Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เรื่องทุนการศึกษา ที่เด็กทุนต้องรู้ !

  Favorite

“ทุนการศึกษา” เป็นเงินทุนสำคัญที่มอบให้นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะปัจจุบันที่การศึกษา แต่ละระดับมีค่าใช้จ่ายจำเป็นหลายอย่าง ซึ่งก็เป็นการส่งเสริม สนับสนุน และต่อเติมโอกาสให้คนเก่งและดีมีความตั้งใจได้มีทุนและศึกษาอย่างเต็มประสิทธิภาพนั่นเอง แล้วรู้ไหมล่ะว่าทุนการศึกษาหลัก ๆ มีกี่แบบ แต่ละแบบต่างกันอย่างไรบ้าง เอาคำตอบมาฝากกันแล้ว

 

ประเภททุนหลัก ๆ มี 2 แบบ
 

แบบที่ 1 ให้แบบไม่มีเงื่อนไข

ให้แล้วให้เลย ไม่มีมายุ่งเกี่ยว เรียนยังไงก็ได้

ใครอยากเรียนฟรี ไม่มีข้อผูกมัด ต้องห้ามพลาด !! ทุนให้แบบไม่มีเงื่อนไข เป็นทุนให้เปล่าแบบฟรี ๆ โดยที่เราไม่ต้องแบกภาระหรือเงื่อนไขใด ๆ ให้ปวดหัวหลังได้รับทุนแล้ว ไม่ต้องหนี ! ไม่ต้องใช้ทุนคืน ! ไม่ต้องเป็นภาระของคนอื่น ! ซึ่งเจ้าของทุนอาจจะเป็นมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ ศึกษาอยู่ หรืออาจจะเป็นบุคคล/หน่วยงานภายนอกที่อยากมอบทุนให้เพื่อสนับสนุน นอกจากนี้ น้อง ๆ อาจจะเคย ได้ยินการให้ทุนเปล่าเรียนต่อต่างประเทศด้วยใช่ไหมล่ะ ซึ่งก็มีให้เลือกสมัครเยอะเลยทีเดียวเหมือนกัน เช่น ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ทุนรัฐบาลจีน ทุนสหภาพยุโรป เป็นต้น สนใจทุนให้แบบไม่มีเงื่อนไขก็หาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้เลยไม่ว่าจะทุนของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่น ๆ

 

แบบที่ 2 ให้แบบมีเงื่อนไข

ต้องเรียนให้ได้เกรด 3.00 ขึ้นไปทุกเทอม

ทุนแบบมีเงื่อนไขส่วนมากจะกำหนดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำของผู้ขอรับหรือได้รับทุน ซึ่งส่วนมากต้องเกรด 3.00 ขึ้นไปทุกเทอมจึงจะผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้ โดยการกำหนดเกรดเฉลี่ยลักษณะดังกล่าวนี้พี่มองว่าก็เพื่อดูถึงความเสมอต้นเสมอปลายทั้งความรับผิดชอบ เอาใจใส่ และความขยันในการเรียน รวมถึงความรู้ความสามารถที่ต้องมากพอให้สมกับเป็นผู้ที่ได้รับทุนซึ่งจะต้องนำความรู้ที่ตัวเองมีไปทำประโยชน์ให้ดีที่สุดในอนาคตไม่ว่าจะการทำงานหรือทำประโยชน์ต่อส่วนรวมนั่นเอง

 

เรียนจบต้องทำงานกับเจ้าของทุน

หลักเกณฑ์ขอรับทุนการศึกษาของหลายแห่ง มักจะกำหนดว่าผู้ได้รับทุนเมื่อเรียนจบแล้วต้องทำงานกับหน่วยงานเจ้าของทุนหรืออาจจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เจ้าของทุนกำหนดไว้ ซึ่งจะต้องทำงานให้ครบในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ตามข้อสัญญา เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาใช้ในทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แลกกับเงินทุนที่ทางเจ้าของทุนเป็นผู้ออกให้ตลอดการศึกษา
 

เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยให้ครบชั่วโมง

เป็นลักษณะของ “ทุนจ้างงาน” เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ได้ประสบการณ์จากการทำงานและยังเป็นการหารายได้ระหว่างศึกษาอีกด้วย โดยจะต้องทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะหรือมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดไว้ ซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลาการทำงานอย่างชัดเจน รวมถึงอัตราค่าตอบแทนที่จะได้รับต่อชั่วโมงหรือต่อภาคการศึกษา โดยจะมีหลักเกณฑ์ ต่าง ๆ ประกอบการสมัคร เช่น มีเวลาว่างเพียงพอในการทำงาน ไม่เป็นอุปสรรคกับการเรียน, มีเกรดเฉลี่ยตามที่กำหนด, ไม่มีประวัติการถูกลงโทษทางวินัย เป็นต้น

 

เข้าโครงการประกวดของคณะ

คณะซึ่งเป็นเจ้าของทุนอาจจัดโครงการใดโครงการหนึ่งเพื่อให้นักศึกษาเข้าร่วมประกวดแข่งขัน คนที่ผ่านการคัดเลือกหรือได้รับรางวัลก็จะได้รับทุนการศึกษาเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งเห็นได้ว่า การประกวดโดยมีทุนการศึกษาเป็นรางวัลมีมากขึ้นในระยะหลัง และยังเป็นพื้นที่ที่เปิดให้น้อง ๆ ได้แสดงความรู้ความสามารถของตัวเองแถมยังมีโอกาสได้รับเงินทุนการศึกษาเพื่อต่อยอดหรือใช้เป็นทุนในการศึกษาต่อไปอีกด้วย

 

เข้ากิจกรรมที่ทางคณะกำหนด

คณะที่น้อง ๆ เรียนอยู่ซึ่งเป็นเจ้าของทุนอาจกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับทุนต้องเข้ากิจกรรมที่ทางคณะกำหนด ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับประเภททุนที่น้อง ๆ ได้รับโดยตรง เช่น ทุนด้านบำเพ็ญประโยชน์ ก็ต้องเป็นแกนนำทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่แบ่งปันเรื่องราวของตัวเองในการทำกิจกรรมหรือเรียนที่ผ่านมาในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งพี่เองเคยได้รับทุนสร้างชื่อเสียงและคุณประโยชน์แก่องค์กร ก็ต้องเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เหมือนกันเลยล่ะ เสมือนว่าเราต้องเป็นต้นแบบให้กับรุ่นน้องและทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่คณะกำหนดหรือโดยสมัครใจ เพื่อประชาสัมพันธ์และเป็นการช่วยงานของคณะไปในตัวนั่นเอง

 

ช่วยงานส่งเสริมมหาวิทยาลัย

เงื่อนไขการรับทุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของบางแห่ง อาจกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับทุนไว้ว่าผู้ที่ได้รับทุนต้องช่วยงานในการส่งเสริมมหาวิทยาลัยด้านต่าง ๆ ตามโอกาสหรือได้รับมอบหมายหรือตามที่เห็นว่าสมควร เช่น ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของมหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอก จัดกิจกรรม/โครงการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในโอกาสสำคัญ ๆ หรือเป็นทีมสนับสนุนและช่วยเหลือ เป็นต้น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวพี่มองว่ามีประโยชน์เลยทีเดียว เพราะน้อง ๆ ที่ได้รับทุนจะได้ประสบการณ์การทำงานและเรียนรู้การเข้าสังคมอีกด้วย

 

หากลงเรียนเกินหน่วยกิตต้องจ่ายเอง ทุนไม่ครอบคลุม

ในแต่ละเทอมน้อง ๆ ต้องลงทะเบียนเรียนให้ครบหน่วยกิตที่กำหนดใช่ไหมล่ะ แต่อาจจะมีบางเทอมที่อาจต้องลงเรียนเกินหน่วยกิตที่กำหนดไว้จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าน้อง ๆ ที่ได้รับทุนอาจต้องจ่ายด้วยตัวเอง เพราะทุนที่น้อง ๆ ได้รับอาจไม่ครอบคลุมโดยทั้งหมด ซึ่งน้อง ๆ ก็ต้องศึกษารายละเอียดของทุนให้ละเอียด เพื่อให้สามารถวางแผนการเรียนรวมถึงจัดการกับทุนที่ได้รับอย่างคุ้มค่าที่สุด

 

