ลายเส้นรูปแมว ช้าง และดอกไม้ที่ใครเห็นเป็นต้องทบทวนความทรงจำว่าเคยเห็นที่ไหนมาก่อน เปรียบได้กับลายเซ็นต์ของ รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ อาจารย์ นักวาดภาพประกอบ และนักเล่านิทาน ด้วยความรักและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำทั้งงานศิลปะและวรรณกรรม อาจารย์เกริกสร้างชื่อจนกลายเป็นนักวาดภาพประกอบนิทานที่ต่างชาติยอมรับ และยังไม่หยุดคิดไม่ย่อฝันเดินหน้าทำโครงการพิพิธภัณฑ์ของเล่น และนิทรรศการศิลปะ ด้วยความเชื่อง่ายๆ ว่า “ฝันอะไรให้เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริง เดี๋ยวมันก็เป็นจริงเอง”
ทำไมจึงเริ่มมาสนใจการเขียนนิทานและการวาดภาพประกอบ
อาจารย์เกริกถูกหลอมมาตั้งแต่วัยเด็ก พ่อชอบวาดรูปสถานที่ท่องเที่ยวตามรูปถ่ายในอนุสารท่องเที่ยว อสท ที่เป็นรูปขาวดำแล้วมาลงสีเอง ส่วนแม่ผมก็ชอบเล่านิทานก่อนนอนให้ฟังซ้ำไปซ้ำมา มันบ่มเพาะให้เรารู้ว่าอยากจะเป็นใครและทำอาชีพอะไร ยิ่งพอมาเรียนวรรณกรรมเด็กก็มาเจอครูที่เก่ง เราก็เลยชอบการเล่านิทานแล้วก็ทำหนังสือเด็ก
ก่อนหน้านี้ตอนเป็นนักเรียนเคยค้นหาสไตล์ของตัวเองไหม
ไม่เคยค้นเลย เหมือนมันมีกลิ่นที่อยากทำเลย แล้ววาดภาพแบบเด็กมันอิสระ อย่างเขียนคนตัวโค้งเราก็วาดได้เลย เหมือนเด็กอยากวาดอะไรก็จะไปได้เลย มั่นใจ ไม่ต้องร่างรูปมาก่อน เรามารู้เมื่อตอนเรียนปริญญาโทแล้วว่ารูปที่เราชอบวาดเรียกว่า naïve art แต่สีอาจจะไม่เหมือนเพราะเรารู้ทฤษฎีสี พอเราวาดรูปแบบเด็ก เครื่องส่งส่งไปหาเครื่องรับที่ไปในทางเดียวกัน เด็กๆ ก็ไม่เคยรังเกียจรูปวาดของอาจารย์เกริก และบอกว่าอย่างนี้น่ะง่าย วาดตามได้
แล้วการแต่งนิทานนี่ต้องสวมวิญญาณเด็กด้วยไหมคะ
ต้องอ่านหนังสือเด็กอย่างน้อย 200 เล่ม หนังสือภาพสำหรับเด็ก ไม่ใช่การ์ตูนนะ ทุกวันนี้ยังต้องดูทุกวันศุกร์เหมือนอัพเดทตัวเราเอง ถึงจะเป็นรูปที่ดูเป็นสากล แต่เนื้อหาอาจารย์เกริกก็มีอะไรที่เป็นไทยๆ ปนอยู่ เราจะปลูกฝังความดีงาม ความรัก ความอบอุ่น ก่อนจะเขียนต้องคิดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าเราคาดหวังว่าเด็กจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แบบใด จะเป็นคนที่อยู่ในกรอบของสังคม อะไรแบบนี้ก็จะแอบแฝงเข้าไป
ถ้าอย่างนั้นวัตถุดิบของการแต่งนิทานคืออะไร
อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน ดูข่าวทุกวัน ไปดูหนังสือเด็กของคนอื่นทุกอาทิตย์ พูดคุยกับคนในแวดวง เราจะรู้ว่ามีการเคลื่อนไหว ไม่ช้าไปกว่าคนอื่น แน่นอนว่าต้องคุยกับเด็ก ตอนเราทำดัมมี่ที่เป็นเสมือนหนังสือจริงก็ลองเอาไปเล่าให้เด็กฟัง ถ้าเด็กโต้ตอบ เราปรับปรุง แต่อย่าไปเชื่อเด็กแค่คนเดียว
อาจารย์เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินหรือเป็นอาจารย์มากกว่ากัน
