Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] “ครั้งหนึ่งในชีวิตในงานรับเสื้อกาวน์และชุดปฏิบัติการทางคลินิก ของ นศ.นฉพ รามาธิบดี มหิดล”

  Favorite

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ พี่ชื่อ มุก พัทธมน บุตะคุณ (รุ่นพี่ตัวแทน AdGang60) กำลังศึกษาอยู่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (PARAMEDICS) มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเพิ่งขึ้นชั้นปีที่ 2 มาหมาด ๆ เลยค่ะ วันนี้ก็อยากจะมาเล่าประสบการณ์ขณะเรียนชั้นปีที่ 1 อันแสนหนักหน่วง และตอนใช้ชีวิตเป็นเฟรชชี่ที่มหิดลศาลายา พร้อมกับมาเล่าความประทับใจ และภูมิใจในตัวเองมาก ๆ กับงานรับน้องข้ามฟากรถไฟเพื่อมาเรียนที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท การเรียน กิจกรรม เนื้อหาหลักสูตร การทำงานในอนาคตจะน่าสนใจขนาดไหน ห้ามพลาดรีวิวนี้เลยค่ะ

 

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีทั้งหมด 4 สาขา

1. สาขาแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เรียน 6 ปี หรือที่น้อง ๆ เรียกกันว่า “หมอ” นั่นเอง

2. สาขาพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เรียน 4 ปี เมื่อจบไปก็เป็น “พยาบาลวิชาชีพ” ค่ะ

3. สาขาวิทยาศาสตร์และความผิดปกติของการสื่อความหมาย หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต หรือ “นักแก้ไขการฟังการพูด” เปิดสอนที่เดียวในประเทศไทยเท่านั้นนะคะ

4. สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต เรียน 4 ปี หรือ “นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์” หรือที่รู้จักกันในคำว่า “PARAMEDICS” ปัจจุบันเปิดสอนเพียง 4 ที่ในไทยค่ะ

พวกเราก็จะมาเจอกันตอนที่ได้มาเรียนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ถือว่าทั้ง 4 สาขานี้ เป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงเพื่อนร่วมงานกันเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะพวกเราก็มีอุดมการณ์เดียวกันคือ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หากน้อง ๆ สนใจ ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้นะคะ
 

 

 

 

 

สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์

หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ เรียนอะไรบ้าง ยากไหม จบไปทำงานในรูปแบบไหน เอาเป็นว่า พี่เองจะอธิบายง่าย ๆ ให้มองเห็นภาพชัดมากขึ้นแล้วกัน “น้อง ๆ ลองคิดภาพตามในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีบุคลากรทางการแพทย์ทำงานอยู่มากมายหลายตำแหน่ง และในห้อง ER เช่นเดียวกัน แน่นอนภาพจำของหลาย ๆ คนมักจะเห็นจ้าหน้าที่ทำงานกันดูยุ่งมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ และมีเคสเข้ามาตลอดเวลา แล้วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลใครล่ะที่จะออกไปรักษาผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ และนำส่งมาที่โรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาลต่ออย่างถูกต้องและปลอดภัยที่สุด แน่นอนค่ะ คือ อาชีพ "นักปฏิบัติการฉุกเฉิน" ของเรา หรือ PARAMEDICS นั่นเอง เริ่มมองภาพการทำงานของพวกพี่ ๆ ออกกันแล้วใช่ไหมคะ และตอนนี้ PARAMEDICS กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน และหมอ กับพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ จะได้อยู่ดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลอย่างเต็มที่มากขึ้น
 


ผู้ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน มี่กี่ระดับ อะไรบ้าง

ข้อสงสัยที่น้อง ๆ หลาย ๆ คนอาจจะอยากทราบว่า พี่คะ พี่เป็นกู้ภัยหรือเปล่าคะ? เอ้ะ! แล้วพี่ ๆ ที่เป็นมูลนิธิ หรืออาสา ที่ดูแลคนเจ็บป่วย ณ จุดเกิดเหตุหรือเปล่าคะ? พบมากในงาน Open house เลยละค่ะ พี่ก็จะมาอธิบายสั้น ๆ ในงานที่เป็นรูปแบบเดียวกันนะคะ ว่าผู้ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน มี่กี่ระดับ อะไรบ้าง มาเริ่มกันเลย