เข้าอบรมทุกกิจกรรมที่กำหนด

การอบรมเป็นการฝึก ทบทวน เพิ่มประสบการณ์และความรู้ที่สำคัญ ซึ่งน้อง ๆ ที่ได้รับทุนก็ต้องรู้ไว้เลยว่าการรับทุนการศึกษาอาจตั้งเงื่อนไขให้ต้องเข้าอบรมทุกกิจกรรมที่กำหนด เช่น การฝึกอบรม ค่าย ศึกษาดูงาน ประชุม หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุน เป็นต้น ดังนั้นเราก็ต้องเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านั้นตามที่เจ้าของทุนกำหนดไว้ตามเงื่อนไข ซึ่งเชื่อเลยว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์กับน้อง ๆ แน่นอน

 

สำหรับนักเรียนทุน จะมีกิจกรรมที่นอกเหนือจากเด็กทั่วไป

น้อง ๆ ที่เป็นนักเรียนทุนจะมีกิจกรรมพิเศษที่ต้องทำหรือเข้าร่วมนอกเหนือจากเด็กทั่วไป ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นก็จะเป็นส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเพิ่มเติม ไม่ว่าการเรียน คุณธรรมจริยธรรม การใช้ชีวิต การอยู่ในสังคม รวมทั้งเป็นการดูแลให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา เพื่อให้น้อง ๆ นักเรียนทุนทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีที่สุด ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นก็จะแตกต่างกันออกไปตามประเภททุนที่ได้รับหรือตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของทุน

 

ทำตามข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

หากน้อง ๆ ต้องการสมัครขอรับทุนหรือเป็นผู้ได้รับทุนการศึกษาแบบมีเงื่อนไข ควรที่จะทำตามข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพราะหากตกหล่นข้อใดข้อหนึ่งไปเราอาจเสียสิทธิ์ไปอย่างน่าเสียดายภายหลัง ทั้ง ๆ ที่มีความตั้งใจจริงในการขอรับทุนเพื่อเป็นทุนสำหรับการเรียนและทำงานในอนาคต เอาเป็นว่าควรศึกษารายละเอียดของทุนให้ดีก่อนสมัครและหลังได้รับทุนให้ดีข้อนี้ลืมไม่ได้เชียวล่ะ

 

เรื่องควรรู้ก่อนหลุดทุน

“ห้ามย้ายคณะ ห้ามย้ายสาขา หน่วยกิตต้องครบ ห้ามดรอป ห้ามติด F” เหล่านี้คือข้อควรรู้ที่น้อง ๆ มองข้ามไม่ได้ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับทุนที่ได้รับโดยตรง ถ้าใครเผลออาจหลุดทุนไปอย่างน่าเสียดายเชียวล่ะ ซึ่งพี่ก็ยังแอบรู้มาว่านอกจากนี้แล้วปัจจัยที่ทำให้น้อง ๆ หลายคนหลุดทุนจนเครียดและกังวลแล้วกังวลอีกก็เรื่องเกรดที่ลดฮวบต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทุนกำหนดยังไงล่ะ หรือแม้แต่ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถ้าน้อง ๆ ทำเกรดไม่ถึง 2.00 ก็เตรียมจ่ายเองได้เลย !! ฉะนั้นแล้วถ้าใครไม่อยากหลุดทุนไปแบบน่าเสียดายก็ให้ศึกษาข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ชัดเจนและปฏิบัติให้ได้ตามข้อเหล่านั้นนะครับ น้อง ๆ จะได้ใช้ทุนเหล่านั้นในการเรียนอย่างคุ้มค่าและไม่ต้องคอยกังวลใจ

 

น้อง ๆ ควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจสมัครรับทุนอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะมีทั้งทุนที่ให้กันแบบฟรี ๆ ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ และทุนให้แบบมีเงื่อนไข ที่มีข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างชัดเจนและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ต้องรู้ไว้ก่อนเลยถ้าได้รับทุนแล้วจะได้ไม่หลุดทุนไปง่าย ๆ กันเสียก่อน อีกสิ่งที่ลืมไม่ได้ก็ต้องใช้เงินทุนที่ได้รับอย่างคุ้มค่า ใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับการเรียนการศึกษา ให้สมกับที่เจ้าของทุนมอบโอกาสดี ๆ ให้กับน้อง ๆ


 

เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us