ชอบเป็นครู ไม่เหมือนกันนะ การเป็นอาจารย์บางครั้งต้องอยู่ในกรอบหรือมีทฤษฎีมาก การเป็นศิลปินอาจจะอิสระ ทำอะไรที่เป็นตัวของสูง แต่การเป็นครูต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เต็มไปด้วยความรู้ และมีใจเมตตา สอนคนที่ไม่รู้เรื่องแต่เราปรารถนาให้เค้ารู้ เพื่อให้เค้าไปประกอบอาชีพ
ขอถามถึงพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น (Millions toy museum) ของอาจารย์ ทราบว่าเป็นความฝันที่ต้องรอเวลาถึง 30 ปี
อาจารย์เกริกเริ่มสะสมของเล่นตั้งแต่ปี 2521 เราได้ทุนของมูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมันให้ไปดูงานหนังสือเด็กที่ International Youth Library พอมีเวลาว่างเราก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ที่เมืองต่างๆ ในยุโรป กลับมาเรามีความมุ่งหมายว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ของเล่นบ้างตั้งแต่เริ่มเก็บเลย ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะไปสร้างที่ไหน จะมีที่หรือเปล่า จะมีเงินหรือเปล่า แต่เหมือนคนเราถ้ามุ่งมั่นแล้วมันจะเป็นอย่างที่เราอยากเป็น
ช่วงแรกๆ มีคนมองว่าอาจารย์กำลังทำอะไรอยู่ไหมคะ
ยุคนั้นอาจารย์เก็บอยู่สองคนกับรุ่นน้อง ไปเดินซื้อด้วยกัน คนขายที่พอรู้ว่าเราจะทำพิพิธภัณฑ์ก็ขายให้ราคาถูก แต่คนใกล้ตัวอย่างแม่และพี่น้องก็จะบอกว่าเก็บขยะ เก็บไปทำไม คนที่เล่นของเก่าก็จะบอกว่า ของแบบนี้ขายทอดตลาดก็ไม่ได้ ก็มีท้อบ้างแต่ขอให้มุ่งมั่นแล้วจะรู้ว่าต้องปรับปรุงยังไง เพราะเรามีเป้าหมายที่จะไปถึงปลายฝันให้ได้ นี่แหละที่เค้าบอกว่าคนเราต้องมีฝัน พอถึงเวลานี้ทุกคนบอกว่าคิดฉลาด คิดเร็วกว่าคนอื่นมาตั้งใกล้
มีของเล่นชิ้นไหนที่รู้สึกว่าได้มาอย่างยากเย็น
มันมีแค่อยากได้แต่มันไม่ยากเย็น วันหนึ่งมันต้องเจอ เพราะคนไทยไม่ได้หวงหรือเก็บไว้ ถ้าเราเรียนรู้ก็ต้องศึกษาว่าโลกของของเล่นมันมีประวัติยังไง ช่วงค.ศ. 1950 เป็นยุคทองของของเล่น ตัวเด่นคือก๊อตซิลล่า เราก็แอบเก็บไว้ในใจว่าสักวันหนึ่งเราต้องเจอ ในที่สุดก็เจอ เพราะเดี๋ยวเค้าก็ทิ้งให้ซาเล้ง ให้รถขยะ บางทีขับรถไปหัวหินก็แวะไปถามคนในย่านนั้นว่าสมัยก่อนร้านไหนขายของเล่นบ้าง ถึงเค้าจะบอกว่าเลิกแล้ว เราก็จะแอบไปให้ได้แล้วถามว่ายังมีของเล่นเหลือไหม ถ้าเหลือเค้าก็จะเอาออกมาอวด
ถึงวันนี้ผลตอบรับเป็นยังไงบ้างคะ
ตอนเปิดก็กังวลว่าจะอยู่ได้ไหม เพราะมีคนบอกว่าคนไทยไม่เที่ยวพิพิธภัณฑ์ แต่เอาเข้าจริงทุกคนโหยหา โดยเฉพาะของเล่น มีครอบครัวพาลูกมา คนหนุ่มคนสาวมา ทุกคนมีความรู้สึกชื่นใจทั้งหมด ทำให้เรามีความสุขไปด้วย เรามีความรู้สึกมั่นใจเหมือนเราเป็นกุ๊กที่เสิร์ฟอาหารแล้วเค้าบอกว่าอร่อย แล้วเราจะพยายามปรับปรุง พิพิธภัณฑ์ให้ดีขึ้นไปอีก สอดคล้องกับคำว่าพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
