Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เทคนิคการจัดอันดับ TCAS รอบ 4 แอดมิชชั่น

  Favorite

          ใครยังไม่เข้ากระบวนการคัดเลือกของ TCAS รอบ 4 แอดมิชชั่น มาทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลย การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา TCAS รอบที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2561 รอบนี้เหมาะกับน้อง ๆ นักเรียนทั่วไป ไม่ต้องมีความสามารถพิเศษหรือคุณสมบัติเฉพาะ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่เข้าร่วม TCAS จะเปิดรับสมัครพร้อมกันผ่านระบบกลางของ ทปอ. ใช้เกณฑ์การคัดเลือก องค์ประกอบ ค่าน้ำหนัก ตามที่ประกาศไว้ล่วงหน้า น้อง ๆ สามารถเช็คได้จากระเบียบการ Admissions 2561 เช็ครายละเอียดรอบที่ 4 ได้เลย >> Click

 

กำหนดการ

เปิดรับสมัคร วันที่ 9 - 19 พ.ค. 62
ประกาศผลแอดมิชชั่น วันที่ 29 พ.ค. 62
สัมภาษณ์ วันที่ 31 พ.ค. - 4 มิ.ย. 62
สละสิทธิ์ วันที่ 7 - 8 มิ.ย. 62

 

ค่าสมัคร

อันดับแรก 150 บาท
อันดับต่อไป 50 บาท
สมัคร 4 อันดับ รวมค่าสมัคร 300 บาท
(เลือกไม่ถึง 4 อันดับก็ได้)

 

TCAS รอบที่ 4 Admissions ต่างจากรอบอื่น ๆ อย่างไร

- สามารถสมัครได้สูงสุด 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ

- ใน 4 อันดับ มีโอกาสติดที่เดียวเท่านั้น

- รอบแอดมิชชั่น มีคะแนนเต็ม 30,000 ทุกคณะ/สาขาวิชา

- ใช้คะแนน GPAX 20%, ONET 30%, และ GAT ทุกคณะ/สาขาวิชา แต่ค่าน้ำหนักของ GAT แล้วแต่สาขาวิชากำหนด ส่วน PAT ไม่ได้ใช้ทุกสาขา และค่าน้ำหนักก็แล้วแค่สาขาวิชากำหนด

- รอบแอดมิชชั่นไม่มีเคลียริงเฮาส์

 

คุณสมบัติผู้สมัครรอบแอดมิชชั่น

- สำเร็จการศึกษาชั้น ม. 6 หรือเทียบเท่า (เด็กซิ่ว, ปวช., กศน.)

- ต้องมีคะแนน GPAX (เกรด 6 เทอม), ONETและ GAT ส่วน PAT ใช้ในบางสาขา ต้องมีตามกำหนด

 

เลือกแบบมีลำดับ คืออะไร ?

นอกจากการอ่านหนังสือสอบ เพื่อให้ได้คะแนนสูง ๆ แล้ว การรู้เทคนิคการจัด 4 อันดับ Admissions ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน บางคนได้คะแนนสูงแต่แอดมิชชั่นไม่ติด ในขณะที่บางคนได้คะแนนไม่สูงมาก แต่กลับแอดมิชชั่นติด ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลกับการสอบติดแอดมิชชั่น ก็คือ “การจัดอันดับ” นั่นเอง

 

ในรอบแอดมิดชั่น เราสามารถติดได้แค่อันดับเดียว ระบบจะคำนวณคะแนนของทุกคนที่เลือกอันดับที่ 1 แล้วตัดเท่าจำนวนรับ คนที่ไม่ติดอันดับที่ 1 ระบบจะคัดเลือกในอันดับที่ 2, 3 และ 4 ต่อไป ใครติดแล้วหนึ่งอันดับ ก็จะหมดสิทธิ์ในสามอันดับที่เหลือ

 

ก่อนเลือกสาขาวิชา เช็คอะไรบ้าง ?

1. คำนวณคะแนนตัวเอง

คำนวณตามองค์ประกอบ ค่าน้ำหนัก ของสาขาที่เราจะเข้า เช็คดูจากระเบียบการ ได้ค่าน้ำหนักแล้วคำนวณตามนั้นเลย วิธีการคำนวณด้วยตัวเอง >> Click หรือหากคำนวณไม่เป็น ก็สามารถไปคำนวณด้วยโปรแกรมการคำนวณ TCAS รอบที่ 3 จะเป็นโปรแกรมคำนวณคะแนนดิบให้เรา และประเมินโอกาสติด มีหลายเว็บไซต์เปิดให้บริการ

