Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] เตรียมตัวเข้าคณะแพทยศาสตร์ แชร์จากรุ่นพี่ แพทย์ จุฬาฯ

  Favorite

อยากเป็นหมอ อยากเข้าคณะแพทยศาสตร์ รู้หรือเปล่าว่าต้องเตรียมตัวหนักขนาดไหน เข้าไปแล้วเรียนอะไรบ้าง พี่ต้า-รัฐพงศ์ รงคพิชญ์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 หรือ จะมาให้คำตอบพวกเรากันค่ะ

 

จุดเปลี่ยนอยากเป็นหมอตอนม.ปลาย

เมื่อก่อนตอนอนุบาลถึงมัธยมต้นอยากเป็นหมอเพราะที่บ้านอยากให้เป็น โดนปลูกฝังมาตลอดว่าให้เป็นหมอ แต่จริง ๆ แล้วตอนนั้นเรียน ๆ มาก็ไม่ได้รู้สึกอะไร

 

ตอน ม. 3 ย้ายไปโรงเรียนใหม่ที่เป็นโรงเรียนที่โด่งดังเรื่องของสายวิทย์ และสภาพสังคมมันเปลี่ยนไป เพื่อน ๆ ก็อยากเป็นหมอกันเยอะรวมกับความต้องการกับที่บ้านเลยคิดว่าเข้าหมอก็ได้แต่ยังไม่ได้มีความชอบขนาดนั้น ตอน ม. 5 มีแล็บผ่ากบ ผ่าไส้เดือน เราไม่ชอบเลย เราเลยเป็นคนยืนดูตลอด

 

แต่จุดเปลี่ยนความคิดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราชอบหมอจริง ๆ ก็มาเป็นตอน ม.ปลาย คือมีจุดหนึ่งที่เราเห็นวีดีโอในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่สื่อให้เห็นถึงความยากไร้ ความขาดแคลนของผู้ที่ไม่ได้รับโอกาสในการรักษาทางการแพทย์ มันทำให้เราได้เห็นค่าชีวิตคน เราเห็นว่าบางคนไม่ได้รับโอกาสทางการใช้ชีวิตโดยเฉพาะทางการแพทย์ เราเลยคิดว่าถ้าเราเป็นหมอเราก็สามารถไปช่วยพวกเขาได้
 


การแบ่งเวลาเรียน

ตอน ม. 6 ปกติวันจันทร์-ศุกร์ โรงเรียนเราบังคับให้อยู่หอ ก็จะไปเรียน 8.00 – 16.00 น. หลังเลิกเรียนก็ออกกำลังกาย แบบเลิกเรียนเครียด ๆ ไปออกกำลังกายไรงี้ กินข้าวอาบน้ำเสร็จประมาณทุ่ม 2 ทุ่ม แล้วก็ไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด อ่านจนห้องสมุดปิด ประมาณ 4 ทุ่ม ก็กลับมาอ่านต่อที่หอ ถึงเที่ยงคืน ถ้าเสาร์อาทิตย์ก็ไปเรียนพิเศษตามปกติ แต่ว่าเหลือเวลาให้ตัวเองได้ทบทวนกับฝึกทำโจทย์ด้วย อย่าลงเรียนแน่นเกินไป

 

เตรียมตัวสอบ วิชาเฉพาะ กสพท

เราสอบเข้าทางกสพท เราเริ่มอ่านหนังสือจริงจังตอนปิดเทอม ม. 5 ขึ้น ม. 6 แต่ปีเราสอบวิชาเฉพาะ กสพท เดือนธันวาคม สำหรับเราเราก็รู้สึกว่าข้อสอบมันก็ออกแนวเดิมทุกปี ความยากประมาณเดิม ถ้าทำโตทย์ข้อสอบเก่าได้ ข้อสอบจริงเราก็ทำได้นะ วิธีของเราคือเรียนเนื้อหาให้ครบก่อน พวกความรู้พื้นฐานที่ต้องใช้ จากนั้นก็จะไปทำโจทย์เลย ส่วนไหนในเนื้อหาที่ยังไม่แม่นก็จะได้จากทำโจทย์นี่แหละ ส่วนความถนัด เราก็เรียนพิเศษของออนดีมานด์ ก็ตั้งใจเรียนมาก คือสำหรับเราเรารู้สึกว่า เชาว์กับเชื่อมโยงมันต้องใช้ประสบการณ์ค่อนข้างเยอะในการทำ ส่วนพวกจริยธรรมก็อยู่ที่การซึมซับแนวคิดของผู้สอนตอนที่เราเรียนพิเศษมากกว่า เพราะบางทีโจทย์มันก็กำกวม