ยังมีฝันอะไรที่อาจารย์แอบเอาไว้ในใจอีกไหมคะ
อยากทำพิพิธภัณฑ์ภาพประกอบ เพราะอาจารย์เกริกทำหนังสือเด็กมาจะ 30 ปีแล้ว เราอยากปลูกฝังให้คนรู้สึกว่าศิลปะมันใกล้ตัวเรา พอได้เสพงานศิลปะ เด็กๆ ก็ได้รู้จักศิลปะ ตอนไปพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เห็นคุณครูพาเด็กมาเที่ยว เอาผ้ามาปูแล้วให้เด็กนั่งลอกรูปของแวน โกะห์ ซึ่งทางทฤษฎีเราบอกไม่ให้ลอกรูปของคนอื่น แต่ฝรั่งให้ลอกรูประดับบิ๊กขนาดนี้ อย่างน้อยเค้าก็ต้องเลือกคู่สีที่มันเจ๋ง การให้เด็กรู้จักกับงานระดับโลก ทำให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในตัว ไม่ใช่แค่ลอกรูปเพื่อความชอบ การลอกรูปก็วิเศษอีกแบบหนึ่ง เหมือนที่ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่า อ่านหนังสือของคนเก่งๆ แล้วเอามาคัดลอก เราอาจจะมีกลิ่นอายของคนอื่น แต่ถ้าเราทำต่อไป กลิ่นอายนั้นก็จะจางไป กลิ่นความเป็นตัวตนก็จะเข้ามาแทนที่
อยากทำอีกอย่างคืออาคารหลังเล็กเป็นห้องสมุดเด็ก อาจารย์เกริกจะเลือกหนังสือในนั้นเอง เด็กๆ ที่มาอ่านหนังสือ 40 เล่มที่อาจารย์เกริกเลือกจะต้องมีความงดงามและมีความสุข
อาณาจักรของอาจารย์เกริก
นิทานเล่มโปรด
The Very Hungry Caterpillar หนอนหิว ของอีริค คาร์ล (Eric Carle) นักวาดภาพประกอบที่ชอบที่สุด ทำภาพประกอบเหมือน fine art ศิลปะบริสุทธิ์
พิพิธภัณฑ์ที่ชอบที่สุด
พิพิธภัณฑ์ของเล่นฮาโกเน่ของคิตาฮาระ และพิพิธภัณฑ์ที่เทียนอันเหมินซึ่งเก็บของเล่นของพระนางเจ้าซูสีไทเฮา อย่างนาฬิกาหรือของสะสม แต่ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ในเมืองไทย ชอบบ้านพิพิธภัณฑ์ของคุณเอนก นาวิกมูล
ของเล่นเป็นสิ่งนำร่องสู่ความเป็นจริง
เมื่อปี 1950 มีของเล่นรูปยานอวกาศผลิตขึ้น 20 ปีต่อมา มียานอวกาศเหมือนกับที่ทำให้เด็กเล่นได้ไปดวงจันทร์จริงๆ ดังนั้นของเล่นนอกจากทำให้เด็กสนุก เพลิดเพลิน และยังเป็นแรงบันดาลใจ ส่งผลถึงการคิดจินตนาการจนกลายเป็นจริง
แมว นก ดอกไม้ เด็กผู้หญิง คาแร็คเตอร์หลัก
แมวเป็นสัตว์ไม่ธรรมดา แมวไทยเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ ญี่ปุ่นก็ชอบแมวนางกวัก ประวัติศาสตร์การสร้างอียิปต์ก็มีเทวรูปแมว พอต้องเลือกรูปอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ เขียนไปเขียนมาก็ชอบแมว แล้วก็เลือกนกเพราะมีมุมมองที่เป็นอิสระแบบเบิร์ดส์อายวิว (Bird’s eye view) ดอกไม้ก็เป็นเรื่องของกลิ่นหอมเป็นวิธีการรักษาแบบหนึ่ง ส่วนเด็กผู้หญิงก็แทนเพศแม่
ความสมบูรณ์แท้ 5 อย่างของมนุษย์ของอาจารย์เกริก
หนึ่ง อ่านหนังสือให้เกิดความรู้ สอง กินอาหารอร่อยและสะอาด สาม เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนฉากชีวิต สี่ ฟังดนตรีดีๆ และห้า เที่ยวพิพิธภัณฑ์