2. เช็คคุณสมบัติ

ศึกษารายละเอียดคณะ/สาขาวิชา และข้อกำหนดต่าง ๆ ว่าตนเองได้ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดหรือไม่ เช่น บางคณะอาจจะกำหนดเกรดเฉลี่ย (GPAX) ขั้นต่ำไว้ กำหนดแผนการเรียน หากเกรดเราไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือแผนการเรียนไม่ตรง จะทำให้เสียอันดับไปฟรี ๆ

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดอื่น ๆ อีกด้วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับคะแนนสอบ เช่น สุขภาพร่างกาย เช่น คณะเภสัชศาสตร์ มีข้อกำหนดว่า นิสิตนักศึกษาจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีตาบอดสีชนิดรุนแรงทั้งสองข้าง ซึ่งถ้าคนที่มีปัญหาด้านนี้ มาเลือกคณะนี้ แล้วสอบผ่านทั้งรอบแอดมิชชั่นและสอบสัมภาษณ์ อาจจะมีปัญหาตอนตรวจสุขภาพร่างกายได้ ดังนั้น น้อง ๆ ควรศึกษาเกณฑ์กำหนดต่าง ๆ ของคณะที่เลือกไว้ให้ดี

 

ใน 4 สาขาวิชา เลือกที่ไหนได้บ้าง ?

จะเลือกสมัครสาขาวิชาใด คณะใด มหาวิทยาลัยใดก็ได้ คณะเดียวกัน คนละสาขาก็ได้ มหาวิทยาลัยเดียวกันหมดก็ได้ แนะนำให้น้อง ๆ ลิตส์รายชื่อคณะ/สาขาวิชาในฝันของเรา ไว้ 4 ตัวเลือก แล้วเช็คคะแนนต่ำสุดของสาขาวิชานั้น ย้อนหลังไปสองสามปีด้วยยิ่งดี จากนั้นให้เรียงคะแนนคณะที่มีคะแนนสูงสุดไปต่ำสุด นำคะแนนต่ำสุดของปี 60 ของแต่ละคณะ/สาขาที่เราเลือกมาเรียง เรียงจากมากสุดไปน้อยสุด ส่วนคะแนนย้อนหลัง ปี 59 ลงไปให้ลองสังเกตว่าแต่ละปี คะแนนเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยแค่ไหน

 

คะแนนเต็ม 30,000 มาจากอะไรบ้าง ?

- GPAX 20% = 6,000 คะแนน

- ONET 30% = 9,000 คะแนน

- GAT/PAT 50% = 15,000 คะแนน

เราจะได้คะแนนเท่าไหร่ มันขึ้นอยู่กับ องค์ประกอบ ค่าน้ำหนักของสาขาวิชานั้น ๆ เช่น หากสาขาวิชานั้นใช้รูปแบบ GAT 50 % ผลบวกคะแนนอาจจะเยอะกว่ารูปแบบ GAT 30 % + PAT 1 20% เพราะพอมีวิชา PAT 1 เข้ามาคำนวณด้วย คะแนนจะโดนเฉลี่ยน้ำหนักกัน เราจะเอาคะแนนที่คำนวณในสาขาหนึ่งไปเทียบกับคะแนนที่คำนวณอีกสาขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเปรียบเทียบได้คือ ผลคะแนนรวมของเรานั้นน้อยกว่าหรือมากกว่าคะแนนต่ำสุดของสาขานั้น

 

ตัวอย่างการเรียงคะแนนสูง-ต่ำ

นาย ก. มีคะแนน 17,500 อยากเข้าวิศวะ จุฬา

อับดับ 1 สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ม.จุฬาฯ คะแนนต่ำสุดปี 60 = 19,629

อันดับ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ พระจอมเกล้าธนบุรี คะแนนต่ำสุดปี 60 = 17,344.85

อันดับ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิทยาเขตบางเขน ม.เกษตร คะแนนต่ำสุดปี 60 = 16,425

อันดับ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ม.บูรพา คะแนนต่ำสุดปี 60 = 13,719.05

 

วิเคราะห์อันดับที่ นาย ก. เลือก

- อันดับ 1 คะแนน นาย ก. น้อยกว่าคะแนนต่ำสุด -2129 คะแนน ถ้าปีนี้คะแนนลดลงมากกว่า 3000 ก็มีสิทธิ์ติดอันดับที่ 1 แต่ถ้าคะแนนคงที่หรือเพิ่งขึ้น นาย ก. ก็จะหลุดจากอันดับที่ 1 ระบบก็จะคำนวณอันดับ 2 ต่อไป นาย ก. มีเปอร์เซ็นติดอันดับนี้มากถึง 10% - 30%

 

- อันดับ 2 คะแนน นาย ก. มากกว่า คะแนนต่ำสุด +155 คะแนน ถ้าปีนี้คะแนนลดลง นาย ก. ก็มีสิทธิ์ติด แต่ถ้าคะแนนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1000 นาย ก. ก็จะหลุดอันดับ 2 ไป นาย ก. มีเปอร์เซ็นติดอันดับนี้มากถึง 30% - 70%