 

เตรียมตัว 9 วิชาสามัญ

อ่านเนื้อหาให้ครบก่อน อ่านวนไปวนมาจนกว่าจะแม่น วันนึงก็อ่านประมาน 2 – 3 วิชา วางแผนว่าในสัปดาห์นี้จะอ่านวิชาไหนวันไหน ให้มันครบทุกวิชา ห้ามทิ้งสักวิชา อ่านเนื้อหาครบก็วางแผนแบบเดิมแค่เปลี่ยนจากอ่านเนื้อหาเป็นทำโจทย์ ก็พอใกล้ ๆ สอบก็จะเริ่มทำข้อสอบจริง เพราะโจทย์ทุกปีมันก็จะออกวน ๆ ซ้ำ ๆ แนวเดิม ไม่ต้องเครียดมากค่อย ๆ อ่านไป วิธีการเตรียมตัวก็คือเราจะคิดว่าวันนึงเราจะอ่านกี่วิชา เสาร์อาทิตย์อ่านกี่วิชา กี่ชั่วโมงบ้าง จะกำหนดว่าวันไหนอ่านวิชาไหน วิชาไหนเน้นหน่อยเราก็จะใส่ไปตารางเราเยอะหน่อย ต้องวางแผนล่วงหน้าจะได้อ่านทัน สำหรับชีววิทยาเราก็อ่านไปหลายรอบ วิชาอื่นก็ทำโจทย์เยอะจนโจทย์มันเริ่มซ้ำแล้วเราชิน

 

การติวพิเศษ

ติวพิเศษเราก็ติว แต่เราเรียนไม่ค่อยติวเยอะเมื่อเทียบกับคนอื่น บางอย่างก็รู้สึกว่าอ่านเองเอาดีกว่า ไม่ชอบเรียนเยอะรู้สึกเหนื่อย 550555 ที่เราเรียนจริง ๆ ก็มี ชีววิทยา, ฟิสิกส์, อังกฤษ, ไทย และสังคม แต่ก็จะพยายามเรียนคอร์สสรุปเลยทีเดียว ละก็มานั่งอ่านทวนเอา ที่เหลือแล้วลงคอสทำโจทย์เลย

 

แนะนำหนังสือให้น้องที่เตรียมสอบเข้า

เราอ่านหนังสือเยอะมากหลายสิบเล่ม เราอยากแนะนำคือหนังสือเรื่อง “คัมภีร์โจทย์เคมีขั้นเทพ พิชิต 9 วิชาสามัญ + PAT2” เรียบเรียงโดย สิรจักร คงวิวัฒน์เสถียร ถ้าเป็นหนังสือชีววิทยา เราแนะนำหนังสือเรื่อง “Essential Biology” ของดร. ศุภณัฐ ไพโรหกุล เป็นหนังสือแนวตะลุยโจทย์ ส่วนฟิสิกส์ เราเรียนพิเศษของ Ideal ที่ตึกวรรณสรณ์ สยาม วิชาเคมีอ่านเรื่อง CRACK, SYNTAX, VACCINE ของ คุณณัฐ อุดมพาณิชย์ เราก็อ่านอ่านทวน ๆ ไปเรื่อย ๆ ถ้ารู้เนื้อหาในระดับหนึ่งแล้วเราว่าไปทำโจทย์เลยดีกว่า ข้อไหนทำไม่ได้ก็ลองดูเฉลยเอา ก็คืออ่านแค่เรื่องที่เราไม่มั่นใจ เน้นทำโจทย์เยอะ ๆ

 