1. EMR (Emergency Medical Responder) “เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ชีพ” ต้องจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือเทียบเท่า เข้าอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและช่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน

2. EMT (Emergency Medical Techician) “พนักงานฉุกเฉินการแพทย์” ต้องอบอรม 115 ชั่วโมง เกี่ยวกับการแพทย์ขั้นพื้นฐานและช่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นสูง

3. AEMT (Advanced Emergency Medical Technician) เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เท่านั้น เป็นหลักสูตร 2 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (ปวส.ฉพ.)

4. Paramedic “นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์” ต้องจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 สายการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เท่านั้น และผู้ที่เรียนจบ AEMT สามารถมาสอบเข้าและศึกษาต่อเพื่อต่อยอดวิชาชีพได้ เรียนทั้งหมด 4 ปี เป็นหลักสูตรปริญญาตรีค่ะ

พอจะมองภาพออกแล้วใช่ไหมคะ ว่าแต่ละขั้น สามารถทำอะไรได้บ้าง และมีที่มาที่ไปอย่างไร ต่อมาเราจะมาเจาะลึกการเรียนของ Paramedics กันดีว่า

 

การเรียน 4 ปี

ชั้นปีที่ 1 เรียนที่ มหิดล ศาลายา เริ่มต้นชีวิตเฟรชชี่ด้วยกิจกรรมที่สนุกสนานมากมาย เช่น การขึ้นสแตนเชียร์ กีฬาเฟรชชี่ กีฬามหาวิทยาลัย ค่าย ต่าง ๆ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การแบ่งเวลาค่ะ และการเรียนคือเราจะเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทั่วไป ในเทอมแรก จะเจอวิชา ชีววิทยา + Labชีววิทยา เคมี + Lab เคมี คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และวิชามูเก้ (MUGE) เป็นวิชาศึกษาทั่วไปเพื่อพัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ ซึ่งรายวิชานี้เราจะได้เรียนรวมกับเพื่อนๆคณะอื่น ๆ และได้ทำงานร่วมกัน ทำให้เรามีมุมมองใหม่ ๆ ในการทำงานมากขึ้น และได้รู้จักเพื่อนต่างคณะอีกด้วย
 

 

 


และในเทอมที่ 2 เราก็จะได้เรียน วิชา เคมีอินทรีย์ + Lab เคมีอินทรีย์ ฟิสิกส์ + Lab ฟิสิกส์ และยังต้องเรียน ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และวิชามูเก้อยู่ และเพิ่มมาคือวิชาสุดหิน ที่ทุกคนรอคอย นั่นคือ “Anatomy” พูดได้เลยว่า สนุก และหนักหน่วงสุด ๆ เพราะ ต้อง Pre test – Post test ทุกครั้ง ถ้าน้อง ๆ ไม่อ่านล่วงหน้ามา มีหวังนั่งมึนอยู่ในห้องแน่ ๆ ที่นี่เรียนจบ 6 ระบบในร่างกายแล้วสอบมิดเทอมทีเดียว ทั้งเลคเชอร์ 100 ข้อ และ “Lab กริ๊ง” อีกนั่นเอง บอกลยว่าโหดสุด ๆ บางคนที่ยังไม่ชินกับอาจารย์ใหญ่ก็ต้องปรับตัวนะคะ แต่ไม่ต้องห่วง อาจารย์และเพื่อน ๆ ที่นี่น่ารัก คอยช่วยเหลือพวกเราตลอดเวลาเลยล่ะ และพิเศษไปกว่านั้น คือ สาขาของเรามีวิชา Simulation ทุกวันพุธ เพื่อให้เข้าไปศึกษาสถานการณ์จำลองของผู้ป่วยตามกลุ่มสายวิจัยของตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมกับความรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการณ์ฉุกเฉินการแพทย์ มากขึ้น
 

 


