Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร พระนครเหนือ

  Favorite
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร พระนครเหนือ

 

ลองนึกดูสิว่า ถ้าส้ม 100 ผล ที่มาจากคนละต้น นำมาทำเป็นน้ำส้มคั้น คิดว่ารสชาติแต่ละกล่องจะเหมือนกันไหม หรือเข้าไปเดินในซุปเปอร์มาร์เก็ตซื้อน้ำผลไม้ 3 กล่อง เทชิมแต่ละกล่องแล้วรสชาติเหมือนกัน ทั้งสีและกลิ่น เป็นเพราะอะไรนะ ถ้าอยากรู้ก็ตามไปดูนักสังเกตอาหารแบบ รุ่นพี่ปี 2 แบงค์-ณฐภณ กิตติพลัง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่พร้อมแชร์คำตอบแล้ว

 

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร

จะเรียนเกี่ยวกับขั้นตอน กรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาหาร เช่น การแปรรูป การเก็บเกี่ยว การผลิตอาหาร การถนอมอาหาร ปรุงแต่งผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวิศวกรรมอาหาร วิศวกรรมกฎหมาย การสุขาภิบาลโรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย
 


ความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร

ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากในปัจจุบันนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสนับสนุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางด้านอุตสาหกรรมการอาหารแบบ 4.0 จึงต้องมีการขยายกระบวนการผลิตทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ ภายใต้มาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐาน GMP (หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารทุกขั้นตอน) ระบบ HACCP (ระบบควบคุมจุดที่จะเป็นอันตรายที่จะเกิดกับผู้บริโภค) มาตรฐานสากลอย่าง ISO 22000 (ควบคุมความปลอดภัยในการผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายและการส่งออกต่างประเทศ) เป็นต้น โดยจะเน้นการเรียนแบบทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กัน

 

การเรียนในแต่ละชั้นปี

แบ่งออกเป็นหลักสูตรปกติและสหกิจ ในแบบปกติ ปีที่ 1-2 เรียนเกี่ยวกับวิชาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หลักการทางสถิติ และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประยุกต์ ที่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งภาษาอังกฤษ พอปี 3 เรียนวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารโดยตรง เช่น วิศวกรรมอาหาร การวิเคราะห์ ตรวจประเมินและประกันคุณภาพอาหาร การสุขาภิบาลโรงงานและสิ่งแวดล้อม และได้ฝึกงานจริงที่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนปี 4 หลัก ๆ จะเป็นวิชาเลือกเฉพาะทางเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การอาหาร เช่น วิชาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ประมง ผลิตภัณฑ์ขนมหวานและช็อกโกแลต และทำโครงการพิเศษเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนแบบสหกิจปี 1-2 จะเรียนเหมือนกัน ต่างตรงที่ปี 3-4 เทอมหนึ่งต้องไปฝึกงานเป็นระยะเวลา 6-8 เดือน และทำวิจัยร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม ภาคเรียนที่ 2 ของปี 4 จะเรียนวิชาระบบประกัน และควบคุมคุณภาพอาหาร และการออกแบบโรงงาน
 


ใจรัก ช่างสังเกต และสร้างสรรค์

เป็นคุณสมบัติที่ดีของคนเรียนสาขานี้ ขั้นแรกคือต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อนว่าชอบด้านนี้ไหม ซึ่งวิธีการค้นหาตัวเองก็มีได้หลายวิธี เช่น ออกค่ายตามมหาวิทยาลัย ลงมือปฏิบัติดูว่าใช่ไหม ถ้าทำแล้วมันใช่ก็มุ่งไปเลยครับ แต่ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต ชอบตั้งคำถาม รักการค้นคว้าวิจัย ขยัน ตรงเวลา กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของนักวิทยาศาสตร์การอาหารเลยครับ

 

วิธีการสอบเข้า

จบสายวิทย์-คณิต โดยใช้คะแนน GPAX, O-NET, GAT, PAT 2 เน้นวิชาเคมี และชีววิทยาเชิงลึก ต้องทำคะแนน PAT 2 ให้ดี ซึ่งการรับเข้าศึกษาจะรับเฉพาะโควตาและระบบแอดมิชชั่นเท่านั้น ฉะนั้นต้องจัดเวลาอ่านหนังสือให้ดีครับ ควบคุมตัวเองให้ได้ว่าเล่นเวลาไหน อ่านเวลาไหน ถ้าเราจัดแบบนั้นได้นะรับรองเข้าได้สบาย ๆ และที่สำคัญเรียนปี 1 ก็ใช้เต็ม ๆ ด้วยนะ
 


ตลาดงาน

แบ่งเป็นสองภาคส่วนคือ ภาครัฐกับเอกชน ในภาคเอกชนก็เป็นคนตรวจคุณภาพอาหาร (QC) ประเมินคุณภาพอาหาร (QA) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (RD) ส่วนภาครัฐ จะทำที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นนักวิชาการด้านอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นผู้ร่างระบบในการควบคุมความปลอดภัยของอาหารด้านต่าง ๆ หรือเป็นผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานในการตรวจสอบอาหาร ธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวกับด้านอาหาร ถ้าเทียบเป็น 100% ในตลาดแรงงานถือว่าอยู่ในระดับ 30-40% และในปี 2560 ศิษย์เก่าจบไปทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร 84% เป็นจำนวนที่สูงเพราะเป็นที่ต้องการมากครับ
 


ข้อมูลการสอบเข้า

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร
ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม
คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
http://afet.sci.kmutnb.ac.th

TCAS

รอบที่ 1 โควตาเรียนดี
รอบที่ 2 โครงการรับตรง 29 จังหวัด, โครงการโควตาพื้นที่
รอบที่ 4 Admissions

Admissions

GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10%, PAT 1 10%, PAT 2 30%

 

 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us