Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ของมันต้องมี...ใน TCAS 5 รอบ

  Favorite

          เมื่อปลายทางหนึ่งของชีวิตมัธยมปลาย คือการเดินเข้าสู่สนามแข่งขันระดับ MASTER DREAM นั่นคือ สนามแข่งขันคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย หรือ TCAS ซึ่งมีให้ร่วมแข่งขันถึง 5 สนาม แต่ละสนามมีกฎกติกาที่แตกต่างกันไป และ “ของ” หรือ อาวุธสำคัญที่จำเป็นต้องมีในแต่ละสนาม เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นแต้มต่อให้กับน้อง ๆ ก็แตกต่างกันในแต่ละสนาม
 

เรามาดูกันว่าอะไรคือ...ของมันต้องมี ใน TCAS แต่ละรอบ  

 

รอบ 1 Portfolio “มีของ”
ใช้ Portfolio โชว์ผลงานเด่น เน้นการสัมภาษณ์

หลายคนเข้าใจผิดว่าอาวุธหลักของรอบนี้ คือตัว Portfolio บอกเลยว่า Portfolio เป็นแค่ตัวโชว์ที่ช่วยเล่าเรื่อง แต่สิ่งที่สำคัญคือ “ของ” น้องต้องมี...ของ แล้วต้องมีพื้นที่...ปล่อยของ ของในที่นี้ หมายถึง ความโดดเด่น ความสามารถพิเศษ ความน่าดึงดูดเข้าคณะ ความเป็นเลิศ ความเจิดจรัสในการนำเสนอ เช่น มีความสามารถด้านการออกแบบ แล้วไปปล่อยของตามเวทีแข่งขันต่าง ๆ จนได้รับรางวัล แล้วนำรางวัลนั้นมาใส่ใน Portfolio  รอบนี้เรียกได้ว่าเป็น Marketing Zone ของดี การตลาดโดน ย่อมปิดดิลได้ง่ายกว่า

 

หลักการ
- ใช้ความสนใจ ความถนัด ความสามารถพิเศษ ในการรับเข้า
- ไม่ใช้ข้อสอบกลาง (GAT, PAT, O-Net และ วิชาสามัญ)
- ใช้แฟ้มสะสมผลงาน  (จำนวน 10 หน้า ไม่รวมปก)
- สมัครตรงกับมหาวิทยาลัย และสมัครได้หลายที่
- ใช้ GPAX 4 หรือ 5 ภาคเรียน (บางโครงการ)
- ติดได้หลายที่ แต่ยืนยันสิทธิ์ได้ 1 ที่
- ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House

 

รอบ 2 โควตา “มีสเปค”
เรียนดี มีความสามารถ กระจายโอกาสตามเขตพื้นที่

          รอบนี้เป็นเรื่องของ Spec Zone หลากสเปกหลายสไตล์ เหมาะสำหรับคนที่มีสเปคตรงกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยกับตัวน้อง โดยมหาวิทยาลัยจะออกแบบสเปคที่ต้องการไว้ เช่น เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์, เรียนดีในเขตชนบท, หรือการกำหนดสเปคในเรื่องของภูมิลำเนา เช่น โควตาโรงเรียนมัธยมในเขตพัฒนาภาคเหนือ, โครงการชาวไทยภูเขา, โครงการ 14 จังหวัดภาคใต้, โครงการรับตรงภาคตะวันออก 12 จังหวัด, โควตาพื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือสเปคตามความสามารถพิเศษ เช่น โครงการความสามารถพิเศษด้านวิชาการ /โอลิมปิกวิชาการ / กีฬา / ดนตรี / ศิลปะ หรือแม้แต่สเปคทางเครือญาติ คือ เป็นบุตรของผู้ประกอบอาชีพในสาขานั้น เช่น โครงการร้านยาคุณภาพ บุตรเกษตกร ทายาทธุรกิจยางพารา นอกจากนี้ยังมีสเปกด้านการเป็นเครือข่าย เป็นโรงเรียนในสถานศึกษาที่กำหนด เช่น โควตาโรงเรียน MOU ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, โรงเรียนเครือข่าย 2 คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ ของ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โครงการเครือข่ายครูแนะแนว ของ ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นต้น รอบนี้สเปคตรง อาจมงลงได้ค่า

 

หลักการ
- โรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือหรือเครือญาติ
- เรียนดี / มีความสามารถพิเศษ
- เน้นการกระจายโอกาส ตามเขตพื้นที่ต่าง ๆ
- ใช้ข้อสอบกลาง / GPAX (รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ)  
- สอบเพิ่มเติม (บางโครงการ)
- สมัครตรงกับมหาวิทยาลัย และสมัครได้หลายที่
- ติดได้หลายที่ แต่ยืนยันสิทธิ์ได้ 1 ที่
- อาจใช้แฟ้มสะสมผลงานเป็นองค์ประกอบร่วม 
- ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House

 

