Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] เจาะลึกชีวิตนิสิตคณะทันตแพทย์ รั้วจุฬาลงกรณ์

  Favorite

คณะทันตแพทย์เป็นอีกหนึ่งคณะยอดฮิตที่น้อง ๆ หลายคนให้ความสนใจ สำหรับบทความนี้ พี่จะพาไปพูดคุยกับ พี่น้ำทิพย์-ปรียานันทร์ ประเสริฐสิทธิ์ นิสิตชั้นปีที่ 6 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการเรียนการสอน เล่าประสบการณ์ในคณะทันตแพทย์ให้พวกเรากันค่ะ
 


ทำไมถึงอยากเข้ามาเป็นทันตแพทย์

โดยส่วนตัวแล้วเราชอบวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งนานแล้ว เห็นการทำงานของร่างกาย พวกระบบต่าง ๆ แล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจดี แต่จริง ๆ เราก็เป็นคนที่ชอบศิลปะด้วย เราเลยหาสาขาการเรียนที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับเรา แล้วทีนี้เรามาเจอคณะทันตแพทย์ที่คิดว่าน่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์เรามากที่สุดเพราะเราต้องเป็นหมอด้วยแล้วเราก็ต้องมีศิลปะด้วย ศิลปะในทีนี้ก็อย่างเช่นการตกแต่งฟันคน เป็นต้น
 


ทันตแพทย์ 6 ปี เรียนอะไรบ้าง

คณะนี้เราจะเรียนทั้งหมด 6 ปี ปี 1 ถึงปี 3 คือเรียนพวกวิชาพื้นฐาน เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา วิชาเลือกต่าง ๆ ในคณะ พอปี 2 เรียนเกี่ยวกับอะไรที่เป็นหมอมากขึ้น มีการผ่าอาจารย์ใหญ่ เรียนเรื่องร่างกายทำงานยังไงตั้งแต่ระดับใหญ่ ๆ กว้าง ๆ จนถึงการทำงานของเซลล์ แล้วเราก็จะมีการเริ่มเรียนโครงสร้างของฟัน

 

พอปี 3 เราจะเรียนเรื่องความผิดปกติของร่างกาย พวกโรคต่าง ๆ ทั้งหมดเลย พวกโรคในช่องปากและโรคภายในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย แต่คณะทันตแพทย์จะเน้นเรื่องช่องปาก ฟัน เหงือก เนื้อเยื้อ ทุกอย่างภายในช่องปากที่มากกว่าคณะแพทย์

 

เริ่มมีการทำแล็บ สิ่งที่แตกต่างจากคณะสายวิทย์คณะอื่นก็คือ ทันตแพทย์ศาสตร์จะไม่มีการทดลองสารเคมี แต่จะทำเป็นพวกงานฝีมือทุกอย่างหมดเลย เช่นการอุดฟัน การทำฟันปลอมต่าง ๆ ในหุ่นจำลอง

 

จากนั้นพอเราขึ้นมาปี 4 ถึงปี 6 ก็จะมีวิธีการเรียนที่คล้าย ๆ กันคือ เอาความรู้ที่เราเรียนมาทั้งหมด มาทำในคนไข้จริง ๆ เลยแต่ว่าก็จะมีอาจารย์ดูอยู่ตลอดเวลาเราปฏิบัติงาน
 

 


ทันตแพทย์มีสาขาแยกอีกไหม

จริง ๆ แล้วคณะทันตแพทย์มีอยู่หลากหลายสาขามาก ๆ ให้เราเลือก ประกอบด้วย ทันตกรรมจัดฟัน ทันตกรรมบดเคี้ยว ทันตกรรมประดิษฐ์ ทันตกรรมสำหรับเด็ก ทันตกรรมหัตถการ วิทยาเอ็นโดดอนต์ (รักษาคลองรากฟัน) ปริทันตวิทยา และศัลยศาสตร์ (กระดูกขากรรไกรและใบหน้า)

 

แต่เรามีในใจอยู่สองอย่างคือ เรื่องของทันตกรรมหัตถการ หรือ Operative Dentistry เป็นการอุดฟันขั้นสูง ที่อยากต่อสาขานี้เป็นพิเศษเพราะรู้สึกว่ามันสนุกดี เราต้องอุดให้เหมือนฟันจริงมากที่สุด ต้องใช้ทักษะการแกะสลักความสวยงามด้วย เป็นเหมือนงานฝีมือเล็ก ๆ เลย

 

อีกสาขานึงคือเกี่ยวกับการรักษารากฟัน หรือที่เรียกกันว่า วิทยาเอ็นโดดอนต์ (รักษาคลองรากฟัน) ที่สนใจสาขานี้ด้วยก็เพราะว่า สมัยก่อน เวลาปวดฟันทุกคนจะเลือกที่จะถอนทิ้ง และถึงเดี๋ยวนี้จะมีฟันปลอมต่าง ๆ มันไม่มีวัสดุที่ทดแทนฟันจริง ๆ ได้ที่สุดอยู่ดี การรักษารากฟันคือแทนที่เราจะถอนทิ้งเราก็สามารถเก็บฟันที่มีอยู่ได้ มันก็เลยเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแขนงหนึ่งสำหรับเราเหมือนกัน

 

