Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Rare Item 7 สิ่งต้องมี ใน TCAS GAME ศึกต่อสู้ ในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย

  Favorite
ในสนามเกมออนไลน์ Rare Item (ของล้ำค่า อาวุธพิเศษ ของหายาก พลังวิเศษ ของเทพ) คือสิ่งที่เหล่า gamer จะต้องทุ่มเทพลังและใช้ทักษะมากมายเพื่อไล่ล่าและหวังใช้เป็นอาวุธให้ตัวละครในเกมมีพลังมากขึ้น มีประสิทธิภาพในการเอาชนะคู่ต่อสู้ ในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างกัน ยิ่งน้องมี Rare Item มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้เปรียบในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ลองมาดูกันว่าในระบบ TCAS มี Rare Item อะไรบ้าง ที่นักล่า...ต้องมี ! 
 

 

1. Portfolio  

ในระบบ TCAS ให้ Portfolio เป็นรอบที่ 1 ของระบบการคัดเลือก หลายคนมุ่งมั่นที่จะผลิตพอร์ตให้อลังการงานสร้าง แต่นั่นยังไม่ใช่อาวุธเด็ดที่ใช้ปราบคู่แข่ง หรือชนะใจกรรมการ แล้ว Portfolio แบบไหน เข้าขั้น Rare Item มาดูกัน 
 
1. โดดเด่นด้านการสื่อสารที่ชัดเจน 
เห็นแค่หน้าปก บอกได้ทันทีว่าอยากเข้าคณะอะไร เปิดข้างในยิ่งชัดเจนว่าเหมาะที่จะเข้าคณะนี้ ปิดพอร์ตแล้วเงยหน้ามองอีกที คนนี้ล่ะใช่ ว่าที่นิสิตนักศึกษาของสถาบัน นั่นหมายถึงว่าพอร์ตของคุณต้องดูออกว่าเกี่ยวข้องกับคณะอะไร ผลงานที่เลือกใส่สื่อสารชัดว่าเกี่ยวข้องกับคณะที่จะเข้า 
 
2. ของจริงไม่ต้องปั้นเยอะ ปวดตา 
บางคนออกแบบจนเลอะเทอะ เยอะมาก เยอะที่ว่าไม่ใช่ผลงาน แต่คือ “ความเยอะ” ที่มีอยู่ในตัว ที่ไม่จำเป็นหรือเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อการแข่งขัน เช่น สีที่โดดเด่นจนลานตา ลายที่รุงรังจนสื่อความไม่รู้เรื่อง เลือกสรรของจริง ที่เด่น เด็ด ปัญหาของข้อนี้คือ การไม่มี “ของเด็ด” ใส่ลงไปในพอร์ต ไม่มีเนื้อเลยเจือปนน้ำเต็มไปหมด หนาเข้าไว้ สีสันน่าสนใจ ไส้ในตะติ๊งโหน่ง ซึ่งในสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือด บอกเลยว่าทำแบบนี้..ได้ แต่ไม่...ชนะ!   
 
3. รายละเอียดสำคัญต้องครบ จบในพอร์ตเดียว 
รายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต้องมีครบถ้วน ได้แก่ 
- หน้าปก ภาพแรกแห่งความประทับใจ First Impression  
- ประวัติส่วนตัว ไม่ลงลึกราวกับญาติสนิท แต่ต้องครบในสิ่งที่ช่วยทำให้คณะกรรมการรู้จักเราได้ในเพียงชั่วระยะเวลาการอ่านสั้น ๆ  
- ประวัติการศึกษา เอาแค่ระดับมัธยมศึกษาพอ อนุบาลหรือประถมเก็บไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง 
- เหตุผลที่เลือกเรียน บอกเป้าหมาย ความฝัน ความมุ่งมั่นทุ่มเท ที่มีต่อคณะนี้ แสดงความถึงจริงใจและจริงจัง
- รางวัล ผลงาน และเกียรติบัตร เอาที่ปัง เปรี้ยง ถ้าคุณมีเท่า ๆ กับทุกคน คุณก็ไม่ต่างอะไรจากพวกเขา และทำไมกรรมการต้องเลือก...คุณ! 
- กิจกรรม หลายคนแยกไม่ออก ระหว่างกิจกรรมกับผลงาน ผลงานคือสิ่งที่คนอื่นยอมรับและให้การรับรอง แต่กิจกรรมคือสิ่งที่เราเอาตัวเราเข้าไปรับรองตัวเอง แล้วนำเสนอให้เห็นว่า เรามีของ แม้จะไม่ได้รางวัล แต่เป็นกิจกรรมที่สะท้อนศักยภาพ ความถนัด และความสนใจของเรา 
 
