โอกาสที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน !! ประสบการณ์จาก พี่ปังปอนด์ ปัญจวิชญ์ ขอดทอง ปัจจุบันเรียนที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ภาคภาษาอังกฤษ (BJM) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ตัวแทนที่ได้เข้าร่วม โครงการ ‘นักข่าวแห่งอนาคต ทรู’ ประจำปี 2560
จากการที่ได้เรียนในโครงการ BJM (คณะวารสารศาสตร์ฯ ภาคภาษาอังกฤษ) ทำให้เกิดความสนใจในงานด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะด้านการทำข่าว และเห็นว่าโครงการ FJA ให้โอกาสนักศึกษามหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศเข้าแข่งขันเพื่อไปดูงานที่สำนักข่าวบีบีซี ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่ติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ และได้เห็นรุ่นพี่ในคณะเคยได้รางวัลนี้มาในปีก่อนหน้า จึงรู้จักโครงการ FJA และคิดว่าอยากจะลองสมัครโครงการนี้สักครั้งก่อนที่จะจบการศึกษา
การสอบคัดเลือกตลอดทั้งโครงการจะมี 3 รอบด้วยกัน โดยรอบแรกเป็นการสอบทั่วประเทศเพื่อคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 30 คนจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมกิจกรรม workshop ด้านการทำข่าว ในรอบแรกจะเป็นการสอบข้อเขียน ข้อสอบรอบนี้จะวัดความรอบรู้เกี่ยวกับข่าวสารทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก การวิเคราะห์เนื้อหาและคุณค่าของข่าว รวมถึงการอ่านจับใจความข่าวภาษาอังกฤษและแปลมาเป็นภาษาไทย การเตรียมตัวสำหรับการสอบรอบนี้คือต้องติดตามข่าวสารในช่วงเดือนที่ผ่านมาเพื่อตอบคำถามส่วนที่วัดเรื่องความรู้ข่าว สิ่งที่ท้าทายในการสอบรอบนี้คือเราเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นภาษาอังกฤษมาตลอด เมื่อต้องเขียนข่าวเป็นภาษาไทย ซึ่งมีความแตกต่างกันกับการเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องเตรียมตัวโดยการอ่านข่าวที่เป็นภาษาไทยให้มากขึ้นเพื่อเห็นการใช้ภาษาข่าวในภาษาไทย การติดตามข่าวสารไว้มาก ๆ ก่อนสอบยังมีประโยชน์ที่ทำให้เราฝึกจับใจความและวิเคราะห์ข่าวที่เราได้ยินได้ดีขึ้น
หลังจากสอบรอบแรกเพื่อคัดเลือกตัวแทน 30 คนแล้ว ทั้ง 30 คนจะได้มาเข้าค่าย 3 วันเพื่อทำ workshop ด้วยกัน โดยจะมีอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อสารมวลชนมาให้ความรู้ วันที่ 3 ของค่ายจะมีการสอบรอบที่สอง ในรอบนี้เป็นข้อสอบข้อเขียน ซึ่งจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ข้อสอบจะให้เราฟังข่าวภาษาอังกฤษและตอบคำถามเกี่ยวกับใจความของข่าว และให้เราเขียนข่าวสั้น ๆ เป็นภาษาอังกฤษ ข้อสอบรอบนี้วัดเราในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษในด้านการฟังและการเขียน ดังนั้น จึงต้องเตรียมตัวโดยการฝึกฟังข่าวภาษาอังกฤาเยอะ ๆ ข่าวที่อาจารย์ให้ฟังในข้อสอบเป็นข่าวจาก BBC ดังนั้นถ้าเตรียมตัวโดยการฟังข่าวจากสำนักข่าวนี้จะช่วยได้มาก เพราะเราจะได้คุ้นเคยกับสำเนียงอังกฤษที่อาจจะแตกต่างจากข่าวภาษาอังกฤษสำนักข่าวอื่น ๆ บ้าง ก่อนที่จะฟังข่าวก็ควรอ่านคำถามไว้ก่อนว่าเราต้องตอบอะไรบ้าง เราจะได้จดคำตอบจากข่าวไว้ได้ จากการสอบในรอบที่สองนี้ จะมีการคัดเลือกให้เหลือแค่ 10 คน จากทั้งหมด 30 คน เพื่อไปสอบรอบที่สาม
