Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] แชร์จากรุ่นพี่วิศวะการบินรั้วนนทรี วิศวกรรมการบินและอวกาศ ม.เกษตรศาสตร์

  Favorite

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศที่ผลิตวิศวกรรมการบินและอวกาศ สาขานี้เรียนอะไรบ้าง ยากแค่ไหน มาฟังประสบการณ์การเรียนจากรุ่นพี่โดยตรง พี่ก๊อต สิทธิณัฐ เด่นดวงหทัย รุ่นพี่ปี 3 สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 

ภาพ : Fuse AE23 @ Utapao maintenance center

 

ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ

ภาควิศวกรรมการบินและอวกาศศึกษาเกี่ยวกับด้านอากาศพลศาสตร์ การวิเคราะห์โครงสร้าง เพื่อการออกแบบการสร้าง การซ่อมบำรุงเครื่องบิน เครื่องยนต์เจ็ท เทคโนโลยีดาวเทียมการซ่อมบำรุง รวมไปถึงการบริหารธุรกิจการบิน ภาควิชานี้มีทั้งหมด 3 หลักสูตร 1.วิศวกรรมการบินและอวกาศ (ภาคปกติ) ซึ่งเป็นภาคที่พี่เรียนอยู่ 2.สาขาการจัดการเทคโนโลยีการบิน (ATM) 3.วิศวกรรมศาสตร์สาขาการบินและอวกาศ (IDDP) ในครั้งนี้พี่จะเจาะลึกไปที่ภาคปกติหรือทีเราเรียกว่า AE (Aerospace Engineering) นะครับ

 

"หลาย ๆ คนอาจยังเข้าใจว่า การเรียนสาขาวิชานี้คือการเป็นนักบิน ซึ่งพี่ขอเปรียบเทียบง่าย ๆ คุณพ่อน้องขับรถเป็นแต่ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อน้องตัองสร้างหรือซ่อมรถจริงไหมครับ เช่นเดียวกับที่รถมีวิศวกรยานยนต์เป็นผู้สร้างรถ วิศวกรการบินอย่างเราก็มีหน้าที่สร้างเครื่องบินครับ แต่ถ้าให้เราไปขับเรื่องบินก็ไม่รับประกันว่าจะรอดกลับมาไหมนะ"

 

การเรียน 4 ปีของสาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ

ในปี 1 พวกเราจะเรียนวิชาทั่วไปเหมือนคณะวิศวะปกติครับ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี การเขียนโปรแกรม การเขียนแบบวิศวกรรม วิชาในปี 1ส่วนมากมีความจำเป็นต้องเรียนให้ผ่านเพื่อที่จะเรียนวิชาในปีต่อ ๆ ไป ก็อยากให้ตั้งใจเรียนกันด้วยนะ แล้วก็เก็บวิชาบูรณาการของมหาวิทยาลัยด้วยล่ะ จะได้ไม่มีปัญหาในปีต่อ ๆ ไป
 

ร่ำเรียนฟิสิกส์1 อย่างหนักหน่วง
ภาพ : Gotz AE23

 

ปี 2 จะเริ่มมีวิชาภาคเข้ามาครับ โดยรวมหลักสูตรจะเหมือนภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล แต่เราจะเจาะไปทางด้านการบินเป็นหลัก เช่นวิชากลศาสตร์ของไหล เราจะมีเรื่องของอากาศกระทำต่อปีกเพิ่มข้ามาด้วย วิชาเทอร์โมนามิกส์จะมีเครื่องยนต์เจ็ตในบทเรียน (วิชานี้หินสุดแล้ว ฮ่า ๆ ) การคำนวณประสิทธิภาพอากาศยาน แล้วก็โครงสร้างอากาศยาน โดยรวมแล้วในปี 2 น้อง ๆ จะเข้าใกล้ความเป็นวิศวะการบินมากขึ้นครับ แต่เรายังต้องเรียนวิชานอกภาคเช่นไฟฟ้าอยู่นะ

ปี 3 ตอนนี้วิชาภาคจะเข้ามาแทบจะเต็มตัวครับ เราจะเรียนตั้งแต่การออกแบบเครื่องบินขั้นพื้นฐานไปจนถึงการสร้างเบื้องต้น และในปีนี้จะมีโครงงานพระเอกที่มีชื่อว่า Design Build Fly ครับ น้อง ๆ จะต้องออกแบบ สร้าง ไปจนถึงบินเครื่องบินบังคับวิทยุเพื่อทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ รวมถึงปีนี้จะเริ่มมีวิชาเลือกเฉพาะให้น้อง ๆ ที่สนใจด้วย
 

Design Build Fly
ภาพ : Earth AE21

 

