัดความสุกของทุเรียน” โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและทีมนิสิตจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คว้ารางวัลรองชนะเลิศ  True Innovation Award 2010*

คุณ นวพร ศรีนวกุล ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ  ได้กล่าวถึงแนวความคิดและข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากเป็นนักวิจัยไว้อย่างน่าสนใจ

แนวความคิด

เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่ไม่สามารถบ่งชี้การสุกด้วยการตาเปล่า  ทางทีมงานจึงได้คิดค้นนวัตกรรมสติ๊กเกอร์ตรวจวัดระดับการสุกของทุเรียนจากการเปลี่ยนสี โดยอาศัยหลักการทำงานของปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเปลี่ยนสีที่เคลือบบนสติ๊กเกอร์ที่สามารถตรวจวัดปริมาณก๊าซเอทิลีนหรือฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากผลไม้ในช่วงการสุก (Ripening Hormone) และเกิดการเปลี่ยนสีที่สติ๊กเกอร์ 3 ระดับ ได้แก่ สีขาว คือ ดิบ, สีฟ้า คือ สุกกรอบ และสีน้ำเงินคือ สุกนิ่ม

จุดเด่นของนวัตกรรมคือ เป็นการวัดระดับความสุกที่ไม่ทำลายตัวอย่าง  (Non-Destructive Testing), ง่ายต่อการใช้งานเพียงแค่สวมสติ๊กเกอร์ไปบนก้านทุเรียน, มีความเชื่อถือได้สูง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ปัจจุบันได้มีการใช้งานในกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวกับผลไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงหรือผลไม้เพื่อการส่งออกที่ไม่สามารถสังเกตการสุกได้จากลักษณะภายนอก

แรงบันดาลใจในการพัฒนา

เกิดจากสมัยเรียนปริญญาโทสาขา Agriculture and Biosystem Engineering  จาก University of Arizona ซึ่งได้ทำโครงการวิจัยแบบนี้สำหรับแอ๊ปเปิ้ลไว้ติดบนต้นเพื่อบ่งบอกให้เกษตรกรรู้ว่าควรจะเก็บแอ๊ปเปิ้ลและส่งขายเมื่อไหร่ แต่พบปัญหาว่าต้นแอ๊ปเปิ้ลแต่ละต้นจะมีผลจำนวนมาก ทำให้มองเห็นสติ๊กเกอร์ไม่ชัดเจนนัก พอกลับมาเมืองไทยจึงได้นำมาพัฒนาต่อสำหรับผลไม้ไทย ร่วมกับ สวทช. นำทีมโดย ดร. วรรณี อินศิริกุล  โดยใช้เวลาคิดค้นประมาณ 3 ปี

คุณสมบัติของนักประดิษฐ์

คุณสมบัติของนักประดิษฐ์มีไม่มากเลย เพียงแค่คุณมีไอเดียที่ดี  มีความมุ่งมั่น มีแรงบันดาลใจ ไม่ย่อท้อ และไม่กลัวต่อความล้มเหลว เพราะแน่นอนว่าการวิจัยจะต้องมีความผิดพลาด แต่เราต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้  เชื่อว่าทุกคนมีความเก่งอยู่ในตัว เพียงแต่เราต้องดึงศักยภาพของตัวเราออกมาให้ได้

ข้อคิดในการเป็นนักประดิษฐ์จากคุณนวพร

- การคิดค้นอะไร ต้องคิดล้ำหน้าไปหลายปี เผื่อเวลาในการพัฒนาด้วย เพราะเมื่อพัฒนาเสร็จก็จะออกมาพร้อมใช้พอดีในช่วงนั้นๆ
 -การคิดค้นต้องยึดหลักว่า ใช้ประโยชน์ได้จริงและเป็นนวัตกรรม เราต้องคิดว่าสิ่งประดิษฐ์เราช่วยลูกค้าได้อย่างไรบ้าง เช่น สติ๊กเกอร์นี้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างแบรนด์ให้กับลูกค้าด้วย
- ต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและทำให้ดีที่สุด เพราะงานวิจัยไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่างานจะสำเร็จหรือล้มเหลวจึงต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างมาก
- ต้องคิดค้นสิ่งที่เป็นความถนัดของเรา และพัฒนาต่อยอด
- ทีมงานเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากงานวิจัยต้องใช้หลายๆ ศาสตร์มาผนวกกัน จึงต้องเลือกผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมมาร่วมกันคิด จะทำให้งานสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น

 

 * รางวัล True Innovation Award เป็นการประกวดนวัตกรรม โดยบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สำนักงานข่าวต่างประเทศ CNBC เพื่อเป็นการเปิดเวทีในการนำเสนอผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ ของไทย และเพื่อ'จุดประกาย' สร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมไทย

 

รางวัลรองชนะเลิศ  True Innovation Award 2010

ผลงาน  สติ๊กเกอร์วัดความสุกของทุเรียน
โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
คุณ วรรณี อินศิริกุล
คุณ นวพร ศรีนวกุล
คุณ ปิติรัตน์ กลิ่นธรรม
คุณ พจน์ สุพรหม์จักร
คุณ ศรัณย์ สุตันติวรคุณ
คุณ ปิตาชัย เดชไกรศรี

Tags
Posted by
ประชารัฐ
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us