การสอบรอบที่สาม เป็นการสอบสัมภาษณ์จากคณะกรรมการประมาณ 8 ท่าน เราจะเข้าไปในห้องสอบสัมภาษณ์ทีละคน โดยกรรมการทั้ง 8 ท่าน จะถามคำถามเราเป็นภาษาอังกฤษและเราต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด คำถามที่แต่ละคนได้อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลัก ๆ แล้วเป็นคำถามที่วัดเรื่องการติดตามข่าวสารรอบโลก หลักการการเป็นนักข่าว จริยธรรมของสื่อมวลชน รวมถึงความคิดเห็นของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์รอบโลก ตัวอย่างคำถามที่ปังปอนด์ถูกถามในห้องสอบ เช่น ให้เล่าข่าวในช่วงสัปดาห์มา 5 เรื่อง แล้วก็ถามความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวสงครามในซีเรียว่า เราเห็นด้วยกับการทำสงครามหรือไม่ หากมีโอกาสได้สัมภาษณ์ใครก็ได้ อยากสัมภาษณ์ใคร และจำถามคำถามอะไร ในการสอบรอบนี้ภาษาอังกฤษด้านการฟังและพูดสำคัญมาก คณะกรรมการจะไม่ได้หักคะแนนเราถ้าเราใช้ไวยากรณ์ไม่ถูกต้อง แต่จะดูว่าเราสื่อสารภาษาอังกฤษได้เข้าใจและมีความมั่นใจหรือไม่ การตอบคำถามเราต้องตอบโดยแสดงความคิดเห็นอย่างมั่นใจ โชคดีว่ากรรมการทุกท่านใจดีมากและตั้งใจฟังเราตลอด เลยไม่รู้สึกกดดัน แต่รู้สึกว่าเราอยากเล่าความคิดเห็นให้กรรมการฟังมากกว่า
ตั้งแต่ผ่านการสอบรอบแรกและเข้าไปทำ workshop กับเพื่อน ๆ อีก 29 คนในค่าย ก็ได้ฟังบรรยายด้านการทำข่าวจากอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ระหว่างค่ายก็ได้จับกลุ่มกัน 5 คนเพื่อทำสารคดีเชิงข่าว ซึ่งกิจกรรมในค่ายสามวันเราได้ความรู้ด้านสื่อสารมวลชนที่นอกเหนือไปจากที่เรียนในมหาลัยเยอะมาก และได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ ด้วย
หลังจากประกาศผลรางวัล Excellent FJA แล้ว ทางโครงการให้เราไปฝึกงานกับสำนักข่าว TNN 24 เป็นเวลาหนึ่งเดือนเพื่อเตรียมตัวด้านการทำข่าว ก่อนจะเดินทางไปดูงานที่สำนักข่าวบีบีซี และ British Council ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการ FJA ได้เตรียมตัวเราก่อนเดินทางไปประเทศอังกฤษ โดยให้คำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตและการเดินทางในประเทศอังกฤษ
หลังจากเดินทางไปถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษแล้ว ก็ได้เดินทางไปยังสำนักงานของบีบีซีเพื่อเข้าร่วม workshop เป็นเวลา 3 วัน สองวันแรกของ workshop เราเดินทางไปที่อาคาร Television Centre เพื่อเข้าร่วมห้องเรียนด้านการทำข่าว โดยมีคุณ Steve Taschini ซึ่งเป็นเทรนเนอร์ของบีบีซีมาให้ความรู้ในเรื่องการทำข่าวของบีบีซี เช่น จริยธรรมของบีบีซี การเขียนบทข่าวโทรทัศน์ การสัมภาษณ์แหล่งข่าว และกฎหมายเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน ในระหว่างการทำ workshop สองวันนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณ Steve ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น มุมองของคนอังกฤษต่อประเทศไทยจากการนำเสนอในข่าว ประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ของไทยและอังกฤษ รวมถึงการบริหารงานของสำนักข่าวบีบีซีที่มีสาขาในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย
จากนั้นวันที่สามเราได้เดินทางไปที่สตูดิโอข่าวของบีบีซีซึ่งอยู่กลางเมืองลอนดอน โดยมีเทรนเนอร์ซึ่งเป็นนักข่าวจากบีบีซีมาต้อนรับเราและพาเราเดินดูห้องข่าวและสำนักงานภายในสตูดิโอของบีบีซีเพื่อได้เห็นภาพการทำงานของนักข่าวภายในสตูดิโอ เราได้เข้าไปเยี่ยมชมสตูดิโอข่าวที่ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการนำเสนอข่าวซึ่งถ่ายทอดไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงได้มีโอกาสนั่งเก้าอี้ผู้ประกาศข่าวภายในสตูดิโออีกด้วย เทรนเนอร์ก็จะคอยอธิบายให้เราฟังว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างใช้ทำอะไร และนักข่าวเตรียมตัวก่อนออกหน้ากล้องกันอย่างไรบ้าง
ในช่วงหนึ่งเดือนของการฝึกงานที่สำนักข่าว TNN 24 ได้ไปเข้าร่วมงานกับโต๊ะข่าวอาเซียน การทำงานกับโต๊ะข่าวอาเซียนทำให้เราได้อ่านข่าวจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเยอะมากเพราะเราต้องคัดเลือกข่าวที่น่าสนใจจากต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาไทย รวมถึงทำบทวิเคราะห์ข่าวด้วย ในบางครั้งก็มีโอกาสได้ติดตามพี่ ๆ นักข่าวไปทำข่าวนอกสถานที่ เช่น งานสัมมนา และสัมภาษณ์แหล่งข่าวด้วย ทำให้ได้เห็นว่าการทำงานของนักข่าวก่อนจะออกไปทำข่าวนอกสถานที่นั้นต้องมีการเตรียมตัวอย่างมากในการหาข้อมูล และต้องทำงานแข่งกับเวลาด้วย ในระหว่างการฝึกงาน นักศึกษาฝึกงานทุกคนจะต้องทำสกู๊ปข่าวของตัวเองอย่างน้อยคนละหนึ่งชิ้น ปังปอนด์ก้ได้ไปทำข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาเกี่ยวกับหัตถกรรมอาเซียนและได้สัมภาษณ์ศิลปินจากต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงาน และเปิดหน้าประกาศข่าวรวมถึงลงเสียงสำหรับข่าวชิ้นนี้ด้วย ตลอดการฝึกงาน พี่ ๆ นักข่าวซึ่งรวมถึง FJA รุ่นพี่ที่ปัจจุบันมาเป็นนักข่าวของ TNN 24 ก็ให้คำแนะนำและสอนการทำงานข่าวอย่างใกล้ชิดตลอดการฝึกงาน
นอกจากประสบการณ์จากการฝึกงานที่ TNN 24 และที่บีบีซีแล้ว การได้เดินทางไปประเทศอังกฤษเองก็เป็นประสบการณ์ที่ดีมากเช่นกัน เพราะหลังจากเข้าร่วม workshop ที่บีบีซีแล้วก็ได้ไปเที่ยวรอบกรุงลอนดอนและเมืองอื่น ๆ ในประเทศอังกฤษด้วย ซึ่งทำให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษไปในตัวด้วยจากการพูดคุยกับคนที่นั่น และได้เรียนรู้วัฒนธรรมรวมถึงประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษจากการท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ด้วย เช่น British Museum, Tower of london
สำหรับน้อง ๆ ที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่ปี 3 หรือปี 4 และมีความสนใจด้านสื่อสารมวลชน อยากเพิ่มพูนประสบการณ์และทำกิจกรรมก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัย อยากให้มาสมัครโครงการ FJA กัน เพราะแค่ก่อนจะได้รางวัลไปประเทศอังกฤษก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมมากมายจากทางโครงการ ซึ่งนอกจากเป็นประสบการณ์ที่ดีกับตัวเองแล้ว ยังเป็นผลงานที่เราสามารถนำไปใช้หลังเรียนจบ เช่น การสมัครงาน ได้อีกด้วย