 

- อันดับ 3 คะแนน นาย ก. มากกว่า คะแนนต่ำสุด +1075 ถ้าปีนี้คะแนนคงที่หรือน้อยลง นาย ก. ก็มีสิทธิ์ติดอันดับ 3 แต่ถ้าคะแนนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2000 นาย ก. ก็จะหลุดอันดับนี้ไป นาย ก. มีเปอร์เซ็นติดอันดับนี้มากถึง 70% - 90%

 

- อันดับ 4 คะแนน นาย ก. มากกว่า คะแนนต่ำสุด +3780 เมื่อดูคะแนนย้อนหลังของสาขานี้ คะแนนเหวี่ยงขึ้นลงไม่เกิน 2000 นาย ก. มีเปอร์เซ็นติดอันดับนี้มากถึง 90% - 100%

 

วิเคราะห์คร่าว ๆ นะ นาย ก. จะติดในอันดับ 2 และ 3 อย่างแน่นอน

 

อันดับที่ 1 คือคณะในฝัน อยากเข้าคณะไหนก็เลือกไปเลย แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม ทั้งนี้ต้องดูด้วยนะ ว่าถ้าคณะในฝันนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะสอบติดเลย เช่น คณะที่คะแนนปีเก่า ๆ อยู่ในระดับที่สูงกว่าคะแนนเรามาก ๆ ก็ไม่ควรเลือกให้เสียอันดับจริงมั้ยครับ อันดับที่ 2 และ 3 ควรเลือกคณะที่มีโอกาสติด มากขึ้นตามลำดับ เช่น คณะอันดับ 2 ให้เลือกคณะที่มีโอกาสติด 30-50% และ คณะอันดับ 3 ให้เลือกคณะที่มีโอกาสติด 70-90% อันดับ 4 ให้เลือกคณะที่มีโอกาสติด 100% เท่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้ว หากน้องพลาดคณะอันดับ 4 ไป น้องจะกลายเป็นคนที่แอดมิชชั่นไม่ติด แม้ว่าน้องจะมีคะแนนสอบสูงกว่าเพื่อนที่สอบแอดมิชชั่นติดคนอื่นก็ตาม

 

สรุปการจัดอันดับ

อันดับ 1 คณะในฝันอยากเข้าคณะไหนก็เลือกไปเลย แม้โอกาสน้อยมาก แต่ก็พอเป็นไปได้

อันดับ 2 คณะที่มีโอกาสติด 30-50%

อันดับ 3 คณะที่มีโอกาสติด 70-90%

อันดับ 4 คณะที่มีโอกาสติด 100% เท่านั้น

 

สมมติ สาขา A คะแนนของคนที่เลือกไว้อันดับ 3 มากกว่าคะแนนของคนที่เลือกไว้อับดับ 1 ใครจะติดสาขา A ?

หากคนที่เลือกไว้อันดับ 3 ไม่ติดในอันดับ 1 - 2 ของตัวเอง สาขา A นี้ก็จะได้ คนที่เลือกไว้อันดับ 3 ไป ง่าย ๆ ก็คือ หากเลือกสาขาเดียว คนที่จะได้ที่นั่งคือคนมีคะแนนเยอะกว่า การแข่งขันนี้คะแนนสำคัญที่สุด แต่เราสามารถจัดอันดับให้เหมาะสมกับคะแนนของเราได้ ไม่อยากหลุดแอดมิชชั่น เลือกอันดับให้เป็น

 

          ต้องบอกน้อง ๆ ก่อนเลยว่า เทคนิคการจัดอันดับคณะนั้น ไม่มีกฏตายตัว ไม่มีผิด ไม่มีถูก แล้วแต่แนวทาง จุดยืน ประสบการณ์ของผู้แนะนำแต่ละคน และแนวโน้มของคะแนนปีการศึกษาที่น้องสอบเข้านั้น อาจจะเป็นหรือไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ก็ได้ เพราะบางปีการศึกษา คะแนนของบางคณะ บางมหาวิทยาลัยอาจจะสูงหรือต่ำกว่าปีก่อนหน้านั้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น เกณฑ์การคัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนผู้สมัครที่เปลี่ยนแปลงไปจากกระแสความนิยมคณะต่าง ๆ ณ ขณะนั้น ซึ่งคาดเดาได้ยาก และเป็นอะไรที่ตาเรามองไม่เห็น ดังนั้นพี่อยากให้น้องมีความรอบคอบในการเลือกคณะ เผื่อใจในบางคณะที่อาจจะต้องผิดหวัง

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us