สวัสดีผู้อ่านทุกคนนะคะ ขอแนะนำตัวก่อนเลย นีน่า ชญานิษฐ์ ศรีวิโรจน์ ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ปี 1 นิเทศศาสตร์ จุฬาฯค่ะ ในบทความนี้เราก็อยากจะมาแชร์ประสบการณ์และเคล็ดลับต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนและการเตรียมตัวสอบของเราให้กับทุกคนโดยเฉพาะคนที่กำลังเตรียมตัวสอบ ถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลย
เราจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สายวิทย์ - คณิต โครงการภาษาอังกฤษเข้มข้น ถึงจะเรียนสายวิทย์มาแต่เราไม่ได้มีความสุขกับวิชาหรืออาชีพที่เกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์ เราค่อนข้างโชคดีที่รู้ตัวเองเร็วว่าอยากเรียนนิเทศฯ เพราะเป็นคนชอบการสื่อสารและอยากทำอาชีพผู้ประกาศข่าว ซึ่งเราก็โชคดีมากที่พ่อแม่ให้การสนับสนุนในสิ่งที่อยากทำ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราตัดสินใจเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ค่ะ และสำหรับคนที่ยังหาความชอบหรือคณะที่อยากเรียนไม่เจอ เราแนะนำให้ลองไป open house ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดูนะคะ
เราใช้วิธีตั้งใจเรียนให้มากที่สุดในห้อง และรีบทบทวนสิ่งที่ไปเรียนมาภายในวันนั้นเพราะสิ่งที่เรียนไปยังมีความสดใหม่อยู่ (เอ๊ะ ใช้คำประหลาดจัง5555) ไม่เข้าใจเรื่องไหนจะให้อาจารย์หรือเพื่อนช่วยอธิบายให้ฟัง แต่ถ้าเนื้อหายากจริง ๆ ก็มีไปเรียนพิเศษบ้าง อีกสิ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนให้ประสบความสำเร็จก็คือความสม่ำเสมอและวินัยในการทบทวนบทเรียน การอ่านหนังสือถ้าเราทบทวนบ่อย ๆ ย่อมดีกว่าการมาโหมอ่านครั้งเดียวตอนใกล้สอบแน่นอน
ก่อนที่จะอ่านหนังสือสอบ เราต้องศึกษาก่อนว่าคณะ/มหาวิทยาลัย ที่เราอยากเข้านั้นต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง เช่น GPAX, O-NET, GAT/PAT, 9วิชาสามัญ, ข้อสอบเฉพาะของมหาวิทยาลัย หรือมีการกำหนดคุณสมบัติพิเศษหรือเปล่า อย่างเช่น ความสูง, GPAX ขั้นต่ำ, สายการเรียน อะไรแบบนี้ เราอยากแนะนำว่าควรเลือกรูปแบบการสอบที่เอื้อต่อความสามารถของตัวเองมากที่สุด อย่างในกรณีของเรา เลือกยื่นแบบ GAT, GPAX, O-NET เพราะถนัดวิชาภาษาอังกฤษ และเกรดตอนเรียนมัธยมค่อนข้างดี
ขั้นต่อไปก็คือการเตรียมตัวสอบ เราไม่ได้ทำ Planner เลย แต่จะกำหนดเอาไว้ว่าต้องจบเนื้อหาทุกอย่าง 3 เดือนก่อนสอบ จะได้มีเวลาเหลือมาฝึกทำข้อสอบ อีกเทคนิคที่เราใช้ในการเตรียมตัวสอบก็คือ “อ่านเฉพาะสิ่งที่จำเป็น” (เช่น ใช้แค่ O-NET ก็อ่านแค่นั้น ไม่ต้องทำPAT 1) เพื่อลดวิชาที่ต้องอ่านลง และจะได้มีเวลามาทำข้อสอบมากขึ้น
