Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
TCAS รอบ 3 เลือก 6 อันดับ จัดอย่างไร ให้ได้ลุ้น !

  Favorite

TCAS รอบ 3 รับตรงร่วมกัน ในมุมมองของพี่นัทขอเรียกรอบนี้ว่า Stone Zone รวมพลคนหิน เพราะถือว่าเป็นรอบที่ลุ้นระทึกมาก เป็นการไฟว์กันที่แทบจะไม่มีข้อมูลประกอบอะไรมากมาย เช่น คะแนนสูงสุด-ต่ำสุดย้อนหลัง วิธีการคำนวณคะแนน อัตราการแข่งขัน เรียกได้ว่าวัดทั้งความสามารถและดวง! ดังนั้นรอบนี้สิ่งที่เป็นอาวุธหลักคือ คะแนนที่เด็ดดวง สามารถทะลวงเข้าวินได้ รอบนี้ใช้การสอบครบทุกตระกูล ทั้ง GAT, PAT, O-NET, วิชาสามัญ, วิชาเฉพาะ, GPAX  และ GPA และที่สำคัญเป็นการเปิดรับพร้อมกัน ในเวลาเดียว และจำกัดจำนวนได้เพียง 6 สาขาวิชาเท่านั้น ในเมื่อตัวช่วยช่างน้อยเหลือเกิน แล้วเราจะเลือก 6 อันดับอย่างไร ให้ได้ลุ้น นอนผึ่งพุงได้อย่างสบายใจ ไปพบคำตอบกัน

 

1. เข้าใจกติกาของระบบ

TCAS แต่ละรอบได้รับการออกแบบกฎกติกาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะเล่นสนามไหน ต้องแม่นในกติกาของสนามนั้น โดยสนามแข่งขันรอบที่ 3 มีกติกาดังนี้

- เลือกได้ 6 อันดับ

- เรียงตามลำดับความชอบ 

- กสพท อยู่ในรอบนี้

- มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์ตรงของใครของมัน แต่รับสมัครผ่าน ทปอ.

- มหาวิทยาลัยดำเนินการคัดเลือกเอง แล้วส่งผลการคัดเลือกกลับให้ ทปอ. โดยเรียงลำดับคนที่ต้องการมาให้ ทปอ.

- ทปอ. ประมวลผลตามลำดับการเลือก

- ทปอ.ประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ คืออันดับสูงสุดที่น้องสอบติด

- ใช้ระบบ Auto Clearing (ยืนยันสิทธิ์ในวันสัมภาษณ์)

 

2. เลือกใช้คะแนนให้ถูกต้อง   

คะแนนหลักที่นำมาใช้ในรอบนี้มีหลากหลาย ทั้งข้อสอบกลาง ประกอบด้วย 3 ตระกูลหลัก ได้แก่ O-NET, GAT/PAT และ วิชาสามัญ และตระกูลย่อย คือ วิชาเฉพาะ เช่น วิชาความถนัดทางแพทย์ ความถนัดทางนิติศาสตร์ การใช้คะแนนจึงขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาว่าจะกำหนดให้ใช้ค่าน้ำหนักอย่างไร หรืออาจจะมีบางโครงการที่กำหนดให้ใช้ในลักษณะของคะแนนขั้นต่ำ ดังนั้นหัวใจสำคัญคือต้องรู้หลักการใช้คะแนนด้วย ดังนี้  

 

1. การจับขั้วของคะแนน 

บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดการใช้องค์ประกอบของคะแนนแตกต่างกัน ทั้งต่างรอบ ต่างคณะสาขา ต่างมหาวิทยาลัย การจับขั้วการใช้งานมีความหลายหลายมาก เช่น 

- GAT/PAT เช่น ทุกคณะของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

- GAT/PAT + วิชาสามัญ เช่น สาขาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 

- GAT/PAT + วิชาเฉพาะ เช่น คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  

- วิชาสามัญ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล 

- วิชาสามัญ + วิชาเฉพาะ เช่น กสพท 

- GAT/PAT + วิชาสามัญ + วิชาเฉพาะ เช่น คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

 

2. การกำหนดคะแนนขั้นต่ำ 

คะแนนขั้นต่ำคือ เกณฑ์ของคะแนนที่น้องต้องทำให้ได้ไม่น้อยกว่าที่สาขากำหนด  มีลักษณะการใช้งาน 2 รูปแบบ

1. ใช้เป็นค่าน้ำหนักและใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำร่วมกัน เช่น การรับรอบที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดค่าหนักวิชาสามัญ วิชาสังคมฯ 20% และกำหนดคะแนนขั้นต่ำวิชาสังคม ไม่น้อยกว่า 25 คะแนน

2. ใช้เป็นแค่ตัวผ่านด่านเชคคุณสมบัติ ว่าจะได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันหรือไม่ เช่น การรับรอบที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ กำหนดให้ใช้คะแนน GAT อย่างเดียวในการคัดเลือก แต่กำหนดคะแนน O-Net ภาษาอังกฤษ ขั้นต่ำ 50 คะแนน เพื่อผ่านด่านเข้าสู่การแข่งขัน 

 