ตอนจบไปส่วนมากจะเป็นทันตแพทย์อยู่แล้ว บางคนอาจจะเปิดคลินิก บางคนอาจจะไปทำกระทรวงสาธารณะสุขเลย ก็แล้วแต่ความสามารถและความสนใจของเรา
 


 


การฝึกงาน

ปี 4 ถึง 6 สามปีที่ทำคลินิก เหมือนกับเป็นการฝึกงานไปในตัวอยู่แล้ว เวลาฝึกงานก็คือฝึกในจุฬาฯ เพราะในจุฬามีคลินิกอยู่ในคณะ อาจจะมีช่วงท้าย ๆ ปี 6 ที่ออกไปฝึกในโรงบาลต่าง ๆ ประมาณปีนึง

 

สิ่งที่ชอบที่สุดในการเรียน

สิ่งที่ชอบที่สุดไม่เชิงว่าเป็นวิชาเรียนโดยตรง แต่สิ่งที่ชอบที่สุดคือความสุขที่เราได้รับเวลาเรารักษาคนไข้ เวลาเขามีอาการเจ็บป่วยแล้วเรารักษาเขาได้แล้วเขาหายดี ยิ้มได้ เราคือมีความสุขไปด้วยกับเขา

 

กิจกรรมภายในคณะ

คณะนี้ดูเหมือนจะเรียนหนักอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วทำกิจกรรมหนักไม่แพ้กัน ตัวอย่างกิจกรรมที่เราทำก็อย่างเช่น รับน้อง แข่งกีฬาทั้งในคณะและนอกคณะ แข่งร้องเพลง บางทีมีมินิคอนเสิจภายในคณะด้วย ตัวเราเองทำทั้งการเล่นดนตรีคณะและนอกคณะ ส่วนมากหน้าที่ของเราคือเป็นคนร้องเพลง เราได้มีโอกาสไปมีส่วนร่วมในวงประสานเสียงของทันตแพทย์แล้วก็วงของ Cu Corus ซึ่งเป็นวงของจุฬาฯ ด้วย
 


แบ่งเวลายังไงทั้งเรียนทั้งกิจกรรม

เราต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี มีปฎิทินวางแผนชีวิตตัวเอง เราจะต้องทำอะไรวันไหนบ้าง ส่วนหนังสือก็พยายามทยอยอ่านอยู่ตลอด เรียนเสร็จก็ทบทวนจะได้ไม่ลืม ที่สำคัญคือเราต้องแบ่งเวลาทำกิจกรรมให้ด้วย

 

สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนคืออะไร

เราคิดว่า ยากทั้งหมดเลย แต่ถ้าให้เลือกที่ยากที่สุดคือการจัดการกับคนไข้ เพราะเรื่องสอบเรื่องทำงานเราจัดการกับตัวเองได้ แต่คนไข้เราไม่สามารถควบคุมได้เลย ก็จะมีคนไข้บางคนที่ไม่ยอมมา ถ้าคนไข้ไม่มาเราก็จะเรียนไม่จบเพราะการดูแลคนไข้คือนับเป็นชั่วโมงเรียนของเรา ถ้าเขาไม่มาเราก็จะไม่ได้เวลาเรียน ถ้าเราทำไปหลายครั้งแล้วอยู่ดีๆเขาไม่มา เขาหายไปเลย เราก็จะเสียเคสนั้นไปเลย ชั่วโมงที่ผ่านมาก็ปล่อยไปเลยเพราะนับเป็นเคสว่าเราทำสำเร็จหรือไม่

 

ท้ายสุดนี้พี่น้ำทิพย์ได้ฝากบอกน้อง ๆ ว่า คณะทันตแพทย์ไม่เหมือนกับคณะแพทย์ เพราะแพทย์เป็นหมอทางร่างกาย ถึงแม้ว่าทันตะแพทย์คือจุดเล็ก ๆ ในส่วนช่องปาก แต่จริง ๆ เราคือต้องอาศัยความละเอียดแม่นยำมาก ๆ พลาดไปนิดเดียวก็ทำให้คนไข้เจ็บได้ ส่วนเวลาเรียนเราก็ต้องเป็นคนที่ขยัน ละเอียดและอดทน และสำหรับน้อง ๆ คนไหนที่คิดว่าตัวเองไม่มีฝีมือทางด้านศิลปะก็ไม่ต้องห่วงว่าจะเข้าไม่ได้เพราะมันฝึกกันได้ ถ้าเรามีความพยายามเราก็สามารถเป็น “หมอฟัน” ได้แน่นอนค่ะ
 

 


ข้อมูลการเข้าศึกษา

คณะทันตแพทยศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.dent.chula.ac.th

TCAS

รอบที่ 1 โครงการโอลิมปิกวิชาการ และโครงการความเป็นเลิศทางด้านภาษาอังกฤษ
Portfolio เกรด ผลงาน ตามที่กำหนด
 

รอบที่ 2 โครงการจุฬาฯ-ชนบท โครงการผลิตทันตแพทย์เพื่อพื้นที่ขาดแคลนทันตแพทย์ซ้ำซาก
ใช้คะแนน GAT + PAT 2
 

รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน กสพท
ใช้คะแนน วิชาเฉพาะ กสพท + 9 วิชาสามัญ (ไทย, สังคม, อังกฤษ, คณิต 1, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา)
 


เรื่อง: พิชญา วัชโรดมประเสริฐ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us