เกรด : ไม่ถือว่าเป็นวิชา แต่ก็คิดเป็นคะแนน GPAX 20% คำแนะนำเดียวของเราก็คือ ตั้งใจเรียน ส่งงานให้ครบ ทำข้อสอบโรงเรียนให้ได้คะแนนดี ๆ ค่ะ
GAT เชื่อมโยง : เป็นข้อสอบที่เน้นการฝึกฝนเป็นหลัก ถ้าวันจริงเรารอบคอบและมีสติ 150 คะแนนไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน และควรได้ 150 (แต่วันสอบจริงเราดันคิดมากเกินไป ติดลบ 3 คะแนนไปเรียบร้อย 55555) วิชานี้ควรทำโจทย์บ่อย ๆ แต่ด้วยความที่มันเป็นข้อสอบที่ค่อนข้างเบาสมอง เราจึงเก็บข้อสอบวิชานี้ไว้ทำหลังจากที่อ่านวิชาอื่นมาเหนื่อยๆค่ะ
หนังสือ GATเชื่อมโยงที่อ่าน
- ข้อสอบเก่าย้อนหลัง https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/30447-042944
- พิชิต 150 คะแนนเต็ม GAT ไทย โดย อ.ขลุ่ย
GAT อังกฤษ : วิชาโปรดของเรา ข้อสอบเน้นวัดทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน สำหรับข้อสอบวิชานี้เราทบทวนหลัก Grammar และ Vocabulary ที่พบบ่อยในข้อสอบให้แม่นก่อน หลังจากเบสิคแน่นแล้วจึงเริ่มทำข้อสอบทุกวัน นอกจากนี้ ด้วยความที่ภาษาอังกฤษเป็นวิชาทักษะ การดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านข่าวเป็นภาษาอังกฤษก็สามารถช่วยให้เก่งภาษาอังกฤษขึ้นได้มากเช่นกัน
หนังสือ GAT อังกฤษ ที่อ่าน
- ข้อสอบเก่าย้อนหลัง Facebook : GAT Eng Thailand
- ตะลุยโจทย์ vocab 1,000 ข้อ โดย ดร.ศุภวัฒน์ พุกเจริญ
- แนวข้อสอบ GAT ภาษาอังกฤษ โดย ดร.ศุภวัฒน์ พุกเจริญ
- AX-25 โดย enconcept
*** ในการสอบจริง GAT เชื่อมโยง และ GAT อังกฤษจะสอบต่อกันเลย (วิชาละชั่วโมงครึ่ง) เราแนะนำให้ตอนก่อนสอบจริงประมาณ 1 เดือน ลองปริ้นข้อสอบจริงและกระดาษคำตอบมาทำแบบจับเวลา จะได้ชินกับรูปแบบการทำข้อสอบของจริง เพราะหลายคนทำข้อสอบทัน แต่ฝนข้อสอบไม่ทัน ***
คณิตศาสตร์ O-NET : หลาย ๆ คนบอกว่าง่าย แต่เราว่าไม่ !!! 5555 เราอ่านทบทวนนิยามและสูตรต่าง ๆ ที่ใช้ บวกกับอาศัยทำข้อสอบเก่าย้อนหลัง ที่สำคัญสำหรับ O-NET คณิตฯคือการทำข้อสอบแบบจับเวลาจริง อ้อ วิชานี้มีอัตนัยด้วยนะ เผื่อเวลาดี ๆ ด้วย
หนังสือคณิตศาสตร์ O-NET ที่อ่าน
- ข้อสอบเก่าย้อนหลัง http://www.niets.or.th/examdownload/
- หัวใจคณิตศาสตร์ โดย ณัฐ อุดมพาณิชย์
วิทยาศาสตร์ O-NET : วิชานี้ถ้าแม่นหลักการแล้วค่อนข้างจะไม่ยากมาก แต่ยากตรงข้อสอบพาร์ทที่ให้ฝนใช่หรือไม่ใช่ เราไม่ได้ทำข้อสอบย้อนหลัง แต่อ่านทบทวนจากหนังสือแบบเรียน สสวท. และทำเป็น Short Note ของแต่ละบทออกมา (สำหรับคนที่อยากทำข้อสอบเก่า ข้อสอบปีก่อนหน้านี้จะไม่เหมือนกับปีปัจจุบันเลย แนะนำให้ทำข้อสอบของปี 2561)
หนังสือวิทยาศาสตร์ O-NET ที่อ่าน
- หนังสือแบบเรียนสสวท. วิทยาศาสตร์พื้นฐาน
- ข้อสอบเก่าย้อนหลัง http://www.niets.or.th/examdownload/