เข้ามาสู่ช่วงชั้นปีที่ 2 ค่ะ กว่าจะผ่านปี 1 มาได้เลือดตาแทบกระเด็นเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราก็ผ่านมันมาได้ เข้าสู่ช่วงที่อยากจะนำเสนอมากที่สุดค่ะ คืองานรับน้องข้ามฟากก่อนจะเข้ามาเรียนในชั้นปีที่ 2 ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งงานนี้ป็นงานที่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ทุกคนรอคอย ที่จะได้รับทั้งเสื้อกาวน์และชุดปฏิบัติการทางคลินิก หรือ ชุดสกิล (skill) นั่นเอง เอาเป็นว่าไปชมภาพบรรยากาศเลยดีกว่าค่ะ
 


ระหว่างรอขึ้นรถไฟที่สถานีศาลายาค่ะ วันนั้นทุกคนตื่นเต้นมาก ๆ

 

 

เมื่อไปถึงสถานีโรงพยาบาลรามาธิบดี ก็จะมีอาจารย์ พี่ ๆ และรุ่นน้อง คอยต้อนรับเราอยู่ และมีการปั๊มพาสปอร์ต เพื่อแสดงถึงว่าเราได้มาถึงที่นี่อย่างเป็นทางการพร้อมประดับช่อดอกไม้ที่หน้าอกค่ะ และเมื่อเข้าไปในงานก็จะเป็นพิธีมุทิตาจิต คือการไหว้ครูของภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินค่ะ
 

 


 


หลังจากนั้นก็จะเป็นพิธีปฏิญาณตนรับเสื้อกาวน์และชุดสกิลค่ะ ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญมากๆ เป็นช่วงที่ทุกคนประทับใจและภูมิใจมาก รวมถึง พ่อแม่ ผู้ปกครอง และทุกคน ๆ ที่เข้าร่วมงานนี้ นี่ก็คืออีกสัญลักษณ์หนึ่งที่ทำให้ทราบว่าเราได้ขึ้นชั้นปีที่ 2 อย่างเต็มตัว และต้องรับผิดชอบมากขึ้น เพราะต้องเริ่มเข้าใกล้กับการรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วย
 

 

 

 

 

 

 


มาถึงการเรียนของชั้นปีที่ 2 เริ่มเข้าสู่กลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิชาชีพ สิ่งที่ต้องเจอคือยังมีวิชาของคณะวิทยาศาสตร์อยู่ คือรายวิชา เภสัชวิทยา จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา สรีรวิทยา ชีวเคมี และวิชาพื้นฐานทางวิชาชีพ การซักประวัติตรวจร่างกายทางปฏิบัติการฉุกเฉิน หัตถการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระเบียบวิธีวิจัยทางการปฏิบัติการฉุกเฉิน เป็นยังไงบ้างคะ เริ่มเข้มข้นขึ้นมาแล้วใช่ไหม ยังไม่พอนะคะ ปี 2 ทุกคนยังต้องเริ่มขึ้นเวรคู่กับพี่หมอ Extern ที่ห้อง ER ถือว่าหนักหน่วงมาก และยังมี Elective คือ การที่เราต้องออกไป Observe ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ซึ่งน่าสนุกมาก ๆ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งจะได้ไปในชั้นปีที่ 2 และ ชั้นปีที่ 3 ลองมาชมภาพที่รุ่นพี่ไป Elective กันดูนะคะ

 

มาเริ่มที่รุ่นพี่กลุ่มแรกกันเลยนะคะ พี่ ๆ ได้ไปที่ โรงพยาบาลอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และได้ออกตรวจสุขภาพบนดอย ลองมาชมภาพดีกว่าค่ะ ซึ่งพี่คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ เลยค่ะ
 

 


รุ่นพี่กลุ่มต่อไป ได้ไปที่ เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล แอบเห็นว่าพี่ ๆ ได้ Refer case คลอดเด็กทารก โดยเรือด้วย น่าตื่นเต้นสุด ๆ เลยค่ะ
 

 

 

มาถึงรุ่นพี่กลุ่มสุดท้าย รอบนี้ไปกันถึงต่างประเทศเลยทีเดียวค่ะ ไม่ใกล้ไม่ไกล คือ วังเวียง ประเทศลาว ประเทศเพื่อนบ้านของเราเอง มาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
 

 