สรุป Portfolio ที่เป็นระดับ Rare Item คือ เครื่องมือที่จะช่วยบอกกรรมการว่า “คุณมีของอะไร และทำไมมหาวิทยาลัยต้องรับคุณเข้าศึกษา” 
 

2. Grade  

เกรด หรือ GPAX ในระบบ TCAS จะทำงานใน 2 ลักษณะ คือ 

1. เป็นค่าน้ำหนัก 

หมายถึง นำ GPAX ที่ได้ ไปคำนวณตามสัดส่วนของแต่ละสาขา เพื่อแปรผลให้เป็นคะแนน เช่นในรอบ 4 Admissions ใช้ค่าน้ำหนักของ GPAX 20 % น้องได้ GPAX 6 ภาคเรียน 3.0 เข้าสูตรการคำนวณคะแนนตามระบบ (GPAX x 75 x 20) จะได้คะแนน 4,500 คะแนน เป็นต้น  
2. เป็นคะแนนขั้นต่ำ 
หมายถึง คะแนนที่ได้ต้องถึงเกณฑ์ที่สาขากำหนด ถ้าไม่ถึงถือว่าขาดคุณสมบัติ ทั้งเกรดเฉลี่ยรวม (GPAX) และ เกรดเฉลี่ยรายวิชา (GPA) เช่น รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน ม.ศิลปากร คณะโบราณคดี GPAX ขั้นต่ำ 2.0, ม.ธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน GPAX ขั้นต่ำ 3.25 หรือ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเทคนิกการแพทย์ กำหนด GPA ขั้นต่ำ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ แต่ละวิชา ไม่ต่ำกว่า 2.75 
 
สรุป Grade ระดับ Rare Item คือเกรดที่สูงที่สุดที่สามารถทำได้ อย่าคิดเทเกรด แล้วมุ่งแต่คะแนนสอบอย่างเดียว...เด็ดขาด ! เกรดไม่ผ่าน...งานเข้า ! 
 

3. Score  

คะแนนข้อสอบกลาง ประกอบด้วย 3 ตระกูลหลัก ได้แก่ O-NET, GAT/PAT และ วิชาสามัญ และตระกูลย่อย คือ วิชาเฉพาะ เช่น วิชาความถนัดทางแพทย์ ความถนัดทางนิติศาสตร์ การใช้คะแนนจึงขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาว่าจะกำหนดให้ใช้ค่าน้ำหนักอย่างไร หรืออาจจะมีบางโครงการที่กำหนดให้ใช้ในลักษณะของคะแนนขั้นต่ำ ดังนั้นหัวใจสำคัญคือต้องรู้หลักการใช้คะแนนด้วย ดังนี้  
 
1. ประเภทของคะแนน 
บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดการใช้องค์ประกอบของคะแนนแตกต่างกัน ทั้งต่างรอบ ต่างคณะสาขา ต่างมหาวิทยาลัย การจับคู่การใช้งานมีความหลายหลายมาก เช่น การรับรอบที่ 3 
GAT/PAT เช่น ทุกคณะของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 
GAT/PAT + วิชาสามัญ เช่น สาขาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 
GAT/PAT + วิชาเฉพาะ เช่น คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  
วิชาสามัญ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล 
วิชาสามัญ + วิชาเฉพาะ เช่น กสพท 
GAT/PAT + วิชาสามัญ + วิชาเฉพาะ เช่น คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.
 
2. การกำหนดคะแนนขั้นต่ำ 
คะแนนขั้นต่ำคือ เกณฑ์ของคะแนนที่น้องต้องทำให้ได้ไม่น้อยกว่าที่สาขากำหนด  มีลักษณะการใช้งาน 2 รูปแบบ
1. ใช้เป็นค่าน้ำหนักและใช้เป็นเกณฑขั้นต่ำร่วมกัน เช่น การรับรอบที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดค่าหนักวิชาสามัญ วิชาสังคมฯ 20% และกำหนดคะแนนขั้นต่ำวิชาสังคม ไม่น้อยกว่า 25 คะแนน
2. ใช้เป็นแค่ตัวผ่านด่านเชคคุณสมบัติว่าจะได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันหรือไม่ เช่น การรับรอบที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ กำหนดให้ใช้คะแนน GAT อย่างเดียวในการคัดเลือก แต่กำหนดคะแนน O-Net ภาษาอังกฤษ ขั้นต่ำ 50 คะแนน เพื่อผ่านด่านเข้าสู่การแข่งขัน 
 