3. กำหนดค่าน้ำหนัก 

น้อง ๆ จะได้คะแนนเท่าไหร่ก็ได้ แล้วดึงคะแนนมาใช้ตามค่าน้ำหนักที่คณะ/สาขากำหนด ตามสูตรการคำนวณคะแนนของแต่ละสถาบัน

 

4. อายุของคะแนน

GAT/PAT มีอายุ 2 ปี วิชาสามัญ 1 ปี โอเน็ตเป็นอมตะ ! แต่บางสาขาอาจกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น จุฬาฯ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ และ ม.ศิลปากร (คณะโบราณคดี) ที่กำหนดให้ใช้คะแนน GAT/PAT ปี 2562 เท่านั้น 

 

3. เลือกคู่ขนานไปกับรอบที่ 4 Admissions

หลักการนี้จะช่วยให้น้อง ๆ มีแผนสำรองคณะในฝันไว้ถึงสองรอบ ในเมื่อคะแนนออกมาครบแล้ว น้องสามารถคำนวณคะแนนตามระบบ Admissions ควบคู่ไปด้วย ซึ่งรอบที่ 4 นั้นมีสถิติ ข้อมูล โปรแกรมคำนวณที่ช่วยให้มองเห็นความน่าจะเป็นในการเลือกคณะได้มากกว่ารอบที่ 3 จะได้วางแผนว่าควรเลือกคณะอะไร ในรอบไหน วางแผนการยืนยันสิทธิ์และการสละสิทธิ์ควบคู่กันไป โดยหลักการของรอบที่ 4 คือ

- เลือกได้ 4 อันดับ

- เรียงตามลำดับความชอบ และความสัมพันธ์ของคะแนน

- ใช้สถิติคะแนนสูงสุดต่ำสุด เปรียบเทียบคะแนน เพื่อช่วยเลือกคณะได้

- ทปอ. เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก

- ประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ คืออันดับสูงสุด

- ใช้ระบบ Auto Clearing (ยืนยันสิทธิ์ในวันสัมภาษณ์)

 

4. ใช้ตัวช่วย  

อย่างที่บอกไปแล้วตอนต้นว่ารอบนี้ข้อมูลที่น้อง ๆ จะใช้ประกอบในการเลือกคณะมีน้อยมาก แต่ก็ยังมีบางสถาบันที่ส่งมอบข้อมูลมาเป็นตัวช่วยให้แก่น้อง ๆ ดังนี้

- ม.ศรีนครินทรวิโวฒ มีโปรแกรมคำนวณคะแนนอัตโนมัติ ให้น้อง ๆ ไม่ต้องปวดหัวหาวิธีคำนวณคะแนนเอง

- ม.เกษตรศาสตร์ ใช้วิธีคำนวณคะแนนแบบง่าย ๆ เอาคะแนนมาบวกกันเลย แต่มีกฎเกณฑ์กติกาเรื่องคะแนนขั้นต่ำ คะแนนเฉลี่ย และองค์ประกอบการคัดเลือกที่ยิบย่อยและหลากหลายมาก ดังนั้นดูให้ดี แม้ไม่มีรางวัล แต่ความฝันพังได้ ถ้าเข้าใจองค์ประกอบผิด

- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศคะแนนต่ำสุด รอบที่ 3 ปี 61 (ทั้ง 3/1 และ 3/2) และมีวิธีคำนวณคะแนนตามหลักการง่าย ๆ ดังนี้
คะแนนเต็ม 30,000
คะแนน GAT/PAT x ค่าน้ำหนัก
9 วิชาสามัญ x 3 x ค่าน้ำหนัก
- ม.ธรรมศาสตร์ ประกาศคะแนนต่ำสุด TCAS รอบที่ 3/1 ปี 2561 (บางคณะ/สาขา)
- ม.นเรศวร ใช้วิธีคำนวณคะแนน TCAS รอบที่ 3 เหมือนรอบที่ 4 คือ

GPAX 20 %
O-NET 30 %
GAT/PAT 50 %

 

5. กล้าประกาศความฝันของตนผ่าน 6 อันดับในรอบที่ 3

รอบนี้ออกแบบมาเพื่อคนแกร่งที่พร้อมท้าชนคนที่จะมาแย่งฝันของเรา แต่ผลแห่งการชนกันนั้น ตอบไม่ได้ว่า ใครจะถูกชนแล้วได้ผ่านด่าน หรือต้องไปสู้ต่อในด่านต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุด การได้กล้าชนถือว่าเป็นวิถีของนักสู้ จงเลือกในสิ่งที่อยากเป็น แล้วรอผลอย่างมีสติและแผนสำรองในรอบต่อไป

 

5 แนวทางนี้ แม้จะไม่ได้ทำให้เราได้ความมั่นใจในการเลือกคณะ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่พลาดในการเลือกคณะ อย่างน้อยเลือกให้ถูกต้อง ถูกใจ และถูกทาง ส่วนผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ของเรา อย่าไปเครียดในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของคนอื่น เราแค่ทำให้หน้าที่ของเราให้ดีที่สุดก็พอแล้ว ขอให้ชัยชนะจงเกิดแก่น้อง ๆ แฟน PLOOK TCAS ทุกคนนะคะ เพี่ยงงง !!!

 

พี่นัท นัททยา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us