แพทย์ 6 ปี เรียนอย่างไรบ้าง

ถึงแม้ว่าตอนสอบเข้ามาก็มีโครงการต่าง ๆ ที่แตกต่างกันตอนรับเข้า แต่ทุกคนก็เรียนเหมือนกันตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 3 เลย ปี 1 เราจะเรียนพวกพื้นฐานอย่างเช่น วิชาชีวะที่ไม่ลงลึกมาก เรียนเรื่องเซลล์ สารอาหาร การส่องเนื้อเยื่อขั้นพื้นฐาน การดูแลรักษาสุขภาพ และเรื่องโรคระบาด เป็นต้นส่วนปีสองเราก็จะเรียนเป็นระบบต่าง ๆ ของร่างกายทุกระบบเลย พอเรียนครบทุกระบบแล้ว ก็จะเรียนผิดปกติของระบบต่าง ๆ ต่อไปในปี 3

 

ปี 1 ถึงปี 3 จะเรียนแบบเลคเชอร์ พอปี 4 ถึง ปี 5 แล้วเราจะได้เข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลไปดูแผนกต่าง ๆ ให้ครบ ตรงช่วงนี้เป็นช่วงที่ทำให้นิสิตส่วนใหญ่เห็นภาพว่าเราเหมาะกับแผนกไหนและสามารถวางแผนในการเรียนต่อในสาขาเฉพาะได้ ในปีหกจะเป็นการที่เราต้องตรวจคนไข้จริง ๆ แล้ว เราก็จะตรวจคนไข้ในโรงบาลและดูแลรุ่นน้องที่อยู่ปีสี่ปีห้าที่มาดูแผนกต่าง ๆ อีกที

 

หลังจากจบปี 6 ทุกคนต้องไปใช้ทุนก็คือต้องไปเป็นหมอที่ต่างจังหวัด ใกล้ไกลแล้วแต่เราจับฉลากได้ มันก็มีประโยชน์เพราะเราก็ได้ไปฝึกฝีมือ ได้ประสบการณ์ หลังจากใช้ทุนเสร็จแล้วเราถึงมาเลือกสาขาเฉพาะทางเพื่อเพิ่มโอกาสของตัวเองก็จะตรวจเคสหรือคนไข้ยาก ๆ ได้ ระยะเวลาการเรียนก็แล้วแต่สาขาเฉพาะทางที่เราเลือกเรียนมันก็จะไม่เหมือนกัน แต่หลังจากใช้ทุนแล้วใครจะไม่เรียนเฉพาะทางต่อแล้วจบเลยก็ได้ก็จะเป็นหมอทั่วไปตรวจคนไข้ง่าย ๆ แล้วแต่คนเลย
 


คิดจะเรียนสาขาเฉพาะทางต่อไหม

เราคิดว่าจะเรียนต่อสาขาเฉพาะทางต่อ แต่ยังไม่ได้สัมผัสของจริงว่าแต่ละแผนกมีการทำงานยังไงบ้าง ตอนนี้ยังไม่แน่ใจ แต่ตอนปี 4 ปี 5 น่าจะรู้ แต่ถ้าคิดตอนนี้ก็อาจจะเรียนต่อเฉพาะทางเรื่องหัวใจเพราะตอนนี้เราเรียนเรื่องหัวใจเบื้องต้นอยู่ก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดี เป็นเรื่องหัวใจและหลอดเลือด ส่วนตัวแล้วเราคิดว่ามันไม่ได้เน้นการท่องจำเท่ากับอันอื่น มีการใช้เหตุผลมากกว่า เราเลยอยากจะเรียนต่อเฉพาะทางด้านนี้มากขึ้น

 

การเรียนต่อสาขาเฉพาะของแพทย์เตรียมตัวอย่างไร

จริง ๆ ก็ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เข้าคณะมาเลย เพราะการเรียนต่อเฉพาะทางจะดูเกรดตอนอยู่ในคณะว่าเราได้เกรดเท่าไหร่ โดยอิงจากคะแนนกลุ่ม แล้วตัดคนเอา

 

สิ่งที่ชอบที่สุดในการเรียน

มีเรื่องของหัวใจ ระบบประสาท แล้วก็เรื่องระบาดวิทยาซึ่งเป็นวิชาทางสถิติ เช่นคนจำนวนเท่าไหร่ติดโรคถึงจะเรียกว่าโรคระบาด รวมถึงวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ เราชอบเวลาเข้าแล็บด้วยเพราะมันได้ลงมือทำอะไรจริง ๆ เวลาเข้าแล็บก็จะแตกต่างกันไปตามระบบของร่างกาย มีผ่าอาจารย์ใหญ่ มีการตัดเนื้อเยื้อมาส่องกล้องจุลทรรศ์ต่าง ๆ

