Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
Self Awareness การรู้ตัว สำคัญแค่ไหน

  Favorite

การค้นหาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมาก การที่เรารู้ว่าตัวเองชอบอะไร จะนำไปสู่การเลือกคณะที่ใช่ และเรียนอย่างมีความสุข หลายคนอาจจะคิดว่าเรารู้จักตัวเองดีอยู่แล้ว แต่มันอาจจะยังไม่ใช่การรู้จักที่ถ่องแท้ Self Awareness การรู้ตัว สำคัญแค่ไหน อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
 

ขอขอบคุณภาพ : pixabay

 

Self Awareness คืออะไร ?

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ Self Awareness คือ การตระหนักรู้ในตัวเอง รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ รู้ว่าตัวเองคิดอะไร รู้สึกอะไรอยู่ รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดของตนเองได้ เช่น เมื่อเกิดอารมณ์โกรธเพื่อน ก็รู้ว่าตัวเองโกรธเพื่อน ยอมรับความรู้สึก อารมณ์โกรธนั้นอย่างซื่อสัตย์ และรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้โกรธเพื่อน นอกจากนี้ยังรู้ข้อดี ข้อเสียของตนเองอีกด้วย หากน้อง ๆ กลับมาสังเกตอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดตัวเองดี ๆ พยายามทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้นจะช่วยทำให้มี 5 ข้อดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้น

1. ช่วยให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น
สาเหตุการขาดความมั่นใจของคนไทย คือ ขนบประเพณีปฏิบัติของไทยที่ต้อง นอบน้อม ห้ามเถียง หรือยกมือถามครูในห้องเป็นเรื่องของการเอาหน้า ทำให้หลายคนโดนความคิดแบบนี้ครอบงำ จนไม่กล้า ขาดความมั่นใจในการแสดงความรู้สึก ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดต้องแก้ที่ต้นเหตุ ถ้าหากรากฐานของมันมั่นคงจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น การเสริมสร้างความมั่นใจก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ในตัวเองเสียก่อน ซึ่งจะพัฒนาให้เกิดการเห็นข้อดีของตนเอง หรือ เห็นคุณค่าของตัวเอง จนกระทั่งเกิดความมั่นใจขึ้นมานั่นเอง

2. ช่วยให้เข้าสังคมได้ดีขึ้น
เชื่อว่าน้อง ๆ อีกหลายคนมีปัญหากับการปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ พอไปเจอผู้คนใหม่ ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ลองฝึกสังเกตตัวเอง ทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้น เพราะถ้าหากเราเป็นตัวเอง เข้าใจในตัวเอง จึงเข้าสังคม พูดคุยกับคนอื่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้คนอื่นรักและใคร ๆ ก็อยากเป็นเพื่อนด้วย นอกจากนี้ยังเข้าใจและรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย ใครกลัวว่าเข้ามหาวิทยาลัยไปจะไม่มีเพื่อน ขอแค่เป็นตัวของเราเอง รับรองว่ามีเพื่อน มีสังคมแน่นอน

3. ช่วยให้แสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม
น้อง ๆ อาจมองว่าการรู้จักตัวเองเป็นเรื่องหมู ๆ แต่การรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ หากพวกเรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง คงไม่ต้องมานั่งเครียด มานั่งเสียใจที่แสดงอารมณ์ไม่ดีใส่เพื่อน ใส่พ่อแม่หรอก การตระหนักรู้ในตัวเอง จะช่วยให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น คิดถึงผลบวกผลเสียของการแสดงอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้ทัน ทำให้น้อง ๆ สามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าไม่สามารถจัดการอารมณ์แย่ ๆ ได้ ให้หลีกเลี่ยงตัวเองออกมาจากผู้คนเยอะ หรือจดบันทึกระบายอารมณ์ เพื่อจะได้เห็นว่าตัวเองกำลังอยู่ในอารมณ์ไหน ซึ่งจะช่วยให้น้อง ๆ จัดการอารมณ์ได้ง่ายขึ้น

4. ช่วยทำให้เรามองโลกในแง่ดีมากขึ้น
เมื่อเราเกิดการตระหนักรู้ตัวเองอย่างท่องแท้ จะทำให้มองเห็นว่าตัวเรามีข้อดีอะไร ซึ่งการมองเห็นข้อดีของตัวเอง จะช่วยทำให้เรามองเห็นคุณค่าของตัวเอง เชื่อมั่นว่าตัวเองมีความสามารถ มีประสิทธิภาพที่จะสอบเข้าเรียนต่อได้ สอบได้คะแนนดี ๆ ซึ่งสิ่งแหล่านี้จะส่งผลให้มองโลกในแง่ดีมากขึ้น มองหาแต่สิ่งดี ๆ ที่จะทำให้ตัวเองมีความสุข ในอนาคตไม่ว่าจะเจอปัญหาหนักแค่ไหน สอบตก คะแนนสอบไม่ดี ก็มีความสุขได้เพราะเราเชื่อมั่นในประสิทธิภาพ ความสามารถของตัวเองว่าสักวันจะสอบผ่าน สอบให้ได้คะแนนดี ๆ เหมือนกับคนอื่น