มาต่อกันที่ชั้นปีที่ 3 ดีกว่าค่ะ ก็ยังมีการขึ้นเวร ต้องไป Elective เหมือนเดิม แต่วิชาที่เรียนก็จะเจาะลึกมากขึ้น คือ กลุ่มวิชาเฉพาะทางวิชาชีพ ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินหรือการดูแลผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง การแปลผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจทางปฏิบัติการฉุกเฉิน หัตถการขั้นสูงทางการแพทย์ นิติเวชศาสตร์ทางปฏิบัติการฉุกเฉิน และการฝึกปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์
 

และในชั้นปีที่ 4 เป็นปีสุดท้ายของการเรียน ก็จะมีการเรียน กลุ่มวิชาเฉพาะทางวิชาชีพและการฝึกปฏิบัติงานจริง หรือการฝึกงาน และยังมีการเรียน การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในสาธารณภัย การฝึกปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ เป็นอย่างไรบ้างคะ ตลอด 4 ปี อ่านไปเรื่อย ๆ อาจจะรู้สึกแล้วว่าใช่ทางตัวเองหรือไม่ หัวข้อต่อไปอาจจะตอบโจทย์มากขึ้น ในการค้นหาตัวเองของน้อง ๆ ค่ะ


ต้องเป็นงานที่ทำให้เราอยู่กับมันได้ ไม่รู้สึกเบื่อในทุก ๆ วัน

ถ้าถามถึงแรงบันดาลใจในการเลือกสาขานี้หรอคะ ตัวมุกเองคิดว่าเป็นเพราะตัวเราเองมากกว่าค่ะ ที่รู้สึกอยากเรียนในสิ่งที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ในอนาคต แต่ต้องเป็นงานที่ทำให้เราอยู่กับมันได้ ไม่รู้สึกเบื่อในทุก ๆ วัน และวันข้างหน้าเราต้องอยู่กับมันทุกวันอย่างมีความสุข และเราคิดว่าการเรียนเป็นนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ เมื่อจบไปแล้ว พวกเราจะเป็นคนแรกที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เหมือนเป็นความหวังแรกของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป เพราะเราทำงานนอกโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ท่ามกลางสายตาของทุกคนๆอยู่แล้ว และทุก ๆ คนก็จะคาดหวัง ซึ่งตัวมุกเองคิดว่าเราอยากเป็นคนที่ทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุดค่ะ
 


การค้นหาตัวเอง

ในตอน ม.ปลายยังไม่ได้คิดอะไรชัดเจนเลยค่ะ ว่าจะเข้าเรียนในคณะอะไร แต่จริง ๆ แล้วเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมมาก ๆ และอยู่ในชุมนุมเยาวชนของโรงเรียน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับจิตอาสาเยอะมาก ทำให้ได้ค้นพบตัวเองว่า ตัวเองชอบเป็นผู้ให้ และได้มีโอกาสไปค่ายตามมหาวิทาลัย มากมาย จนทำให้รู้ว่าอยากเรียนอะไรก็ได้ที่ได้ช่วยเหลือหรือรักษาผู้คน ทำให้เป้าหมายเริ่มชัดเจนค่ะ และได้มีโอกาสทำเกี่ยวกับ นศท.พยาบาล เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลในกิจกรรมของโรงเรียนรักษาดินแดน ทำให้รู้ว่าตัวเองมีความอดทน เป็นคนลุย ๆ แต่ก็ยังรู้สึกอยากดูแลและช่วยเหลือผู้อื่นอยู่
 

 

 

 