3. กำหนดค่าน้ำหนัก 
น้อง ๆ จะได้คะแนนเท่าไหร่ก็ได้ แล้วดึงคะแนนมาใช้ตามค่าน้ำหนักที่คณะ/สาขากำหนด 
 
4. อายุของคะแนน
GAT/PAT มีอายุ 2 ปี วิชาสามัญ 1 ปี โอเน็ตเป็นอมตะ ! แต่บางสาขาอาจกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น การรับรอบ 3 ของ จุฬาฯ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ และ ม.ศิลปากร (คณะโบราณคดี) ที่กำหนดให้ใช้คะแนน GAT/PAT ปี 2562 เท่านั้น 
 
สรุป Score ที่เป็น Rare Item คือ คะแนนยิ่งสูงยิ่งปลอดภัย แต่ถ้าระดับพอทำใจ ก็ควรเกินคะแนนเฉลี่ย (Mean) 
 

4. Activity 

ใครอยากล่าไอเทมที่ทรงพลังตัวนี้ มาดูกันว่ากิจกรรมแบบไหน ถึงเป็น Rare Item 

 

1. กิจกรรมที่สะท้อนตัวตน
เลือกกิจกรรมที่อยากทำที่สุด จากนั้นขยายอาณาเขต จากในโรงเรียนสู่นอกโรงเรียน กิจกรรมที่เป็นอาวุธได้ต้องเป็นกิจกรรมที่สร้างแรงผลักดันให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ตื่นตัวกับการร่วมกิจกรรม และส่งผลไปสู่การตื่นตัวด้านอื่น ๆ 
 
2. กิจกรรมที่แสดงความโดดเด่น 
ลุยกิจกรรมที่ทำแล้วฟิน ปัง โดดเด่น และมีผลงานเป็นใบรับรองยืนยันความสามารถ ค่อย ๆ ลดความหลากหลายจากกิจกรรมข้อ 1 ลง เปลี่ยนมาจริงจังกับกิจกรรมที่ใช่ที่สุด ซึ่งอาจจะมีไม่กี่กิจกรรมก็ได้ เพราะการสร้างทางเลือกที่หลากหลายมีไว้ให้ฝึกเลือก ไม่ใช่มีไว้ให้ไม่รู้จักเลือก 
 
3. กิจกรรมที่ชักนำไปสู่คณะ 
ไปค่ายเพื่อเปิดประสบการณ์ ตระเวนให้หลายค่าย หลากสถาบัน ทั้งชอบที่สุด ชอบรองลงมา คล้ายว่าจะชอบ คุ้น ๆ ว่าเคยชอบ หรืออยากชอบแต่ไม่กล้า  อย่าหมกตัวเองไว้กับความฝันเงียบ ๆ ความฝันที่ผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้นแล้วต่างหาก ถึงจะเป็นความฝันที่แท้จริง  
 
4. กิจกรรที่เชื่อมโยงกับอาชีพ 
กิจกรรมนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจสู่สาขาอาชีพที่ปรารถนา ลองไปสัมผัสอาชีพจริง ไปร่วมกิจกรรมกับเจ้าของอาชีพในฝันของเรา ไปเรียนรู้ดูวิถีชีวิตว่าทำงานอย่างไร ภาพมโนของอาชีพนี้เป็นแบบนี้  ภาพจริงเป็นแบบไหน 
 
5. กิจกรรมที่สร้างทักษะชีวิต 
เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกคณะ เลือกอาชีพโดยตรง แต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตเป็นและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รู้จักปรับตัว รับมือกับปัญหา และความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
สรุป Activity ระดับ Rare Item ต้องล่ามาให้ครบ 5 ข้อ รับรอง เทพแน่ ตัวแม่ของทุกสนาม ! 
 