ภาษาไทย O-NET : อีกหนึ่งวิชาที่ควรทำคะแนนให้ได้สูง เราอ่านหลักภาษาและทำข้อสอบควบคู่กันไป พาร์ทที่ควรเก็บคะแนนในข้อสอบ ONET ภาษาไทย คือส่วนของการอ่านจับใจความ ไม่ยากมากและช่วยดึงคะแนนได้มาก
หนังสือภาษาไทย O-NET ที่อ่าน
- คลังข้อสอบภาษาไทย โดย อาจารย์ปิง Davance
สังคม O-NET : วิชาปราบเซียน เนื้อหาเยอะมากกกกกกกจริง ๆ ถ้าใครมีเวลาน้อยหรืออ่านเองไม่ไหวอาจจะต้องเรียนพิเศษค่ะสำหรับวิชานี้เราไม่ทำข้อสอบเก่าเลย เพราะข้อสอบแต่ละปีไม่เคยออกซ้ำกัน แต่อ่านเนื้อหาให้แม่น อย่างน้อยเก็บประเด็นสำคัญของเนื้อหาแต่ละบทให้ครบ (ขอให้โชคดีค่ะ ทำบุญด้วยก็ดี)
หนังสือสังคม O-NET ที่อ่าน
- สรุปสังคม ม.ปลาย โดย ครูพี่บอล
ภาษาอังกฤษ O-NET : เราไม่ได้แตะเนื้อหาหรือข้อสอบเก่า ONET อังกฤษเลย มันมีความใกล้เคียงกับ GAT อังกฤษ ในระดับหนึ่ง ถ้าใครเตรียมตัวสอบจาก 9 วิชาสามัญ หรือ GAT แล้วอาจจะข้าม ONET อังกฤษไปได้เลย และสำหรับ ONET ทุกวิชา เป็นเหมือนข้อสอบที่วัดความรู้พื้นฐาน การเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือการตั้งใจเรียนในห้อง และทบทวนจากหนังสือที่ออกโดยกระทรวงฯ ในข้อสอบ O-NET บางวิชาอาจจะมีคำสั่งเพิ่มเติม เช่น เป็นอัตนัย หรือต้องฝนสองข้อจึงจะได้คะแนน ดังนั้น อ่านคำสั่งก่อนทำข้อสอบทุกครั้ง **
** แถมให้ เป็นทริคในการอ่านหนังสือ เราปริ้นใบที่เขียนว่า ขออภัย ไม่พบชื่อคุณในระบบ ฯลฯ มาแปะไว้ที่โต๊ะอ่านหนังสือ ทุกครั้งที่ทำข้อสอบแล้วรู้สึกขี้เกียจก็มองใบนั้น แล้วเราจะกลับไปอ่านหนังสือโดยอัตโนมัติทันที 55555
เราเชื่อว่า ม. 6 และคนเตรียมสอบทุกคนคงเจอปัญหาคล้าย ๆ กับเรา ไม่ว่าจะเป็น เครียดเรื่องสอบ งานจากโรงเรียนกองเป็นภูเขา อ่านหนังสือไม่ทัน กลัวสอบไม่ติด ฯลฯ จนมันจะมาถึงจุด ๆ หนึ่งที่รู้สึกเหนื่อยจนไม่อยากจะทำอะไรอีกแล้ว วิธีแก้ก็คือพยายามแบ่งเวลาดี ๆ ระหว่างงานของโรงเรียน การอ่านหนังสือสอบ และการพักผ่อน ส่วนเรื่องความเครียดที่เจอช่วงเตรียมตัวสอบ ตอนนั้นคิดว่าเราทำตรงนี้ให้เต็มที่ ผลจะออกมาเป็นยังไงเรายอมรับมัน ไม่ต้องมองว่าคนอื่นเป็นคู่แข่ง พูดง่าย ๆ ก็คือแข่งกับตัวเองก็พอ
ก่อนหน้าที่จะสอบ 1 วัน เราไม่แตะอะไรที่เป็นวิชาการเลย พักผ่อนให้เต็มที่และขึ้นนอนเร็ว ๆ ก่อนนอนก็อ่านทวนสรุปเล็กน้อย ตรวจอุปกรณ์และเอกสารที่ต้องใช้ในการสอบอีกครั้ง (สวดมนต์ด้วยก็ดีนะ สร้างแต้มบุญในวินาทีสุดท้าย 5555) ในห้องสอบจำไว้ว่าอย่าลน สติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด บริหารเวลาดี ๆ ถ้าข้อไหนทำไม่ได้ให้ข้ามไปก่อน
ส่งท้าย ให้ #dek62 #dek63 และทุก ๆ #dek ในอนาคต อยากให้ทุกคนหาตัวเองให้เจอ เลือกเรียนในสิ่งที่รัก เต็มที่กับการสอบแต่ก็อย่าลืมดูแลตัวเองด้วย ขอให้ทุกคนที่ตั้งใจและพยายามสอบติดคณะและมหาวิทยาลัยที่หวังไว้ สู้ ๆ :D