และก็ได้รับโอกาสจากทางทรูปลูกปัญญา นี่แหละค่ะ เป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่จะสอบในตอน ม. 6 ที่ทำให้เรามีเป้าหมายแน่วแน่มากขึ้น ซึ่งเป้าหมายแรก อยากสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ แต่เมื่อมาพิจารณาคะแนนสอบที่ผ่านมา จนได้ผ่านการสอบมามากมาย จนสุดท้ายก็ต้องลดเป้าหมายของตัวเองลงมา เพราะว่าการเป็นหมออาจจะยากเกินไปสำหรับเรา แต่เป้าหมายก็ยังเป็นวิชาชีพที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และก็สอบติดพยาบาล และปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ในเวลาพร้อมกัน ทำให้เริ่มรู้สึกลังเล เพราะพยาบาลก็เป็นวิชาชีพที่มีความมั่นคง และได้ดูแลผู้ป่วย และ Paramedic ก็เป็นวิชาชีพใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในเนื้องานแล้วก็มีความน่าสนใจมาก ก็เริ่มคิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับสิ่งไหนมากกว่ากัน จนในที่สุดก็เลือกในสาขาปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ค่ะ เพราะว่าเป็นงานที่ได้ทำทุกอย่างเลยก็ว่าได้ค่ะ ทั้งรักษาผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ ดูแลผู้ป่วยขณะนำส่งก่อนถึงโรงพยาบาล และแต่ละวันก็เจอเคสใหม่ ๆ ที่ท้าทาย เป็นงานที่ลุยและกดดันพอสมควรค่ะ เพราะเราต้องทำงานแข่งกับเวลาแต่ต้องทำการรักษาผู้ป่วยกลับมาอยู่ในความปลอดภัยให้เร็วที่สุด นี่แหละค่ะคือบทสรุปในการค้นหาตัวเองของพี่เองค่ะ
 

 

ความสุขในการเรียน

สาขานี้อยู่กันเหมือนครอบครัวเลยค่ะ มีอาจารย์พ่อ อาจารย์แม่ และอาจารย์ทุก ๆ คนในภาควิชา คอยเป็นที่ปรึกษาให้กับทุก ๆ คนในสาขา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร สามารถคุยได้ทุกเรื่องเลยค่ะ และอาจารย์ก็ยังเป็น Role Model กับพวกเรา พวกเราอยู่กันแบบพี่น้อง แม้ว่าจะเรียนหนักมาก ๆ แต่ก็มีความสุข สนุกกับกิจกรรมที่ทำ ถือว่าอบอุ่นมาก ๆ เลยค่ะ
 


การเรียนที่เข้มข้นกับอาจารย์แพทย์เฉพาะทาง 

ความสำคัญของสาขานี้ คือเมื่อนักศึกษาทุกคนจบไปเป็นบัณฑิตที่ดีแล้ว เราก็จะก้าวเข้าสู่วิชาชีพ นักปฏิบัติการฉุกฉินการแพทย์ ไปทำหน้าที่ รักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย และได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ก่อนนำส่งโรงพยาบาล ถ้าหากถามถึงจุดเด่นของสาขานี้ น่าจะเป็นการเรียนที่เข้มข้นมาก ๆ กับอาจารย์แพทย์เฉพาะทางด้านฉุกเฉิน 100% และยังมีการเรียนหลักสูตรพิเศษมากมาย เช่น หลักสูตรการนำส่งผู้ป่วย ทางน้ำ หรือ ทางอากาศยาน หลักสูตรการเสริมสร้างบุคลิกภาพ หรือจะเป็น วิชานิติเวชศาสตร์ทางปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ และวิชาเรียนหรือหลักสูตรพิเศษมากมาย ที่เราจะได้เรียนกัน ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ ค่ะ

 

แนะนำการทำ Portfolio

ส่วนตัวมุกเองขอให้เป็นคำแนะนำแล้วกันค่ะ มุกคิดว่า Portfolio ไม่ได้เป็นเพียงแฟ้มสะสมผลงานทั้งหมดตลอดการเรียน ม.ปลาย แต่เป็นการนำเสนอตัวเราเองภายในแฟ้มนั้นมากกว่าค่ะ GPAX อาจจะหมายถึงความเก่งในด้านวิชาการ แต่พอร์ตคือการนำเสนอจุดเด่นของเรา การทำพอร์ต ควรจะกระชับ น่าสนใจ น่าดึงดูด ไม่รก ควรหยิบแต่อะไรที่โดดเด่น และแสดงความเป็นตัวเราที่สุด ว่าเราเหมาะกับคณะนี้ หรือสาขานี้ยังไง เพื่อแสดงออกให้เห็นว่าเราเป็นคนแบบไหน และตลอดการเรียน ม.ปลาย ที่ผ่านมา เราสนใจอะไรเป็นพิเศษและทำอะไรด้ดีที่สุด และถ้าหากน้อง ๆ พรีเซนต์ตัวเองออกมาได้ดี น่าสนใจ แม้ว่าพอร์ตน้องอาจจะไม่ได้สวย ไม่ได้ดูแพง แต่แน่นอนค่ะ คณะกรรมการหรืออาจารย์ที่คัดเลือกจะไม่คัดน้องออกแน่นอนค่ะ รับรองว่าน้อง ๆ จะได้ไปต่อ ^^