รอบ 3 รับตรงร่วมกัน “มีคะแนนเด็ด”
ใช้เกณฑ์ต่าง จัดวาง 6 อันดับ ตอบรับเพียง 1

          รอบนี้เป็นรอบที่ลุ้นระทึกมาก เพราะเป็นการไฟว์กันที่แทบจะไม่มีข้อมูลประกอบอะไรมากเลย เช่น คะแนนสูงสุด-ต่ำสุดย้อนหลัง อัตราการแข่งขัน ปริมาณผู้แข่งขัน เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นรอบวัดความสามารถแล้วยังต้องวัดดวงด้วยว่า คณะที่เราจะเข้า คู่แข่งเป็นใคร คะแนนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นรอบนี้สิ่งที่ต้องมีคือคะแนนที่เด็ดดวง สามารถทะลวงเข้าไปยึดครองพื้นที่นั่งได้ เนื่องจากเป็นรอบที่นำคะแนนจากการสอบมาฟาดฟันแข่งขันกันล้วน ๆ และที่สำคัญเป็นการเปิดรับพร้อมกัน ในเวลาเดียวกันทุกสถาบัน และจำกัดจำนวนสมัครเลือกได้เพียง 6 สาขาวิชาเท่านั้น  ถ้าคะแนนไม่เด็ดจริง ถือว่าเป็นรอบที่น่าหวาดเสียวมากค่ะ รวมพลคนหิน ๆ แน่นอน เรียกว่าเป็น Stone Zone เลยที่เดียว

 

หลักการ
- เลือกได้ 6 อันดับ
- เรียงตามลำดับความชอบ 
- กสพท อยู่ในรอบนี้
- มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์ตรงของใครของมัน แต่รับสมัครผ่าน ทปอ.
- มหาวิทยาลัยดำเนินการคัดเลือกเอง แล้วส่งผลการคัดเลือกกลับให้ ทปอ. โดยเรียงลำดับคนที่ต้องการมาให้ ทปอ. ประมวลผลตามลำดับการเลือก
- ทปอ.ประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ คืออันดับสูงสุดที่น้องสอบติด
- ใช้ระบบ Auto Clearing (ยืนยันสิทธิ์ในวันสัมภาษณ์)

 

รอบ 4 แอดมิชชัน “มีสูตรสำเร็จ จัดอันดับ”
เลือกได้ 4 มีเกณฑ์กลาง จัดวางตามคะแนน

          รอบนี้ถือว่าเป็น Save Zone เพราะมีข้อมูลประกอบทางด้านสถิติเป็นตัวช่วย ทั้งคะแนนสูงสุด - ต่ำสุดย้อนหลังหลายปี อัตราแข่งขัน การรู้คะแนนของตนด้วยโปรแกรมคำนวณคะแนน มีเครื่องมือช่วยประเมินการสอบติด ดังนั้นของที่น้อง ๆ ต้องมีคือสูตรการจัดอันดับที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้น้อง  ๆ เลือกคณะได้อย่างถูกใจและปลอดภัยที่สุด

 

หลักการ
- เลือกได้ 4 อันดับ
- เรียงตามลำดับความชอบ และความสัมพันธ์ของคะแนน
- สามารถใช้สถิติคะแนนสูงสุด - ต่ำสุด เปรียบเทียบคะแนน เพื่อช่วยเลือกคณะได้
- ทปอ. เป็นผู้รับสมัครและดำเนินการคัดเลือก และประกาศเกณฑ์ล่วงหน้า 3 ปี 
- ประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ คืออันดับสูงสุดที่น้องสอบติด
- ใช้ระบบ Auto Clearing (ยืนยันสิทธิ์ในวันสัมภาษณ์)

 

รอบ 5 รับตรงอิสระ “มีความหลากหลาย”  
เก็บตกรอบสุดท้าย เลือกได้หลายกฎเกณฑ์

          รอบนี้คือปลายทางรอบสุดท้ายของระบบ จัดว่าเป็น Varity Zone คือผสมความหลากหลายของรูปแบบการรับเข้า ทั้งกฎเกณฑ์ และองค์ประกอบ แต่บอกเลยว่ารอบนี้ เปิดรับแบบเก็บตก จำนวนที่รับจึงน้อยที่สุด บางคณะมีแค่หลักหน่วยด้วยซ้ำ ดังนั้นคนที่จะมาเล่นในสนามนี้ได้ ควรเป็นคนที่มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องของคะแนนสอบที่ควรมีครบ ทั้ง 3 ตระกูล O-Net, GAT/PAT และ วิชาสามัญ คณะไหนต้องการองค์ประกอบใด สามารถยื่นได้หมด หรือแม้แต่หลากหลายด้านความสนใจ เพราะรอบสุดท้ายนี้มีแค่บางคณะที่เปิดรับ น้อง ๆ ที่ต้องการปิดดิล TCAS ในปีนี้ให้ได้ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนความฝัน ความสนใจให้สอดคล้องกับคณะที่เหลืออยู่

 

หลักการ
- ใช้รูปแบบการคัดเลือกหลากหลาย (Grade, GAT, PAT, O-Net และ วิชาสามัญ)
- สมัครตรงกับมหาวิทยาลัย และสมัครได้หลายที่
- ติดได้หลายที่ แต่ยืนยันสิทธิ์ได้ 1 ที่
- ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House

 

          “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ยังเป็นตำราพิชัยสงครามที่ปรับใช้ได้ในทุกสนามการแข่งขันจริง ๆ ถ้าน้อง ๆ จะประสบความสำเร็จในระบบ TCAS จำเป็นจะต้องเข้าใจว่าหัวใจหลักของแต่ละรอบคืออะไร แล้วถามตัวเองว่า เรามีอาวุธที่จะจู่โจมให้ตรงขั้วหัวใจของ TCAS รอบนั้นหรือไม่ ถ้ายิงไม่เข้าเป้า นอกจากไม่ชนะแล้วยังเสียพลังไปเปล่า ๆ

ดังนั้นถ้าของมันต้องมี...น้อง ๆ ก็ไม่ควรที่จะ...ไม่มีนะคะ

          ยอมเหนื่อยเพื่อความฝัน ดีกว่าอยู่ไปวัน ๆ โดยไม่รู้ว่าฝัน...คืออะไร

                                                                                     

พี่นัท นัททยา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us