 

การฝึกงาน

คณะนี้ก็ฝึกงานตอนเรียนอยู่แล้วอย่างที่บอกว่าเราต้องไปเรียนรู้ในโรงพยาบาลจริง ๆ ตั้งแต่ปี 4 ถึงปี 5 ตรงนี้มันทำให้เราได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย นอกจากนั้นเรายังต้องใช้ทุนคือไปรักษา ไปตรวจคนไข้ที่ต่างจังหวัดอีกตรงนี้เราเห็นว่ามันก็เป็นการฝึกงานจริง ๆ เหมือนกันและมันทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

                 

เทคนิคในการเรียน

คณะแพทยศาสตร์ จะเรียน 8 โมง ถึง 4 โมงเย็น ทุกวันยกเว้นวันพุธ มันจะมีการเรียน E-learning ก็คือคนที่ไม่ไปเรียนก็นั่งเรียนอยู่บ้านก็ได้ สำหรับเราไปเรียนทุกคาบเพราะจะให้เรียนกับคอมพิวเตอร์ทั้งวันก็คงไม่ไหว และถ้าตามในคาบไม่ทันเราก็กลับมาดู E-learning ที่สำคัญคือกลับมาก็ต้องทบทวนบทเรียนทุกวัน ตอนใกล้สอบจะได้ไม่หนักมาก เที่ยวเล่นได้ตามปกติไม่ได้หนักขนาดนั้น เราคิดว่าเราพอมีเวลาอยู่บ้างทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการจัดการเวลาของตัวเราเอง เรื่องแผนการอ่านหนังสือเราจะอ่านเรียงไปเรื่อย ๆ ตามเรื่องที่เรียน เราต้องมั่นใจว่าแต่ละเรื่องที่เรียนไปในหนึ่งวันเราเข้าใจมันทั้งหมด

 

คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้าศึกษาต่อในคณะนี้

สู้ ๆ นะ พี่เชื่อว่าความพยายามชนะได้ทุกอย่าง ก่อนที่จะเข้าคณะนี้พี่อยากให้น้องคิดดี ๆ ก่อน อยากให้น้องถามตัวเอง บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นหมอแล้วรายได้เยอะ แต่จริง ๆ แล้วมันแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง อยากถามตัวเองด้วยว่ามันคุ้มไหมที่เราต้องเรียนหนักทำงานหนักแล้วเราจะรับได้ไหม

 

สุดท้ายนี้พี่ต้ายังได้ย้ำว่าอยากให้น้อง ๆ ใช้ความชอบมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ ในการเลือกเรียนคณะนี้ เพราะมันจะเป็นสิ่งที่น้อง ๆ อยู่กับมันไปทั้งชีวิตค่ะ พี่ ๆ เชื่อว่าถ้าหากต้องมีความชอบและมีความตั้งใจไม่ว่าจะทำอะไรน้อง ๆ สามารถทำได้ดีและประสบความสำเร็จได้แน่นอนค่ะ

 

เรื่อง: พิชญา วัชโรดมประเสริฐ

บทความที่เกี่ยวข้อง 
[รีวิว] พี่ไม้ แพทย์ จุฬาฯ เทคนิคการอ่านหนังสือ การเตรียมตัวสอบวิชาเฉพาะแพทย์
กว่าจะเป็นหมอ ปลายทางหมอ...ไปทางไหน รวมเส้นทางสู่คณะแพทย์
ข้อดี - ข้อเสีย ก่อนตัดสินใจเลือกเรียนหมอ
คณะแพทย์ไม่ได้มีแค่เรียนหมอ
16 สถาบันผลิตแพทย์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาตรฐานระดับโลก
เจาะลึก กสพท คืออะไร สอบอะไรบ้าง 
อยากติด กสพท ต้องได้คะแนนเท่าไหร่ ตั้งเป้าคะแนน ด้วยโปรแกรมคำนวณ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us