 

เทคนิคการสอบสัมภาษณ์

การสอบสัมภาษณ์สำหรับตัวพี่เอง พี่มีเทคนิคง่าย ๆ คือ อย่างแรกเราต้องดูดีจากภายนอกค่ะน้อง ๆ คือเราต้องเริ่มเช็คตัวเองตั้งแต่การแต่งกาย พี่คิดว่า คณะกรรมการคุมสอบจะเริ่มมองเราตั้งแต่การแต่งกายและทรงผม ลำดับต่อไปคือเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งสุขภาพ และผลงานที่เราจะไปนำเสนอ ตรงจุดนี้พี่คิดว่าเราต้องมีสติ ไม่ตื่นเต้น และตอบคำถามให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เพราะอาจารย์ที่คุมสอบสัมภาษณ์ จะมีพลังวิเศษที่สามารถรับรู้ได้ว่าน้อง ๆ ตอบจากใจน้องจริง ๆ หรือเมคขึ้นมา ดังนั้นต้องเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดนะ

 

การเตรียมตัวสอบ

แน่นอนค่ะถ้าพูดถึงเรื่องการเตรียมตัวสอบ ต่างคนต่างมีเทคนิคที่ต่างกัน แล้วแต่สไตล์ของตัวเอง ส่วนตัวพี่เอง ต้องบอกข้อเสียก่อนเลยว่า เพิ่งมาเรียนพิเศษอัดแน่นมากตอน ม. 6 ทำให้เตรียมตัวไม่ทัน จึงทำให้เหลือแค่เวลาที่จะฝึกทำข้อสอบ ก็เลยต้องพยายามหาแนวมาฝึกทำเยอะ ๆ และควบคู่ไปกับการเรียนพิเศษ ทำให้หนักพอสมควร และปีพี่เองเป็นปีที่เป็นระบบ Admissions ปีสุดท้าย ซึ่งน้อง ๆ น่าจะรู้กันว่า เราต้องเริ่มสอบ GAT/PAT ตั้งแต่เดือนตุลคาคม ทำให้เราอาจจะมีเวลาไม่เพียงพอในการเตรียมตัว

สำหรับการสอบเข้าที่นี่ พี่มาสอบในรอบรับตรง เป็นการสอบข้อสอบของสาขาโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นข้อสอบวิทยาศาสตร์ทั่วไป 50% และเป็นข้อสอบทางวิชาชีพของนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ 50% และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสาขานี้ และเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ ซึ่งถ้าน้อง ๆ คนไหนพอที่จะมีความรู้พื้นฐานและสนใจเกี่ยวกับสาขานี้อยู่แล้ว และเตรียมตัวมาอย่างเต็มที่ พี่เชื่อว่าน้อง ๆ จะทำคะแนนออกมาได้ดีแน่นอนค่ะ

 

ตลาดงาน

การทำงานหลัก ๆ ก็จะเป็นการออกไปกับรถ Ambulance เพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเราสามารถรักษาผู้ป่วยได้ ณ จุดเกิดเหตุ สิ่งที่เราสามารถทำได้ เช่นหัตถการขั้นสูง การใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการหลั่งสารน้ำเข้าเส้นเลือดดำ การใช้เครื่อง Deflibulation ผู้ป่วย และยังสามารถทำงานได้ทุกที่ ที่มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชนค่ะ และอาชีพนี้ยังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ณ ตอนนี้ หากน้อง ๆ สนใจไม่ต้องกังวลเลยค่ะ
 

 


ข้อมูลการสอบเข้า

สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
med.mahidol.ac.th
facebook : Ramamedic

 

TCAS

รอบที่ 2 โครงการพื้นที่, โครงการโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
รอบที่ 4 Admissions
รอบที่ 5 รับตรงอิสระ

Admissions

GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 20%, PAT 2 30%

 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us