5. ช่วยทำให้เลือกคณะที่ “ใช่” ได้เร็วขึ้น
ข้อนี้เหมาะกับน้อง ๆ ม.ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยจริง ๆ การรู้จักตัวเองว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จะช่วยให้เลือกคณะที่ถูกใจ ตรงใจเราได้มากขึ้น และยิ่งรู้เร็วยิ่งได้เปรียบ มีเวลาเตรียมพร้อมอ่านหนังสือก่อนเพื่อน ๆ คนอื่น พัฒนาฝึกปรือทักษะทางด้านที่เราขาดใช้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เวลาไปสอบจริง จะทำให้ได้เปรียบคนอื่น ๆ เขาเป็นหลายเท่าเลยนะ หลายคนมีปัญหาในการค้นหาตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้น้อง ๆ หลายคนต้องมานั่งปวดหัว นั่งคิดว่าตัวเองชอบอะไร อยากเข้าเรียนคณะไหน พอเข้าไปเรียนแล้วไม่ใช่ ก็ต้องซิ่วออกมา

 

ต้องรู้จักตัวเองเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้เข้าเรียนใน “คณะที่ใช่”

1. ต้องรู้จักว่าตัวเองมีนิสัยยังไง
ตอนนี้เตรียมกระดาษเปล่า ๆ มา 1 แผ่น เขียนนิสัยตัวเองที่นึกออกได้ทั้งหมดมา และนั่งดูว่านิสัยแบบนี้จะเหมาะกับอาชีพแบบไหน เหมาะที่จะเรียนคณะไหนบ้าง เช่น ชอบรับฟังปัญหาผู้อื่น สามารถเป็นที่ปรึกษาผู้อื่น ก็ไปเรียนจิตวิทยาที่ปรึกษา จบไปเป็นนักจิตวิทยา ให้คำแนะนำ คำปรึกษากับผู้คน แต่ถ้าชอบช่วยเหลือผู้อื่น อยากให้คนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไปเรียนแพทย์ พยาบาล ทันตะ การรู้จักตนเองว่าเป็นคนยังไง และหาอาชีพที่เหมาะสมกับนิสัยตัวเอง จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เรียนได้อย่างมีความสุข โดยที่ไม่ต้องปรับตัวมาก

2. ตัวเรามีจุดเด่น จุดด้อยอะไรบ้าง
จากข้อหนึ่งที่เขียนนิสัยตัวเองทั้งหมดมาแล้ว ให้แบ่งว่าอันไหนคือจุดเด่นที่ตัวเราทำได้ดี สามารถพัฒนาต่อไปได้ และอันไหนคือจุดด้อยที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น การรู้ว่าตัวเองมีจุดเด่นอะไร ถนัดที่จะทำอะไรจะช่วยให้เราเลือกคณะได้ง่ายขึ้น และเอามาวางแผน พัฒนาจุดเด่นนั้นให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เพื่อเป็นข้อได้เปรียบกว่าเพื่อนคนอื่น

3. ต้องรู้จักว่าตัวเองชอบวิชาอะไร ไม่ชอบวิชาอะไร
การรู้ว่าตัวเองชอบวิชาอะไร ไม่ชอบวิชาอะไรอันนี้คือสิ่งสำคัญในการเลือกคณะที่ใช่เลย เพราะวิชาที่ชอบจะเป็นตัวที่นำไปสู่คณะที่ใช่ได้ง่ายขึ้น และวิชาที่ไม่ชอบทำให้เรามีตัวเลือกน้อยลง ทำให้เลือกคณะได้ง่ายขึ้นนั่นเอง ถ้าชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ไปเรียนแพทย์, เภสัช, ทันตะ, เทคนิคการแพทย์ แต่ถ้าชอบภาษา สังคม ก็เตรียมตัวฝึกปรือภาษา อ่านประวัติศาสตร์ แล้วแอดมิชชั่นเข้าไปเรียนคณะมนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ สังคมศาสตร์ สำหรับใครที่ชอบวาดรูป ควรมุ่งฝึกฝน หัดวาดรูป ไปเรียนสถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ จิตรกรรม ศิลปศาสตร์ เป็นต้น

4. รู้ว่าความฝันของตัวเองคืออะไร
เชื่อว่าหลายคนไม่ได้สนใจว่าตัวเองจะชอบอะไร มีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน เก่งวิชาอะไร ไม่เก่งวิชาอะไร แต่รู้แค่ว่าตัวเองมีความฝันว่าตัวเองอยากเป็นอะไร มุ่งมั่นพยายามพัฒนาตัวเองจนทำให้ฝันของตัวเองเป็นจริง ถึงแม้ตัวเองไม่ได้เก่งอะไรเลยก็ตาม แต่อดทน พากเพียรพยายามจนสามารถทำตามความฝันของตัวเองได้สำเร็จ

 

เรื่อง : พิชญา เตระจิตร

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us