5. Skill 

ข้อนี้คืออาวุธที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาจากข้อที่ 4 Activity หลังจากทำกิจกรรมมาสักระยะหนึ่งเราจะพบว่า ในกิจกรรมที่หลากหลาย อาจมีไม่กี่ชนิดที่เราทำได้ดี จนพัฒนาเป็นทักษะหรือความสามารถพิเศษ ที่นำไปใช้ต่อยอดด้านต่าง ๆ ได้ ดังนี้

1. ด้านการศึกษาต่อ น้องสามารถนำทักษะนี้ไปใช้นำเสนอผ่าน Portfolio หรือเข้ารอบโควตา ความสามารถพิเศษได้ เช่น มีทักษะด้านดนตรี ศึกษาต่อวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีทักษะด้านการวาดภาพ ศึกษาต่อคณะจิตรกรรมฯ 

2. ด้านการทำงาน ในชีวิตจริงเราแทบไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนในการทำงานสักเท่าไหร่ แต่ใช้ความสามารถจากทักษะที่เรามีและได้รับการฝึกฝนมาแล้ว ถึงแม้จะเลือกเรียนไม่ตรงกับทักษะ แต่สามารถนำไปส่งเสริมสนับสนุนกันได้ เช่น มีทักษะการพูด แต่ไม่ได้ศึกษาต่อด้านวาทะวิทยา เพราะเลือกครุศาสตร์ น้องก็สามารถนำทักษะการพูดไปพัฒนาการสอนของตน
 
สรุป Skill ในรูปแบบของ Rare Item คือ ตัวที่ได้มาแล้วทำให้เราทรงพลัง มีอำนาจต่อรอง มีมูลค่าเพิ่ม และออกแบบทางเลือกให้หลากหลายได้ เป็นอาวุธที่ใช้ได้ตลอดชีวิต  
 

6. Goals 

คนมีเป้าหมาย คือคนที่มองเห็นอนาคต คนที่เห็นอนาคต คือคนที่กำหนดปัจจุบันว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร  โดยผสมบทเรียนจากอดีต ชาว TCAS หลายคน เรียนกวดวิชาอย่างหนัก ทำกิจกรรมอย่างแน่น สุดท้ายไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเอาไปใช้เข้าคณะอะไร 

 

“เราอยากเป็นอะไร” เป็นคำถามไว้ใช้ตอนอนุบาล วันนี้ลองเปลี่ยนคำถามใหม่ “เราจะเป็นอะไร” ไม่ใช่ “อยากเป็นอะไร” แค่ความอยาก มาแล้วก็จากไป แต่คำว่า “จะเป็น” หมายถึงความมุ่งมั่นที่กำหนดวิธีการว่าจะเป็นสิ่งนั้น เช่น บอกตัวเองว่า “จะเป็นสื่อมวลชน” แปลว่าต้องคิดต่อว่า จะต้องเรียนอะไร ถนัดอะไร สนใจอะไร และเตรียมตัวอย่างไร จนพบคำตอบว่า สื่อมวลชนต้องมีความรู้รอบตัว กล้าคิดกล้าแสดงออก สื่อสารอย่างรับผิดชอบ หลังจากนั้นกระบวนการทำคลอดให้เป็นสื่อมวลชนถึงเริ่มต้นขึ้น 
 
น้อง ๆ อาจเริ่มต้นด้วยการถามตัวเองว่า อยากเป็นอะไรก่อนก็ได้ แต่ต้องถามต่อเพื่อให้ความอยากกลายเป็นความมุ่งมั่นให้ได้ ถามจนตอบตัวเองได้ว่า “เราจะเป็นอะไร”
 
สรุป Goals คือ Rare Item ที่ทำให้เราไม่จบแค่ความอยาก แต่ต้องจบด้วยการได้เป็น...ในสิ่งที่อยาก! 
 

7. Mentor 

ทรูปลูกปัญญาจัดทัพปรับทีมพี่เลี้ยงดูแลน้อง ๆ ครบถ้วนทุก Platform ทั้ง website, facebook, Line@twitter, Application, Plook Magazine และ Event ต่าง ๆ เช่น School Tour, Up Skill เป็นต้น น้อง ๆ สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ เป็นตัวช่วยทั้งให้คำปรึกษา สรรหาข้อมูล คัดกรองอาวุธที่เหมาะสมในแต่ละสนามแข่งขัน 

 

สรุป มี Mentor อย่างทรูปลูกปัญญา รับรองเป็นต่อทุกสนาม 
 
ทั้งหมดนี้ คือ Rare Item 7 สิ่งต้องมี ใน TCAS GAME พี่นัทมั่นใจว่าถ้าน้อง ๆ มีครบจบในคนเดียว จะไม่มีพื้นที่สำหรับคนพ่าย แต่จะมีเป้าหมายสำหรับคนกล้า...Let’s go !! 
 
พี่นัท นัททยา 
Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us