ปี 4 หลัก ๆ แล้วปี 4จะเรียนเกี่ยวกับการเริ่มหางาน ซึ่งเรามีโครงการที่น่าสนใจอยู่ 2โครงการคือ สหกิจศึกษา คือการทำงานในช่วงปี 4เทอม2 ซึ่งก็มีทั้งฝรั่งเศส ไต้หวัน หรือในประเทศ อีกหนึ่งโครงการคือ 4+1 เป็นการเรียนป.โท ให้จบใน1ปีโดยเรียนบางวิชาตอนปี 4 ครับ

 

การค้นหาตัวเอง

เอาจริง ๆ พี่อยากเป็นนักบินมาก แต่พอโตขึ้นมาสายตาสั้นพี่ก็ล้มเลิกความคิดนั้นไปเพราะกลัวการเลสิค แต่ตอน ม. 6 ได้ดูการ์ตูนเรื่อง The wind rises เกี่ยวกับวิศวกรเครื่องบินของญี่ปุ่น พี่เลยกลับมาสนใจการบินอีกครั้ง พี่ว่าการหาตัวเองนี้ก็ค่อนข้างยากนะ มีหลายคนที่ตอนปี 1 ไฟแรงมาก ๆ แต่พอจบไปก็ทำงานไม่ตรงสาย ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะภาควิชาเราเรียนค่อนข้างเยอะ สามารถไปประยุกต์กับสาขาอื่นได้ หรือแม้แต่สอบนักบินด้วย การค้นหาตัวเองมีหลากหลายวิธี นอกจากความชอบความนึกคิดจากตัวเองแล้ว ลองหาข้อมูลการเรียน การทำงาน หรือไปค่ายต่าง ๆ ที่เราสามารถไปศึกษาสาขานั้น ๆ เพื่อค้นหาตัวเองได้ ไปเรียนรู้ก่อนว่าเราชอบทางนี้จริงไหม ที่เกษตรมีค่าย Aero camp เป็นการสอนน้องม.ปลายเรื่องการบินเบื้องต้น แนะแนวน้อง ๆ ที่สนใจสายงานนี้ ถ้าตั้งใจแล้วก็ยินดีต้อนรับสู่ครอบครัวการบินนะครับ เข้าไปติดตามเพจเฟสบุ๊คค่าย Aero camp ได้ที่ www.facebook.com/AeroCampKU

 

"การเป็นวิศวกรการบินต้องมีความรอบคอบอยู่เสมอ เพื่อให้การเดินทางในอากาศมีความปลอดภัยมากที่สุดเราต้องทำให้มั่นใจแน่นอนว่า ความผิดพลาดต้องเป็น 0 เพราะเมื่ออยู่บนท้องฟ้า โอกาสในการแก้ไขนั้นน้อยมาก ๆ ครับ"

วิศวกรลองขับเครื่องบินรบ
ภาพ : Van AE24


มีแล็ปการบินให้นิสิตได้เข้าไปหาความรู้

โดยรวมเราจะเรียนเหมือนภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลแต่เราจะเจาะทางด้านการบิน เราจะมีกิจกรรมเช่นเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงของการบินไทย ขับ Flight Simulator มีวิชาเลือกเฉพาะ อีกทั้งคณาจารย์ยังมีประสบการณ์และความรู้ทางด้านการบินสูงอีกด้วย มีแล็ปการบินให้นิสิตได้เข้าไปหาความรู้นอกห้องเรียนให้สั่งสมประสบการณ์ จากการออกแบบและทำเครื่องบินเล็ก ซึ่งก็มีการแข่งขันแล้วได้รางวัลมากมายครับ เป็นประโยชน์มาก ๆ เวลาไปสมัครงาน

 

เทคนิคเตรียมตัวสอบ

หลัก ๆ เราควรจะทำวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษให้ดีครับเพราะต้องใช้ทั้งตอนสอบแล้วก็ตอนเรียน ส่วนใหญ่หนังสือที่พวกเราต้องอ่านรวมถึงข้อสอบจะเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย ถ้าไม่มีความรู้ด้านการบินก็ไม่ต้องกลัวนะเพราะไม่มีตอนสอบเข้า แต่ค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ตอนเข้าปี 1 แล้วนะ

 

ตลาดงาน

ในปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเป็นที่จับตามองของอุตสาหกรรมการบินเพราะมีศักยภาพและทำเลที่สามารถเป็น Hub ให้เครื่องบินในโซนเอเชียตะวันออกได้ครับ แล้วก็มีบริษัทเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน หรือถ้าจะฝันให้ไกลก็มีทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกาครับ

 

ข้อมูลการสอบเข้า

รอบที่ 1 Portfolio
รอบที่ 2-3 รับตรง คะแนนที่ใช้ GAT, PAT 1, PAT 3
รอบที่ 4 Admissions คะแนนที่ใช้ GAT, PAT 2, PAT 3

 

เรื่อง : สิทธิณัฐ เด่นดวงหทัย

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us